ให้ร้านหนังสือนำทางรัก
ประชาคม ลุนาชัย เขียน
ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์
(ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์)
ภาคหนึ่ง
สะพาน สายน้ำ และความตาย
ชายชราใต้สะพาน
สะพานแขวนโยกตัวไปตามแรงกระหน่ำของพายุฝน แสงไฟหม่นมัวคล้ายสาดส่องจากใต้ผิวน้ำ ฝนกระหน่ำหนัก ลมแรงฉีกกระชากกิ่งไม้ใหญ่ริมน้ำหล่นกระทบพื้นชายฝั่ง กลางความมืดใต้สะพาน ดวงตาชราคู่หนึ่งเบิกกว้าง แกสะดุ้งตื่นกับเสียงรบกวนรอบข้าง ไม่อาจข่มตาหลับ ระแวงระดับน้ำอาจล้นตลิ่งแล้วรุกคืบท่วมถึงที่นอน
แกผุดลุกนั่งแล้วจ่อมมองสายฝน ยาวนานจนกระทั่งแสงสลัวแห่งรุ่งสางสาดกระทบร่างผอมบางที่สวมเสื้อยืดสีชาหม่น กางเกงขาสั้นเก่ายับ ชายมุ้งที่ถูกเลิกขึ้นยังปลิวสะบัด ซาเล้งซึ่งคลุมผ้าพลาสติกไว้จอดชิดแคร่ที่นอน
ร่างผอมบางสะดุ้งเล็กน้อยขณะเงยหน้าจ้องไปยังขอบริมสะพาน ผมหงอกยาวและเคราที่เลื้อยผ่านใต้คางปลิวลมไปในทิศทางเดียวกัน แกยกมือขยี้ตาซ้ำๆ จ้องมองไปยังจุดผิดสังเกต แกยิ้มจนฟันซี่หลอต้องแสงสว่าง โคลงหัวไปมาพลางพึมพำในใจ…ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ สายตาชราของแกฝ้าฟางไปเอง
สะพานแขวนชุ่มฝนทอดข้ามลำน้ำว่างเปล่า เม็ดฝนหนาแน่นเทกระทบพื้นกระดาน บางแผ่นสลักถ้อยคำสารภาพรักของเด็กหนุ่มนิรนาม อีกแผ่นถัดมาอักษรสีขาวเขียนด้วยปากกาเคมี ชื่อเล่นของชายและหญิงเด่นชัดกลางรูปหัวใจ อีกหลายแผ่นปรากฏชื่อนามชายหนุ่มและหญิงสาวผู้เปี่ยมรัก สลักไว้ล่วงผ่านวันคืนและฤดูกาลจนหางอักษรบางตัวเลือนจาง
ราวเหล็กและสลิงที่ขึงไว้ทั้งสองด้าน ช่องว่างจากการออกแบบและอายุขัยอันเก่านาน หลายช่องเล็กๆ นี้เองที่ผู้หมดหวังในชีวิตหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาโผพุ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่าง แทบทั้งหมดเลือกช่วงยามดึกสงัดปลอดสายตาใครอื่น จบตำนานชีวิตของตนง่ายๆ บางรายที่ไม่อาจทนรอโมงยามเช่นนั้นให้กับตัวเอง โผพุ่งสู่ลำน้ำท่ามกลางสายตาตื่นตระหนกของผู้คนสองฟากฝั่ง ครั้นแล้วคนผู้นั้นก็รู้ว่าความตายไม่ใช่โอกาสที่ไขว่คว้าได้โดยง่าย และชีวิตไม่ใช่ของเขาแต่เพียงผู้เดียว
ไม่ใช่สะพานแห่งความรัก และมิใช่สะพานมรณะ เป็นเพียงทางสัญจรที่ผู้คนย่านนี้ร่วมใจกันสร้างขึ้นเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ ผู้คนจากย่านสวนฝั่งตะวันตกไม่ต้องถ่อสังขารไปอาศัยเรือที่ท่าวัด เด็กๆ สัญจรข้ามฝั่งไปมาได้ง่าย ทั้งซ้อนมอเตอร์ไซค์และจักรยานคันน้อยที่พ่อแม่ควบไปส่งโรงเรียนยามเช้าตรู่ และย้อนมารับกลับบ้านช่วงบ่ายคล้อย ผลไม้และพืชสวนตามฤดูกาลก็เข็นข้ามฝั่งสู่ตลาดได้ราบรื่น
พ่อค้าแม่ขายฝั่งตะวันออกก็เช่นเดียวกัน ข้ามสะพานติดต่อซื้อขาย เยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง และสัญจรไปมากับภารกิจอื่นๆ
ชาวบ้านสละทรัพย์ส่วนตัวร่วมไม้ร่วมมือกันสร้าง ผูกใจสามัคคีเป็นหนึ่ง ดูแลความแข็งแรงและหมั่นตรวจสอบระบบความปลอดภัยทุกปี โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่มีใครคาดหมาย หญิงชราผู้หนึ่งกล่าวขึ้นในวงประชุมของชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย เราไม่ได้สร้างสะพานขึ้นมาเพื่อให้ใครมาโดดน้ำฆ่าตัวตายหรอกนะ แกว่า ถ้าติดป้ายห้ามไว้ก็น่าจะดี
ป้ายห้ามไม่ได้ถูกนำมาติดไว้ ข้อเสนอของหญิงชรากลายเป็นความขบขันอันน่ารันทดใจ เหตุผลของใครอีกคนแย้งแกว่า “ถึงไม่มีสะพาน คนที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เขาก็หาที่อื่นๆ ฆ่าตัวตายได้ไม่ยาก”
อีกคนให้ข้อคิด “ต่อให้มีป้ายห้าม คนที่อยากฆ่าตัวตายเขาตัดสินใจไปแล้ว เขาไม่สนกฎเกณฑ์อะไรของคนเป็นหรอก”
ไม่มีคำเตือนและป้ายห้ามคนกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย นั่นไม่ได้หมายความว่าอนุญาตเปิดเสรีหรือยินดีต้อนรับ ทุกคนในชุมชนทั้งสองฟากฝั่งต่างยอมรับความเป็นจริงของมนุษย์ ต่อให้มีป้ายห้าม หรือจัดเวรยามดูแล คนที่สิ้นหวังในชีวิตก็หาช่องทางฆ่าตัวตายได้ไม่จำกัด
สะพานแขวนแห่งความหวังเป็นหลังคาคุ้มหัวของชายชราวัยหกสิบเจ็ด ผู้ซึ่งซัดเซมาพักอาศัยในคืนฝนตกหนัก แล้วยึดครองที่ตรงนี้ไว้เป็นนิวาสสถานถาวร จากลำพังผู้สัญจรเดียวดาย เสื้อผ้าติดกายเพียงชุดเดียว อาศัยเก็บของเก่าตามถังขยะ แกมั่งคั่งขึ้นจากเดิมทีละน้อย ไม่เพียงแคร่ไม้ไผ่ เสื่อ หมอน และมุ้งอีกหลัง แกทุ่มทุนซื้อซาเล้งประกอบกิจการค้าเลี้ยงชีวิต
บางคืนแกได้แมวจรผ่านทางเป็นเพื่อน ตลอดค่ำคืนแห่งสายฝน แกอุดมด้วยเพื่อนฝูงนิรนามจากป่าหญ้าร้องเพลงขับกล่อม บางค่ำคืนแกปรี่ออกจากแคร่ที่นอนตรงไปยังย่านตลาด ตะโกนปลุกผู้คนร้องขอความช่วยเหลือ
“มีคนโดดสะพาน…”
“มีผู้หญิงมาโดดน้ำตายอีกแล้ว”
“ช่วยๆ กันหน่อยไอ้ทิด เร็วเข้า น่าจะลอยไปไกลแล้ว…”
