เพราะคำพูดคือกระจกสะท้อนความเป็นคุณ หากอยากพูดถ้อยคำที่ล้ำลึก เราก็ต้องเป็นคนที่ล้ำลึก หากอยากพูดถ้อยคำที่น่าเชื่อถือ เราก็ต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือก่อน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องหมั่นขัดเกลาตัวตนภายในและคำพูดอยู่เสมอ ขอแนะนำ 7 คำสอน “พลังภายในคำพูด” จากเหล่านักปราชญ์ วิธีเปลี่ยนภาษาพูดอย่างเห็นผล
1. พระศากยมุนี
เรื่องราวของจุนทะ ผู้นับถือในพระศากยมุนีได้ถวายภัตตาหารที่เสียแล้วให้โดยไม่รู้ตัว จนพระศากยมุนีอาการทรุดหนักถึงแก่ชีวิต ด้วยความกรุณาของพระศากยมุนี ท่านไม่อยากให้จุนทะเสียใจและกล่าวโทษตนเองว่าเป็นสาเหตุให้ท่านต้องมาตาย จึงได้เรียกอานนท์ลูกศิษย์ของตนมาสั่งเสียว่าเพราะตนอายุมากแล้วจึงถึงแก่เวลา ดึงเอามุมมองเรื่องของการทำบุญเข้ามาใช้ ว่าเป็นบุญแก่จุนทะซะอีกที่ได้เป็นผู้ถวายภัตตาหารมื้อสุดท้ายซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ได้บุญสูงสุด แสดงให้เห็นว่าคำหนึ่งคำจากคนธรรมดาต่างจากนักปราชญ์ คำของนักปราชญ์มีเสียงสะท้อนก้องอยู่และสัมผัสกับความจริงใจของคน นี่จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องเริ่มเรียนการพูดด้วยการขัดเกลาตัวเอง
2. ขงจื๊อ
อย่างในเรื่องความกตัญญู ขงจื๊อได้ตอบคำถามกับเมิ่งอี้จื่อ ผู้ปกครองรัฐลู่ในเชิงวิจารณ์ว่า อย่าได้บกพร่องในการดูแลราษฎรเหมือนกับการดูแลพ่อแม่ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง หรือกับ จื่อโหยว ลูกศิษย์ของขงจื๊อ ที่เลี้ยงดูพ่อแม่อย่างดีแต่ขาดความเคารพนับถือ ก็ได้ตำหนิว่า แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็ยังให้อยู่ให้กิน การเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยวัตถุจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหนเชียว จะเห็นว่าถ้าเป็นคนที่ตอบคำถามให้ทุกคนเหมือน ๆ กันหมด เราจะไม่มีใจอยากคุยเปิดอกในเรื่องที่กังวลและไม่ต้องการคำแนะนำจากเขาด้วย ดังนั้นจึงต้องมีความลึกซึ้งในแต่ละเรื่องราวเพื่อที่จะได้สนทนาได้หลากหลายและยืดหยุ่นนั่นเอง
3. ฟ่านหลี
ฟ่านหลีเป็นผู้คอยปรนนิบัติให้กับเจ้านายอย่างเทียนเฉิงซี เมื่อครั้งเดินทางไปโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่งเขาได้กล่าวว่า หากจะให้เจ้าของโรงเตี๊ยมต้อนรับเคารพยำเกรงเราทั้งสองก็ต้องทำอะไรสักอย่างให้สร้างสรรค์ผิดแปลกไปจากเดิม โดยฟ่านหลีอุปมาความต่ำต้อยของตนด้วยนิทาน การที่งูใหญ่เลื้อยนำแล้วงูเล็กเลื้อยตามเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เมื่อผู้คนเห็นงูเลื้อยผ่านมาก็จะฆ่าทั้งสองตัวทิ้ง แต่ถ้างูใหญ่แบกงูเล็กขึ้นหลังไปผู้คนจะคิดว่าเป็นลางบอกเหตุจากเทพเจ้า เหมือนกับผู้ที่ดูสูงศักดิ์ปรนนิบัติคนที่ดูต่ำต้อยกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ทั้งคู่รับบทตรงกันข้ามสถานะที่แท้จริงของตน กล่าวคือ เมื่อมีอะไรผิดแปลกไปจากความรู้เดิม คนจะเริ่มสงสัยและตั้งคำถามทันที เรามากระโดดข้ามความรู้เดิม ๆ นั้นดีกว่ากันไหม เพราะคำพูดที่เกินกว่าความรู้เดิมนั้นจะช่วยดึงความสนใจของผู้คนเช่นกัน
4. พระเยซู
