ปัญหาจาก ลูกน้อง เป็นเรื่องสำคัญรองมาจากปัญหาเรื่องงาน ที่คนเป็นหัวหน้าต้องรู้จักวิธีรับมือเพื่อจะได้ทำงานกันได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด และไม่ทำให้เกิดการบาดหมางระหว่างกัน
มาดูกันว่าหาก ลูกน้อง มีพฤติกรรมแบบนี้ เราควรรับมือด้วยวิธีแบบไหน
ลูกน้องสมาธิสั้น
ปัญหา : ลูกน้องคนหนึ่งทำงานผิดพลาดเพราะความไม่รอบคอบอยู่บ่อยๆ รู้สึกเหมือนเขาไม่มีความกระตือรือร้นเลย จำวันส่งงานผิดบ้าง สั่งออเดอร์ผิดบ้าง ควรจะดุเขาดีไหม หรือจัดการกับเขาอย่างไรดี
ข้อเสียของคนเรานั้น บางเรื่องก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ แต่บางเรื่องต่อให้ทำอย่างไรก็ไม่อาจแก้ไขได้ เช่น ความสามารถในการ “ระมัดระวัง” นั้นเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด บางคนจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ต้องระมัดระวังได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่เรื่องอื่นๆ จะหายเกลี้ยงไปจากสมองเรา
หากดุด่าลูกน้องเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเป็นมาตั้งแต่กำเนิดต่อไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า แม้เจ้าตัวพยายามแค่ไหนก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อาจทำให้อีกฝ่ายเป็นโรคซึมเศร้าได้ คนประเภทที่แม้จะกระตือรือร้นแค่ไหนก็ยังทำผิดพลาดเพราะความไม่รอบคอบนั้นมีอยู่จริง
เวลาหงุดหงิดเพราะคิดว่า “สั่งงานแล้วไม่ยอมทำ” หรือ “ตกลงกันแบบนี้แต่ทำออกมาอีกแบบนึง” ให้ลองคิดดูว่าเขาเป็น “โรคสมาธิสั้น” หรือเปล่า
สิ่งที่ต้องทำคือ เขียนใส่กระดาษแปะไว้ให้ชัดเจนว่า “อะไรคืองานสำคัญต้องทำก่อน” “ต้องส่งงานชิ้นนี้วันไหน” บางคนคิดว่าทำไมต้องทำเหมือนเด็กๆ แต่การทำเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนบล็อกปูพื้นแบบนูนที่ช่วยบอกทาง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่เรื่องเสียมารยาทเลย
ลูกน้องที่ไม่เชื่อใจใครเลย
ปัญหา : ลูกน้องคนหนึ่งไม่เคยรายงาน ติดต่อ หรือปรึกษาเลย เวลาถามก็ตอบแบบไม่ค่อยเต็มใจ ควรทำอย่างไรดี
เมื่อสอนวิธีหรือแบบแผนงานไปแล้วแต่เขาไม่ทำตาม ก็จำเป็นต้องใช้การ “สัมภาษณ์” ดูว่าทำไมเขาถึงไม่เข้าหาหัวหน้า หวาดกลัวอะไรหรือเปล่า บางทีเขาอาจคิดว่าตัวเองไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้า จึงคิดว่า “ถึงรายงานไปก็คงไม่มีประโยชน์”
วิธีแก้ไขคือ ลองเป็นฝ่ายเข้าไปขอข้อมูลจากลูกน้องเอง เวลาถามแล้วลูกน้องยังตอบแบบไม่เต็มใจ เราอาจคิดว่าเขากำลังต่อต้านเราอยู่หรือเปล่า บางครั้งอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางทีเขาอาจโทษตัวเองอยู่ว่า “ยังไม่ทันได้รายงานเลย หัวหน้ามาถามก่อนเสียแล้ว” เลยแสดงท่าทางเหมือนไม่ค่อยเต็มใจก็เป็นไปได้
การสัมภาษณ์จะช่วยให้เข้าใจเหตุผลของเขามากขึ้น คนประเภทนี้ต่อให้เราสร้างบรรยากาศผ่อนคลายหรือปลอดภัยแค่ไหนเขาก็ไม่ยอมพูดอยู่ดี หากสัมภาษณ์แล้วไม่ได้ผล เราก็ต้องยอมรับว่า “เขาไม่คุ้นเคยกับการพูดคุยหรือสื่อสารกับคนอื่นนี่เอง”
เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับเรื่องส่วนตัวของลูกน้องทุกเรื่องก็จริง แต่อย่างน้อยก็ควรเลี่ยงการดุด่าหรือพูดล้อเลียนทำให้เขารู้สึกไม่เชื่อใจใครมากกว่าเดิม
ความตึงเครียดระหว่างลูกน้องเก่าและลูกน้องใหม่
ปัญหา : ในแผนกมีคุณ A พนักงานเก่าที่ทำงานมาเกือบสิบปี และเมื่อวันก่อนก็เพิ่งมีคุณ B พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน เห็นได้ชัดว่าคุณ A จงใจแกล้งเพิกเฉยใส่เด็กใหม่คนนั้น เวลาพักกลางวันก็ไม่ชวนไปกินข้าวด้วย ควรทำอย่างไรดี
กรณีนี้หากปล่อยไปเฉยๆ คุณ B ที่เป็นพนักงานใหม่ที่ถูกแกล้งย่อมเสียสุขภาพจิตแน่นอน เขาอาจทนทำงานต่อไม่ไหวจนลาออกก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นคนอื่นย่อมเกิดความสงัสยในความสามารถของหัวหน้า
