โรคหลายบุคลิก คืออะไร
โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder – DID หรือ Multiple Personality Disorder – MPD) คืออาการทางจิตที่ความทรงจำ การรับรู้ตัวเองหายไปชั่วขณะ ผู้ป่วย โรคหลายบุคลิก จะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางคนอาจจะมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันตั้งแต่ 2 บุคลิกขึ้นไป (อาจมากถึง 20 เลยก็ได้!) โดยผู้ป่วย โรคหลายบุคลิก จะดึงบุคลิกภาพที่แตกต่างกันเหล่านั้นออกมาสลับกันมีบทบาทในโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ลักษณะนิสัย น้ำเสียงในการพูด และที่น่าประหลาดใจคือ บางครั้งพวกเขาดูอ่อนแอเหลือเกิน แต่กลับทำเรื่องแปลกๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถทำได้และพวกเขาก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยทำอะไรแบบนั้นได้
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลายบุคลิก อาจเกิดจากผู้ป่วยประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจและร่างกายในวัยเด็ก เกิดเป็นความหวาดระแวง ความหวาดกลัว ตลอดมา แม้จะโตขึ้นแล้ว ความกลัวและความเศร้าจากเหตุการณ์เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในจิตใจ จนรับมือไม่ไหว จึงสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ออกมารับมือ
อาการของโรคหลายบุคลิกต้องอาศัยคนรอบข้างคอยสังเกต และหากไม่มั่นใจการพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก โดยโรคหลายบุคลิกนั้นสามารถรักษาได้ ทุกตัวตนที่สร้างขึ้น เราสามารถหลอมรวมให้กลายเป็นตัวตนเดียวได้
พวกเขาอาจเจ็บปวดจากโรคแต่บางคนก็สามารถมีความสุขในชีวิตได้ บางคนก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์และหนังสือเรื่องดัง และบางคนอาจรอดจากการถูกจำคุกเพียงเพราะนั่นไม่ใช่ตัวตนของเขาเป็นผู้ลงมือ….
บิลลี่ มิลลิแกน (Billy Milligan)
ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรกที่ศาลตัดสินให้ไม่ต้องรับโทษในอาชญากรรมที่ก่อ
ตัวตนที่พบ : 24
บิลลี่ มิลลิแกน ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา ผมสีทอง ตาสีฟ้า จากเมืองแลนคาสเตอร์ (Lancaster) รัฐโอไฮโอ(Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ใครหลายๆ คนต่างบอกว่า เป็นหนุ่มนิสัยดี สุภาพอ่อนโยน
เขาเพิ่งรู้ความจริงว่าเขามีอีกหลายตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจก็เมื่ออายุได้ 22 ปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการถูกตำรวจจับในฐานก่ออาชญากรรม ลักพาตัวและข่มขื่นผู้หญิง 3 คน ในมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท
จิตแพทย์ลงความเห็นว่า บิลลี่ มิลลิแกนป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกทารุณกรรมทางเพศจากพ่อเลี้ยงในวัย 8 ขวบ ทำให้บิลลี่ต้องสร้างตัวตนใหม่ออกมาเพื่อรับมือกับโลกภายนอก โดยระหว่างสืบสวนคดี เขาค่อยๆ เปิดเผยตัวตนออกมา ไม่ว่าจะเป็น อาเธอร์ อายุ 22 ปี ชาวอังกฤษ เป็นผู้ควบคุมและกำหนดบุคลิกที่จะออกมาโลกภายนอก เป็นคนฉลาด พูดสำเนียงอังกฤษ เรเกน วาดาสโควินิช อายุ 23 ปี ชาวยูโกสลาเวีย พูดภาษาอังกฤษที่ติดสำเนียงสลาฟอย่างชัดเจน เรเกนมีความสามารถในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และยังเป็นนักคาราเต้ชั้นยอดด้วย อัลเลน อายุ 18 ปี เป็นคนเจ้าเล่ห์ จอมบงการผู้นี้มักจะเป็นผู้ติดต่อกับคนภายนอก ทอมมี่ อายุ 16 ปี เชี่ยวชาญในการสะเดาะเครื่องพันธนาการต่าง ๆ วิลเลียม สแตนลีย์ มิลลิแกน (บิลลี่ มิลลิแกน) อายุ 26 ปี หรือบิลลี่ มิลลิแกน ตัวตนหลัก
