“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว” คุณหมอเดว พูดถึงประโยคนี้บ่อยๆ ที่งานเสวนาต่างๆ คุณหมอเล่าว่า เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ที่เกิดมาก็แตกต่างกันอยู่แล้ว บางคนอดทนมาก บางคนอดทนน้อยเป็นทุนเดิม เว้นแต่ว่าการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมจะทำให้ความอดทนเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด ไม่ได้ปฏิเสธว่าเด็กทุกคนเกิดมาใสบริสุทธิ์ และก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าลวดลายสีสันบนผ้าที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม แต่ต้องการส่งสัญญาณเพิ่มว่า ลวดลายและสีสันนั้นเกิดบนผ้าสีพื้นที่มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละคน เมื่อเข้าใจในลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนทัศนคติ เลิกเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ และมีทัศนคติเป็นบวกว่าเด็กทุกคนเกิดมามีความสำคัญตามแบบฉบับของตัวเอง การเลี้ยงดูจึงเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเหมือนกันทุกบ้าน มาดูกันว่าเหตุผลที่บอกว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เพราะอะไร และมีวิธีเลี้ยงเด็กตามแต่ละสีอย่างไรบ้าง บางคนเป็นสีโทนร้อน และบางคนเป็นสีโทนเย็น เด็กบางคนเป็นสีโทนร้อน เช่น สีแดง สีเหลือง บางคนก็เป็นสีโทนเย็น เช่น สีเขียว สีฟ้า เปรียบได้กับพื้นฐานอารมณ์และรสนิยมที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด เช่น เด็กที่มีสีโทนเย็น เวลาพาไปฉีดวัคซีน ระหว่างตรวจก็หัวเราะร่าสบายใจ ไม่ได้สนว่าเดี๋ยวจะต้องเจ็บตัวเพราะโดนฉีดยานะ พอโดนฉีดยาก็ร้องไห้นิดหน่อย ปลอบแป๊บเดียวก็หาย กลับไปบ้านก็ใช้ชีวิตปกติ แต่ในขณะที่เด็กสีโทนร้อน แค่เห็นคุณพ่อคุณแม่หยิบสมุดวัคซีนก็รู้ทันทีว่า แม่กำลังพาไปหาหมอ ฉันจะต้องเจ็บตัวแน่ๆ ก็จะร้องไห้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน มาถึงโรงพยาบาลก็ต้องช่วยกันจับตัวกับชุลมุนกว่าจะฉีดยาได้ ทั้งๆ ที่เจ็บเท่ากัน แต่อาการตีโพยตีพายเยอะกว่าเด็กสีโทนเย็น […]