4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน DID YOU KNOW ?

4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน DID YOU KNOW ? โดย แพรวเยาวชน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่ารักๆ และน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน มีมากมาย และนี่คือ 4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน ที่แพรวเยาวชน อยากจะขอเล่าให้ฟัง

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน 1

ฮอบบิทได้ตีพิมพ์เพราะเด็กชายวัย 10 ขวบ

วรรณกรรมเยาวชน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน เรื่องแรกเป็นเรื่องของ ฮอบบิท

Stanley Unwin เจ้าของสำนักพิมพ์ George Allen & Unwin นำต้นฉบับ “ฮอบบิท” ของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีนกลับบ้านให้ Rayner ลูกชายอ่านและเขียนรีวิวแลกเงิน 1 ชิลลิ่ง…ซึ่งรีวิวครั้งนั้นทำให้ Stanley ตัดสินใจพิมพ์เรื่องฮอบบิท!
และนี่คือรีวิวของเด็กชายวัย 10 ขวบ…

“บิลโล แบ๊กกิ้นส์ เป็นฮอบบิท อาศัยอยู่แต่ในโพรงฮอบบิทและไม่เคยออกไปผจญภัยที่ไหนเลย จนกระทั่งพ่อมดชื่อแกนดัล์ฟและคนแคระยุให้บิลโบออกเดินทางนั่นแหละ บิลโบจึงได้เจอช่วงเวลาอันแสนตื่นเต้น ทั้งการสู้กับก็อบลินและวอร์กป่า จนในที่สุดบิลโบก็เดินทางไปถึงภูเขาโลนลี่ และได้เจอสม็อก มังกรเฝ้าภูเขา ซึ่งมันโดนฆ่าทิ้งหลังการต่อสู้ครั้งใหญ่ บิลโบก็ได้เดินทางกลับบ้าน—เยี่ยมเลย!

หนังสือเล่มนี้มีแผนที่หลายภาพ ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบก็ได้ เนื้อเรื่องดีและควรให้เด็กอายุ 5 – 9 ขวบทุกคนอ่าน”

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชน 2

ผู้เขียน “เบ๊บ หมูเลี้ยงแกะ” เขียนหนังสือเกิน 100 เล่ม

แต่ได้รางวัลเล่มเดียว

 

ดิ๊ค คิง-สมิธ เคยเป็นทั้งทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นชาวไร่ เป็นคุณครู เป็นช่างทำรองเท้า เป็นพนักงานขาย ก่อนจะมาเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก เขาเขียนหนังสือไว้เป็นร้อยเล่ม (ประมาณ 140 เล่ม) แต่มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่เคยได้รับรางวัล นั่นคือ “เบ๊บ หมูเลี้ยงแกะ” ผลงานลำดับที่ 5 ของเขา ได้รับรางวัล Guardian Children’s Fiction Prize ประจำปีค.ศ.1984 และแม้หนังสือเล่มอื่นๆ จะไม่มีรางวัลการันตี แต่งานหลายเล่มของเขาก็ครองใจเด็กทั่วโลกมาตลอด และตัวเขาเองได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆ ในฐานะนักเขียน

ดิ๊ค คิง-สมิธ เป็นนักเขียนที่มีวินัยมาก ทุกเช้าเขาจะเขียนหนังสือใส่กระดาษ A4 สองชั่วโมงติด จากนั้นตอนสายๆ ก็จะพิมพ์เก็บไว้ หนังสือเล่มแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือ The Fox Busters พิมพ์เมื่อปีค.ศ.1978 สมัยที่เขายังเป็นครูชั้นประถม ส่วนผลงานเล่มสุดท้ายคือ The Mouse Family Robinson ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. 2007

 