โดยแพทย์ได้ระบุว่าบิลลี่ มิลลิแกนมีตัวตนที่แตกต่างกันถึง 24 คน และคนสุดท้ายที่พบ คือ “ครู” ตัวตนทั้ง 23 ที่หลอมรวมกัน เป็นผู้สอนตัวตนอื่นๆ ถึงทุกอย่างที่พวกเขาได้เรียนรู้มา ครูเป็นตัวตนที่เฉลียวฉลาด ละเอียดอ่อน มีอารมณ์ขัน เขาบอกว่า “ฉันคือบิลลี่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์”
บิลลี่ มิลลิแกนเป็นที่รู้จักและเป็นที่ถกเถียงของสาธารณะทันทีที่ถูกจับและตั้งข้อหาว่าเขาคือคนลวงโลกที่สามารถหลอกสังคม ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกลงโทษในอาชญากรรมร้ายแรงที่เขาก่อขึ้น หรือเป็นเหยื่อของโรคหลายบุคลิกจริงๆ
เขาเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และยังเป็นผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรกที่ได้รับการจับตามองตลอดเวลาโดยจิตแพทย์ถึง 4 คน และนักจิตวิทยาอีก 1 คน ซึ่งผลจากการเฝ้าดูพวกเขาได้ให้คำสาบานว่า บิลลี่ มิลลิแกน ป่วยด้วยโรคหลายบุคลิกจริง และทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกคนแรกของโลกที่ไม่ต้องรับโทษที่ก่อขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นบิลลี่ ก็ต้องเข้ารักษาบำบัดจากนักจิตแพทย์ต่อไป
เรื่องราวของบิลลี่ มิลลิแกน ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง The Minds of Billy Milligan หรือ บิลลี่ มิลลิแกน ชาย 24 บุคลิก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Amarin และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับ M. Night Shyamalan ผู้กำกับคนดังที่นำเรื่องราวของมิลลิแกนไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง จิตหลุดโลก (Split ) ภาพยนตร์แนวจิตวิทยาเขย่าขวัญและระทึกขวัญที่ เล่าเรื่องของ Kevin Wendell ชายผู้มี 23 บุคลิก ซึ่งได้ลักพาตัวหญิงสาววัยรุ่น 3 คน มาขังไว้ในห้องใต้ดิน
เชอร์ลี เมสัน (Shirley Mason)
ตัวตนที่พบ : 16
ต้นฉบับซีบิล
เชอร์ลี เมสัน หรือ ซีบิล อิสซาเบล ดอร์เซ็ตต์ (Sybil Isabel Dorsett ) ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกที่เรื่องของเธอถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ มินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ และเป็นหนังสือขายดีในชือ ซีบิล (Sybil)
สาเหตุของอาการป่วยของเมสัน เกิดจากการถูกแม่แท้ๆ ทารุณกรรมทางเพศด้วยวิธีโหดร้ายเกินกว่าจะบอกเล่าได้
เธอเล่าให้คุณหมอประจำตัวฟังว่า เธอจำได้ว่าเธอมักตื่นขึ้นมาในโรงแรมนอกเมืองที่เธอไม่รู้จัก จำไม่ได้ว่ามาถึงที่นี่ได้ยังไง บางครั้งก็ยืนงงๆ อยู่หน้าชั้นสินค้าที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งเธอไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเธอเป็นคนพังมันกับมือ
จิตแพทย์ระบุว่า เชอร์ลี เมสัน เป็นโรคหลายบุคลิกที่มีตัวตนถึง 16 ตัวตนด้วยกัน
หลังจากนั้นเรื่องราวของเธอก็ปรากฎเป็นหนังสือ เป็นภาพยนตร์ ทำให้เธอกลายเป็นคนดัง จนเกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอป่วยจริงหรือไม่ บางคนก็คิดว่าเธอนั้นหลอกลวงเพราะอยากมีชื่อเสียง และคุณหมอก็เห็นดีเห็นงามจึงฝังเรื่องโรคหลายบุคลิกใส่สมองเธอ
เมสันเสียใจกับข้อกล่าวหานี้มาก เธอจึงเขียนจดหมายหาหมอของเธอเพื่อบอกว่า เธอสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อหลอกทุกคน แต่หมอกลับบอกเธอว่า สมองเธอต่างหากที่สร้างเรื่องมาหลอกตัวเองว่าเธอไม่ได้ป่วย
สุดท้ายเมสันยอมรับในโรคหลายบุคลิกของตัวเธอ และเข้ารับการบำบัดกับคุณหมอต่อไป
