หมีพูห์ หรือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie-the-Pooh) หมีสีเหลืองตัวกลมผู้น่ารักจากวรรณกรรมระดับโลก ซึ่งเขียนโดย เอ. เอ. มิลน์
หมีพูห์เป็นที่รู้จักในบ้านเราจากการ์ตูนของวอลท์ ดีสนีย์ ซึ่งนำเอามาลงสีสดใส เป็นเจ้าหมีตัวอ้วนกลมสีเหลืองใส่เสื้อสีแดง และเมื่อสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนนำต้นฉบับมาแปลเป็นภาษาไทย เรื่องราวของเจ้าหมีพูห์ก็ถูกถ่ายทอดไปยังนักอ่านชาวไทยเพิ่มขึ้น จนทำเอาหลายคนหลงรักเจ้าหมีผู้อ่อนโยนตัวนี้กันหมดหัวใจ
นอกจากความสนุกสนานและความน่ารักแล้ว เรายังได้วิธีคิดแบบง่ายๆ ซื่อๆ จากหมีพูห์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้ยามท้อแท้ได้อย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็นำไปใช้ได้
นี่คือ 9 ข้อน่ารักๆ เกี่ยวกับเจ้าหมีพูห์ที่คุณต้อง LOVE และขอสมัครเป็นเพื่อนรักของเจ้าหมีตลอดไป
เอ. เอ. มิลน์ ผู้เขียน
By Brewster Publications; photograph by E. O. Hoppe, London – Shadowland, September 1922 (page 62), Public Domain
หมีพูห์กลายเป็นคุณปู่ในปี 2017
หนังสือเรื่องวินนีเดอะพูห์ ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1926 ถ้านับจากวันตีพิมพ์ถึงวันนี้ปี 2017 เรื่องราวในป่าร้อยเอเคอร์นี้ก็มีอายุครบ 91 ปีพอดี แต่ถ้านับตั้งแต่วันที่ผู้เขียนซื้อตุกตาหมีให้คริสโตเฟอร์ โรบินตอนวันเกิดครบ 1 ขวบ ในวันที่ 21 สิงหาคม 1921 เจ้าหมีพูห์ก็จะมีอายุ 96 ปีแล้ววว แต่ไม่ว่าจะนับวันไหนหมีพูห์ของเราก็กลายเป็นคุณปู่เหมือนกันล่ะเนอะ #คุณปู่หมีพูห์
ผู้เขียนและลูกชาย ‘คริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์’
คริสโตเฟอร์ โรบิน มีตัวตนจริงๆ
เอ. เอ. มิลน์ เขียนเรื่องนี้เมื่อปี 2469 จากนิทานที่เล่าให้ลูกชายฟังก่อนนอน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ในป่าร้อยเอเคอร์ และมีเด็กผู้ชายเพียงคนเดียวที่เป็นมนุษย์อยู่ในเรื่อง นั่นก็คือคริสโตเฟอร์ โรบิน ลูกชายของผู้เขียนนั่นเอง
แฮร์รี่ โคลบอร์น กับเจ้าหมี ‘วินนี’ ปี ค.ศ. 1914
By #N10467 – Manitoba Provincial Archives, Public Domain
จากเจ้าหมีสีดำสู่เจ้าหมีสีเหลือง
พลทหารชาวแคนาดา แฮร์รี่ โคลบอร์น ได้ซื้อลูกหมีดำจากนายพรานมาในราคา 20 เหรียญ แล้วตั้งชื่อมันว่า ‘วินนีเพ็ก’ (Winniepeg) หรือเรียกสั้นๆว่า ‘วินนี’
ด้วยความน่ารักและขี้เล่นของมัน ทำให้เจ้าวินนีได้กลายเป็นมาสคอตอย่างไม่เป็นทางการประจำกองทัพและชาวเมืองละแวกนั้น หลังจากนั้นมันก็ถูกส่งไปยังสวนสัตว์ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะกับเด็กชายคริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์ เขาหลงรักมันมากจนนำชื่อ ‘วินนี’ มาตั้งชื่อให้กับตุ๊กตาหมีของตัวเองด้วย
พูห์ เคยเป็นหงส์มาก่อน
ชื่อของวินนีเดอะพูห์ เริ่มต้นมาจากที่ลูกชายของผู้เขียนได้ไปพบหมีเจ้าวินนีเพ็ก แล้วนำมากลับตั้งชื่อให้กับตุ๊กตาของเขาว่า ‘วินนี’ ส่วนชื่อพูห์นั้นมาจากชื่อหงส์ในเรื่อง “When we were very young” หรือ “กวีนิพูห์ 1 เมื่อครั้งเรายังเด็กเล็กมากมาก” ที่เขาเขียนขึ้นเป็นเล่มแรก โดยเล่มนั้นเจ้าหมีในเรื่องมีชื่อว่า ‘เอ็ดเวิร์ด’ และหงส์มีชื่อว่า ‘พูห์’
พูห์และผองเพื่อน
By Spictacular (talk · contribs)
ผองเพื่อนในป่าร้อยเอเคอร์มาจากชื่อตุ๊กตาของคริสโตเฟอร์