พวกฟาริสีได้จับหญิงคนหนึ่งมาในฐานล่วงประเวณี พวกเขากะจะหาเหตุฟ้องพระเยซูโดยอ้างว่าตามบัญญัติโมเสสต้องเอาหินขว้างคนทำผิดเช่นนี้ให้ตาย ซึ่งพระเยซูจะขัดกับคำพูดของตัวเองที่บอกให้รักแม้กระทั่งศัตรู หากยืนกรานตามศรัทธาของตนว่าไม่ให้เอาหินขว้างก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามเอาไปฟ้องร้องได้ จึงต้องเลือกว่าจะขว้างหรือไม่ขว้าง พระเยซูก็ได้เลือกว่าจะทำลายตัวเลือกไปซะด้วยการรวมการขว้างด้วยหินกับห้ามขว้างด้วยหินเข้าด้วยกัน แล้วถามว่า “ผู้ใดในพวกท่านที่ไม่มีความผิด ก็ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างก่อน” แม้จะบอกให้เอาหินขว้างได้แต่มีเงื่อนไขที่ขวางอยู่ พวกเขาจึงไม่สามารถขว้างหินออกไปได้ แผนการของพวกฟาริสีที่จะฟ้องร้องพระเยซูจึงต้องล้มเลิกไปด้วยในที่สุด
5. ซุงซัน
ซุงซัน ภิกษุชาวเกาหลีได้พูดให้กับศิษย์ของตนเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการที่พระจะเป็นหญิงหรือชายนั้นไม่สำคัญ ซุงซันไม่ใช้ภาษาที่แสดงถึงการแบ่งแยกเพศ ได้สอนให้เราต้องหลุดออกจากเปลือกที่มากำหนดว่าเราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ให้ได้เสียก่อน เช่น ยึดว่าตัวเองเป็นคนเกาหลีก็จะเป็นคนเกาหลี ยึดว่าตนเป็นหญิงก็จะเป็นหญิง ฯลฯ เมื่อหลุดจากเปลือกเหล่านี้ได้แล้วเราทุกคนก็จะเหลือเพียงแค่คำว่า “มนุษย์” หรือ “ตัวเรา” ก็เท่านั้น ซึ่งคำพูดของซุงซันนี้เองเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของคำพูดที่แท้จริงและเปิดใจคนฟังได้
6. อีกยูโบ
เรื่องราวของอีกยูโบถือเป็นบทเรียนในเรื่องเกี่ยวกับคำพูด มีคนรู้จักมาเล่าเรื่องราวที่เจอให้อีกยูโบฟังว่าเขาเห็นสุนัขถูกฆ่าเพื่อเอามากินจึงรู้สึกเศร้าใจมากและตั้งใจว่าจะไม่กินเนื้อสุนัขและเนื้อสัตว์อีก แต่อีกยูโบไม่ประทับใจกับความคิดนั้น จึงเปรียบเปรยให้เขาคนนั้นฟังว่า ตนเห็นคนจับเหาไปฆ่าเขาเองก็เสียใจอย่างมาก ต่อไปเขาจะไม่จับเหาไปฆ่าอีก เมื่อเห็นว่าคนรู้จักคนนั้นไม่พอใจเขาจึงอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องการมีชีวิต ไม่อยากตายกันทั้งนั้น ซึ่งการยกตัวอย่างเปรียบเปรยแบบนี้เหมือนเป็นการเหน็บแนมอีกฝ่ายเสียมากกว่า แม้เจตนาจริง ๆ ของอีกยูโบจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยก็ตาม
7. เม่งจื๊อ
เรื่องราวของเม่งจื๊อจะตรงข้ามกับอีกยูโบ เม่งจื๊อเลือกที่จะยกสิ่งดี ๆ ของอีกฝ่ายขึ้นมาพูดมากกว่ายกข้อด้อยแบบอีกยูโบ เมื่อพระราชาเซวียนหวังแห่งรัฐฉีเห็นวัวถูกลากไปฆ่าเลยเกิดสงสารและสั่งให้เปลี่ยนเป็นแกะแทน แต่เม่งจื๊อได้เปิดอกคุยกับพระราชาตรง ๆ และได้บอกว่าหากท่านเห็นแกะถูกลากไปฆ่าก็จะเกิดสงสารแกะเช่นกัน แม้ตอนนี้อาจยังไม่ได้เป็นคนดีเต็มตัว แต่หากท่านลองขยายพื้นที่แห่งจิตใจแบบนี้ไปยังราษฎรด้วย ราษฎรก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เป็นสุข รวมถึงท่านเองก็จะเป็นพระราชาที่ดีได้ด้วยแน่นอน
7 คำสอน “พลังภายในคำพูด” จากเหล่านักปราชญ์ วิธีเปลี่ยนภาษาพูดอย่างเห็นผล
หนังสือ พลังภายในคำพูด
หนังสือที่ V BTS อ่าน (แทฮยองอ่าน) (บังทันอ่าน) ติดอันดับ BESTSELLER ในเกาหลีและญี่ปุ่น
เขียนโดย ชินโดฮยอน & ยุนนารู
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่น ๆ