จุดมุ่งหมายในการเลี้ยงลูกที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ถูกหลงลืมไปในสังคมคือการ เลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี เด็กที่มีสุขภาพจิตดีจะเป็นเด็กที่มีความสุขในชีวิต สามารถปรับตัวและสู้กับอุปสรรคได้อย่างไม่ย่อท้อ และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น
หลายครอบครัวมุ่งเน้นให้ลูกฉลาด เป็นอัจฉริยะ อยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นวิศวกร มีหน้าที่การงานดีๆ โดยไม่ถามความสมัครใจหรือความคิดเห็นลูกเลยสักนิด
รู้หรือไม่ว่า…
มีเด็กๆ หลายคนที่เรียนแล้วไม่มีความสุข เพราะถูกบังคับให้เรียน
มีเด็กๆ หลายคนที่มีผลการเรียนดี แต่ทุกข์กับการไปโรงเรียนเพราะเพื่อนไม่คบ
และมีเด็กๆ หลายคนที่ประสบกับปัญหาเครียด ซึมเศร้า เพราะไม่สามารถยอมรับความผิดหวังและความพ่ายแพ้ได้
ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กดีเติบโตไปด้วยสุขภาพจิตดีที่ เข้ากับคนอื่นได้ เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น คุณมาถูกทางแล้ว มาดูกันว่าจะสามารถฝึกเด็กๆ อย่างไรให้เป็นเด็กสุขภาพจิตดีได้
สอนลูกให้ภูมิใจในตัวเอง
เด็กๆ จะประเมินสิ่งที่ตัวเองทำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ตามที่คนรอบกายมีความคิดเห็นในเรื่องนั้นอย่างไร หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี เช่น การติดกระดุมเสื้อได้สำเร็จ เอาชามไปเก็บหลังจากกินข้าวเสร็จ หรือไปอาบน้ำเองโดยไม่อิดออด วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กรับรู้ได้ก็คือการ “ชม” วิธีชมที่ถูกต้องควรเป็นคำชมที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ดีของลูกด้วยความจริงใจ เช่น “เก่งจังติดกระดุมเสื้อเองได้แล้ว” และไม่จำเป็นต้องแถมด้วยการสั่งสอนหรืออธิบายอะไรที่เยิ่นเย้อเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนได้
และเมื่อลูกทำความผิดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเกิดหลังจากที่เคยห้ามเขาไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการตำหนิ แต่ “อย่าให้เสียเซลฟ์” ซึ่งสามารถทำด้วยการตำหนิเฉพาะในสิ่งที่เขาทำ โดยหลีกเลี่ยงการตีตราหรือตัดสินที่ตัวบุคคล เช่น การสรุปว่าเขาเป็นคนแบบนั้น “ลูกนี่เหลวไหลจริงๆ แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าห้ามทำแบบนี้” แต่ควรบอกว่า “ลูกทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ” ตามด้วยการบอกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาแก้ไขหรือบทลงโทษที่เขาจะได้รับ
สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี
เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี การสอนให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ลูกมองอะไรก็เป็นเรื่องดีไปเสียหมดอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะบางเรื่อง เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว หรือการสอบตกทุกวิชา ก็คงมองเป็นเรื่องที่น่ายินดีได้ยาก
แต่การมองโลกในแง่ดีที่ว่านี้คือการพยายามมองหา “แง่มุมบวก” ที่มีอยู่ในเรื่องลบๆ เพื่อให้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ รวมถึงช่วยให้ลูกได้ “ปรับตัว” หรือ “ทำใจ” กับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
1.มองว่าเรายังเหลืออะไรอยู่บ้าง
เวลาที่สูญเสียอะไรบางอย่าง ก็อาจดีขึ้นได้หากพยายามมองให้เห็นความจริง เช่น ถึงลูกจะทำเงินหาย 500 บาท แต่อย่างน้อยเงินอีกหลายพันบาทที่บ้านก็ยังคงอยู่
