GAME OF THRONE VS THE WITCHER มหากาพย์แฟนตาซีเรื่องไหนคือที่สุดแห่งยุค ?

GAME OF THRONE VS THE WITCHER

มหากาพย์แฟนตาซีเรื่องไหนคือที่สุดแห่งยุค?

 

 

 

อันเดรย์ ซาพคอฟสกี เคยกล่าวถึง เจ อาร์ อาร์ มาร์ติน ว่า “ผมซาบซึ้งในผลงานของเขา และมหากาพย์ศึกชิงบัลลังก์มาก เพราะเต็มไปด้วยตัวละครที่น่าจดจำ แต่เมื่อผมถามเขาว่า ‘ทำไมถึงต้องฆ่าตัวละครทั้งที่คนดูชอบ’ มาร์ตินกลับตอบว่า ‘ก็เพราะผมชอบให้มันเป็นแบบนั้นไง’ ซึ่งผมค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะคนอ่านคงไม่รู้สึกแบบนั้นแน่นอน”

ช่วงปี 2011 – 2019 ถือเป็นยุคที่ ซีรีส์ GOT (GAME OF THRONE) ของช่อง HBO ครองเมืองโดยแท้ เพราะออกฉายแทบทุกปี ไม่ว่ามองไปทางไหนก็มีแต่ชื่อนี้ปรากฏในทุกสื่อและทุกวงสนทนา และถึงแม้ซีรีส์ช่วงท้ายๆ จะมีกระแสตอบรับที่ไม่ดีนัก แต่มหากาพย์แฟนตาซีเรื่องนี้ก็การันตีความสำเร็จด้วยยอดผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ !

ความโด่งดัง

GAME OF THRONE 

เล่มแรกตีพิมพ์ในปี 1996 ได้รับรางวัล LOCUS AWARD, WORLD FANTASY AWARD ปี 1997 ปี และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล NEBULA AWARD ปี 1998 ส่งผลให้ลุงมาร์ติน เขียนเล่มใหม่ตามมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นมหากาพย์ A SONG OF ICE AND FIRE ที่มีทั้งหมด 7 เล่ม ปัจจุบันเขียนออกมาแล้ว 5 เล่ม (เพราะลุงแกดองไว้ไม่ยอมเขียนต่อ) แต่ถึงกระนั้นก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับได้มหาศาล จนช่อง HBO ต้องรีบคว้าลิขสิทธิ์มาครอง กล่าวคือก่อนจะมาเป็นซีรีส์ที่โด่งดังไปทั่วโลก GOT ได้รับอิทธิพลมาจากนิยายที่สุดนั่นเอง

THE WITCHER

เล่มแรกตีพิมพ์ปี 1993 ในประเทศโปแลนด์ ก่อนมหาศึกชิงบัลลังก์ 3 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 เล่ม ซึ่งลุงซาพคอฟสกีเขียนจบทั้งหมดแล้ว แต่ในช่วงที่นิยายวางจำหน่ายกลับไม่เป็นที่รู้จักในสื่อกระแสหลักมากนัก จนกระทั่ง เกม THE WITCHER 3: WILD HUNT ที่ดัดแปลงมาจากนิยาย THE WITCHER สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเกมอวอร์ด (GAME OF THE YEAR ) ที่จัดขึ้นในเมืองลอสแอนเจลิสประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2015

ตัวเกมได้รับทั้งรางวัลเนื้อเรื่องยอดเยี่ยม เกมเพลย์ยอดเยี่ยม การออกแบบยอดเยี่ยม และอื่น ๆ อีกมากมาย จากความสำเร็จนี้เองที่ทำให้ชื่อ THE WITCHER เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักเล่นเกมทั่วโลก และสามารถขยายไปสู่ความสนใจของกลุ่มคนที่ชื่นชอบเรื่องแฟนตาซีกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้นิยายโด่งดังตามไปด้วย กล่าวคือ ที่ THE WITCHER กลายมาเป็นซีรีส์ให้เราดูทุกวันนี้ เป็นอิทธิพลมาจากเกม มากกว่านิยายนั่นเอง

