วิธีสวดมนต์ที่ถูกต้อง นั้น ไม่ใช่แค่การสวดมนต์คาถาบทใดก็ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการสวดมนต์ที่ถูกต้องยังมีปัจจัยประกอบมากกว่านั้น จึงมีหลายคนที่สวดมนต์ผิดวิธีมาโดยตลอด ทำให้ไม่ได้รับผลตามที่ต้องการ
มาดูกันว่า วิธีสวดมนต์ที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร
พร้อมทั้งกาย วาจา และใจ
การสวดมนต์ที่เป็นการกระทำซึ่งพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ อันนำไปสู่กุศลได้ จะประกอบด้วยการกระทำอันเป็นกุศลดังต่อไปนี้
1.การไหว้-กราบ
ไหว้และกราบด้วยกิริยาอันแสดงถึงความเคารพ สำรวมต่อสิ่งที่ควรเคารพ นั่งด้วยท่าที่เหมาะสม ประนมมือในระดับอก จัดว่าเป็นการทำความดีทางกาย
2.การเปล่งเสียงสวดมนต์
เพื่อสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ ถูกอักขรวิธี จัดว่าเป็นการทำความดีทางวาจา
3.การตั้งจิตเป็นสมาธิ
เพื่อระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน และคุณความดีของพระสงฆ์สาวก จัดว่าเป็นการทำความดีทางจิตใจ
หากการสวดมนต์ครั้งใดประกอบด้วย 3 ปัจจัยนี้ครบถ้วน ย่อมบังเกิดกุศลแก่ผู้สวดอย่างแน่นอน
สวดมนต์มีดีกว่าที่คิด
ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระมหากัสสปะอาพาธทุกข์ทรมานจากพิษไข้ พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยมที่ถ้ำและทรงแสดงธรรมโพชฌงคปริตรโปรด ปรากฏว่าพระมหากัสสปะก็หายจากอาพาธ อีกครั้งหนึ่งพระโมคคัลลานะอาพาธหนัก พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยมที่ภูเขาคิชฌกูฏและทรงแสดงธรรมโพชฌงคปริตรโปรด พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังจึงเชื่อกันว่า “การสวดมนต์ ช่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้” มิใช่เพียงความหมายของบทสวดมนต์เท่านั้นที่น้อมนำกายใจให้หายป่วยไข้ แต่สัมพันธ์กับ “พลังสั่นสะเทือนที่เกิดจากการสวดมนต์”
นายแพทย์ริชาร์ด เกอร์เบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงบำบัด เคยกล่าวไว้ว่า แม้โรคภัยบางโรคจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายทำให้ทำงานผิดปกติไปจากเดิม แต่หากอวัยวะส่วนนั้นได้รับพลังสั่นสะเทือนจากการสวดมนต์ด้วยระดับเสียงที่สม่ำเสมอและกระตุ้นติดกันเป็นระยะเวลานานๆ อวัยวะที่มีปัญหานั้นก็มีแนวโน้มจะเยียวยาอาการตัวเองให้ดีขึ้นได้
สวดแบบนี้ดีแน่นอน
การจะสวดมนต์ให้ได้ผลดี เกิดอานุภาพในการป้องกันหรือต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลได้นั้น ผู้สวดควรยึดหลักปฏิบัติดังนี้
1.มีความเชื่อมั่นและศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
2.ขณะสวดมนต์ ต้องปล่อยวางทั้งหมด ไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ
3.ขณะสวดมนต์ จิตต้องอ่อนโยน มีเมตตา ไม่โลภเห็นแก่ลาภสักการะ
4.ขณะสวดมนต์ จิตต้องเป็นสมาธิ มั่นคง แน่วแน่ และตั้งใจ
5.สวดมนต์ด้วยเสียงที่ดังพอจะได้ยินเสียงตัวเอง
6.สวดมนต์แบบ “รู้และเข้าใจ” ความหมายของบทสวด เพื่อให้ได้ปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาและบทสวดจริงๆ
ถ้าทำได้ตามนี้ นอกจากการสวดมนต์จะเป็นการสร้างกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ บำบัดโรคได้ด้วย
เมื่อไรที่ควรสวดมนต์
การสวดมนต์ไม่มีหลักตายตัวเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ เราจึงสามารถสวดมนต์ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ในขณะขับรถ ทำงาน เจ็บป่วย ดีใจ หรือเสียใจก็ตาม เพราะการสวดมนต์ถือเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่ง หากทำได้ครบด้วยกาย วาจา และใจแล้วย่อมถือว่าดีทั้งนั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ได้แนะนำเรื่องการสวดมนต์ให้ได้ประโยชน์ในทางการบำบัดเพิ่มเติมว่า
1.ควรหาสถานที่สงบๆ แล้วจึงเริ่มสวดมนต์
2.ไม่ควรสวดมนต์ทันทีหลังกินอาหารเสร็จ เพราะร่างกายกำลังทำงานหนัก ควรเว้นระยะออกไปสัก 3-4 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย อยู่ในขั้นตอนการซึมซับนำสารอาหารไปใช้
3.เลือกสวดมนต์ในเวลาก่อนเข้านอนก็ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย
นอกจากนี้การฟังผู้อื่นสวดมนต์ก็ให้คุณประโยชน์ไม่แตกต่างกัน ถ้าหากว่าเสียงสวดมนต์นั้นมีความนุ่ม ทุ้ม สม่ำเสมอ และออกมาจากจิตที่เปี่ยมล้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความเมตตาและปรารถนาดี จะสามารถเหนี่ยวนำพลังงานบวกมาช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจให้แก่คนฟังได้เช่นกัน
คราวนี้เมื่อกายพร้อม วาจาพร้อม และใจพร้อม ก็เริ่มสวดมนต์กันได้เลย
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ สวดเป็นเห็นผลทันตา
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
หลุมพรางของคนชอบสวดมนต์ : 5 ข้อสังเกตที่บอกว่าคุณกำลังไปผิดทาง
มาฆบูชา : ไม่ใช่แค่การรวมกันของพระสงฆ์ 1,250 รูป !! เกิดอะไรขึ้นในวันนี้บ้าง
ถวายตำแหน่ง ‘ผู้อุปถัมภ์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม’ แด่ท่าน ว.วชิรเมธี
ความตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยท่าน ว.วชิรเมธี
พุทธทาสภิกขุ ผู้เขียนคู่มือมนุษย์ บุคคลสำคัญของโลกที่องค์การยูเนสโกยกย่อง
Pingback: วิธีทำบุญที่ถูกต้อง ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ ไม่ใช่ได้บาป