A Gentleman in Moscow สุภาพบุรุษในมอสโก เอมอร์ โทวล์ส เขียน ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ แปล ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์ (เวอร์ชันนี้สำหรับทดลองอ่าน ไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) ——————————————————————————————————————- ภาคหนึ่ง 1922 หีบท่านทูต เวลาหกโมงครึ่ง วันที่ยี่สิบเอ็ด เดือนมิถุนายน ปี 1922 เมื่อเคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ ถูกคุมตัวออกจากประตูพระราชวังเครมลินไปทางจุตรัสแดง อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าแจ่มจ้า เขาก้าวเดินพลางยืดอก สูดหายใจเต็มปอดเหมือนตอนกำลังว่ายน้ำ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าจัดจ้าน ตัดกับสีสันยอดโดมมหาวิหารนักบุญเบซิล ซึ่งเจตนาทาสีให้ขับกันและกัน ชมพู เขียวและทอง ทอประกายสดใส ราวกับการชื่นชมบูชาพระเจ้าคือจุดประสงค์หนึ่งเดียวของการมีศาสนา แม้แต่สาวๆ บอลเชวิคซึ่งยืนเสวนากันอยู่ตรงหน้าต่างห้างสรรพสินค้าของรัฐ ก็ดูจะแต่งกายสีสดใสรับกับบรรยากาศช่วงท้ายของฤดูใบไม้ผลิ “สวัสดี คุณพ่อค้า” ท่านเคานต์ร้องทักฟีโอดอร์ที่ขอบจัตุรัส “แบล็กเบอร์รีมาเร็วนะปีนี้!” ท่านเคานต์ก้าวเดินว่องไวโดยไม่รอฟังคำตอบจากพ่อค้าที่กำลังงงงวย หนวดซึ่งจัดทรงด้วยขี้ผึ้งสยายออกเหมือนปีกนกนางนวล เขาเดินผ่านทางประตูรีเซอร์เร็กชั่น หันหลังให้พุ่มไลแลคแห่งสวนอเล็กซานเดอร์ และมุ่งหน้าไปยังจัตุรัสเธียเตอร์ ที่ตั้งของโรงแรมเมโทรโปลอันสง่างาม เมื่อมาถึงประตูทางเข้า ท่านเคานต์ก็ขยิบตาให้ปาเวล […]
Category Archives: ทอลองอ่าน
บิงโกเกมฆาตกร “เปิดกฎฆ่า” ปฐมบทของผลงานระทึกขวัญชุดใหม่ จากปลายปากกาของปราปต์ ผู้เขียน “กาหลมหรทึก” ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์ (เวอร์ชันนี้สำหรับทดลองอ่าน ไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) ——————————————————————————————————————- หน้า ๑ สัญญาลงนามเข้าร่วมเกมฆาตกร ระเบียบการเข้าร่วมเกม ว่าด้วยกติกาการเล่นเกมฆาตกร พ.ศ. ๒๕๕๗ ___________________ ข้อ ๑ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในระเบียบนี้ “ฆ่า” “ฆาตกรรม” “สังหาร” หมายถึง การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย “ฆาตกร” […]
この嘘がばれないうちに เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น ตราบชั่วเวลาของคำโกหก คาวางุจิ โทชิคาซึ เขียน อภิวัฒน์ พวงไธสง เเปล ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์ (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) 1 เพื่อนสนิท ชิบะ โกทาโร่ มีคำโกหกที่ปกปิดลูกสาวมายาวนานถึงยี่สิบสองปี ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี [1] นักประพันธ์ชาวรัสเซียกล่าวเอาไว้ว่า “เรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต