การสัมผัสรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เสียงแค่เพียงแผ่วเบา หรือกระทั่งแสงเลือนราง คือสาเหตุที่ทำให้คนอ่อนไหวง่ายเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป คนที่อ่อนไหวง่ายยังคาดเดาสภาพร่างกายของตัวเองได้ดีเยี่ยม จึงยิ่งเหนื่อยง่ายมากขึ้น ขอแนะนำ “4 กลเม็ดช่วยคนเครียดง่าย เพราะความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าง่ายเวอร์” วิธีพลิกแพลงเพื่อลดแรงบั่นทอนที่คนอ่อนไหวง่ายได้รับจากสิ่งกระตุ้นเร้าจนทำให้เครียด 1. พลิกแพลงเพื่อปกป้องตัวเองจาก “สิ่งกระตุ้นเร้า” วิธีนี้เป็นเคล็ดลับป้องกันในเชิงกายภาพแทนการปิดกั้นหัวใจ การข่มประสาทรับรู้ไว้ระยะหนึ่งเวลาอยู่ในสถานที่ที่ไม่ชอบหรือเวลาเจอกับคนไม่ถูกชะตาเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ไม่จะเป็นการอิ่มเอมกับเรื่องน่ายินดี การสัมผัสสิ่งไม่น่าพิสมัยหรือสิ่งชวนให้เจ็บปวด ล้วนต้องใช้ “ประสาทรับรู้” หากทำให้ประสาทรับรู้ด้านชาก็จะเท่ากับว่า “รับรู้เรื่องไม่น่าพิสมัยหรือเรื่องชวนให้เจ็บปวดน้อยลง แต่ก็ได้สัมผัสการใช้ชีวิตอย่างปลื้มปริ่มยากขึ้นเช่นกัน” ยิ่งถ้าปิดกั้นประสาทรับรู้เป็นเวลานาน คราวนี้อาจกลายเป็นไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขสำหรับตน และเกิดคำถามเช่น “ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไร” หรือ “คำว่าสนุกสนานเป็นความรู้สึกแบบไหน” เพราะฉะนั้น กรณีจำเป็นต้องหาทางรับมือในระยะสั้น ขอให้ใช้วิธี “เริ่มจากป้องกันด้วยวัตถุ” เพื่อลดสิ่งกระตุ้นเร้าอันเป็นบ่อเกิดของความเครียด แทนการปิดกั้นประสาทรับรู้ แล้วค่อย ๆ ถอยห่างออกจากสถานที่หรือบุคคลที่ก่อให้เกิดความเครียด เพียงแค่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นประสาทรับรู้แล้ว 2. แยกประสาทสัมผัสทั้งห้า วิธีป้องกันสิ่งกระตุ้นเร้า การมองเห็น : การจำกัดสิ่งที่มองเห็นให้เหลือแค่เท่าที่จำเป็น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการป้องกันสมองไม่ได้พัก การได้ยิน : แค่เตรียมที่อุดหูไว้ในกระเป๋าเวลาออกนอกบ้าน แล้วหมั่นนำมาใช้เพื่อป้องกันเสียงระคายหู ก็ลดความเครียดได้มากแล้ว […]