6 วิธี เยียวยาโรคซึมเศร้า คำแนะนำจากอดีตผู้ป่วยที่รับมือโรคซึมเศร้านานกว่า 7 ปี

รู้ไหมว่า…  “ในคนจำนวน 5 คน จะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1 คน”  นั่นหมายความว่าทุกที่ที่เราไป หรืออาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือเราก็มีสิทธิ์ที่จะเป็น โรคซึมเศร้า ด้วยกันทั้งนั้น  

 

หากพบว่าคนใกล้ตัวของเราเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเราต้องทำอย่างไรเมื่อต้องเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยียวยาความทุกข์ให้กับตัวเองหรือพวกเขาเหล่านั้น 

ลองมาดู 6 คำแนะนำดีๆ จาก “ดาวเดียวดาย” อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รับมือกับอาการป่วยอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญมานานกว่า 7 ปี ซึ่งเธอได้ถ่ายทอดเรื่องราวและคำแนะนำผ่านหนังสือ “เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง” หนังสือเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า ที่มีคนบอกต่อมากที่สุด

 

ทีมงาน Amarinbooks หวังว่าคำแนะนำส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับ โรคซึมเศร้า สามารถรับมือและเยียวยาโรคซึมเศร้าได้อย่างถูกวิธี 

 

พบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก

ผู้ป่วยจิตเวชบางคนมักกลัวการไปพบจิตแพทย์ กลัวสายตาคนรอบข้าง กลัวเพื่อนหาว่าไม่ปกติ จริงๆ แล้วการพบแพทย์เป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับต้นๆ จะได้รักษาได้ถูกต้องตามอาการ กินยาตามกำหนด และห้ามหยุดยาเองก่อนแพทย์สั่งเด็ดขาด หากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการกินยา เช่น นอนทั้งวัน ท้องผูก ให้จดบันทึกอาการเหล่านั้นไว้ แล้วนำไปแจ้งจิตแพทย์ในครั้งต่อไป

 

 

ได้รับความเอาใจใส่จากครอบครัวและคนใกล้ชิด

จิตแพทย์เล่าว่า ผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะจิตเภทในประเทศแถบตะวันออกอย่างในเอเชีย มีสภาวะของโรคดีกว่าทางตะวันตกเพราะระบบสังคมครอบครัวส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งเหนียวแน่นมากกว่า ผู้ป่วยมักได้อยู่กับครอบครัว มีการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจึงรู้สึกอบอุ่นมั่นคง

ครอบครัวและคนใกล้ชิดจึงสำคัญอย่างมากกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หมั่นชวนคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ สนับสนุนกิจกรรมที่เขาอยากจะทำ ให้คำปรึกษาเวลาที่เขาต้องการ แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการเยียวยาผู้ป่วยซึมเศร้าแล้ว

 

เลี้ยงสัตว์ที่สามารถกอดได้

มีงานศึกษาพบว่า “กอดบำบัด” เป็นสิ่งที่จำเป็นและส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์อย่างมาก การกอดทำให้รู้สึกดี หายกลัว หายเหงา หายเครียด และยังช่วยเยียวยาปัญหาบางอย่างได้ เช่น กอดบ่อยๆ ทำให้แก่ช้าลง ช่วยบำบัดอาการนอนไม่หลับ และรู้สึกสบายใจ คลายกังวล

หากอยู่คนเดียว หรือเขินที่จะกอดเพื่อน กอดคนในครอบครัว ให้เลี้ยงสัตว์ที่สามารถกอดได้ เช่น สุนัข แมว สัตว์เหล่านี้มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับมนุษย์ โกรธ เสียใจ ดีใจ มีปฏิกิริยาโต้ตอบ จึงสามารถทดแทนอ้อมกอดของมนุษย์ได้ ใครที่เลี้ยงสัตว์ไว้ก็อย่าลืมที่จะกอดเขาบ่อยๆ นะ

 

 

เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา

เราเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งได้” แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้วคงเป็นคำว่า “ยิ่งให้ยิ่งหาย” การให้ที่ว่าอาจจะเป็นการแบ่งปันสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นการบริจาคเงินให้มูลนิธิต่างๆ บริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ฯลฯ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือลงมือทำด้วยตัวเอง เช่นการไปสมัครเป็นจิตอาสา มีตัวอย่างเคสที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปอาสาสอนวิชาศิลปะให้เด็กต่างจังหวัด ทุกครั้งที่ไป เขาจะซื้อหนังสือสำหรับเด็ก อุปกรณ์ศิลปะ และขนมเพื่อไปให้ลูกศิษย์ ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์มาบอกว่า “ครูมาสอนผมที่นี่ ตลอดไปเลยได้ไหม” ประโยคเดียวของเด็กน้อยทำให้เขารู้สึกถึงความมีคุณค่า ได้รับความสำคัญ และสัมผัสถึงการมีตัวตนของตัวเอง ถือเป็นการเยียวยาโรคซึมเศร้าที่ดีมากโดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลย

 

โรคซึมเศร้า

บำบัดผ่านการเขียน

พกสมุดกับปากกาติดตัวอยู่เสมอ แล้วเขียนเล่าเรื่องราวที่อยากเล่าเป็นตัวหนังสือ อาจจะเป็นสิ่งที่อยากทำในชีวิตนี้ เขียนบ่นเพื่อนร่วมงาน มุกตลกๆ ที่เจอในหนัง ลิสต์รายการของที่อยากได้ ฯลฯ

การเขียนจะช่วยกระตุ้นให้สมองจดจำรายละเอียดเล็กน้อยได้มากขึ้น และเป็นการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง บางสิ่งก็ไม่สามารถเล่าออกไปให้ใครฟังได้ แต่เก็บไว้ก็รู้สึกอึดอัด อยากระบายเมื่อไหร่ให้หยิบสมุดเล่มนี้ออกมา บางอย่างที่ถูกเขียนไว้อาจจะช่วยให้ได้ทบทวนและค้นหาตัวเอง ยิ่งถ้าบันทึกอาการซึมเศร้า หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา การไปหาหมอครั้งต่อไปจะสะดวกสบายขึ้น และไม่ลืมเรื่องที่อยากจะเล่าด้วย

 

 

เข้าวัดปฏิบัติธรรมช่วยได้

มีความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมว่าเพียงแค่ไปที่วัด ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิแล้วจะหลุดพ้นจากความทุกข์ โยนความทุกข์ทิ้งไป แล้วเราจะหายเป็นทุกข์

แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมที่ช่วยบำบัดทุกข์จริงๆ คือ “การยอมรับ” และต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ว่า ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน เมื่อยอมรับได้ว่าความทุกข์มีจริงแล้วเราจะสามารถย้อนกลับไปมองเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตแล้วตอบตัวเองได้ว่า ทำไมเราถึงเป็นทุกข์ และความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร

 

 

ข้อมูลจากหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง

 

 

1 thoughts on “6 วิธี เยียวยาโรคซึมเศร้า คำแนะนำจากอดีตผู้ป่วยที่รับมือโรคซึมเศร้านานกว่า 7 ปี

  1. Pingback: ทำอย่างไรเมื่อตัวเอง ครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเป็น โรคไบโพลาร์

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า