เสน่ห์ที่น่าดึงดูด

GAME OF THRONE 

เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ เกมการเมือง ฆาตกรรม ทรยศหักหลัง ความรักต้องห้ามระหว่างพี่สาวกับน้องชาย และสงครามแย่งชิงบัลลังก์ จนกลายเป็นเส้นเรื่องหลากหลายที่น่าติดตาม เเละแทบละสายตาจากหน้าจอหรือหนังสือไม่ได้เลย

ในการสนทนาระหว่างตัวละครทุกครั้งมักมีนัยแฝงให้ติดตามเสมอ มีบทสนทนาที่ถูกจดจำได้มากมาย และเอามาทำเป็นมีมกัน (MEME) เต็มอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่แฟนๆ ชื่นชอบ ยิ่งกว่าฉากการต่อสู้กันเสียอีก กล่าวคือ GOT เป็นเกมการเมืองขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยตัวละครหลักหลายตัวเข้ามาพัวพันกัน ไม่ต่างกับวรรณกรรมชั้นยอดของเอเชียอย่าง “สามก็ก” หรือ “ดาบมังกรหยก” เลย

 

THE WITCHER

เต็มไปด้วยสิ่งที่ GOT มีเช่นกัน แต่จะมีการลงรายละเอียดน้อยกว่าเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่เราจะได้รู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของเกรอลท์เท่านั้น แต่เกรอลท์ก็เป็นตัวละครที่ถูกออกแบบมาอย่างดี เขาเป็นนักล่าอสูร ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง “มนุษย์” และ “สัตว์ประหลาด” จึงทำให้เขาดูเป็นคนมีเสน่ห์ ดุดัน น่าเกรงขาม และมีความลึกลับมากที่สุดคนหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรด้วยซ้ำ

เนื้อเรื่องจะเน้นที่ตัวของเกรอลท์ กับตัวละครเพียงไม่กี่คนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่สุดของเรื่องนี้คือ การปะทะกับเหล่าสัตว์ประหลาดและสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์อื่นๆ ที่เป็นภัยกับมนุษย์ ใน GOT นั้น การจะพบเด็กแห่งพงไพรหรือยักษ์ตัวเป็นๆ นั้นยากมาก แต่ในโลกของ THE WITCHER ไม่ว่าจะเป็นค้างคาวยักษ์ มนุษย์ครึ่งอสูร ผีกูล หรือแม้กระทั่งนางเงือก ก็สามารถพบเจอได้ไม่ยากนัก เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อยู่ปะปนกับมนุษย์จนเกือบเป็นเรื่องปกติ

จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า THE WITCHER คือเรื่องราวการผจญภัยของเกรอลท์เพียงคนเดียว เหมือนดูหนังคาวบอยที่ควงปืนลุยเดี่ยวบ้าง ลุยเป็นกลุ่มบ้าง แต่ถึงแบบนั้นทุกบรรทัดและทุกตอนก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้นที่วางไม่ลงเช่นกัน

 

 

ตัวละครยอดนิยม

 

GAME OF THRONE 

ได้สร้างตัวละครยอดนิยมทั้งหญิงและชายเอาไว้หลายคน ไม่ว่าจะเป็นในนิยายหรือซีรีส์ ก็ล้วนมีภาพจำที่ยอดเยี่ยมทั้งนั้น ซึ่งได้แก่ จอน โสนว์ , อาร์ยา สตาร์ค , เจมี่ แลนนิสเตอร์, ธีออน เกรย์จอย บอกชื่อมาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า แดเนริส ทาร์แกเรียน (แม่มังกร) จะต้องเป็นอันดับหนึ่งแน่ๆ แต่ผิดแล้ว เพราะตัวละครยอดนิยมอันดับหนึ่งคือ “ทีเรียน แลนนิสเตอร์” ต่างหาก

ทีเรียนถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ GOT ประสบความสำเร็จก็ว่าได้ เขาเป็นคนที่แฟนๆ ชื่นชอบที่สุด ต้องขอบคุณ ปีเตอร์ ดิงค์เลจ ที่เข้าถึงบทบาทการแสดงเป็นตัวละครนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับทีเรียนเขาเป็นคนที่น่าเห็นใจ ด้วยความรูปร่างที่แคระแกร็น หน้าตาไม่น่ามอง หนวดเคราเลอะเทอะ ผิดกับพี่น้องร่วมสายเลือดอย่าง เจมี่ และ เซอร์ซี ที่รูปร่างงดงาม ผมสีบลอนด์ราวแผงคอของราชสีห์ ดังที่แลนนิสเตอร์ทุกคนควรเป็น

แต่ถึงจะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม ทีเรียนก็มีอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดใน GOT นั่นคือสติปัญญาและไหวพริบอันเฉียบแหลม ในขณะที่วีรบุรุษคนอื่นๆ ซึ่งมีทั้งอำนาจและกองทัพ ต่างจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนาเพราะไม่มีสิ่งนี้ เขาไม่ใช่คนฉลาดตั้งแต่เกิด แต่เพราะรู้ว่าตัวเองไม่อาจเป็นนักรบได้ เขาจึงหมั่นศึกษาหาความรู้ตั้งแต่เด็กด้วยการอ่านหนังสืออย่างหนัก จนมีความรู้เหนือคนอื่น ซึ่งทำให้เอาตัวรอดได้ทุกครั้ง และเขายังเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรู ทำให้ตัวละครนี้เป็นที่รักมากที่สุดใน GOT

 

THE WITCHER

แน่นอนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า เนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดคือการผจญภัยส่วนตัวของเกรอลท์ จึงไม่แปลกเลยที่ทุกคนจะโหวตให้เขาเป็นตัวละครยอดนิยมอันดับหนึ่งของเรื่องนี้ ส่วนรองลงมาคือ ซิริ,แดนดิไลออน,เยนเนเฟอร์,เวเซเมียร์ และ ทริซ ตามลำดับ

ในนิยายเกรอลท์ค่อนข้างทรงพลังในระดับหนึ่ง เขาผ่านการกลายพันธุ์ จนมีร่างกายแข็งแรง ช่ำชองในการใช้อาวุธ มีไหวพริบเป็นเลิศ และสามารถร่ายเวทมนตร์ง่ายๆ ได้ เขาต้องออกเดินทางไปทั่วเพื่อฆ่าสัตว์ประหลาดแรกกับเงิน รวมถึงพบเจอเหตุการณ์และผู้คนที่หลากหลายไปด้วย (ลงอ่างอาบน้ำบ้างบางที)

ในเรื่องของสภาพจิตใจ เกรอลท์ก็ถือว่ายังมีความรู้สึกและอารมณ์แบบมนุษย์อยู่ โดยเฉพาะความเศร้าและความโดดเดี่ยวที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะเขาถูกแม่แท้ๆ ทิ้งและถูกเลี้ยงดูโดยคนอื่นจนเติบโตเป็นวิทเชอร์ ทำให้ภายนอกเขาดูเย็นชา แต่จริงๆ แล้ว เขาก็ต้องการความรักไม่ต่างจากคนอื่นเลย เกรอลท์จึงเป็นตัวละครยอดมนุษย์ที่มีมิติและความลึกมากที่สุดตัวหนึ่ง จนทำให้เราอยากเอาใจช่วย และติดตามว่าท้ายที่สุดชะตากรรมของเขาจะเป็นเช่นไร