ชายชราใต้สะพานเดียวดายกับการใช้ชีวิต แต่แกมิได้โดดเดี่ยว อย่างน้อยการค้าของแกก็ติดต่อข้องเกี่ยวกับผู้คน ทั้งย่านตลาด ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ และผู้คนที่คุ้นหน้าคุ้นตา
ใครต่อใครเรียกแก…ลุงหง่าว
ฝนซาฟ้าใกล้สาง ท้องฟ้าอุ้มเมฆฝนหม่นคล้ำ สะพานข้ามแม่น้ำทอดตัวสงบ ช่วงเช้าวันหยุดปราศจากผู้คน ลุงหง่าวไม่ได้ก่อไฟหุงหาอาหารเลี้ยงปากท้องลำพังแก่ตนเหมือนทุกเช้า แกทำธุระส่วนตัวง่ายๆ เสร็จแล้ว อ้อยอิ่งรอให้เวลาผ่านไปอีกเล็กน้อยค่อยหยิบเสื้อแขนยาวมาสวมทับ กางเกงขาสั้นมอมแมมยังตัวเดิม ยกมือเสยผมหงอกขาวยาวยุ่งบนหัว นั่งจ่อมมองแสงเช้าอ้อยอิ่งไปพร้อมพ่นควันยาเส้น รอจนแดดหม่นเหนือผิวน้ำและสะพานสว่างได้ที่ แกค่อยลุกขึ้นลากซาเล้งคู่ชีพกระเถิบจากที่จอด แล้วดันขึ้นบนเนินช้าๆ กระโดดขึ้นคร่อม เมื่อถึงปากถนนลงน้ำหนักเท้าพาซาเล้งบุโรทั่งคลานไปบนถนนสายเล็กๆ
แกสัญจรชีวิตมาอาศัยย่านนี้ในวัยหกสิบเอ็ด หกปีเต็มกับวิถีอันเคยชิน แม้เรี่ยวแรงถดถอยไปบ้าง แต่ทุกตารางนิ้วของย่านนี้ แกคุ้นเคยประหนึ่งแดนดินถิ่นเกิด
ถนนลาดยางขรุขระเปียกฝน ป่าหญ้าข้างทางชื้นหยดน้ำ แกแหงนหน้ายิ้มรับม่านแดดขมุกขมัวรอบกาย เสียงนกร้องก้องตามหลังเหมือนพวกมันกำลังบินตามแกมาห่างๆ เท้าที่ถีบซาเล้งลงจังหวะสม่ำเสมอ แกไม่ได้รีบร้อน ฝนที่เทกระหน่ำหนักก่อนค่อนรุ่งเป็นประหนึ่งกำแพงขวางกั้นภารกิจประจำวัน แกไม่ต้องออกหาของเก่า ใช้วันหยุดอันล้ำค่าพักผ่อน และอยู่พูดคุยกับคนรู้จักในชุมชน
เพื่อนบ้านเดินผ่านตะโกนทักทาย “ลุงหง่าวจะไปไหน”
แกตอบเสียงดัง “ไปร้านหัวโจก”
“มีหนังสือไปส่งล่ะสิ”
“ใช่แล้ว เต็มซาเล้งเลยวันนี้”
“คงได้เยอะสิลุง”
“ก็เยอะ…ไม่ได้ไปส่งเขาหลายวันแล้ว”
เพื่อนบ้านสวนทางไปคนแล้วคนเล่า ทั้งถีบจักรยาน ควบมอเตอร์ไซค์ และเดินเท้า ปลอดจากเสียงทักทายแล้ว ลุงหง่าวลงน้ำหนักเท้าพาซาเล้งแล่นเร็วขึ้น ก่อนจะขึ้นนั่งประจำการ แกไม่ได้ตรวจสอบข้าวของที่จัดเตรียมไว้ รวมทั้งผ้าพลาสติกที่คลุมกล่องหนังสือป้องกันกระเซ็นฝน แกไม่ได้หันมองหลัง จังหวะที่ลมแรงกระชากผมขาวของแกสะบัดปลิว ผ้าพลาสติกที่แกคลุมไว้พัดลอยไปตกลงบนพื้นถนน
บนกระบะซาเล้ง ไม่เพียงกล่องเบียร์ที่บรรจุหนังสือซึ่งแกวางซ้อนกันไว้ กล่องที่คล้ายตะกร้าพลาสติกพร้อมห่อผ้าแทรกวางไว้ นิ่งสงบ เงียบงัน แปลกปลอมโดยที่ชายชราไม่เคยผ่านตา ทั้งไม่อาจรู้เห็นที่มาและที่ไป
ชายชราและซาเล้งลิ่วเข้าสู่ย่านชุมชน
ร้านหนังสือ
ชุมชนเก่าแก่ล่วงผ่านเวลามากว่าสองร้อยปี ทั้งชาวไทยพื้นถิ่นดั้งเดิม และนักล่องเรือสำเภาจากมณฑลฮกเกี้ยนแชซึ่งขึ้นฝั่งปักฐานตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรี เรือนไม้ชรารูปลักษณ์คล้ายกันตามริมฝั่งน้ำยืนยันความเก่านาน เคยเป็นย่านการค้าทางน้ำรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต ตลาดเก่าซึ่งมีทั้งบ้านเรือนอาศัยของผู้คน วิกหนัง โรงฝิ่น ร้านตีเหล็ก และคลินิกทำฟัน ซึ่งยังเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ ร้านหมอจีนเต็มไปด้วยตำนานเล่าขานถึงวีรกรรมช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไม่เลือกชนชั้นฐานะ บัดนี้คราบรอยและกลิ่นอายแห่งปางบรรพ์ยังดำรง ทายาทรุ่นหลังสานต่อปณิธานให้เพื่อนร่วมชุมชนได้อาศัยยาจีนแผนโบราณยามป่วยไข้
ตลาดและชุมชนซึ่งเคยรุ่งเรือง ประหนึ่งนวัตกรรมที่มาก่อนกาล หมอฟันขัดหินปูน กรอฟัน และอุดฟันชำรุดทุกซี่แก่คนไข้ก่อนจะมีไฟฟ้า ทุกส่วนซบเซาแทบถูกทิ้งร้างเมื่อการสัญจรทางน้ำเปลี่ยนเป็นถนน ตลาดทุกประเภทย้ายขึ้นบกรองรับการสัญจรที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งกว่า
ย่านค้าเก่ากลายเป็นชุมชนเงียบเหงา ย่ำเย็นคนชรานั่งรอคอยลูกหลานกลับจากทำงานตามชานเรือน ท่าน้ำ และแคร่ไม้ไผ่ หยอกเล่นกับแมวน้อยและสุนัขที่เลี้ยงไว้ ถนนและตรอกซอยอาบฝุ่นโล่งสงบ จนกระทั่งผู้กำกับละครโทรทัศน์ผ่านทางมาพบโลเกชั่นน่าสนใจ ตลาดโบราณซึ่งจมหายไปกับกาลเวลา และชุมชนเก่าแก่กลายเป็นฉากสำคัญในละครหลังข่าว ดึงดูดผู้คนมาท่องเที่ยว ชุมชนซึ่งเคยเงียบเหงาฟื้นตัวเป็นตลาดการค้าอีกครั้ง
ถนนสายเล็กๆ ตัดผ่านกลางชุมชน แบ่งเป็นตรอกซอยแยกบ้านเรือนผู้คนออกเป็นสองฝั่ง ส่วนหนึ่งเป็นทางเดินทางเลียบริมแม่น้ำ ด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับถนนอีกสายซึ่งทอดยาวไปถึงทางหลวง
ห่างบ้านไม้แออัดไปเกือบถึงปากทาง บ้านไม้สองชั้นห้าคูหาเหมือนกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่แยกจากชุมชน
สามคูหาที่อยู่ติดกันเป็นก้อนเส้า ด้านซ้ายเป็นร้านอาหารตามสั่งของป้ามะลิกับหลานสาว ด้านขวาร้านกาแฟของเจ๊เล้ง วันหยุดนอกจากลูกจ้างสาวน้อยชาวลาวแล้ว ลูกสาวของแกจะเพิ่มมาเป็นผู้ช่วยอีกคน ตรงกลางเป็นร้านหนังสือ
ทั้งสองร้านซ้ายและขวาเปิดบริการแต่เช้าตรู่ ป้ามะลิบรรจงทำผัดกระเพราะไข่ดาวไว้ให้เจ้าของร้านหนังสือ แกเดินออกมาชะโงกมองสองสามหน ประตูร้านยังปิดเงียบ แกบ่นพึมพำกับหลานสาวคนสวย