คือการมีชีวิตโดยไม่โกหก” ถึงจะบอกว่าเป็น “คำโกหก” แต่เป้าประสงค์ของมันก็ต่างกันออกไป คำโกหกเพื่อยกยอตน คำโกหกเพื่อหลอกลวงผู้อื่น หากมีคำโกหกที่ทำให้ผู้คนเจ็บปวด เช่นนั้น ย่อมมีคำโกหกที่ช่วยเหลือพวกเขาเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้ว ผู้คนมักนึกเสียใจกับคำโกหกของตนในภายหลัง โกทาโร่ก็เช่นเดียวกัน เขาเดินวนไปเวียนมาอยู่หน้าร้านกาแฟที่ลือกันว่าย้อนกลับไปสู่อดีตได้มามากกว่าสามสิบนาทีแล้ว ทุกครั้งที่นึกถึงคำโกหกของตัวเองขึ้นมา ปากก็บ่นงึมงำพึมพำ “ไม่ได้โกหกเพราะอยากโกหกซะหน่อย” ร้านกาแฟซึ่งย้อนกลับไปในอดีตได้นั้น อยู่ห่างจากสถานีจินโบโจโดยใช้เวลาเดินไม่กี่นาที ในซอยลึกหลังตึกสำนักงานเรียงราย มีป้ายร้านขนาดเล็กเขียนกำกับ “ฟูนิคูลี ฟูนิคูลา” เพราะร้านตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน หากไม่มีป้ายร้านติดอยู่ ก็คงไม่มีใครรู้ว่ามีร้านกาแฟอยู่ตรงนั้น โกทาโร่เดินลงบันไดไปหยุดยืนอยู่หน้าประตูร้านอยู่หลายหน ประตูไม้ประดับรูปสลักลึก ปากพลางบ่นพึมพำกับตัวเอง […]
ฮิซาดะ ทัตซึกิ เขียน ฉัตรขวัญ อดิศัย เเปล (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) *ติดตามวันวางจำหน่ายได้ทางเพจ “เเพรวสำนักพิมพ์”เร็วๆนี้* ———————————————————— ปฐมบท ท้องฟ้าสีครามแผ่กว้างที่เจิดจ้าจนแสบลึกในดวงตา มองลงไปเห็นทะเลสาบสีฟ้าสดท่ามกลางวงล้อมของทิวเขาสีเขียวเข้ม คลื่นสีเงินที่สะท้อนแสงตะวันดูประดุจฝูงนกหัวโต เสียงร้องของนกป่าดังสะท้อนมาจากไกล ๆ นกอะไรก็ไม่รู้ ร้องเสียงแหลมเนิ่นนาน เพ่งดูแต่ก็หาไม่เจอ ยอดคลื่นละม้ายนกหัวโตรวมฝูงบนผิวน้ำเกิดความปั่นป่วนชั่วแวบ ประหนึ่งตอบรับเสียงใบไม้เสียดสีกันของต้นไม้ซึ่งเรียงเป็นทิวแถวอยู่ห่างไกล กลิ่นเขียว ๆ ลอยมาตามสายลมพัด ครู่นั้นฉันเคลิ้มมองภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปตามทะเลสาบเขื่อน มองทะลุไปใต้ผิวน้ำสีน้ำเงินออกดำอยู่เงียบ ๆ ฉันกระซิบว่า อยู่ใต้ผิวน้ำนั่นอย่างไรล่ะ เสียงหอนเศร้าของสุนัขดังแว่วมาแต่ไกล… “ทะเลสาบเขื่อนในชิคุโฮ” ที่นี่…แถบชิคุโฮซึ่งอยู่ตอนเหนือของจังหวัดฟุคุโอกะแห่งนี้ มีข่าวลืออย่างหนึ่ง นั่นคือ มีหมู่บ้านจมอยู่ใต้ทะเลสาบเขื่อนในชิคุโฮ กระทั่งในปัจจุบัน ชาวบ้านที่ตายไปก็ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น แล้วบางครั้งก็ออกมาร่อนเร่บนผืนพิภพ มีคนเล่าด้วยว่า พวกเขากรูกันออกมาจากแถวอุโมงค์เก่าใกล้เขื่อน มีคนเคยเจอกลุ่มชาวบ้านในชุดกิโมโนโบราณไล่กวด เพราะอะไรคนเหล่านั้นจึงหลงวนเวียนอยู่ในโลกนี้ล่ะ มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้คนเล่าลือกันนั้น ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับความจริงด้วย “เพราะฆ่าชาวบ้านทุกคนที่ต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน แล้วทำให้หมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำน่ะสิ” แต่การก่อสร้างเขื่อนกับเหตุหมู่บ้านจมลงใต้น้ำเกิดขึ้นในยุคโชวะ[1] เหตุการณ์แบบนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เดิมที เท่าที่ดูจากเอกสารที่หลงเหลืออยู่ก็ไม่พบว่ามีข้อผิดพลาดอะไรในการก่อสร้างเขื่อน คนส่วนใหญ่คิดว่า […]