กว่าที่ “ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก” จะได้ตีพิมพ์

ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

“ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก” หนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กไทยหลายๆ รุ่น และหนังสือในดวงใจของคนทั่วโลก ผลงานเรื่องเอกของอี.บี.ไวท์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงและยอดขายเลมนี้แปลไปทั้งหมด 23 ภาษา และทำยอดขายแตะ 50 ล้านเล่มไปเรียบร้อยแล้ว ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรักเลยติดอันดับวรรณกรรมเยาวชนขายดีตลอดกาลไปด้วย
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ อี.บี.ไวท์ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าชาร์ล็อตต์จะได้ตีพิมพ์ (ค.ศ.1952) ที่สำคัญตอนแรกไม่มี “เฟิร์น” เด็กหญิงตัวเอกอยู่ในต้นฉบับด้วย มีเพียงหมูวิลเบอร์กับแมงมุมชาร์ล็อตต์เท่านั้น อี.บี.ไวท์เติมเด็กหญิงเฟิร์นเข้ามาตอนเขียนแก้ร่างสุดท้าย เพื่อเพิ่มมิติให้เรื่องและเพื่อให้เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย
อี.บี.ไวท์เคยเล่าไว้ว่าฉากของเรื่องสร้างมาจากฟาร์มของครอบครัวเขาจริงๆ แมงมุมชาร์ล็อตต์ก็เขียนขึ้นมาจากแมงมุมที่เขาเจอในโรงนาตอนเด็กจริงๆ และที่สำคัญคือหมูวิลเบอร์…เขาเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์แสนเศร้าที่เขาช่วยชีวิตหมูป่วยในฟาร์มตัวเองไว้ไม่ได้
“ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก” ไม่ได้เป็นแค่หนังสือเท่านั้น แต่มีคนนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ มากมาย ทั้งภาพยนตร์ ละครเวที แอนิเมชั่น วิดีโอเกม และหนังสือเสียงที่อี.บี.ไวท์เป็นคนอ่านไว้เองตั้งแต่ปีค.ศ.1970 (เมื่อถึงฉากเศร้าของชาร์ล็อตต์ เขาร้องไห้จนต้องเทคใหม่ถึง 17 ครั้ง!!!)

เด็กบางคนที่อ่าน ปีเตอร์แพน พยายามบินบ้าง

แต่ผลที่ได้คือตกเตียงจนได้แผลไปตามๆ กัน

 

เดิมที “ปีเตอร์ แพน” เป็นตัวละครในเรื่อง The Little White Bird ก่อนที่เจ.เอ็ม.แบร์รี่ จะขยายเรื่องของเด็กชายคนนี้ออกมาเป็นบทละครสำหรับเด็ก ซึ่งตอนนั้นปีเตอร์ แพนบินได้โดยไม่ต้องใช้ละอองแฟรี่ จนกระทั่งมีรายงานว่า เด็กบางคนพยายามบินบ้าง แต่ผลที่ได้คือตกเตียงจนได้แผลไปตามๆ กัน เจ.เอ็ม.แบร์รี่จึงเติมเงื่อนไขเข้าไปอีกข้อว่า “ต้องมีละอองแฟรี่ ถึงจะบินได้”

ปีเตอร์ แพน เวอร์ชั่นละครเวทีนั้นประสบความสำเร็จมาก จนต้องตีพิมพ์หนังสือตามออกมาชื่อ Peter Pan in Kensington garden และ Peter Pan and Wendy ซึ่งเล่มที่สองนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุด และยุคหลังๆ สำนักพิมพ์มักใช้ชื่อเรียกสั้นๆ แค่ Peter Pan

เห็นงานประสบความสำเร็จขนาดนี้ แต่ชีวิตส่วนตัวของผู้เขียนไม่ได้สวยงามเหมือนเบื้องหน้าเลย เจ.เอ็ม.แบร์รี่ (หรือเจมส์ แบร์รี่) ต้องเผชิญเรื่องเศร้ามาตั้งแต่เด็ก เมื่อพี่ชายเขาเสียชีวิตและแม่กลายเป็นซึมเศร้า เขาจึงพยายามทำตัวให้เหมือนพี่ชายที่สุด เพื่อให้แม่กลับมามีชีวิตชีวาตามเดิม จนเมื่อเจมส์อายุ 13 ปี (เท่าตอนที่พี่ชายเสียชีวิต) ก็หยุดการเติบโตไว้เท่านั้น เขาสูง ๑๕๐ เซนติเมตร เสียงแหลมเล็กแบบเด็กผู้ชาย และมีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพที่ไม่ยอมโต

ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเขาก็ไม่ได้สวยงามขึ้นเท่าไหร่ เขาผ่านการหย่าร้าง แต่งงานใหม่ เสียภรรยาไปเพราะโรคมะเร็ง ลูกชายสองคนฆ่าตัวตาย อีกคนหนึ่งตายในสงคราม และสองคนที่เหลือแต่งงานไปอยู่ที่อื่น ทิ้งเจมส์ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

ช่วงสุดท้ายของชีวิต เจมส์ เขียนพินัยกรรมยกลิขสิทธิ์หนังสือ Peter Pan and Wendy ให้โรงพยาบาล London’s Great Ormond Street เพื่อช่วยเหลือเด็กป่วย ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 1937 ขณะอายุได้ 77 ปี นักอ่านทั่วโลกเชื่อว่านี่คือการออกผจญภัยไป Neverland ครั้งสุดท้ายของเขา และเขาจะอยู่ตรงนั้นเพื่อปกปักรักษาดินแดนแห่งนั้นไว้ให้เด็กๆ ตลอดกาล 

 

ใครสนใจอยากอ่านเล่มไหนเป็นพิเศษสั่งซื้อหรือสอบถามได้ทาง แพรวเยาวชน


บทความอื่นๆ 

 

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า