ส่วนในเกมที่ดัดแปลงโดย CD PROJEKT RED เกรอลท์ค่อนข้างทรงพลังอย่างน่าเหลือเชื่อ เงียบขรึม พูดน้อย แทบไม่แสดงอารมณ์ใดๆ และมีความอดทนเป็นเลิศ แต่ก็ยังหัวเราะกับเรื่องขบขันเล็กน้อยได้ ซึ่งนับว่าเป็นบุคลิกที่มีเสน่ห์ไปอีกแบบ และแม้แต่เกรอลท์ในซีรีส์ของ NETFLIX ที่ เฮนรี่ คาวิลล์ แสดง ก็พูดด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ แหบแห้ง ซึ่งล้วนมีต้นแบบมาจากเกมเช่นกัน

ไม่ว่าจะในนิยาย เกม หรือซีรีส์ เกรอลท์ก็เป็นที่ชื่นชอบอันดับหนึ่งของแฟนๆ ในสื่อนั้นอยู่ดี ภาพของชายหนุ่มผมขาว สวมชุดวิทเชอร์ สะพายดาบไว้ข้างหลัง ก็เป็นภาพจำของมหากาพย์เรื่องนี้ไปแล้ว

สัญลักษณ์ของเรื่อง

 

 

GAME OF THRONE 

นับตั้งแต่ไข่มังกรปรากฏขึ้นในนิยาย GOT เล่มแรก แฟนๆ ก็ต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้พบกับมังกรตัวเป็น ๆ ซึ่งหลังจากลีลาอยู่นาน ในที่สุดมังกรก็ฝักออกมาและกลายเป็นไฮไลท์ของทั้งนิยายและซีรีส์เป็นที่เรียบร้อย เพราะการได้เห็น แดเนริส ขี่มันไปไล่เผาคนอื่นตามใจชอบนั้น สร้างความเพลิดเพลินให้กับเราอย่างยิ่ง (จริงไหม?)

มังกรจึงกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของแฟรนไชส์นี้โดยไม่มีใครโต้แย้ง

 

THE WITCHER

แน่นอนว่ามีมังกรเหมือนกัน แต่โชคร้ายที่พวกมันสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่ค่อยปรากฏตัวบ่อยนัก เว้นแต่ในเกมที่ยังพอมีบทบาทอยู่บ้าง ดังนั้นถ้าเรานึกสิ่งที่โดดเด่นที่สุดใน THE WITCHER แน่นอนว่าต้องเป็นเหล่าวิทเชอร์แน่นอน แต่เพื่อให้กว้างหน่อย จะขอเรียกว่าผู้มีพลังพิเศษแทน

ผู้มีพลังพิเศษในที่นี้หมายถึงเหล่าวิทเชอร์และจอมเวท ที่มีพลังเหนือมนุษย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์นี้ ใน GOT มีผู้มีพลังพิเศษไม่มากนัก แต่ใน THE WITCHER เวทมนตร์คือเรื่องปกติ ในดินแดนมหาทวีป มีโรงเรียนสอนวิทเชอร์และสอนเวทมนตร์หลายแห่ง ที่เรียนจบยากยิ่งกว่าฮอกวอตส์เสียอีก กว่าจะศึกษาจบก็แทบจะตายทั้งเป็น แต่ก็แลกมากับพลังอำนาจที่เหนือมนุษย์ และมักได้รับหน้าที่สำคัญเสมอ เห็นได้จากที่จอมเวทหญิงส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาให้กับราชาในหลายอาณาจักร ส่วนคนที่จบจากโรงเรียนสอนวิทเชอร์ส่วนใหญ่ก็จะได้รับพลังเหนือมนุษย์ พร้อมกับความลำบากในชีวิตเป็นของแถม

ปัจจุบันมีเหล่าผู้วิเศษเป็นร้อยๆ คนใช้ชีวิตปะปนอยู่กับมนุษย์ ทำให้พวกเขาเป็นสัญลักษณ์ที่แฟนๆ THE WITCHER นึกถึงมากที่สุด

