ในทางการแพทย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ และอาจารย์แพทย์หญิงปิยวรรณ กิตติสกุลนาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกไว้ว่า มีอาการสำคัญ 6 อย่าง ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็น โรคไต
สัญญาณ โรคไต
ปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะลำบาก
อาการปัสสาวะแสบขัดที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับผู้ชายถ้ามีอาการนี้อาจมีโรคนิ่วในไตหรือโรคต่อมลูกหมากโตซ่อนอยู่ก็ได้ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการนี้อาจมีอาการไข้และปวดเอวร่วมด้วย
อาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งแรง ปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน บางคนอาจปัสสาวะบ่อย หรือ ปัสสาวะกลางคืนร่วมด้วยซึ่งบ่งบอกว่า มีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจเพราะท่านอาจเป็น โรคไต
ปัสสาวะกลางคืนหรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
ในคนปกติระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน 6-8 ชั่วโมง มักจะไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ เพราะตอนกลางคืนไตจะดูดน้ำกลับมากขึ้นทำให้ผลิตปัสสาวะได้ลดลง อีกทั้งตอนนอนเราไม่ได้ดื่มน้ำเพิ่มเข้าไป ดังนั้นจึงทำให้ไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร่างกายจะไม่สามารถดูดน้ำกลับคืนเข้าร่างกายได้ดีเท่ากับคนที่ไตปกติ ดังนั้นตอนกลางคืนจึงยังมีปัสสาวะออกมาก ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ โดยในคนปกติหากดื่มน้ำก่อนนอนอาจตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนได้บ้าง 1-2 ครั้ง แต่ถ้าปัสสาวะตอนกลางคืนมากกว่า 2 ครั้งถือว่าผิดปกติ
ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นผิดปกติ
ปกติปัสสาวะจะมีสีเหลืองใส อาจมีสีเข้มขึ้นเมื่อดื่มน้ำน้อยและจะจางลงเมื่อดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีปัสสาวะสีแดงคล้ายเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อบ่งบอกว่าอาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีนิ่ว ไตอักเสบหรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเป็นเลือดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มปัสสาวะเป็นเลือดที่มีอาการปวดบริเวณหัวหน่าวท้องน้อย หรือมีอาการแสบขัดเวลาปัสสาวะ มักเกิดจากมีนิ่วหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
2. กลุ่มปัสสาวะเป็นเลือดที่ไม่มีอาการปวดมักเกิดจากไตอักเสบ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ หรือโรคเลือดที่ทำให้มีเลือดออกง่าย ซึ่งมักจะพบว่ามีเลือดออกตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย
รอบตาบวม หน้าบวม เท้าบวม
อาการบวมจากโรคไตส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่
1. โรคไตเรื้อรังชนิดไม่มีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ โรคกลุ่มนี้ไตไม่สามารถขับเกลือและน้ำได้ทำให้มีการคั่งของน้ำในร่างกายจนเกิดอาการบวมกดบุ๋ม หากบวมมาก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการหอบจากหัวใจวายด้วย
2. โรคไตเรื้อรังที่มีการรั่วของไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ มักจะมีอาการบวมรอบตาในตอนเช้าและบวมบริเวณรอบ ๆ เท้าในตอนสาย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการบวมเกิดขึ้นได้จากหลายโรค เช่น โรคตับ โรคหัวใจ ฯลฯ และในแต่ละโรคก็มีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเมื่อมีอาการบวมให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ปวดหลัง ปวดเอว
มักมีสาเหตุมาจากมีนิ่วอยู่ในไต หรือในท่อไต อาการปวดเป็นผลมาจากการอุดตันในท่อไตหรือไตเป็นถุงน้ำ เมื่อพองออกจะทำให้มีอาการปวด ลักษณะการปวดมักจะปวดที่บั้นเอวหรือชายโครงด้านหลังและมักปวดร้าวไปที่ท้องน้อย ขาอ่อน หรืออวัยวะเพศ โดยอาการปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
สิ่งผิดปกติที่มักพบร่วมด้วยคือ ปัสสาวะที่ออกมาจะเป็นเหมือนสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นขาว อาจมีปัสสาวะกะปริดกะปรอยหรือมีอาการปวดหัวหน่าวร่วมด้วย
ข้อสังเกตที่สำคัญหากเป็นโรคไตคือ ถ้ามีอาการปวดโดยเฉพาะที่หลังหรือเอวโดยไม่ร้าวไปที่ใด อาจจะเกิดจากไตอักเสบก็เป็นได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวแพทย์จะตรวจด้วยการเคาะหลังเบา ๆ ถ้าปวดมากจนสะดุ้งแสดงว่าอาจมีอาการไตอักเสบ
ความดันโลหิตสูง
โดยเฉพาะในรายที่มีความดันโลหิตสูงมานานและควบคุมไม่ได้ โรคไตที่แพทย์มักนึกถึงคือ โรคไตเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแดงไตตีบ ความดันโลหิตสูงหมายถึงมีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดในขณะพักพบว่าค่าความดันโลหิตสูงทุกครั้ง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องกันนาน ๆ ก็สามารถทำให้ไตผิดปกติและเกิดโรคไตเรื้อรังได้
สัญญาณอันตรายที่กล่าวมานี้ แม้เกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการให้รู้แน่ชัดว่ามาจากสาเหตุหรือโรคใด เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างทันท่วงที
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ
ราคา 275 บาท สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ
Pingback: อาการและวิธีรักษา ต่อมลูกหมากโต โรคยอดฮิตของผู้ชายวัยทอง
Pingback: สาเหตุและวิธีรักษา กรดไหลย้อน ภัยเงียบรบกวนคุณภาพชีวิต