ความเข้าใจที่นักอ่านมือใหม่ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และคนที่อ่านหนังสืออยู่บ้าง แต่ไม่รู้สึกว่ามีประโยชน์สักเท่าไหร่ เชื่อกันอย่างผิด ๆ ก็คือ ต้อง “อ่านเร็ว” “อ่านเยอะ” และ “เลือกอ่าน” ความเชื่อที่ทึกทักกันไปเองนี้เป็นสิ่งที่รบกวน “การเตรียมตัวก่อนอ่าน” และกีดขวางวิธีอ่านเพื่อใช้ประโยชน์จากหนังสือ เมื่อยึดติดกับ “การอ่านเร็ว” เนื้อหาสำคัญก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ถ้าคิดแต่ว่า “ต้องอ่านให้ได้เยอะ ๆ” ก็จะพลาดเป้าหมายในการอ่านไป และเมื่อจุกจิกกับ “การเลือกอ่าน” ก็จะเผลออ่านแต่หนังสือตามใจตัวเองเท่านั้น มาปรับทัศนคติในการอ่านหนังสือของคุณกับ “3 เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการอ่านหนังสือแบบผิด ๆ ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ถูกต้อง”
แม้แต่งานวิจัยระดับโลกก็ยังปฏิเสธเรื่องการอ่านเร็ว
ปี 2016 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ตรวจสอบว่า “การอ่านเร็วทำได้จริงหรือไม่” จากข้อมูลวิจัยกว่า 145 ชิ้น สรุปผลไว้ดังนี
- เมื่อเพิ่มความเร็วในการอ่าน ระดับความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านจะลดลง (ระหว่างความเข้าใจกับความเร็วในการอ่าน คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
- จากปัจจัยที่กำหนดความเร็วและเวลาในการอ่านการเคลื่อนไหวของดวงตาและวิสัยทัศน์ในการมองเห็น มีผลน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
เทคนิคการอ่านโดยมองตัวอักษรแล้วจำเป็นภาพแทบไม่มีผลใด ๆ และเทคนิคการอ่านเร็วก็ไม่ได้ช่วยให้สมองจดจำเนื้อหาของหนังสือได้เลย สรุปก็คือ การอ่านเร็วเป็นแค่เทคนิคการอ่านข้ามไปแบบลวก ๆ เท่านั้น เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง หมายความว่า หนังสือที่อ่านได้เร็วนั้นมักจะเป็นหนังสือที่อ่านง่าย ดังนั้น ควรตระหนักไว้ว่า ความรวดเร็วในการอ่านกับสิ่งที่ได้รับจากการอ่านเป็นเรื่องสวนทางกัน ไม่มีความหมายอะไรถ้าเพียงจะแค่อ่านหนังสือให้จบ ๆ ไป
ถึงจะอ่านเยอะ ความรู้ก็ไม่เพิ่มขึ้น
ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) ผู้ซึ่งนิตยสาร The Economist ยกย่องให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในทศวรรษได้กล่าวไว้ว่า “ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ คุณค่าของข้อมูลในหนังสือก็ยิ่งลดลง” นี่คือเรื่องน่าเศร้าที่ว่า เมื่อรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งละเอียดขึ้น ยิ่งอ่านเยอะเท่าไหร่ ข้อมูลใหม่ ๆ ก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น และหนังสือที่ควรอ่านก็น้อยลงจนแทบไม่มี
เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และไม่มีนิสัยรักการอ่าน สิ่งที่ควรทำคือการให้ความสำคัญกับ “การเตรียมตัวก่อนอ่าน” มากกว่าการตั้งเป้าหมายให้อ่านได้เยอะ ๆ ที่จริงแล้ว ไม่ว่าคุณจะอ่านเยอะแค่ไหน ความรู้ที่ได้ก็มักจะหายไปไม่ช้าก็เร็ว ในทางตรงกันข้าม หากตั้งเป้าหมายการอ่านไว้อย่างชัดเจน ถึงจะเป็นข้อมูลเพียงน้อยนิดก็ได้ความรู้มาก แน่นอนว่าความรู้และข้อมูลที่ได้จากการอ่านเยอะอาจเป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วหนังสือหลายเล่มมักถูกโยนกลับไปอยู่ใน “กองดอง” ด้วยความเต็มใจ
ถึงจะเลือกอ่านก็ใช่ว่าจะได้หนังสือดี
คุณค่าของหนังสือจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความชอบและการนำไปใช้ ถึงจะเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน บางคนอาจเป็นหนังสือดี แต่บางคนอาจเป็นหนังสือน่าเบื่อก็ได้ หรืออาจเป็นหนังสือที่อ่านง่าย หนังสือที่อ่านยาก
การถามว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหนดี ก็เหมือนกับการเปรียบเทียบว่า “ใช้ส้อมหรือมีดสะดวกกว่า” หรือ “ระหว่างข้าวแกงกะหรี่กับเกี๊ยวซ่าอะไรอร่อยกว่ากัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของคนที่พูดว่า “อ่านหนังสือไม่เก่ง” หรือ “ไม่ได้รักการอ่าน” ซึ่งไม่มีทักษะมากพอในการเลือกหนังสือ ดังนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นักที่จะคิดว่า “หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่ดีหรือไม่” สิ่งสำคัญคือ การเลือกความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณจากหนังสือหนึ่งเล่ม
แทนที่จะคิดว่าหนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ สู้เปลี่ยนมาคิดว่าตัวเองจะได้ความรู้อะไรจากการอ่านดีกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของการอ่านก็ขึ้นอยู่กับวิธีนำไปใช้ หากคิดแต่จะนำความรู้ใส่ตัว (input) เพียงอย่างเดียว โดยไม่นำความรู้ที่ได้จากการอ่านออกมาใช้เลย (output) ก็เป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์
3 เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการอ่านหนังสือแบบผิด ๆ ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ถูกต้อง
หนังสือ เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย
เขียนโดย Mentalist DaiGo
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่น ๆ