แต่หากบุ่มบ่ามแล้วทำพลาด ไม่ใช่แค่จะช่วยเหลือพนักงานใหม่ไม่ได้ แต่ยังอาจกลายเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งไปด้วย
ส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่มี ‘รุ่นพี่’ ในแผนกนั้น หากเราขอความช่วยเหลือจากเขาได้จะถือว่าเป็นประโยชน์มาก การเดินเข้าไปตักเตือน “ไม่ให้แกล้งเด็กใหม่” จึงเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะอีกฝ่ายจะคิดว่า “เพราะเด็กใหม่คนนั้นทำให้ตำแหน่งฉันสั่นคลอน” การกลั่นแกล้งจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรยอมรับตัวตนของคุณ A โดยการขอร้องอย่างตรงไปตรงมาว่า “เด็กใหม่เขายังไม่ค่อยรู้งาน คุณ A ช่วยสอนงานให้เขาหน่อยได้ไหมครับ เรื่องแบบนี้มีแต่คุณ A ที่จะช่วยได้”
สิ่งสำคัญคือต้องให้คุณ A รู้สึกว่า คนที่จะสอนงานเด็กใหม่ได้ดีที่สุดคือคุณ A เท่านั้น
ลูกน้องชอบโกหก
ปัญหา : ลูกน้องชอบโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ เวลาเข้าประชุมหรือมาสาย เขาไม่เคยขอโทษ แต่จะอ้างรถติดตลอด ดูเหมือนว่าเขาจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไร ควรตักเตือนเขาอย่างจริงจังดีไหม
คนที่ชอบโกหกมักจะเป็นคนที่กลัวการถูกกล่าวโทษ เขาโกหกไปเพราะไม่อยากถูกตำหนิ สาเหตุที่อีกฝ่ายกลัวการถูกกล่าวโทษ อาจะเป็นเพราะเขาไม่ได้รับการอบรมเรื่องการมีความรับผิดชอบ หรือไม่ก็กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ คนชอบโกหกมักคิดว่า “ขอให้ผ่านตรงนี้ไปได้ก่อน” มิหนำซ้ำบางคนยังเชื่อคำโกหกของตัวเองด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่กับการทำงานเท่านั้น
หากเป็นคนที่คาดเดาขอบเขตของการโกหกได้ เราก็ยังพอรับมือไหว แต่หากเป็นคนที่หลงเชื่อเรื่องโกหกของตัวเองด้วย อาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
วิธีทดสอบการโกหกแบบง่ายๆ ในที่ทำงานคือ “ให้เขียนทุกอย่างออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร” จะเขียนเป็นอีเมลหรือกระดาษก็ได้ขอแค่มีข้อมูลเก็บไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตัวกับลูกน้องต่อไป และช่วยป้องกันไม่ให้ลูกน้องพูดโกหกหรือพูดเรื่องไร้สาระเพื่อเอาตัวรอด และยังช่วยให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย
ลูกน้องขี้หงุดหงิด
ปัญหา : ลูกน้องคนหนึ่งโดยปกติก็ทำงานได้ดี แต่เวลาตักเตือนนิดๆ หน่อยๆ เขากลับมีท่าทีหงุดหงิดทันที ทั้งที่เราไม่ได้มีเจตนาร้ายๆ เลย ควรทำอย่างไรดี
คนที่มี “ความหวาดกลัว” อย่างรุนแรง ส่วนมากเมื่อมีใครแสดงความคิดเห็นเพียงเล็กน้อย เขาจะรู้สึกว่า “ตัวเองกำลังถูกกล่าวโทษ” จึงแสดงท่าทีหงุดหงิดทันที นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า คนที่โตมากับการถูกทำร้ายนั้น เมื่อเห็นคนอื่นที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับตัวเองก็จะรู้สึกเหมือน “ถูกปฏิเสธ”
หากเป็นเรื่องเล็กน้อยให้มองว่า “เขาคงเคยเจอเรื่องเจ็บปวดมาก่อน” แล้วไม่ตอบโต้เลยจะดีกว่า คิดเสียว่าอีกฝ่ายเจอเรื่องร้ายๆ มาก แล้วตอบกลับด้วยท่าทียอมรับอีกฝ่ายว่า “ผมอยากฟังความเห็นของคุณด้วย” หรือ “อย่างนี่เอง เป็นความคิดที่ดีนะ” วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
ข้อมูลจากหนังสือ Super Boss อยากทำงานกับหัวหน้าแบบนี้จัง
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
4 ลักษณะของ พนักงานที่ดี ที่องค์กรชั้นนำทั่วประเทศอยากได้
5 วิธี สู่การทำงานแบบมืออาชีพ (Professional)
เคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานแบบประธานบริษัท
วิธีแก้ปัญหาในการทำงาน จากโนโบรุ โคยามา CEO ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น
การจัดการความเครียดในที่ทำงาน : โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Pingback: สาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งในที่ทำงาน