“สงสัยวันนี้ไอ้โจกไม่เปิดร้าน หรือมันนอนตื่นสาย”
เจ๊เล้งออกมายืนมองเช่นเดียวกัน ประตูไม้ซึ่งถูกวาดแต้มด้วยปกหนังสือคลาสสิก ทั้งเจ้าชายน้อย, สิทธารถะ, ชายเฒ่ากลางทะเลลึก, ผลพวงแห่งความคับแค้น, นายแพทยชิวาโก และดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน บนพื้นสีนำเงินครามหับไว้สนิท
เหนือประตูติดแผ่นป้ายชื่อร้านสีน้ำตาลบนพื้นขาว
…หัวโจก
“ฝนตก มันคงนอนเพลิน” เจ๊เล้งพูด
“ข้าวที่ทำไว้ให้มันจะเย็นหมด” ป้ามะลิส่ายหัว “เมาหรือเปล่าคืนวันเสาร์”
“ไม่มีงานเร่งด่วน” เจ๊เล้งพูด “มันปิดร้านพร้อมฉัน แฟนมันกลับบ้านไปแล้วไม่มีใครมาหา ไอ้โจกไม่ค่อยกินเหล้าคนเดียว”
หลังฝนกระหน่ำหนัก ชายหนุ่มหัวฟูเจ้าของร้านหนังสือนอนตื่นสาย เขาไม่ได้เมาหนัก อ่านสถานการณ์ดูแล้ว หน้าฝนผู้คนมาเที่ยวกันน้อย ลืมตาตื่นแล้วเขายังเหยียดยาวบนเตียงผ้าใบบนชั้นสองของร้าน ปิดเปลือกตาลงเกือบเคลิ้มหลับ ทันทีที่ฉุกคิดได้ว่านัดหมายกับใครบางคนไว้ เขาดีดตัวลุกขึ้นเหมือนแผ่นหลังติดสปริง
โจกพาตัวเองเข้าห้องน้ำซึ่งอยู่ใต้บันไดชั้นล่าง ใช้เวลาไม่นานเขาก็ปรี่กลับขึ้นชั้นสอง ทำธุระส่วนตัวอย่างเร่งรีบ แต่งตัวลวกๆ ด้วยกางเกงขาสั้นและเสื้อยืดยับๆ ปล่อยผมหยิกฟูบนหัวพันกันยุ่งตามนิสัยเคยชิน คิดว่าออกไปพบคนที่นัดหมายแล้วค่อยกลับมาดูแลตัวเองอีกรอบ
ประตูร้านถูกเปิดออก ทันทีที่หัวหยิกฟูและร่างผอมบางโผล่ออกไปสัมผัสอากาศชื้นฝน ป้ามะลิเหมือนรอเขาอยู่นานแล้ว
“ข้าวมึงเย็นแล้วไอ้โจก”
“ไม่เป็นไรหรอกป้า ฉันกินเย็นได้”
“นอนเพลินหรือเมา หัวมึงเหมือนไม่เคยเจอหวีมาตั้งแต่เกิด”
“ไม่มีใครมาหา ฉันไม่ได้กินอะไรเลยตั้งแต่เมื่อคืน อากาศเย็น มันน่านอน”
“เดี๋ยวแฟนมึงก็มา”
“ครับป้า ว่าแต่ซาเล้งลุงหง่าวมาหรือยัง”
“กูยังไม่เห็น ฝนตกหนัก ที่นอนแกไม่โดนน้ำท่วมไปแล้วหรือ”
โจกรับจานข้าวไปวางไว้บนเคาน์เตอร์ กลับมาดันประตูไม้ทั้งสองฟากให้แนบชิดผนัง ข้างในห้องค่อนข้างมืด แสงจากภายนอกสาดเขาไปกระทบชั้นหนังสือ ภาพถ่าย รูปเขียน แถวแนวโปสการ์ดบนชั้น และหนังสือซึ่งวางซ้อนกันไว้บนโต๊ะกลางห้อง
ยังไม่ทันลงมือกินมื้อเช้า และจัดร้านให้เข้าที่เข้าทาง เสียงเจ๊เล้งร้องบอก
“นั่น ตาหง่าวมาแล้วไอ้โจก”
หัวโจก ร้านหนังสือหนึ่งเดียวในชุมชน หนุ่มร่างผอมหัวฟูเข้าหุ้นกับพี่ชายหลังรับมรดกจากญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากไป เดิมเป็นร้านหนังสือเช่านวลฉวี ป้าซึ่งเป็นพี่สาวแม่ครองตัวโสดหลังสามีนายทหารตายจากไป แกไม่มีทายาท นอกจากทำร้านหนังสือเช่า แกเป็นมือเขียนบทละครวิทยุให้กับหลายคณะ เป็นภาพคุ้นตาของลูกค้าที่แวะเวียนมาเช่าหนังสือ หญิงร่างผอมผมหงอกขาวจ่อมอยู่กับเครื่องพิมพ์ดีดตั้งโต๊ะ ก่อนย่างก้าวของลูกค้าจะล้ำเข้ามาในร้าน พวกเขาจะได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังรัวกระทบหู
ป้านวลฉวีอยู่กับหนังสือเช่า วิทยุทรานซิสเตอร์ พิมพ์ดีด และกองกระดาษข้างกาย ปีที่แกล้มป่วย โจกกับพี่ชายช่วยกันดูแล จนกระทั่งวันที่แกจากไป พินัยกรรมที่ทิ้งไว้กลายเป็นที่มาของร้านหนังสือที่ใครต่อใครต่างลงความเห็นพ้องต้องกันถึงอนาคต
ไม่น่าจะไปรอด
มึงจะขาดทุนหัวโต
เปิดร้านรับจ้างตัดขนหมายังดีเสียกว่า
อยู่เฉยๆ แล้วให้คนอื่นเช่าค้าขายสบายกว่าเยอะ
ไม่เพียงแต่ชาวบ้านร่วมชุมชน เพื่อนฝูงซึ่งแวะเวียนมาเยี่ยมยามต่างให้คำชี้แนะด้วยความเป็นห่วง
“ไอ้บ้าโจก มึงไม่รู้หรือว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่ถึงสิบบรรทัด แต่ละปีร้านหนังสือใหญ่ทุนหนายังปิดตัวลง คิดยังไงมึงถึงเสือกทำการค้าที่ไม่มีอนาคต”
โจกเป็นคนตั้งชื่อร้าน เขียนแผ่นป้ายด้วยมือตัวเอง เขาบอกกับเพื่อนฝูงไปว่า “พี่เจิดอยากทำ กูไม่อยากขัดใจ ถ้าไม่ไหวก็เลิก ลองดูสักตั้ง”
เพื่อนไม่วายแย้ง “มึงจะรับบทหนัก พี่มึงเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีค่าสอน มีเงินเดือน หาเพิ่มได้อีกจากงานวิจัย ส่วนมึง…”
หัวฟูๆ ของโจกดื้อรั้นขึ้นมาทันควัน “ช่างกูดิ…”
ปีที่รับมรดกตกทอด จรัสจริงหรือนายหัวโจกเรียนจบ ปวช. จากวิทยาลัยเอกชน กำลังคิดหาทางเรียนต่อ คนที่จะส่งเสียเขาได้ก็บรรเจิดฝันพี่ชายซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โจกในวัยสิบเก้า อ่อนกว่าพี่ชายหกปี ทั้งสองเป็นกำพร้าซึ่งพ่อแม่ตายจากไปในปีเดียวกัน
วันที่ตัดสินใจทำร้านหนังสือสานต่อเจตนารมณ์ของป้า ทั้งสองสำรวจตรวจตรามรดกประดามีที่คุณป้าทิ้งไว้ให้ นอกจากบ้านสองชั้น พิมพ์ดีดโบราณ เครื่องรับวิทยุโปเก ต้นฉบับบทละคร โต๊ะ เก้าอี้ และชั้นไม้แล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากหนังสือเช่าจำนวนมหาศาล
“เราไม่ทำร้านเช่าหรอก” บรรเจิดฝันพูดกับน้องชาย
โจกให้ความเห็น “ถ้าขายบ้านให้คนอื่น ดวงวิญญาณป้านวลจะโกรธเราไหมพี่เจิด”
“โกรธสิ” บรรเจิดฝันว่า “โกรธมากด้วยนะมึง”
“เราจะทำอะไรกับบ้านหลังนี้ดี”
“ทำร้านหนังสือ แต่ไม่ใช่ร้านเช่า”
ใช่ ไม่ใช่ร้านเช่า แต่หนังสือเก่ายังเต็มร้าน ทั้งนิยายจีนกำลังภายใน นิยายไทยเล่มหนา การ์ตูน และนิตยสาร สภาพผ่านมาหลายสิบมือเก่าเยินและเปื้อนคราบฝุ่น หลายเล่มเสริมปกใหม่ เป็นอีกภาพคุ้นตาของสองพี่น้อง หากไม่มีหนังสือชำรุดจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาช่างซ่อม ป้านวลฉวีจะก้มหน้าก้มตาจัดการด้วยตัวเอง ทั้งเสริมปก ร้อยเชือกหนังสือหน้าหลุดผนึกเข้าด้วยกันทีละแผ่น ตาจ้องเขม็ง สมาธิมั่นคง มือซึ่งร้อยด้ายเคลื่อนไหวช้าๆ ในลำแสงที่สาดผ่านช่องหน้าต่าง
บรรเจิดฝันไม่ค่อยได้คลุกคลีกับผู้เป็นป้ามากนัก ไม่ผูกพันเหนียวแน่นเท่ากับน้องชาย โจกเคยช่วยซ่อมหนังสือ เรียนพิมพ์ดีดกับป้านวลฉวี บางคืนเขาก็ปลีกตัวมานอนเป็นเพื่อน พินัยกรรมของป้าที่เขียนไว้ก่อนจากไป แกเหมือนจงใจจะมอบบ้านหลังนี้ให้โจกมากกว่าพี่ชาย
ไม่ทำร้านเช่า หนังสือของป้าหลายร้อยเล่มจะนำไปเก็บไว้ไหน สองพี่น้องหารือไม่นานก็เห็นพร้องต้องกัน บริจาคให้วัด โรงเรียน และห้องสมุด แยกสภาพเก่าเยินและชำรุดให้ซาเล้งเก็บของเก่ารับไปขายชั่งกิโล
ตลอดสัปดาห์อันยาวนาน สองพี่น้องหยิบหนังสือลงจากชั้นคัดแยกสภาพ ปัดฝุ่นเป็นอย่างดีในส่วนจะมอบให้วัดและโรงเรียน แม้เป็นการบริจาคแต่ผู้รับไม่ควรได้หนังสือภาพเหลือทิ้ง ต้นปีนั้นลุงหง่าวยังไม่ได้พเนจรมาถึงย่านนี้ ซาเล้งที่รับเศษหนังสือจึงเป็นชายชราเชื้อสายจีน แกวนเวียนมาบรรทุกหนังสือชำรุดไปนับสิบรอบ
โจกจัดแต่งร้านด้วยตัวเอง เริ่มจากทาสีผนังทุกด้าน ดูดฝุ่นดึกดำบรรพ์ซึ่งผ่านวันคืนมาพร้อมอายุขัยของป้านวลฉวี ว่าจ้างช่างไม้มาทำเคาน์เตอร์ และชั้นวางด้านหลัง แผนการลึกๆ ผุดขึ้นในใจ หากร้านหนังสือถึงกาลอับปางลงประหนึ่งเรือฝันที่ไปไม่ถึงฝั่ง เขาอาจแปรสภาพเป็นร้านอาหาร ชั้นเก็บของหลังเคาน์เตอร์ก็จะเรียงรายด้วยขวดเหล้าและวิสกี้
ชั้นสองซึ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องนอนของป้าผู้จากไป เหลือเนื้อที่ว่างโล่งไปจรดระเบียงซึ่งยื่นจากชายคา เป็นที่นั่งชมวิวแม่น้ำและรับลมเย็น โจกยืนพิศมองพร้อมวางแผนไว้ในใจ หากเขาทำร้านอาหารในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ระเบียงจะเป็นเวทีดนตรีเล็กๆ ที่ตรงนี้เพื่อนฝูงผู้มีแววจะไต่ระดับเป็นจิตรกรเอกในอนาคต และในส่วนที่ยังเป็นไอ้ลูกหมาไม่มีใครขานรับ ผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงงานและเสวนารำลึกความหลังกันข้ามคืน
ตกแต่งแล้วเสร็จ ชั้นวางซึ่งกลับคืนสู่ความสวยสะอาด แต่ยังอ้างว้างและวางเปล่า พี่ชายรับช่วงจัดหาหนังสือเข้าร้าน
“ค่อยติดต่อสายส่ง” บรรเจิดฝันบอก “ไม่ยากหรอก”
แล้วทั้งสองก็ฉุกคิดขึ้นได้ ว่าชั้นล่างบ้านหลังใหญ่มีหนังสือที่พ่อแม่เก็บไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งอัดแน่นในตู้ไม้สี่ห้าใบและเรียงเสียบสันบนชั้น บรรเจิดฝันเป็นคนคัดแยกในส่วนที่ซ้ำเล่ม และที่เขาคิดว่าเป็นหนังสือพ่อแม่ไม่ได้หวงมากนัก เขาบอกกับน้องชายด้วยสีหน้าไม่คาดหวังกับอนาคตทางการค้า เอาแค่ให้ร้านมีกลิ่นอายหนังสือแนวใหม่ที่ซ้อนทับความเก่านานของป้านวลฉวี จากนั้นค่อยๆ หาทางขยับขยาย
บรรเจิดฝันจบปริญญาตรีไม่นานเข้าสอนมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์อัตราจ้าง ถึงกระนั้นเขาก็ไม่เคยละทิ้งความฝันที่ถูกจุดประกายขึ้นตั้งแต่เรียนมัธยมต้น เขาฝึกเขียนทั้งบทกวี เรื่องสั้น และนิยายที่ไม่เคยดำเนินไปถึงบทอวสาน ฝึกเขียนและทิ้งลงถังขยะของตัวเองจนกระทั่งปีที่ร้านหัวโจกเปิดตัว เจิดมีผลงานนิยายตีพิมพ์ไปแล้วถึงสี่เล่ม
ทั้งป้ามะลิ เจ๊เล้ง และคนแถบถิ่นนี้เรียกเขาว่าครูเจิด
…ครูนักเขียน
ชายชราพาซาเล้งคู่ชีพของแกเคลื่อนคืบมาช้าๆ ช่องทางเดินเท้าซึ่งเชื่อมต่อถนนยังว่างโล่ง วันหยุดหลังฝนล่วงเข้ายามสายยังเงียบเชียบ เป็นบรรยากาศอันน่าสะพรึงสำหรับคนค้าขาย แถมพ่วงช่วงปลายเดือนซึ่งภาวะทรัพย์จางกวาดต้อนนักท่องเที่ยวหายหน้าหายตา
โจกยืนรอลุงหง่าวใกล้มุมประตูหน้าร้าน เป็นความผูกพันเล็กๆ ระหว่างเขากับชายชรา แรกเป็นบรรเจิดฝันซึ่งให้คำแนะนำด้วยใจอารี บอกให้ลุงหง่าวคัดส่วนที่เป็นหนังสือสภาพดีแยกมาขายที่ร้าน แทนที่จะนำไปชั่งกิโลในราคาถูกเท่าเศษกระดาษ นอกจากนั้นบรรเจิดฝันยังแยกหนังสือแต่ละประเภทให้ชายชราทำความเข้าใจ แล้วบอกให้แกทดลองอ่านเล่มที่น่าสนใจ
“ลุงจะเข้าใจหนังสือมากขึ้น ดีไม่ดีลุงจะกลายเป็นนักเลงหนังสือในอนาคต” บรรเจิดฝันแนะนำ
ลุงหง่าวไม่ใช่คนดื้อรั้น แกลองทำตามคำชี้แนะไม่นาน สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในชีวิตของแกก็คือแว่นสายตายาวราคาถูก
ชายชราส่งยิ้มให้โจกมาแต่ไกล ก้าวลงจากอานซาเล้ง ค่อยๆ ลากเข็นเข้ามาจอด