นอกจากวินนีเดอะพูห์แล้ว ตัวละครอื่นๆ ก็มาจากชื่อตุ๊กตาของคริสโตเฟอร์ด้วยเช่นกัน เช่น ทิกเกอร์ พิกเล็ท อียอร์ แคงกา และรู (ยกเว้นอาวล์กับแรบบิต) ซึ่งตุ๊กตาเหล่านั้นถูกตั้งโชว์ไว้ที่ห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์ก ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ยกเว้นตุ๊กตารูที่หายไปจากกระเป๋าหน้าท้องแคงกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930
ป่าแอชดาวน์ เบื้องหลังป่าร้อยเอเคอร์
By User:UKgeofan – original creation by User:UKgeofan, CC BY-SA 3.0,
ป่าร้อยเอเคอร์มีอยู่จริง
เอ. เอ. มิลน์ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างฉากป่าร้อยเอเคอร์มาจากป่าแอชดาวน์ มณฑลซัสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งสถานที่หลายแห่งในเรื่องสามารถเชื่อมโยงกับสถานที่จริงของป่าได้ โดยคริสโตเฟอร์ มิลน์ได้เขียนในอัตชีวประวัติของเขาว่า “ป่าของพูห์และป่าแอชดาวน์เหมือนกัน” เช่น มีสะพานไม้ที่พูห์คิดเกมมาเล่นกับเพื่อน มีพื้นที่ทรายที่เบบี้รูฝึกกระโดดในฉากแรก
วินนีเดอะพูห์ ฉบับสมบูรณ์ เวอร์ชั่นภาษาไทย
หมีพูห์ที่พูดได้กว่า 50 ภาษา
รวมถึงภาษาที่ไม่มีคนใช้แล้วอย่างภาษาละติน
Winnie Ille Pu หรือ วินนีเดอะพูห์ ฉบับภาษาละติน ที่แม้จะใช้ภาษาที่ตายไปแล้วอย่างภาษาละตินแต่มันกลับทำยอดขายได้กว่า 125,000 เล่ม และหนังสือพิมพ์ NEW YORK TIMES ได้ประกาศให้มันเป็น หนังสือยอดเยี่ยมที่สุดในหมวดภาษาที่ตายไปแล้ว เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหมีสีเหลืองโด่งดังและครองใจคนทั่วโลกขนาดไหน ซึ่งปัจจุบันนี้วรรณกรรมของเจ้าหมีพูห์ได้รับการแปลกว่า 50 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
ชื่อหมีพูห์ที่มีขีดและไม่มีขีด
[su_note note_color=”#f4f046″]Winnie-the-Pooh = Winnie the Pooh[/su_note]
วินนีเดอะพูห์เวอร์ชั่นคลาสสิกกับเวอร์ชั่นดิสนีย์ นอกจากสีสันและลายเส้นจะแตกต่างกันแล้ว การสะกดชื่อหมีพูห์ก็ไม่เหมือนกันด้วย ในฉบับวรรณกรรมนั้นเขียนว่า Winnie-the-Pooh แต่ของดีสนีย์นั้นนำขีดกลางออก กลายเป็น Winnie the Pooh แล้วหมีพูห์ก็กลายเป็นตัวละครที่โด่งดังเทียบเท่ากับมิกกี้เม้าส์ (Mickey Mouse) เลยทีเดียว
หมีพูห์และเพื่อนๆ ปรากฎตัวครั้งแรกทางโทรทัศน์ช่อง NBC ในปี ค.ศ. 1960
เจ้าหมีอ้วนมีภาพยนตร์การ์ตูนเกือบ 30 เรื่อง แถมยังมีวิดีโอเกม และเป็นสัญลักษณ์สินค้าต่างๆ มากมายทั่วโลก ไม่เชื่อลองดูที่บ้านคุณสิ คงมีหน้าเจ้าหมีพูห์อยู่บนอะไรบางอย่างแน่ๆ
Pooh in an illustration by E. H. Shepard
เกือบไม่มีรูปวาดหมีพูห์สุดน่ารัก เพราะอีโก้ของผู้เขียน
อี. วี. ลูคัส คือเพื่อนร่วมวิทยาลัยของ เอ. เอ. มิลน์ ผู้เขียน และ อี. เอช. เชปเพิร์ด นักวาดภาพประกอบคู่บุญของมิลน์
ก่อนหน้าจะมาร่วมมือกัน ลูคัสเคยแนะนำเชปเพิร์ดให้มาร่วมงานกับมิลน์ เพราะเชื่อว่าเชปเพิร์ดสามารถสร้างสรรค์โลกแฟนตาซีของสัตว์น้อยเหล่านั้นได้อย่างอัศจรรย์แน่ๆ แต่มิลน์กลับปฏิเสธเชปเพิร์ดเพราะไม่ค่อยชอบใจนักหากจะมีนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองมาร่วมงาน แต่เชปเพิร์ดก็ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาตัดสินใจเดินลุยป่าแอชดาวน์ แล้วกลับมาวาดเป็นภาพสเก็ตช์ นำไปส่งถึงมือของมิลน์ หลังจากนั้นเจ้าหมีอ้วนลายเส้นอ่อนโยนจึงถือกำเนิดขึ้น
ข้อมูลจาก
วินนีเดอะพูห์ (ฉบับสมบูรณ์), สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน