Famiread EP.9 มาเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติกันเถอะ

“การเลี้ยงลูกนั้นจริงๆ ไม่ยากเลยค่ะ แต่การเลี้ยงลูกด้วยความประณีต ตั้งใจ ให้เด็กเติบโตมาอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีต่างหากที่ยาก เพราะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสม” – หมอก้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

แล้วการเลี้ยงลูกให้เติบโตมาอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีจะทำได้อย่างไร ลูกในแต่ละวัยพ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องไหนเป็นพิเศษบ้าง ลองมาฟังใน FamiRead Podcast กันเลยค่ะ

 

รายการ FamiRead รายการผู้ช่วยมือหนึ่งของพ่อแม่พิธีกร คือ บ.ก.แสตมป์จาก Amarin Kids เป็นธรรมดาของคุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่จะรักลูกและคาดหวังให้ลูกเติบโตไปมีอนาคตที่ดี บางคนอาจตั้งความหวังไว้ไม่มาก เช่น แค่ลูกแข็งแรงและมีความสุขก็พอแล้ว พ่อแม่บางคนอาจหวังขึ้นมามากอีกหน่อย คืออยากเห็นลูกเป็นคนดี หาเลี้ยงตัวเองได้ แต่พ่อแม่บางคนก็ตั้งความหวังกับลูกไว้สูงลิบ อยากเห็นลูกเรียนเก่ง เป็นอัจฉริยะ ร่ำรวย มีชื่อเสียง ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังส่วนใหญ่จะสะท้อนออกมาผ่านการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอง เพราะฉะนั้นยิ่งหวังมาก ลูกก็ต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่มาก ความเสี่ยงก็มีมาก เพราะคนที่จะประสบความสำเร็จขั้นสุดหรืออัจฉริยะได้มีแค่หยิบมือเท่านั้น เมื่อเสี่ยงมากก็มีโอกาสผิดหวังมากด้วย และเมื่อมีโอกาสผิดหวังมาก็เครียดมากตามไปอีกจริงไหม เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราเลี้ยงลูกเป็นเพียงคนปกติที่มีความสุขได้ทั้งกับเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ อาจจะไม่ต้องเก่งกาจมากมาย ปรับตัวได้ ลุกขึ้นสู้เป็น ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะที่รู้ทุกเรื่องบนโลก แต่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไรไม่ชอบอะไร และเป็นคนดีพอประมาณ คือมีความรักให้คนรอบข้างแต่ก็ไม่ได้ดีเหมือนนางเอกในละครที่ยอมให้ใครต่อใครมาเบียดเบียนหรือรังแก

หากคุณพ่อคุณแม่อยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติแบบนี้แล้ว หนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ของหมอตั้ม หมอก้อย เจ้าของเพจดังชื่อเดียวกับหนังสือก็จะเหมาะกับคุณแม่อย่างยิ่ง ซึ่งในหนังสือคุณหมอก็แนะนำเทคนิคเลี้ยงลูกไว้เยอะแยะมากมาย ให้เล่าทั้งหมดภายในเวลาสั้นๆ คงไม่ได้แน่ๆ ในวันนี้ก็เลยจะขอหยิบยกบางส่วนของหนังสือเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ มาเล่าให้ฟังกัน

คุณหมอทั้งสองท่านได้เขียนไว้ในหนังสือว่า ในแต่ละช่วงวัยมีเป้าหมายในการเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกัน อย่างวัยแรกเกิดจนถึงหนึ่งขวบ หากเปรียบบ้านเป็นบริษัท ลูกก็เปรียบเหมือนพนักงานใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ภารกิจที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยให้กับลูก โดยการดูแลอย่างใกล้ชิด หมั่นพูดคุยและชวนเล่น อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสุขภาพ เพราะหากเด็กวัยนี้ป่วยก็ต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ ก็จะส่งผลถึงอารมณ์และพัฒนาการของเขาได้เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลอาหารการกินและความสะอาดของช่วงวัยนี้มากเป็นพิเศษ

วัยเตาะแตะ

ต่อมาคือช่วงวัยสองถึงสามขวบหรือวัยเตาะแตะ เด็กวัยนี้เดินได้วิ่งได้แล้วและซนมากๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่น ปลั๊กไฟในบ้านควรอุดให้เรียบร้อย เก็บของมีคมหรือน้ำยาสารเคมีต่างๆ ให้มิดชิดพ้นหูพ้นตาเด็ก หรือหาอะไรมากั้นบันไดให้ดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้วัยนี้ก็ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา และการช่วยเหลือตัวเองให้ดีได้เหมือนกัน เช่น หัดให้เขากินข้าวเอง สวมรองเท้าเอง ถอดกางเกงหรือเข้าห้องน้ำเอง เพราะอีกไม่นานลูกก็ต้องเข้าโรงเรียนแล้ว จะได้ช่วยเหลือตัวเองและสื่อสารบอกความต้องการกับครูและเพื่อนๆ ได้

 

วัยอนุบาล

ต่อมาคือวัยอนุบาลสามถึงห้าขวบ หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าเข้าโรงเรียนแล้วก็ต้องเรียนเป็นเป้าหมายหลักสิ ขอบอกเลยว่าพลาดแล้ว เพราะว่าเด็กวัยอนุบาลยังไม่ใช่วัยร่ำเรียนวิชาการ แต่เป็นวัยที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้เรื่องวินัยและทักษะสังคมที่สุด เพราะเด็กมีความพร้อมด้านภาษา และเริ่มเข้าใจเหตุผลแล้ว จึงควรได้รับการปลูกฝังเรื่องกฎ กติกา มารยาท การอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้เกิดจิตสำนึกตั้งแต่เด็กๆ เพราะของแบบนี้ไปฝึกกันตอนโตบอกเลยว่ายากมากจริงๆ

 

วัยประถม

เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงประถม คืออายุหกถึงสิบสองปี เป็นวัยที่วินัยและความรับผิดชอบยังคงต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขามีวินัยมากพอที่จะกำกับตัวเองในข่วงวัยรุ่น แต่อีกเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นมาของวัยนี้ก็คือการค้นหาความชอบของตัวเอง เพื่อให้เด็กสามารถตั้งเป้หมาย หรือค้นพบศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในอนาคตเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกวัยประถมได้ทดลองทำกิจกรรมให้หลากหลาย อย่าเพิ่งรีบส่งเรียนกวดวิชา เพราะวิชาการอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบและถนัด ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้เขาเฟลกับตัวเอง และเสียเวลาทองการค้นหาตัวเองไปเปล่าๆ

 

วัยรุ่น

เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คืออายุสิบสามถึงสิบแปดปี เด็กที่ได้รับการปูพื้นฐานชีวิตมาอย่างดี จะมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และรู้จักความถนัดของตัวเองแล้ว บวกกับครอบครัวมีความรักความเข้าใจมอบให้เสมอมา ช่วงวัยนี้พ่อแม่ก็จะไม่เหนื่อยมาก เพียงช่วยเหลือและสนับสนุนให้เขาค้นหาเป้าหมายในชีวิต และทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ เขาก็จะมีหลัก ไม่ออกนอกลู่นอกทาง และไม่สับสนเพราะค้นหาตัวเองไม่เจอด้วย

ที่บอกเล่าให้ฟังทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดในหนังสือเท่านั้น ยังมีเทคนิควิธีเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ และวิธีแก้ปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยงลูกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาลูกดื้อ เอาแต่ใจ ขี้โมโห ขี้กลัว และก็อื่นๆ อีกคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ของหมอตั้มและหมอก้อยได้เลย

 

สั่งซื้อหนังสือ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ คลิก

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า