 

ซีรีส์

 

GAME OF THRONE 

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน เพราะมีทั้งหมด 8 ซีซั่น ด้วยทุนสร้างต่อตอนประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 476 ล้านบาท ขึ้นแท่นอันดับ 2 ซีรีส์ทุนสร้าง “แพงที่สุดตลอดกาล” (อันดับ 1 THE PACIFIC) และการันตีความสำเร็จ ด้วยยอดผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์

แม้ในช่วงท้ายจะจบไม่สวยเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหนังสือและซีรีส์ของ GOT ได้กลายเป็น วัฒนธรรมป๊อป (POP CULTURE) ของศตวรรษที่ 21 เป็นที่เรียบร้อย และจักรวาลของลุงมาร์ตินก็มีศักยภาพพอจะเล่าเรื่องราวที่แตกแขนงออกไปได้อีกมากมาย นอกจากเรื่องราวในภาคหลัก ล่าสุดซีรีส์ house of dragon ที่เป็นเรื่องราวของตระกูล “ทาร์แกเรียน” ก็กำลังรอฉายอยู่ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าทาง HBO จะสามารถสร้าง GOT ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้หรือไม่

 

THE WITCHER

NETFLIX เพิ่งออกฉายได้ไม่นานก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกัน เพราะแค่ซีซั่นเดียว ทุนสร้างต่อตอนก็ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 320 ล้านบาท ทั้งซีซั่นมีทั้งหมด 8 ตอน รวมเป็นเงินราว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับเกมที่ทุนสร้าง 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ในซีซั่นแรกอาจมีจุดขาดหายไปบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งซีซั่น 2 ก็เพิ่งฉายไปไม่นาน แฟนๆก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ซีรีส์ THE WITCHER จะเดินทางไปถึงจุดไหน
ถ้าจะบอกว่า GOT ถือไพ่เหนือกว่าเพราะจำนวนตอนก็คงไม่ยุติธรรมนัก

สรุป 

 

 

 

ถ้านับแค่ตอนนี้ GOT ประสบความสำเร็จมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ในสื่อเกมจะแจ้งเกิดไม่ได้ แต่นิยายและซีรีส์ก็ได้สร้างฐานแฟนคลับจำนวนมาก ที่มีพลังพอจะทำให้แฟรนไชส์นี้ไปข้างหน้าต่อ ในขณะที่ WITCHER เพิ่งแจ้งเกิดได้ไม่นาน และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไล่ตาม GOT รุ่นพี่ทัน

กล่าวคือนี่ยังเป็นยุคที่ GOT ยืนหนึ่งในความเป็นมหากาพย์แฟนตาซีของยุคนี้ แถมที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของจักรวาลอันยิ่งใหญ่เท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ ได้อีก และถ้ามีโอกาสกลับมาเมื่อไหร่ ก็มีโอกาสยิ่งใหญ่ได้ไม่เเพ้ยุคเเรกๆ เเน่อนอน

แต่ก็อย่าได้ประมาทไป เพราะ จักรวาล THE WITCHER ก็มีฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งอิทธิพลจากนิยาย ซีรีส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกม ซึ่งพร้อมจะตบรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนให้หงายหลังได้ไม่ยาก
จึงไม่แน่ว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่อาจรู้จักเกรอลท์แห่งริเวียกันทุกคน แต่อาจไม่มีใครรู้จักจอน สโนว์ เลยก็ได้ (ฮา)

ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ และไม่ว่าคุณจะอ่าน GOT หรือ THE WITCHER (หรือทั้ง 2 เรื่อง) คุณคือนักอ่านที่ยอดเยี่ยมแล้ว ทางแพรวสำนักพิมพ์ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

เมื่อ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เกือบจะโยนต้นฉบับหนังสือ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ลงกองไฟ

 

 

ก้าวแรกสู่โลกมิดเดิลเอิร์ธ จากจินตนาการของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า