FamiRead EP.8 สำรวจให้รู้ ลูกเราเลี้ยงยาก เลี้ยงง่าย หรือเป็นแบบไหนกันแน่

แท้จริงแล้วเด็กไม่ใช่ผ้าขาว เพราะเด็กเกิดมาพร้อมพื้นฐานอารมณ์และรสนิยมเฉพาะตัว เขาจึงเป็นผ้าสีพื้นที่มีโทนสีแตกต่างกันไป กลุ่มสีโทนเย็นอาจเป็นเด็กเลี้ยงง่าย หรือเด็กอ่อนไหวง่าย กลุ่มสีโทนร้อนอาจเป็น เด็กเลี้ยงยาก หรือเด็กผสมผสาน ซึ่งเด็กแต่ละประเภทมีจุดเด่น จุดด้อย และต้องการแรงสนับสนุนจากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน

ลูกของคุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กแบบไหน เด็กเลี้ยงยาก หรือเด็กเลี้ยงง่าย และเราจะเลี้ยงดูส่งเสริมให้ตรงจุดได้อย่างไร ลองมาฟังใน FamiRead Podcast กันเลยค่ะ

รายการ FamiRead รายการผู้ช่วยมือหนึ่งของพ่อแม่พบกับ บ.ก.แสตมป์ จากแพรวเพื่อนเด็ก คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกคนอื่นดูว่านอนสอนง่าย แต่ทำไมลูกเราถึงได้เลี้ยงยาก ยิ่งบางบ้านที่มีลูกหลายคนอาจะสงสัยว่า เลี้ยงก็เลี้ยงมาเหมือนกัน กินข้าวก็หม้อเดียวกัน ส่งเสียเข้าโรงเรียนเดียวกันทุกอย่าง แต่ทำไมนิสัย รสนิยมความชอบ หรือว่าความถนัดของลูกไม่เหมือนกันเลยนะ เรื่องนี้มีที่มา

 

ในหนังสือ เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด ของรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี บอกไว้ว่า เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมพื้นฐานอารมณ์และรสนิยมที่ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กบางคนมีพลังเยอะชอบวิ่งเล่นปีนป่าย ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในขณะที่เด็กบางคนอาจโลกส่วนตัวสูงชอบเล่นเงียบๆคนเดียว หรือเด็กบางคนเป็นตัวของตัวเองสูงชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ฟังคำสั่งใคร ในขณะที่เด็กบางคนชอบอยู่ในกรอบไม่ชอบคิดตัดสินใจด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้คุณหมอจึงเน้นย้ำว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว แต่เป็นผ้าสีพื้นที่มีพื้นฐานทางอารมณ์และรสนิยมเป็นของตัวเองตั้งแต่เกิด ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกที่พลังงานเยอะด้วยการออกคำสั่งให้นั่งนิ่งๆ เขาจะไม่เชื่อฟังและต่อต้านพ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าลูกคนนี้ดื้อด้านเลี้ยงยากเหลือเกิน หรือถ้าพ่อแม่บังคับลูกขี้อายให้ไปเต้นกลางเวที เขาก็จะไม่กล้า งอแง เสียความมั่นใจ พ่อแม่ก็อาจจะคิดว่าลูกคนนี้ไม่เอาไหน ทำแค่นี้ก็ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลูกเราจะเลี้ยงยาก หรือ เลี้ยงง่าย เลี้ยงได้ดั่งใจหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงที่เราเลือกใช้กับลูก

ลักษณะของเด็กทั้งหมดนั้น คุณหมอได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 ประเภท เด็กแต่ละประเภทเป็นอย่างไร และมีเทคนิคที่เหมาะกับพื้นฐานอารมณ์อย่างไรบ้างมาลองฟังกัน

เด็กประเภทที่ 1 คือ เด็กเลี้ยงง่ายขวัญใจพ่อแม่หลายๆคน เพราะเด็กประเภทนี้ว่านอนสอนง่าย ร่าเริงแจ่มใส ปรับตัวเก่ง มีสมาธิดี มีความยืดหยุ่น และช่วยเหลือตัวเองได้ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย จะไม่ดื้อหรือร้องไห้งอแง แต่มีจุดอ่อนตรงที่ขาดพลังสร้างสรรค์ อาจไม่กล้าคิดนอกกรอบเท่าเด็กประเภทอื่นๆ และถูกชักจูงได้ง่ายจากทั้งคนดีและคนไม่ดี เพราะฉะนั้น การเลี้ยงอย่างสร้างสรรค์จึงไม่ใช่ปล่อยอิสระตามมีตามเกิด เพราะเห็นเขาเรียบร้อยน่ารักดีอยู่แล้ว หรือออกคำสั่งให้ทำทุกอย่าง จนเด็กขาดการฝึกคิดสร้างสรรค์ ควรฝึกให้รู้เท่าทันคน ให้เผชิญความยากลำบากบ้าง ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน เพื่อฝึกการคิดแสดงออกความคิดเห็นและกระตุ้นความคิด