ในฉากสุดท้ายของมินิซีรีส์ ซีบิล ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดั่งเจ้าหญิงนิยาย แต่ในชีวิตจริงเมสันกลับต้องพึ่งพิงคุณหมอประจำตัวต่อไป เธอมีอาการติดยาและไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1988 เชอร์ลี เมสันก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเต้านม
By Henri Bourru & Prosper-Ferdinand Burot – Variations de la personnalité.,
หลุยส์ วิเวต์ (Louis Vivet )
ต้นแบบด็อกเตอร์จีคอลและมิสเตอร์ไฺฮด์
จากเรื่อง STRANGE CASE OF DR. JEKYLL AND MR. HYDE
ตัวตนที่พบ : 10
หลุยส์ วิเวต์ ชาวฝรั่งเศส ชายหนุ่มคนแรกที่ได้รับการระบุว่าเป็นโรคหลายบุคลิก ซึ่งเกิดจากการถูกแม่แท้ๆ ทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก
เมื่อแม่ไม่ไยดี เขาจึงกลายเป็นเด็กเสเพล และเข้าๆ ออกๆ สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนตั้งแต่ 8 ขวบ จนกระทั่งอายุ 17 ปี ในขณะที่เริ่มงานในไร่องุ่น งูพิษตัวหนึ่งได้เข้ารัดแขนซ้ายเขา แม้มันจะไม่ได้กัด แต่เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้กับวิเวต์จนเขาหมดสติไป และเมื่อตื่นขึ้นมาก็พบร่างกายตั้งแต่ส่วนสะโพกลงไปกลับกลายเป็นอัมพาต
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นประมาณหนึ่งปีกว่าๆ เขาก็กลับมาเดินได้อีกครั้ง
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่าการเดินได้ นั่นคือ การปรากฏบุคลิกภาพอีกหนึ่งตัวตนของวิเวต์
เมื่อช่วงเป็นอัมพาต วิเวต์คือชายหนุ่มสุภาพ จิตใจดี หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตัดเสื้อในโรงพยาบาลบำบัดทางจิต
แต่เมื่อเขากลายเป็นวิเวต์ที่เดินได้ เขาก็เปลี่ยนไปเป็นคนก้าวร้าว ขี้โมโห และยังจำใครในโรงพยาบาลไม่ได้อีก
วิเวต์สลับบุคลิกทั้งสองออกมาโลกภายนอก โดยเขาบอกหมอว่า เขาจำช่วงเวลาที่เป็นอัมพาตไม่ได้เลยสักนิด
จนกระทั่งวิเวต์ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคหลายบุคลิกจริง หมอพบว่า เขามีบุคลิกที่แตกต่างกันถึง 10 ตัวตน เช่น ชายหนุ่มผู้ใจดีในสถานะคนอัมพาตด้านล่าง ชายหนุ่มขี้โมโหในช่วงเวลาที่เดินได้ บางบุคลิกขี้เกียจ บางบุคลิกขยันขันแข็ง และมีบางบุคลิกที่ไม่ได้เป็นอัมพาตด้านล่างแต่เป็นอัมพาตที่ซีกซ้ายของร่างกายด้วย
เรื่องราวของหลุยส์ วิเวต์ สิ้นสุดการบันทึกเป็นหลักฐานทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 1886 โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด
ลูแรนซี่ เวนนัม (Lurancy Vennum)
ตัวตนที่พบ : ระบุจำนวนไม่ได้
ผีเข้าหรือผู้ป่วย?
ลูแรนซี่ เวนนัม หญิงสาวจากเมืองวัทเซกา (Watsseka) รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอมีอีกชื่อว่า Watseka Wonder (วัทเซกา วันเดอร์ – ความสงสัยของชาวเมืองวัทเซกา) เพราะเธอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเธอเป็นโรคหลายบุคลิกจริงหรือแค่ตบตาคนทั้งโลก
เวนนัมมักจะเป็นลมชักและหมดสติอยู่บ่อยๆ นั่นดูเป็นเรื่องปกติของหญิงสาวร่างกายอ่อนแอแต่สิ่งที่ทำให้ชาวเมืองสงสัยนั่นคือ เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วเธอจะพูดเสมอว่า เธอไปสวรรค์มา ไปเจอนางฟ้า และได้เจอกับลูกพี่ลูกน้องที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย บางครั้งก็พูดเรื่องราวแปลกๆ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายในสำเนียงและน้ำเสียงที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อรู้สึกตัวเธอกลับจำไม่ได้ว่าพูดอะไรออกไป