หันหน้ามองกระบะ ลุงหง่าวเพิ่งรู้ว่าผ้าพลาสติกปลิวหายไป เจ๊เล้งโผล่หน้าออกมายืนมอง หญิงวัยกลางคนขมวดคิ้วขณะสืบเท้าเข้าหาท้ายกระบะ
ยังไม่ทันที่โจกกับลุงหง่าวจะทำการค้าต่อกัน เสียงอุทานและสีหน้าตื่นตระหนกของเจ๊เล้งเรียกคนทั้งสองกรูกันไปยังจุดเกิดเหตุ
ในตะกร้าพลาสติกที่วางแทรกล่องเบียร์บรรจุหนังสือ ทารกน้อยตัวแดงๆ นอนสงบนิ่งในห่อผ้าขาว เปลือกตาสองข้างปิดสนิท นิ่งงันเหมือนสิ้นลมหายใจไปแล้ว
“ตาหง่าว” เจ๊เล้งร้องถาม “แกไปขโมยลูกใครมา”
ทารกน้อยผู้มากับคืนฝนพรำ
ชายวัยหกสิบเจ็ดหน้าซีดเผือด มือไม้สั่นขณะจ้องร่างเล็กๆ ที่นอนไม่ไหวติงในตะกร้า ริมฝีปากของแกเหมือนไม่มีแรงแม้จะขยับบอกเล่าเรื่องราว คล้ายกับว่าตอนนี้แกถูกตำรวจยัดยาเสพติด หลักฐานและพยานพร้อมสรรพไม่มีหนทางใดเลยจะแก้ข้อกล่าวหา
ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น แกอาจติดคุกตอนแก่ในข้อหาขโมยเด็ก พ่วงแถมด้วยความเป็นฆาตกร แกยืนตัวแข็งทื่อ
เจ๊เล้งตวาดถาม “ตาหง่าว แกไปลักลูกใครมา”
โจกยืนเคียงข้างลุงหง่าว อ้าปากค้างนิ่งตกตะลึงกับภาพที่ไม่คาดคิด ป้ามะลิขยับเข้าใกล้แล้วก้มมอง
“ตายแล้ว ใครเอาเด็กมาทิ้ง” แกพูดพร้อมยกมือข้างหนึ่งขึ้นทาบอก
จิ๋วหลานสาวป้ามะลิเดินออกจากร้านมาร่วมมุง “ตายแล้วหรือป้า”
“ตายแล้วหรือ” เจ๊เล้งขยับเท้าเข้าใกล้
หลินลูกสาวเจ๊เล้งเดินมาสมทบ สาววัยยี่สิบใจกล้ากว่าใครอื่น เธอก้มหน้ามอง ค่อยๆ ยื่นมือออกไปสัมผัสทารกน้อยตัวแดงๆ
“แม่ เด็กยังหายใจ ตัวอุ่นๆ อยู่เลย ยังไม่ตาย” หลินชักมือกลับ
โจกขยับ “ต้องโทร.แจ้งตำรวจ แล้วพาเด็กไปหาหมอ”
“หมอมนูญ คลินิกเปิดแล้ว วันอาทิตย์เปิดเช้า” หลินว่า
“เอารถใครไป” โจกถาม
“ก็ซาเล้งตาหง่าวนี่แหละ” เจ๊เล้งพูด “มึงยกกล่องอื่นๆ ลงจากกระบะ ซาเล้งจะได้เบา”
ไม่เพียงร้านค้าข้างเคียงที่สนิทสนมคุ้นเคย ความผิดปกติอันน่าฉงนจากสายตาช่างสังเกต เพรียกเจ้าของร้านค้าอื่นๆ และคนที่เดินผ่านไปมาหยุดเท้า แล้วกระเถิบเข้ามาล้อมมุง ตามด้วยเสียงวิพากษ์ วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป และความคิดเห็นสารพัดมุมมอง ลุงหง่าวและโจกช่วยกันยกกล่องหนังสือลงจากซาเล้ง ยังไม่ทันจัดระเบียบข้าวของ ทันทีที่ทารกน้อยพร้อมตะกร้าถูกส่งกลับคืนกระบะ ลุงหง่าวเตรียมพร้อมรับบทสารถี
โจกร้องถาม “ใครจะไปกับลุงหง่าว”
“มึงนั่นแหละ” เจ๊เล้งพูด “กูกับลูกสาวจะช่วยดูร้านมึงให้”
หญิงสาวร่างป้อมแหวกไทยมุงเดินเข้าหาซาเล้งหน้าตาตื่น โจกยังไม่ทันเห็นเธอ ป้ามะลิพูดเสียงดัง
“เอายูกิแฟนมึงไปด้วยไอ้โจก”
สาววัยยี่สิบสี่ผิวขาว ผมยาว รูปร่างค่อนข้างเจ้าเนื้อ ยืนขมวดคิ้วอยู่ไม่กี่อึดใจโจกก็กวักมือเรียกขึ้นไปนั่งเคียงข้างตะกร้าทารกในห่อผ้า สุดท้ายเป็นตัวเขาเองผละจากกระบะลงมาถีบซาเล้งแทนลุงหง่าว ทั้งสามพร้อมทารกนิรนามซึ่งยังมีลมหายใจแหวกกลุ่มไทยมุงออกสู่ปากทาง คลินิกเวชกรรมหมอมนูญอยู่ติดถนนสายย่อยกลางย่านชุมชน
แม้ซาเล้งไม่ได้ถีบเร่งด้วยความเร็ว แต่ระยะทางเพียงไม่ถึงสองกิโลเมตร ดวงตาสองคู่ทั้งชายชราและหญิงสาวซึ่งก้มมองร่างสงบนิ่งของทารกน้อยในตะกร้าพลาสติกต่างวาดหวังและส่งใจช่วย
คล้อยหลังซาเล้ง ผู้คนที่มุงล้อม รวมทั้งเจ้าของร้านกาแฟและอาหารตามสั่งผสมโรงถกกันถึงที่มาที่ไปของเด็ก…ใครเอามาทิ้ง เป็นเจ๊เล้งที่ออกโรงปกป้องลุงหง่าว ในทันทีที่มีใครบางคนกล่าวหาซ้ำว่าแกขโมยเด็ก
“ตาหง่าวอยู่คนเดียวมานาน แกชินแล้ว หากินปากเดียวท้องเดียว แกจะหาเหามาใส่หัวทำไม คงเป็นแม่ใจยักษ์เอาลูกมาทิ้ง”
“บางที…” ป้ามะลิพูดเบา “บางทีฉันว่าแม่ของเด็กคงโดดน้ำตายไปแล้ว”
ข้อสังเกตของป้ามะลิเหมือนดึงความเงียบจากย่านชุมชนทิ้งตัวลงระหว่างวงสนทนา บรรดาไทยมุงหรือแม้แต่คนอายุยี่สิบเศษๆ ทั้งจิ๋วและหลินต่างรู้ดี สะพานแขวนที่ทุกคนเห็นผ่านตาทุกวัน นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นชอบพากันขึ้นไปถ่ายรูป เป็นความสุขความร่าเริงของผู้มาเยือน ทว่าในอีกมิติของมันซ่อนแฝงไว้ซึ่งเรื่องราวของความตาย
ไทยมุงสลายตัว หลินปลีกตัวเข้าไปนั่งเฝ้าร้านหนังสือซึ่งกล่องเบียร์จากซาเล้งยังวางซ้อนกันไว้กลางห้อง ร้านกาแฟเจ๊เล้งมีลูกค้าเพียงสามสี่ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้นั่งกินในร้าน
ที่ร้านอาหารตามสั่ง หลังว่างมือ ป้ามะลิถกกับหลานสาวถึงเรื่องที่ยังค้างคาใจ
“เมื่อคืนนี้ใครโดดน้ำตาย แล้วทิ้งลูก”
ป้ามะลิตั้งคำถามไปอย่างนั้น หลานสาวของแกไม่ใช่คนที่จะให้คำตอบ ถึงกระนั้นจิ๋วก็พอเป็นเพื่อนคุยที่ดี
“ไม่ใช่คนแถวบ้านเราหรอกป้า” จิ๋วพูด “คนมาจากที่อื่น เดี๋ยวตำรวจเขาคงสืบสวนเอง พี่หลินโทร.แจ้งไปแล้ว”
จิ๋วพูดคำนี้จบไปไม่นาน ร้อยตำรวจเอกไพรัชพร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาอีกสามนายก็มาถึง มอเตอร์ไซค์สองคันจอดลงหน้าร้านหนังสือ ทั้งสี่แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ทันทีที่ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ และมองเห็นตำรวจในเครื่องแบบเต็มตา เจ๊เล้งที่กำลังชงโอเลี้ยงถึงกับหยุดมือ
ผู้กองไพรัชเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพี่ชายของโจก แวะเวียนมาร้านหนังสือแทบทุกเดือน เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของทุกคน ยังไม่ทันที่นายตำรวจหนุ่มจะเอ่ยถาม ป้ามะลิชิงให้ข้อมูล
“เด็กอยู่ที่คลินิกหมอมนูญ”
ตลอดชีวิตพเนจรของลุงหง่าว ไม่มีครั้งไหนที่แกจะใกล้ชิดกับตำรวจขนาดได้ยินเสียงลมหายใจ แกซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ของตำรวจหนุ่มยศสิบโทไปยังนิวาสสถานใต้สะพาน ผู้กองไพรัชกับตำรวจอีกสองนายรออยู่ก่อนแล้ว แคร่ที่นอนหมอนมุ้งของแกถูกรื้อค้น สมบัติอันน้อยนิดกระจุยกระจาย ลงจากท้ายมอเตอร์ไซค์ของตำรวจหนุ่มแล้วแกยืนตัวสั่น แกไม่มียาเสพติดและของผิดกฎหมายหรอก แกท่องคำตอบเตรียมไว้ในใจ มีแต่ยาเส้นสองสามห่อที่แกซื้อตุนไว้สูบ ไม่มีของผิดกฎหมายอื่นอย่างแน่นอนนะคุณตำรวจ ไม่มีเลย คิดถึงคำตอบที่เตรียมไว้แกก็หนาวยะเยือกในใจ ตัวแกนี่เองที่ผิดกฎหมายมาตลอด เป็นคนเถื่อนที่ไม่มีทั้งหลักแหล่งแห่งที่และบัตรประจำตัวประชาชน แต่ที่ผ่านมาผู้กองและตำรวจคนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถือสาหาความ
แกตอบคำถามผู้กองไพรัชเสียงสั่นอย่างคนมีพิรุธ “ฉันไม่รู้หรอกครับผู้กองว่าใครเอาเด็กมาทิ้ง ตื่นเช้ามานั่งรอฝนหยุด ฉันลากซาเล้งที่จอดไว้ตรงนี้จะไปส่งหนังสือ อ้อ…แรกฉันคลุมผ้าพลาสติกไว้อย่างดีทีเดียวครับ ตอนถีบไปตามถนน มันถูกลมพัดปลิวหายไปตอนไหนฉันก็ไม่ได้สังเกต ถึงร้านหนังสือหัวโจกถึงรู้ว่ามีเด็กในตะกร้า…”
แกให้การไปตามจริงด้วยสีหน้าแสนซื่อ น้ำเสียงสั่นเหมือนคนเป็นไข้ ท่าทีของแกทำเอาตำรวจหนุ่มอีกนายถึงกับแอบยิ้มขบขัน
ถึงไม่ได้ถือสาหาความ เชื่อคำให้การของแกแต่แรก ไม่วายที่ตำรวจหนุ่มสามนายจะผลัดกันแกล้งข่มขวัญสำทับ
“ลุงบอกมาตามตรง ไปขโมยเด็กมาจากไหน”
“ลุงคือหนึ่งในแก๊งลักเด็ก ทำมานานกี่ปีแล้ว”
“ส่งไปมาเลย์หรือประเทศไหน คนมารับเด็กต่อจากลุงเป็นใคร”
หมดประเด็นเรื่องเด็ก ตำรวจหนุ่มหนึ่งในสามวกเข้าหาจุดอ่อนของแก “ลุงเป็นคนจรจัด ญาติพี่น้องไม่มี ลุงต้องไปอยู่ในห้องขัง ไม่งั้นจะเป็นภัยต่อคนอื่น”
อีกคนว่า “บัตรประชาชนก็ไม่มี ถ้าตำรวจจะจับลุงตอนนี้ก็ทำได้เลย”
ขู่จนชายชรากลัวตัวสั่นไปหลายครั้ง ตำรวจหนุ่มคนเดิมก็พาแกซ้อนท้ายกลับไปส่งที่คลินิกหมอมนูญ
คล้อยหลังตำรวจหนุ่มชั้นประทวนและลุงหง่าว ร้อยตำรวจเอกไพรัชขึ้นไปตรวจดูสะพานตามลำพัง แน่นอน เขาไม่ได้กลิ่นเลือดและรอยเท้าของผู้กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย สายน้ำช่วงกลางฤดูฝนยังคงไหลเชี่ยว ผู้กองหนุ่มจับตามองกอสวะ ประเมินความเร็วและแรงของสายน้ำ
ไม่ใช่เหตุฆาตกรรมที่ต้องลงบันทึกประจำวัน และสืบสาวหาตัวฆาตกร ประเด็นอยู่ที่ทารกนิรนาม ต้องหาที่มาที่ไป มูลเหตุ ปูมหลัง สืบหาเบาะแสพ่อแม่ของเด็ก ก่อนอื่นตำรวจต้องแจ้งหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบมารับไป
ร้อยตำรวจเอกไพรัชเดินจากเชิงสะพานด้านตะวันออกไปจนถึงอีกฟากฝั่ง วกกลับมายังมอเตอร์ไซค์ของตน ไม่พบร่องรอยหรือพิรุธอื่นให้บันทึกลงในรายงานเพิ่มเติม
ผู้กองหนุ่มพูดกับตำรวจใต้บังคับบัญชาที่ควบมอเตอร์ไซค์ย้อนกลับมายังที่เกิดเหตุ “ลุงหง่าวอยู่ที่นี่มานาน แกไม่เคยก่อเรื่องอะไร แกน่าสงสาร ทีหน้าทีหลังก็ไม่ต้องไปแกล้งขู่แกมาก เดี๋ยวแกจะโดดน้ำตายไปอีกคน”
ทารกน้อยเพศหญิงในอ้อมแขนของยูกิแก้มสีชมพูระเรื่อ ลืมตาตื่นสู่ความเป็นชีวิตในคลินิก ผ่านการตรวจไข้ เช็กร่างกาย ดื่มนมและอาหาร หมอมนูญบอกว่าทารกเพศหญิงน่าจะมีอายุไม่เกินสิบวัน สุขภาพโดยรวมค่อนข้างดี เป็นโชคเล็กๆ ที่ซาเล้งของลุงหง่าวไม่มีรังมดคันไฟ หมอไม่ได้วิเคราะห์ถึงมูลเหตุอื่นใด ไม่ใช่หน้าที่ของหมอที่จะไปพูดถึงพ่อแม่ หรือใครก็ตามที่กระโดดน้ำตายแล้วทิ้งลูกเอาไว้ให้เป็นภาระคนอื่น
วันนี้นักท่องเที่ยวน้อย ร้านค้าทั้งสามร้างแขกเข้ามาอุดหนุน ทารกหญิงตัวน้อยถูกรุมล้อมอีกครั้ง ยูกิส่งต่อให้เจ๊เล้งรับไปอุ้มไว้ในวงแขน แกว่งไปมาเหมือนเปลผ้า ป้ามะลิและจิ๋วตามมาจ้องดู ทันทีที่เจ๊เล้งวางลงบนเบาะผ้าซึ่งจัดเตรียมไว้ ตาคู่เล็กของเด็กหญิงซึ่งยังไม่รู้ที่มาก็หลับพริ้ม
เจ๊เล้งยกมือให้สัญญาณ “ปล่อยให้เขาหลับ อย่าส่งเสียงดัง”
“น่ารักมาก” ป้ามะลิพูดเบา “แม่ใจร้าย ทิ้งได้ลงคอ”
“แม่เด็กคนนี้อาจจะกลับมารับก็ได้นะป้า” จิ๋วกระซิบข้างหูป้าของเธอ “อาจมีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องทิ้งลูก ก็…เหมือนละครที่เราเคยดู”
ป้ามะลิแย้งเสียงเบา “ป่านนี้ ผู้หญิงคนที่เป็นแม่ไม่จมน้ำตายไปแล้วหรือ”