เด็กประเภทที่ 2 คือ เด็กเลี้ยงยาก พลังล้นเหลือ วู่วาม รอบคอบ ไม่ค่อยมีสมาธิ และระเบิดอารมณ์ง่าย เราจึงมักเห็นเด็กเลี้ยงยากออกลีลาอาละวาดจนพ่อแม่ฟิวส์ขาด ต้องแจกขนมตุ๊บตั๊บกันบ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วเด็กเลี้ยงยากเป็นเด็กที่คล่องแคล่วว่องไว กล้าหาญ มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีความคิดนอกกรอบสร้างสรรค์มาก บุคคลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในโลก เช่น  แจ็ค หม่า มาร์ค,มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ บิล เกตส์ ก็เป็นเด็กเลี้ยงยากกันทั้งนั้น วิธีเลี้ยงเด็กเลี้ยงยากเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และแสดงภาวะผู้นำ เปิดโอกาสให้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ร่วมกติกาในบ้าน และรักษาวินัยปฎิบัติร่วมกันด้วย และควรจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้สงบเพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวนสมาธิ

เด็กประเภทที่ 3 เด็กอ่อนไหวง่าย เด็กกลุ่มนี้จะมีอารมณ์ศิลปินสูง ต้องการกำลังใจเยอะ พ่อแม่พูดจาผิดนิดหน่อยก็เก็บไปคิดน้อยใจ อารมณ์ขึ้นเร็วลงเร็ว โลกส่วนตัวสูงช่างระมัดระวังตัว และหลายๆคนมักขี้อาย ไม่กล้าแสดงออกทั้งที่มีความอาร์ทในตัวสูงมาก เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตไปเป็นศิลปินสร้างสรรค์ เช่น นักดนตรี จิตกร นักเขียน วิธีเลี้ยงเด็กกลุ่มนี้พ่อแม่จึงไม่ควรคาดคั้นบีบบังคับต้องให้กำลังใจเยอะๆ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายสบายใจ แล้วค่อยกระตุ้นแสดงให้เขาแสดงความสร้างสรรค์ออกมา

เด็กประเภทที่ 4 เด็กผสมผสาน เด็กกลุ่มนี้เปลี่ยนสไตล์ไปได้เรื่อยๆ บางวันก็เลี้ยงง่ายจนใจหาย บางวันก็ดื้อเหลือเกิน แต่บางวันกลับเก็บตัวเป็นเด็กอ่อนไหวง่าย พ่อแม่ที่มีลูกประเภทนี้ก็ต้องคอยสังเกตอารมณ์ให้ดีดี ว่าวันนี้จะมาไม้ไหน และค่อยๆปรับการเลี้ยงดูตามสไตล์ที่เป็นในแต่ละวัน

 

คุณหมอย้ำแล้วย้ำอีกในหนังสือว่าเด็กแต่ละประเภทไม่มีใครดี เก่งเลิศกว่าใคร ทุกคนมีโอกาสเติบโตเป็นคนดีคนเก่งในสไตล์ของเขาได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าดื้อแล้วจะโตมาเป็นคนไม่ดี ไม่เก่ง หรือ เรียบร้อยแล้วจะโตมาเป็นอัจฉริยะ พื้นฐานอารมณ์กับความดีความเก่งนั้นไม่เกี่ยวกัน ลูกจะดีหรือเก่งขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงของพ่อแม่ หากพ่อแม่เลี้ยงอย่างสร้างสรรค์และเข้าใจ จะเด็กเลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก เด็กอ่อนไหว หรือเด็กผสมผสาน ก็ดีในแบบของเขาทุกคน

 

เรื่องราวการเลี้ยงลูกแต่ละประเภทอย่างสร้างสรรค์ยังมีอีกมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด ของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า