แต่แทนที่เธอจะได้รับการบำบัด เพื่อนบ้านของเธอ อซา บี. รอฟฟ์ (Asa B. Roff) กลับบอกว่าให้ครอบครัวของเธอติดต่อกับหมอผีแทน เพราะเขาเชื่อว่าเวนนัม มีอาการแบบเดียวกับลูกสาวเธอที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลบำบัดจิต
รอฟฟ์ยังเชื่ออีกด้วยว่า วิญญาณของลูกสาวเขายังวนเวียนอยู่ที่บ้าน และเวนนัมจะช่วยเขาสื่อสารกับลูกสาวได้
ด้านหมอผีก็สนับสนุนทฤษฏีของรอฟฟ์ เขากล่าวว่า การพูดด้วยน้ำเสียงแปลกๆ ทำท่าทางแปลกๆ นั่นเป็นเพราะ เวนนัมถูกผีหลายตัวสลับวนเวียนมาสิงเธอ พูดง่ายๆ ว่าอาการของเวนนัมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา คือ อาการของคนที่ถูกผีสิง
จนกระทั่งสิ่งที่ครอบครัวรอฟฟ์รอคอยก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งเวนนัมกลายเป็นแมรี่ รอฟฟ์
เวนนัมสามารถเล่าเรื่องราวของแม่รี่ในวัยเด็กได้อย่างถูกต้อง และจดจำข้าวของเครื่องใช้ในบ้านได้อย่างแม่นยำ ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาที่แมรี่เสียชีวิตนั้น เวนนัมอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้น
แต่สิ่งที่นักจิตแพทย์พบคือ เวนนัมจะถูกผีแมรี่ รอฟฟ์สิงก็ต่อเมื่ออยู่ต่อหน้าครอบครัวรอฟฟ์เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นครอบครัวรอฟฟ์ก็พอใจ และรับเวนนัมมาอยู่ด้วยนานกว่า 3 เดือน
หลังจากนั้นเวนนัมแต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอาการผีสิงของเธอ แมรี่ไม่เคยกลับมาหาเธออีก จนเมื่อเธอย้ายไปจากเมืองไปก็ไม่มีใครเคยได้ยินข่าวอีกเลยว่าเธอถูกผีสิง เวนนัมคือผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก หรือเธอถูกผีสิงจริงๆ แม้เธอจากไปแล้ว แต่ความสงสัยของชาวเมืองวัทเซกาและคนทั้งโลกก็ยังคงอยู่
คริส คอสท์เนอร์ ไซส์มอร์ (Chris Costner Sizemore)
หญิงสาวที่เป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์เรื่องThe Three Faces of Eve
ตัวตนที่พบ : 22
คริส คอสท์เนอร์ ไซส์มอร์ จากเมืองเอดเกอร์ฟิลด์ (Edgefield) รัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอก็เป็นหนึ่งคนที่ประสบปัญหาภาวะบุคลิกแตกแยก แต่แตกต่างจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพราะในวัยเด็กเธอไม่เคยถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นเด็กหญิงที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุขที่สุดในเมืองเลยก็ว่าได้
แต่เมื่อปี ค.ศ. 1929 เธอเป็นโรคซึมเศร้าจากเหตุการณ์สะเทือนใจสุดเศร้าของครอบครัว และหลังจากอาการของโรคหลายบุคลิกก็ตามมา เธอบอกว่า เมื่อเวลาที่เธอรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจ เธอมักจะให้บุคลิกเด็กผู้หญิงผมแดงคนหนึ่งออกมาเผชิญโลก และบ่อยครั้งที่เธอจะหูแว่วได้ยินเสียงบุคลิกอื่นๆ คุยกับตัวเธอเองในหัวตลอดเวลา
จนเมื่ออายุ 20 ปี เธอเข้ารับการบำบัดทางจิต หลังจากที่คลอดลูกสาวคนแรกชื่อ แทฟฟี่ (Taffy) เนื่องมาจากบุคลิกหนึ่งที่ชื่อว่า อีฟ แบล็ก (Eve Black) ปรากฏตัวมาบีบคอลูกสาวที่ยังเล็กของเธอ แต่โชคยังดีที่ บุคลิกด้านดีที่ชื่อ อีฟ ไวท์ (Eve White)สลับตัวออกมาช่วยไว้ทัน
หลังจากนั้นเธอก็เข้ารับการบำบัดเป็นเวลากว่า 25 ปี แตกบุคลลิกออกมาได้ถึง 22 ตัวตนด้วยกัน และพบแพทย์มากว่า 8 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณหมอ โทนี่ ไซทอส (Dr. Tony Tsitos) ได้รวมบุคลิกของเธอทั้งหมดจนกลายเป็นคนคนเดียวได้ในที่สุด
คริส คอส์ทเนอร์ ไซส์มอร์ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2016
Pingback: 10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า - อาการ สาเหตุ การรักษา การป้องกัน