อายุไม่ถึงสิบวันหรือ เพิ่งคลอดออกมา สายตาสี่คู่จ้องมองทารกพร้อมคำถามในใจ อีกหน่อยก็ต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า น่าสงสาร เจ๊เล้งจ้องมองเด็กน้อย นิ่งงันชั่วครูแล้วหันไปสบตากับป้ามะลิ เอื้อมมือสะกิดแขนแล้วพากันไปที่มุมห้อง
“พี่มะลิ” เจ๊เล้งพูด “ผู้กองบอกว่าจะแจ้งไปยังหน่วยงานอื่น พรุ่งนี้หรือมะรืนเขาจะมารับไป สงสารเด็ก มีทางไหมที่เราจะรับไว้เอง พี่หรือฉันขอเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ถ้าเผื่อตำรวจตามหาพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเด็กไม่เจอ”
“เล้งบอกผู้กองสิ” ป้ามะลิว่า “ฉันไม่เคยมีลูก เลี้ยงเด็กไม่เป็น แค่หลานกำพร้าคนเดียวก็แย่แล้ว”
“ฉันก็มีลูกสองคน ตอนนี้เหลือคนเดียว ถ้ามีอีก” เจ๊เล้งนิ่งคิด
“ถ้าส่งสารเด็ก เล้งก็ให้ผู้กองช่วยหาทางว่าต้องทำยังไง แต่ว่าเลี้ยงไหวหรือเปล่า เด็กคนหนึ่งค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย”
“ครูเจิด…” เจ๊เล้งเผลอพูดเสียงดัง “ส่งให้ครูเจิด”
“หนุ่มโสดแบบนั้นไม่น่ารอด” ป้ามะลิส่ายหน้า “ถ้าอยากมีลูก เขาก็คงมีเมียไปนานแล้ว”
เจ๊เล้งคิดถึงชายหนุ่ม แกให้ความสำคัญที่เขาเป็นคนมีความรู้มากกว่าใครในย่านนี้ และสถานภาพที่เคยเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย บรรเจิดฝันน่าจะเป็นผู้รับภาระนี้ไว้ได้ดีที่สุด
“น่าจะลองถามเขาดู” เจ๊เล้งพูดเบา “ครูเจิดยังไม่เห็นเด็ก เขาเป็นคนใจอ่อน”
ป้ามะลิว่าเสียงดัง “ให้ไอ้โจกไปตามพี่มันมา”
“ฉันจะให้ลูกสาวไปตาม” เจ๊เล้งพูด “ไอ้โจกจะได้ดูร้านมัน”
เจ๊เล้งกวักมือเรียกลูกสาว ทันทีที่รับคำสั่งไปตามครูเจิด ตาชั้นเดียวของหญิงสาวเป็นประกาย
“หนูจะเอามอเตอร์ไซค์ไป ถ้าครูเจิดอยู่บ้าน” หลินพูด
“ถามไอ้โจกก่อนก็ได้” ป้ามะลิพูด “ว่าพี่ชายมันอยู่บ้านหรือหนีไปเที่ยวไหน”
นักเขียนหนุ่มนัยน์ตาเศร้า
บรรเจิดฝัน ท่าบางทราย ลาออกจากราชการมาเกือบจะครบห้าปีเต็ม พ่อแม่ไม่อยู่ทัดทานการตัดสินใจ แม้ญาติพี่น้องบางคนบ่นเสียดายอนาคต แต่ไม่มีใครก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว ชีวิตและความฝันเป็นของเขา ห้วงยามที่ชีวิตเผชิญบาดแผลและความเจ็บปวด เขาจ่อมจมกับปัญหาของตัวเองตามลำพัง ผลจากการตัดสินใจเลือก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เขาต้องยืดอกรับด้วยความแข็งแกร่งเท่าที่ทำได้
ญาติผู้ใหญ่ต่างเข้าใจว่าเขาลาออกก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวของศิลปิน หวังก้าวเดินไปบนถนนนักเขียน อาจเสี่ยงต่อความล้มเหลวและไส้แห้ง ถึงกระนั้นหากไม่อาจพาปากท้องไปต่อได้ เขาคงดิ้นรนหางานอื่นทำเลี้ยงชีวิต อย่างน้อยเขาก็เป็นคนมีความรู้ ไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองอดตาย
อดีตครูเจิดไม่ปริปากบอกความจริงบางเรื่องราวแก่ใคร แม้แต่น้องชายที่เขาสนิทที่สุดก็รู้ไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด บาดแผลทางใจที่ยากรักษา เขาเก็บซ่อนไว้มิดชิด ไม่เคยแสดงอาการหม่นซึมต่อหน้าใครอื่น เขาพร่ำบอกตัวเองด้วยใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ศิลปินหลั่งน้ำตาเป็นงานศิลปะ นักเขียนหลั่งเลือดเป็นบทกวี ขณะอยู่เบื้องหน้าคนอื่น ฉาบความเข้มแข็งด้วยรอยยิ้มทระนง
เจ๊เล้งเคยทัก “ครูเจิดยิ้ม แต่ตาเศร้า”
ร้อยตำรวจเอกไพรัชเพื่อนที่คบหากันมานานก็เคยตั้งข้อสังเกต “ไอ้เจิด ใครบีบให้มึงลาออกหรือเปล่า มึงเหมือนมีบางเรื่องที่ยังจบไม่ลง”
เขาได้แต่ยิ้มและยิ้ม เป็นความเข้มแข็งหนึ่งเดียวที่เขาฉาบทาเปลือกนอก ทั้งยามร่วมหารือกับเพื่อนในชุมชน หรือแวะร้านหนังสือซึ่งปล่อยให้น้องชายกับยูกิแฟนสาวช่วยกันบริหาร นานๆ บรรเจิดฝันจะส่องดูบัญชีรายรับรายจ่าย ตัวเลขกำไร ประเมินผลประกอบการในแต่ละไตรมาส ให้คำแนะนำไปบ้างหากเห็นว่าตัวเลขกำไรลดน้อยลง แม้เป็นหุ้นส่วนแต่รายได้เกือบทั้งหมด บรรเจิดฝันปล่อยให้เป็นของร้านหนังสือ
ทุกครั้งที่น้องชายจัดงานเสวนา ไม่ว่าเปิดตัวหนังสือของสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือนักเขียนหน้าใหม่ที่ลงทุนพิมพ์งานของตัวเอง บรรเจิดฝันช่วยทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ ถือโอกาสร่วมดื่มและสนทนาผ่านราตรีอันยาวนานในร้านหนังสือเล็กๆ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
บรรเจิดฝันวาดรูปไม่เป็น วันที่ทางร้านเปิดแสดงงานศิลปะ ผองเพื่อนมิตรสหายของน้องชายยกโขยงกันมามากหน้าหลายตา ค่ำคืนที่มีทั้งเสียงดนตรี เวทีเสวนา และวงดื่มกิน บรรเจิดฝันพาตัวเองแทรกเข้าไปได้อย่างกลมกลืน และเป็นค่ำคืนไม่มีใครสนใจ แววตาแฝงเงาบางเรื่องราวที่ยังจบไม่ลงของเขา
เบื้องหน้าคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน เขาหลั่งเลือดและหยดน้ำตาเป็นถ้อยคำ ไม่ว่านิยายเรื่องยาว เรื่องสั้น ความเรียง หรือบทกวี ทุกชิ้นล้วนแฝงความเหงาเศร้า ผิดไปจากสีหน้าที่ดูร่าเริงยามออกไปพบหน้าผู้คน
“มึงเขียนแต่เรื่องเศร้า” ผู้กองไพรัชซึ่งอ่านนิยายของเขาจบไปหลายเรื่องสัพยอก
“กูถนัดแนวนี้” เจิดบอก
“มันจะขายไม่ออก” นายตำรวจหนุ่มพูดจริงจังด้วยน้ำเสียงเป็นห่วง
ผลงานสามเล่มแรกร่วมงานกับสำนักพิมพ์ใหญ่ ยอดพิมพ์หลักพันตามมาตรฐาน หลังลาออกจากงาน เจิดลงทุนพิมพ์เอง ส่วนหนึ่งฝากร้านหนังสืออิสระ ที่เหลือก็วางรอคนอ่านที่ร้านหัวโจก ยอดพิมพ์ลดลงจากเดิมเท่าตัว บางเล่มขายหมดเขาก็ทยอยพิมพ์เพิ่ม
ในสายตาคนอื่นเขาเป็นคนทนเหงาได้อย่างน่าทึ่ง อยู่กับหนังสือและงานเขียนตามลำพัง นิยายขนาดสั้นทยอยออกจากโลกส่วนตัวของเขาสู่การจัดหน้า สู่โรงพิมพ์แล้วอวดความงามศิลปกรรมบนแผ่นปกปีละสามถึงสี่เล่ม
ในวัยย่างสามสิบสอง งานเขียนซึ่งเขาปรารถนาให้เป็นเหมือนไม้ยืนต้นหยั่งรากลงบนถนนวรรณกรรมไปแล้วทั้งหมดสิบหกเล่ม มีทั้งเงียบเชียบในพงไพรหนังสือประหนึ่งต้นไม้ที่ถูกลืม และผลิดอกออกผลเป็นกระแสตอบรับ ประสบการณ์ที่มากขึ้นตามวันเวลา บรรเจิดฝันทำความเข้าใจกับธรรมชาติของตลาดหนังสือได้กระจ่าง
สำหรับงานเขียนและหนังสือ เขาไม่เคยพบพานความเศร้าหรือร้าวรานใจ เป็นความสุข ความหวัง และการผจญภัยข้างในลึกๆ ที่ได้ต่อสู้กับตัวเอง
น้องชายนอนเฝ้าร้านหนังสือ แยกชีวิตจากบ้านหลังเดิมจนเคยชิน นานๆ จะแวะมาค้างกับพี่ชาย หากไม่มีเรื่องราวสำคัญที่ต้องหารือ ทั้งสองพูดคุยกันเพียงน้อย
อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ชีวิตในวันหยุดของคนอื่นอย่างปลอดโปร่งโล่งใจ นิยายเรื่องใหม่ผ่านการตรวจทานรอบสุดท้าย ไฟล์ต้นฉบับรอจัดหน้า เป็นภาระของโจกและยูกิซึ่งจะรับช่วงไป ทั้งการออกแบบปก จัดทำรูปเล่ม และนำส่งโรงพิมพ์เจ้าประจำ
หลังเสียงฝนพรำสงบลง บรรเจิดฝันนอนฟังเพลงจากเครื่องเล่นบลูเรย์ ไม่ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ของหลินซึ่งมาจอดลงหน้าบ้าน หญิงสาววัยยี่สิบคงตะโกนเรียกซ้ำๆ
“พี่เจิด เกิดเรื่องใหญ่ที่ร้านโจก แม่ใช้ให้หลินมาตาม”
ร้านกาแฟกลายเป็นที่รวมตัวสุมหัวพูดคุยท่ามกลางเสียงพรำ ทั้งสามร้านปลอดลูกค้าอื่น ป้ามะลิ ลูกจ้างสาวน้อย สปป.ลาว จิ๋ว โจก และยูกิ สมทบด้วยผู้กองไพรัชพร้อมตำรวจอีกนาย ทารกน้อยอิ่มนมไปแล้วยังหลับสนิท เจ๊เล้งกับป้ามะลิสอบถามนายตำรวจถึงช่องทางที่จะรับเด็กเป็นลูกบุญธรรม แรกนายตำรวจหนุ่มแนะนำว่าไม่ควรหาเหาใส่หัว เด็กคนนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบประวัติความเป็นมา ว่าเกิดที่ไหน พ่อแม่เป็นคนไทยหรือต่างชาติ แม้คลอดบนแผ่นดินไทย แต่อาจยังไม่ได้แจ้งเกิด และมีทางเป็นไปได้ที่ผู้เป็นแม่จะไปทำคลอดที่คลินิกเถื่อน ทางที่ดีควรปล่อยให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบมารับไป ถ้าอยากรับเลี้ยงจริงๆ ค่อยตามเด็กไปที่หน่วยงานนั้น แล้วยืนคำร้องแสดงเจตจำนง พร้อมหลักฐานและคุณสมบัติ รวมทั้งสถานะการเงินให้เขาตรวจสอบ
หลังนายตำรวจหนุ่มเบรกความต้องการ ทั้งเจ๊เล้งและป้ามะลิเสียงอ่อย
“ฉันแค่ถามดู” ป้ามะลิว่า “สงสารเด็ก”
“ไม่ใช่ฉันหรอก” เจ๊เล้งพูด “เผื่อครูเจิดอยากมีลูก”
ผู้กองไพรัชหัวเราะเสียงดัง “ไอ้หมอนั่นน่ะรึ ถ้าอยากมีลูก มันมีเมียไปนานแล้ว”
ไม่เพียงนายตำรวจหนุ่มที่หัวเราะเสียงดัง ตำรวจติดตามซึ่งเคยเห็นหน้าค่าตาครูเจิด เจ๊เล้ง จิ๋ว และป้ามะลิ ต่างเผลอตัวผสานความขบขัน แล้วเสียงร้องจ้าจากเบาะเล็กๆ ก็ตามมา
เด็กน้อยที่น่าสงสารตื่นจากหลับ เปล่งเสียงแห่งความเป็นชีวิต จนกระทั่งร่างน้อยๆ พร้อมผ้าอ้อมลอยมาอยู่ในวงแขนของหญิงวัยกลางคนแล้วยังร้องไม่หยุด เจ๊เล้งพยายามเขย่าวงแขน ทารกวัยไม่ถึงสิบวันยิ่งร้องเสียงดัง ป้ามะลิขยับเข้าหา รับเด็กมาอุ้มไว้แล้วแกว่งวงแขนไปมา เสียงร้องยังไม่หยุด จิ๋วตามมารับช่วง เด็กสาวที่ไม่เคยมีลูกฮัมเพลงในลำคอ ส่งต่อให้โจกและยูกิตามลำดับ
เสียงมอเตอร์ไซค์ดับเงียบเมื่อจอดลงที่หน้าร้าน หลินพร้อมบรรเจิดฝันก้าวเข้ามา
“มึงลองอุ้มดูสิ หลิน” ป้ามะลิบอก
หลินขยับถอยห่าง เธอไม่เคยอุ้มเด็ก ไม่เคยมีน้อง ครั้นแล้วเสียงร้องโยเยก็เงียบสนิทเมื่อถูกส่งสู่วงแขนของนักเขียนหนุ่ม
ทั้งเจ๊แล้งและป้ามะลิมองหน้ากันเลิ่กลั่ก แล้วหันไปจับจ้องท่าทางขัดเขินและสีหน้างุนงงของบรรเจิดฝัน
“ได้ลูกสาวแล้วละครู” เจ๊เล้งพูด
“สวรรค์ส่งลูกสาวมาให้ครู” ป้ามะลิสำทับ
เด็กน้อยในอ้อมแขนหลับตาพริ้ม คราบน้ำลายแต้มบนสองข้างแก้ม บรรเจิดฝันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เด็กเป็นลูกของใคร และเขาถูกตามมาที่นี่ด้วยสาเหตุใด
ร้อยตำรวจเอกไพรัชลุกขึ้นขยับเดินเข้าหาเพื่อน “มึงได้ลูกสาวแล้วไอ้เสือ เลี้ยงดูให้ดี แต่ก่อนอื่นมึงต้องเดินเรื่องไปขอรับเด็กเป็นลูกบุญธรรมให้ถูกต้อง”
บรรเจิดฝันยืนนิ่ง เพื่อนสนิทยิ้มฟันขาว “ถ้าอยากมีลูกจริงๆ กูช่วยมึงได้”
(ติดตามต่อได้ในนิยายฉบับเต็มเร็วๆ นี้)