นทธี ศศิวิมล เขียน (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) การที่มีคนได้นั่งใต้ร่มไม้ในวันนี้ ก็เพราะมีใครคนหนึ่งปลูกต้นไม้ไว้นานแล้ว – วอร์เรน บัฟเฟตต์ กำเริบ กว่าห้านาทีที่ศิราเริ่มสับสนอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง ว่านี่คือความจริงหรือความฝัน เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับงานศพของย่าที่เสียไปนานแล้วลอยขึ้นมาตีกับภาพย่ากำลังทำข้าวต้มหมูสับตรงหน้า สลับกับเดินเก็บกวาดข้าวของที่เด็กๆ เล่นกันแล้วทิ้งไว้เกลื่อนพื้น หนำซ้ำเสียงเรียกหลานๆ กินข้าวของย่าก็ดังชัดเจนไม่ผิดเพี้ยนทุกสำเนียงขนาดนี้ ยังไม่ทันสรุปได้แน่ชัด ช่องท้องก็แข็งเกร็งขึ้นมากะทันหัน ความเจ็บปวดร้าวรานแผ่ไปทั่วตั้งแต่ลิ้นปี่ค่อยๆ ไล่ลามลงไปถึงหัวเหน่าและอวัยวะเพศปลุกเธอขึ้นอีกครั้งหลังการตื่นลวงเมื่อครู่ หญิงสาวกลอกตา มองไปรอบๆ เห็นครอบพลาสติกใสครอบปากและจมูกของตัวเองอยู่ เธอสะดุ้งเฮือกสุดตัว พยายามหายใจเข้า แต่ความดันในท้องจุกแน่นตีขึ้นมาถึงอกจนหายใจแทบไม่เข้า การรับรู้อยู่ในโลกสีเขียวผสมแดงก่ำช้ำเลือดช้ำหนอง ศิรานอนอยู่บนเตียงแคบๆ มีราวเหล็กกันตกเตียงขนาบสองข้าง ผวากับความเย็นเฉียบจนเหมือนน้ำแข็งเมื่อหลังมือขวาไปสัมผัสเข้า อาการเจ็บร้าวในท้องทุเลาลงพอให้เธอมีเวลาใช้ความพยายามนึกถึงเหตุการณ์ เรื่องราว สถานที่ หรืออะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก่อนหน้าจะมาอยู่บนเตียงนี้ แต่นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก ความทรงจำของเธอเหมือนลอยอยู่รำไรตรงหน้า ทว่าพยายามจะคว้า กลับคว้าไม่ได้ นั่นทำให้ ‘มัน’ เริ่มกลับมา! ศิราหายใจสั้นถี่กระชั้น ระลอกความกลัววูบวาบไปทั่วตัว ตาพร่า ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตัวร้อนผ่าวตั้งแต่เท้าจนถึงใบหน้า รู้สึกเหมือนเนื้อตัวบวมเป่งใกล้จะระเบิดเต็มที เธอมองเห็นสายน้ำเกลือและเข็มปักคาอยู่หลังมือซ้าย รู้สึกว่าแถบพันรัดต้นแขนขวาเพื่อวัดความดันบีบรัดแขนจนแน่นแล้วคลายออกทันที มีเสียงอุปกรณ์เครื่องวัดอะไรต่ออะไรดังตี๊ดตื๊ดอยู่รอบตัว […]