2.มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เลวร้ายที่สุด
เช่น หากคะแนนของลูกไม่มากพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่เขาอยากเข้ามาที่สุด แต่ก็ยังติดมหาวิทยาลัยที่เขาเลือกรองลงมา ก็บอกเขาไปว่า ยังดีกว่าไม่ได้ที่ไหนเลย
3.มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสอนอะไรบ้าง
เช่น ในกรณีที่ลูกวิ่งชนเพื่อนหกล้มหัวแตก แม้เหตุการณ์นี้จะทำให้ลูกเศร้า และรู้สึกผิดแค่ไหน แต่ลองสังเกตดูดีๆ คุณก็อาจพบว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ลูกวิ่งช้าลงและระมัดระวังตัวมากขึ้น
สอนลูกให้ปรับตัวเก่ง
การปรับตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ที่จะช่วยให้พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าฝนตก แดดออก อาหารไม่อร่อย งานยาก น้ำไม่ไหล ไฟดับ หากมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี ก็จะเอาตัวรอดในสถานการณ์นั้นได้อย่างสบาย โดยเริ่มจากการ ฝึกให้ลูกมีความอดทนด้วยการเลี้ยงดูแบบ “ไม่ตามใจ” และได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย และได้มีโอกาสเอาชนะอุปสรรค เช่นปีนข้ามรั้วให้สำเร็จ ประดิษฐ์สิ่งของ เกมเขาวงกต เป็นต้น
สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
เมื่อเด็กๆ ที่ขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อาจจะเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร โดยเริ่มฝึกลูกด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกเช่น “แม่เห็นว่าหนูกำลังโกรธมากเลย โกรธอะไรใครบอกแม่หน่อยสิจ๊ะ” และความรู้สึกของผู้อื่น เช่น “หนูลองเดาซิว่าที่หนูไปพูดกับเพื่อนแบบนั้น เขาจะรู้สึกยังไง”
รวมไปถึงการสอนให้ลูกได้ช่วยเหลือคนอื่น สำหรับข้อนี้ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว บทบาทของเด็กแรกเกิดจนถึงวัยอนุบาลนั้นมักจะเป็นผู้รับ ไม่ว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับความรักความสนใจ มากกว่าจะเป็นผู้ให้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสให้ลูกได้ฝึกให้ผู้อื่นเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานบ้าน หรือการแบ่งของกิน ของเล่น โดยเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ก่อน ถึงค่อยขยายวงออกไปเป็นเพื่อน น้อง และคนอื่นๆ ต่อไป
สอนลูกให้รักษาสิทธิของตนเอง
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าวิธีไหนดีที่สุด ที่ควรใช้สอนลูกให้สามารถจัดการกับคนที่จะมาเอาเปรียบเขาได้ โดยเฉพาะที่เวลาไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย
วิธีการพูดเตือนด้วยความสุภาพ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เป็นวิธีจัดการได้ดีที่สุด เพราะเป็นทางสายกลางที่จะทำให้ไม่ถูกเอาเปรียบ และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ การพูดคุยและยืนยันในสิทธิของตัวเองอย่างสุภาพจะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ
สิ่งพื้นฐานที่สุดที่ควรจะมอบหมายให้ลูกรับผิดชอบให้ได้คือ “ตัวของเขาเอง” การฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเองนั้นเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงที่เขาฝึกเดินด้วยตัวเอง (ไม่ต้องให้พ่อแม่อุ้ม) หรือช่วงที่สอนลูกให้รู้จักระวังอันตราย เพราะหากไม่ระวังก็เป็นตัวเขาเองที่จะเจ็บ หรือช่วงที่เขาเริ่มจับช้อนตักข้าวเข้าปากเองได้ (ถ้าหิว ก็ต้องตักข้าวกินเอง ไม่ต้องรอคนป้อน)
จนเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย การฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเองก็คือ การอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง กินข้าวเสร็จก็ต้องเก็บจานด้วยตัวเอง เล่นของเล่นเสร็จก็เก็บให้เข้าที่ ทำการบ้านให้เสร็จทุกวัน
สอนลูกให้มีระเบียบวินัย
การที่จะมีระเบียบวินัยได้นั้น เขาต้องรู้เสียก่อนว่าในแต่ละวันเขาต้องทำอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกถึงกิจกรรมที่เขาต้องทำในแต่ละวัน เรียงลำดับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าวเช้า อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นของเล่น กินข้าวกลางวัน เตะบอลกับพ่อ… จนถึงเวลาเข้านอน โดยไม่ต้องกำหนดเวลา เพราะอาจทำให้ลูกเครียดเกินไป
รวมไปถึงการให้รางวัลและลงโทษอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กมีวินัย ก็ควรให้รางวัลหลังจากที่เขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากเราได้ดีแล้วเสียก่อน ส่วนการทำโทษ ไม่ควรใช้ความรุนแรง แต่อาจเป็นเพียงแค่ตัดสิทธิ์ เช่น ถ้ายังทำการบ้านไม่เสร็จก็จะไม่ได้ดูทีวี หรือถ้ายังเล่นเกมไม่เป็นเวลา พรุ่งนี้จะไม่ให้เล่นแล้ว เป็นต้น
สอนลูกให้มีความอดทน
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความอดทน เพราะคนที่มีความอดทนนั้น ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใดๆ ในชีวิต เขาจะอยู่กับมัน สู้กับมัน และพยายามเอาชนะมันอย่างไม่ย่อท้อ การฝึกความอดทนสามารถฝึกให้ลูกได้ด้วยการไม่ตามใจลูกเกินไป ให้เขารู้จักการรอคอย ถ้าอยากได้ของเล่นใหม่ ก็ให้เขาพยายามทำอะไรดีๆ เช่น ตั้งใจเรียน มีวินัย ทำการบ้านทุกวัน
หรือเรียกว่าการกำหนดเป้าหมายให้เขานั่นเอง หากลูกอยู่ในวัยอนุบาล เป้าหมายของเขาอาจเป็นแค่เพื่อได้รับคำชม เพื่อให้ได้ของเล่นที่เขาอยากได้ และเมื่อโตขึ้นเป็นเด็กประถมหรือมัธยม จากเป้าหมายเพื่อของรางวัล เป็นเป้าหมายเพื่อการเป็นคนอย่างที่เขาอยากจะเป็น เช่น เป็นนักกีฬาฟุตบอลเหมือนเจ ชนาธิป เป็นนักร้องเหมือนตูน บอดี้แสลม หรือเพื่อให้ได้เข้าเรียนในคณะที่เขาใฝ่ฝัน
ค้นหาเคล็ดลับวิธี เลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี
และมีความสุขในทุกช่วงเวลาของชีวิต
ได้ในหนังสือ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ
เลี้ยงลูกให้ฉลาด ไม่สำคัญเท่ากับเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี มีความสุข
“เลี้ยงลูกด้วยนิทาน” ปูพื้นฐานพัฒนาการชีวิต 6 ด้าน
ค้นหาพรสวรรค์ในตัวลูก เพื่ออาชีพที่ใช่ในอนาคต
EF คืออะไร ทำไม EF ถึงสำคัญกับลูก
อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังแล้วได้อะไร?
7 เคล็ดลับเพื่อฝึกลูกน้อยให้รักการอ่าน
5 ข้อสุดมหัศจรรย์ของ “Wonder” #ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์
นิทานญี่ปุ่น ส่งเสริมนิสัยและความคิดเด็ก
Pingback: เทคนิค สอนลูกอ่านหนังสือ - เขียนหนังสือ : ลูกฉลาดเริ่มต้นที่พ่อและแม่
Pingback: พัฒนา ทักษะEF ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนิทาน
Pingback: วิธีเอาตัวรอดเมื่อประสบภัยฉุกเฉิน เพราะวันหนึ่งเราอาจเป็น ผู้ประสบภัย
Pingback: วิธี เลี้ยงลูกยุคใหม่ เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเข้าใจ %
Pingback: วิธีรับมือกับลูกขี้โมโห ขี้หงุดหงิด : วิธีแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
Pingback: พัฒนา "ทักษะEF" ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการ "เลี้ยงลูกด้วยนิทาน"