การ์โล กอลโลดี เขียน ลลิตา ผลผลา แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย อี. ฮาร์เดน อลิซ คาร์ซีวาดภาพประกอบ (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) ———————————————————— กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มี… “พระราชาองค์หนึ่ง!” นักอ่านตัวน้อยของผมคงตะโกนขึ้น พร้อมๆกัน . ไม่ใช่หรอกนะเด็กๆ ทายผิดแล้วละ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีท่อนไม้อยู่ท่อนหนึ่งต่างหาก . ไม่ใช่ท่อนไม้ที่เลิศเลออะไรหรอก แค่ท่อนไม้ธรรมดาๆ อย่างที่ใช้ก่อไฟในเตาผิงให้ห้องอบอุ่นในฤดูหนาวนั่นละ ผมไม่รู้หรอกว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร แต่ความจริงคือ วันดีคืนดีไม้ท่อนนี้ก็เผอิญมาอยู่ในร้านของช่างไม้ชรา ผู้มีชื่อจริงว่ามิสเตอร์อันโตนีโอ แต่ทุกคนเรียกขานเขาว่ามิสเตอร์เชอร์รี่ เพราะปลายจมูกเขาเป็นสีแดงก่ำเสมอ ราวกับผลเชอร์รี่สุกกํ่า ทันทีที่มิสเตอร์เชอร์รี่สังเกตเห็นไม้ท่อนนี้เข้า ก็ดีใจจนเนื้อเต้น เขาถูมือสองข้างไปมาอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องแล้วเอ่ยขึ้นว่า “ไม้ท่อนนี้ มาได้จังหวะเสียจริง อย่างที่อยากได้มาทำขาโต๊ะตัวเล็กพอดีเชียว” จากนั้นเขาก็คว้าขวานคมกริบมาอย่างไม่รอช้าเพื่อถากเปลือก ไม้และเกลาผิวให้เรียบ ทว่าขณะเงื้อขวานจะจามลงครั้งแรกนั่นเอง เขาก็ต้องหยุดกึกค้างอยู่ในท่านั้น เพราะได้ยินเสียงเล็กๆอ้อนวอน เบาๆ “อย่าตีผมแรงนักนะครับ!” เด็กๆลองนึกภาพดูสิว่ามิสเตอร์เชอร์รี่ผู้ชราจะประหลาดใจ เพียงใดเขาเหลียวมองไปรอบห้องเพื่อดูว่าเสียงเล็กๆนั้นแว่วมา จากไหน แต่ก็ไม่เห็นใครสักคน เขาก้มดูใต้ม้านั่ง—ไม่มีใคร เปิดตู้ ซึ่งปิดอยู่เสมอก็ไม่มีใคร […]
Klara and The Sun คลาราและดวงอาทิตย์ คาซึโอะ อิชิงุโระ ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) ———————————————————— คำนำสำนักพิมพ์ คลาราและดวงอาทิตย์ เป็นผลงานเล่มล่าสุดหลังจากที่อิชิงุโระได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ.2017 นวนิยายเล่มนี้ ผู้เขียนจะพาเราไปดูความเป็นมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจและสภาพแวดล้อมภายนอกของโลกปัจจุบันผ่านสายตาของเอเอฟ (เพื่อนปัญญาประดิษฐ์) ที่ชื่อคลารา เธอเป็นหุ่นยนต์ช่างสังเกต ช่างจดจำ และชอบตั้งคำถาม วันหนึ่ง โจซี เด็กสาวเลือกให้เธอไปอยู่ด้วย ยิ่งนานวันที่คลาราใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์ เธอเริ่มรู้สึกว่า หากเธอสังเกตความเป็นมนุษย์ได้มากเท่าไร เธอก็จะยิ่งมีความรู้สึกมากขึ้นเท่านั้น ถึงจะมีคนบอกเธอว่า หุ่นยนต์อย่างเธอนั้นไม่มีวันเข้าใจจิตใจมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เพราะหัวใจของมนุษย์นั้นทับซ้อนกันหลายต่อหลายชั้นขนาดที่มนุษย์เองยังไม่มีวันหยั่งถึง และแม้จะมีคนเตือนคลาราว่าอย่าถือเอาคำมั่นสัญญาของมนุษย์เป็นจริงเป็นจังแล้วก็ตาม… งานของคาซึโอะ อิชิงุโระ เป็นงานที่เล่นกับความรู้สึกของคนอ่านอย่างสม่ำเสมอผ่านตัวละครก่อนจะส่งผ่านความรู้สึกต่างๆ ที่เวียนว่ายอยู่ในตัวละครเหล่านั้นมาสู่ผู้อ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป นวนิยายเรื่องคลาราและดวงอาทิตย์นี้ก็เช่นกัน อิชิงุโระได้ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่ไม่ซับซ้อนเช่นจิตใจของมนุษย์ แต่กลับสะเทือนอารมณ์ได้อย่างหมดจดยิ่ง ทั้งยังเป็นงานที่มีความโรแมนติกซึ่งไม่ใช่ความหมายของคำว่าโรแมนติกอย่างที่มนุษย์ใช้บ่อยครั้ง หากแต่มันคือความโรแมนติกแบบที่มนุษย์เราต้องประสบ อันเป็นความแท้ที่ยากจะหลีกหนี หัวใจของมนุษย์นั้นซับซ้อน – มนุษย์รู้ดีแต่เมื่อใดที่คุณมีหัวจิตหัวใจ เมื่อนั้นความเปราะบางก็พร้อมมาเยือนคุณได้ทุกเวลา ———————————————————— แด่มารดาของข้าพเจ้า ชิซึโกะ อิชิงุโระ (ค.ศ.1926-2019) ———————————————————— […]
PIPPI IN THE SOUTH SEAS ปิ๊ปปี้ผจญทะเลใต้ แอสตริด ลินด์เกรน เขียน ดร.บุญส่ง ชเลธร แปล อิงกริด วาง นีมาน วาดภาพประกอบ (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) . ปิ๊ปปี้ยังอยู่ที่วิลล่า วิลเลคูลล่า เมืองเล็ก ๆ ดูเป็นระเบียบและน่าอยู่ด้วยถนนที่ปูด้วยหินขัดมันเป็นก้อน ๆ และบ้านหลังน้อยซึ่งรายล้อมด้วยพุ่มดอกไม้โดยรอบ ใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาย่อมรู้สึกว่า นี่เป็นเมืองอันแสนสงบและอบอุ่น น่าอยู่อาศัยยิ่งนัก แต่ไม่ค่อยมีสถานที่จะให้เที่ยวชมมากเท่าไร นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและสุสานโบราณ คนในหมู่บ้านจัดทำป้ายบอกทางไว้เด่นชัดสำหรับผู้ที่ต้องการไปเยือน ป้ายหนึ่งคือ ทางไปพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่เขียนด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ พร้อมลูกศรชี้บอกทางข้างใต้ ส่วนอีกป้ายเขียนว่า ทางไปสุสานโบราณ แต่ยังมีอีกป้าย ที่เขียนเด่นชัดว่า ทางไป วิลล่า วิลเลคูลล่า ป้ายนี้เพิ่งถูกติดตั้ง เพราะช่วงที่ผ่านมามักมีผู้คนจำนวนมากถามถึงทางไปวิลล่า วิลเลคูลล่า…ใช่แล้ว อันที่จริงมีคนถามทางบ่อยกว่าทางไปพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกับสุสานโบราณเสียอีก วันอันสดใสวันหนึ่งของฤดูร้อนนั้น […]
여름, 어디선가 시체가 วันหนึ่งในฤดูร้อนมีศพนอนอยู่ที่ไหนสักที่ พักยอนซอน เขียน มินตรา อินทรารัตน เเปล ติดตามการวางจำหน่ายได้ทางเพจ “เเพรวนิยายเเปล” 01 ฤดูร้อน จะเศร้าหรือไม่ก็ช่าง ขอแค่ได้กินซัม[1]ใบฟักทองให้ขากรรไกรค้างก็พอ “ตะวันโด่งขึ้นมาจ่อก้นแล้ว ยังเอาแต่นอนอยู่ได้” ฉันขอออกตัวไว้ก่อนเผื่อมีใครเข้าใจผิด ตอนนี้ยังไม่ทันจะเก้าโมงเลยด้วยซ้ำ ถ้าได้ยินประโยคนี้สักตอนเที่ยงก็คงไม่รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมอย่างนี้หรอก เสียงดังสนั่นโครมครามมาจากด้านนอกอย่างกับจะทำให้ข้าวของพังกันไปข้างหนึ่ง ย่าจงใจทำเสียงดังให้ฉันตื่นแน่ๆ แต่ถ้ามีอะไรพังขึ้นมา ก็มีแต่ย่านั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายเสียหาย การต่อสู้เพื่อการนอนยามเช้าในวันนี้นับเป็นวันที่สามแล้ว วันแรก ย่าลากหลานสาวที่ยังลืมตาไม่ขึ้นออกมานั่งหน้าโต๊ะอาหาร จัดแจงยัดตะเกียบใส่มือให้ แล้วบอกว่า “คนเราถึงเวลานอนก็ต้องนอน ถึงเวลาลุกก็ต้องลุก รีบตื่นขึ้นมากินข้าวเถอะนะ หือ” น้ำเสียงของย่าช่างอ่อนโยนเสียไม่มี แม้ฉันจะเป็นหลานสาวแท้ๆ แต่เอาเข้าจริงเราก็ได้เจอกันแค่ปีละครั้งสองครั้งเท่านั้น อาจด้วยเหตุผลนี้ ย่าเลยเผยตัวตนออกมาไม่ได้ในทันที พอเข้าวันที่สอง ตัวตนที่แท้จริงก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ย่าผลักประตูห้องให้เปิดกว้างจนบานประตูแทบพัง “ยังนอนอยู่อีกหรือ หลังเอ็งลงไปติดไม้กระดานแล้วมั้ง!” สำหรับผู้เฒ่าวัยแปดสิบอย่างย่า รสชาติของการนอนตอนหัวค่ำอาจกลมกล่อมดั่งรสงา แต่สำหรับสาวน้อยวัยยี่สิบเอ็ดอย่างฉัน ช่วงของการนอนตอนเช้าต่างหากที่หอมหวานปานน้ำผึ้ง ทีตอนแกหลับปุ๋ยตั้งแต่สามทุ่ม ฉันเคยขัดว่าจะนอนแล้วหรือ หรือเปล่าล่ะ ฉันไม่เคยพูดอะไรเลยสักครั้ง แถมยังเบาเสียงโทรทัศน์ให้ย่าได้หลับสนิทด้วย แล้วทำไมย่าถึงทำกับฉันแบบนี้ […]
The Witcher I สายโลหิตแห่งเอลฟ์ Blood of Elves อันเดรย์ ซาพคอฟสกี ผู้เขียน ธนพร ภู่ทอง ผู้แปล ติดตามการวางจำหน่ายได้ทางเพจ “เเพรวนิยายเเปล” (ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) บทที่หนึ่ง ทั่วทั้งเมืองกำลังลุกเป็นไฟ ถนนอันคับแคบที่ทอดนำไปสู่คูน้ำรอบเมืองและชานบ้านแห่งแรกนั้นล้วนมีควันไฟและเถ้าถ่านพวยพุ่งออกมา เปลวไฟมากมายกำลังกลืนกินบ้านมุงหลังคาที่กระจุกตัวกันเป็นกลุ่มก้อนหนาแน่นและลามเลียไปทั่วกำแพงปราสาท จากทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศทางของประตูท่าเทียบเรือนั้น เสียงหวีดร้อง เสียงตะโกนจากการต่อสู้อันดุเดือด และเสียงปะทะอันทึบตันของเครื่องพังประตูที่ยังคงเหวี่ยงกระแทกเข้าใส่กำแพงยิ่งทวีความดังขึ้นไปอีก กลุ่มผู้โจมตีโอบล้อมพวกนางไว้โดยมิได้คาดหมาย และในตอนนี้ก็กำลังทุบทำลายเครื่องกั้นที่ถูกยันเอาไว้โดยทหารจำนวนไม่กี่นายซึ่งเป็นเพียงชาวเมืองถือง้าวไม่กี่หยิบมือและทหารหน้าไม้จากสมาคมอีกจำนวนหนึ่ง ฝูงม้าศึกของฝ่ายผู้โจมตีสวมเครื่องประดับสีดำสนิทต่างห้อกระโจนผ่านเครื่องกั้นมาราวกับภูตผี โดยมีคมดาบที่ส่องประกายอยู่ในมือผู้ขี่คอยมอบความตายให้กับฝ่ายป้องกันที่กำลังหลบหนีไป ซิริรู้สึกได้ว่าจู่ๆ อัศวินด้านหลังที่กำลังยึดร่างนางไว้บนอานก็กระตุ้นเร่งม้าของเขากะทันหัน นางได้ยินเสียงร้องของเขา “จับไว้” เขาตะโกน “จับไว้!” อัศวินนายอื่นๆ ที่สวมชุดประดับธงของซินทราไล่ตามพวกนางมาทันจนได้ และถึงแม้จะยังควบม้าด้วยความเร็วสูงสุด พวกเขาก็ยังคอยรับมือกับทหารชาวนิล์ฟการ์ดอย่างไม่ลดละ ซิริมองเห็นการต่อสู้ดังกล่าวได้ด้วยหางตา – มองเห็นชุดคลุมสีทองอมน้ำเงินและสีดำสะบัดไปมาท่ามกลางเสียงเหล็กที่ฟาดกระทบกัน เสียงคมดาบที่ปะทะเข้ากับโล่ เสียงร้องของม้า–– เสียงตะโกน ไม่สิ ไม่ใช่เสียงตะโกน เสียงหวีดร้องต่างหาก “จับไว้!” กลัวเหลือเกิน ทุกๆ การกระตุก ทุกๆ การสะบัด […]
- 1
- 2