“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด” เขียนโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (หมอเดว)

“เด็กไม่ใช่ผ้าขาว”  คุณหมอเดว พูดถึงประโยคนี้บ่อยๆ ที่งานเสวนาต่างๆ คุณหมอเล่าว่า เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ที่เกิดมาก็แตกต่างกันอยู่แล้ว บางคนอดทนมาก บางคนอดทนน้อยเป็นทุนเดิม เว้นแต่ว่าการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมจะทำให้ความอดทนเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด ไม่ได้ปฏิเสธว่าเด็กทุกคนเกิดมาใสบริสุทธิ์ และก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าลวดลายสีสันบนผ้าที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม แต่ต้องการส่งสัญญาณเพิ่มว่า ลวดลายและสีสันนั้นเกิดบนผ้าสีพื้นที่มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละคน เมื่อเข้าใจในลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนทัศนคติ เลิกเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ และมีทัศนคติเป็นบวกว่าเด็กทุกคนเกิดมามีความสำคัญตามแบบฉบับของตัวเอง การเลี้ยงดูจึงเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเหมือนกันทุกบ้าน

มาดูกันว่าเหตุผลที่บอกว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เพราะอะไร และมีวิธีเลี้ยงเด็กตามแต่ละสีอย่างไรบ้าง

 

บางคนเป็นสีโทนร้อน และบางคนเป็นสีโทนเย็น

เด็กบางคนเป็นสีโทนร้อน เช่น สีแดง สีเหลือง บางคนก็เป็นสีโทนเย็น เช่น สีเขียว สีฟ้า เปรียบได้กับพื้นฐานอารมณ์และรสนิยมที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด เช่น เด็กที่มีสีโทนเย็น เวลาพาไปฉีดวัคซีน ระหว่างตรวจก็หัวเราะร่าสบายใจ ไม่ได้สนว่าเดี๋ยวจะต้องเจ็บตัวเพราะโดนฉีดยานะ พอโดนฉีดยาก็ร้องไห้นิดหน่อย ปลอบแป๊บเดียวก็หาย กลับไปบ้านก็ใช้ชีวิตปกติ

แต่ในขณะที่เด็กสีโทนร้อน แค่เห็นคุณพ่อคุณแม่หยิบสมุดวัคซีนก็รู้ทันทีว่า แม่กำลังพาไปหาหมอ ฉันจะต้องเจ็บตัวแน่ๆ ก็จะร้องไห้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน มาถึงโรงพยาบาลก็ต้องช่วยกันจับตัวกับชุลมุนกว่าจะฉีดยาได้ ทั้งๆ ที่เจ็บเท่ากัน แต่อาการตีโพยตีพายเยอะกว่าเด็กสีโทนเย็น อาการงอแงหลังฉีดก็เยอะกว่าก่อนฉีดเสียอีก

ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เห็นว่า พื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เปรียบได้ว่ามีสีคนละแบบนั่นเอง

 

ทำไมเด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก

คำถามที่คุณพ่อคุณแม่ถามกันบ่อยๆ ก็คือ “ทำไมเด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก” ให้ลองคิดในมุมกลับกันว่า ตกลงใครที่รู้สึกหรือตัดสินว่าง่ายหรือยาก คนเลี้ยงดูใช่หรือไม่

เด็กคนนี้เลี้ยงยาก ทำให้พ่อแม่รู้สึกลำบาก เราจึงตัดสินว่าเขาเป็นเด็กดื้อ เด็กคนนี้เลี้ยงง่ายทำให้คนเลี้ยงสบาย เราจึงตัดสินว่าเขาเป็นเด็กดี แต่แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเลี้ยงยากหรือง่าย นั่นคือธรรมชาติของเขา เป็นพื้นฐานอารมณ์และรสนิยมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยไม่เกี่ยวกับความดีหรือความเก่งแต่อย่างใด

ความใสบริสุทธิ์ของเด็กคือผ้าสีพื้น ส่วนลวดลายที่เกิดขึ้นบนผ้าสีต่างๆ นั้นคือกระบวนการเลี้ยงดูของพ่อแม่และสภาพแวดล้อม ดังนั้นการเอาลูกตัวเองที่เป็นเด็กเลี้ยงยากไปเปรียบเทียบกับเด็กเลี้ยงง่าย จึงอาจสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเด็กได้เช่นกัน พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน

 

เด็ก 4 ประเภท

ในทางการแพทย์ได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

1.เด็กเลี้ยงง่าย

2.เด็กเลี้ยงยาก

3.เด็กอ่อนไหวง่าย

4.เด็กผสมผสาน

หลายคนสงสัยว่าทำไมแม่คนเดียวกันแท้ๆ แต่พี่น้องไม่เหมือนกันเลย สมมติว่าพี่เป็นประเภทเรียบร้อย ทำได้หมดทุกอย่าง แต่น้องอาจเป็นเด็กประเภทไม่เรียบร้อยว่าง่ายเหมือนพี่ กลายเป็นว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด สั่งให้ทำก็ไม่ทำ เพราะเขาเป็นเด็กสีโทนร้อน

กลุ่มคนสีโทนร้อน เวลาออกอาการก็จะออกแรง แล้วก็จะทำตรงข้ามกับทุกอย่าง ส่วนเด็กกลุ่มสีโทนเย็นจะว่าง่าย เรียบร้อย เมื่อผู้ใหญ่เจอเด็กสองกลุ่มสีนี้ การเปรียบเทียบเป็นคำว่า “เลี้ยงง่าย” และ “เลี้ยงยากจึงเกิดขึ้น”

 

เด็กประเภทที่ 1 “เด็กเลี้ยงง่าย” ขวัญใจพ่อแม่

“อยู่ในกรอบ ไม่หวือหวา ปรับตัวง่าย”

พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากได้เด็กเลี้ยงง่าย คือสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ปรับตัวง่าย อยู่ในกรอบ ไม่เป็นประเด็นปัญหา ไม่เป็นมนุษย์ช่างซักถาม ช่างสงสัย ทุกอย่างดีไปหมดเพราะทำให้คนเลี้ยงเลี้ยงง่าย เด็กเหล่านี้เกรงใจและยอมทำตามเป็นส่วนใหญ่ ไม่อยากคิดแหกนอกกรอบ

และการเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยปละละเลยหรือตามใจเขาอย่างไรก็ได้ พ่อแม่ต้องใช้ศิลปะในการเลี้ยงที่จะเหลาความคิดเขาให้เท่าทันคนและไม่หวั่นไหวไปกับการชักจูงของคนไม่ดี เพราะด้วยความที่เป็นเด็กเลี้ยงง่าย การเชื่อฟังและโอนอ่อนตามคนอื่นได้ง่ายๆ จึงเป็นจุดที่พ่อแม่ควรระวังด้วยเช่นกัน

 

เด็กประเภทที่ 2 “เด็กเลี้ยงยาก” พลังล้นเหลือ

“พลังเยอะ คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ”

เด็กที่เลี้ยงยากเป็นเด็กที่มีพลังเยอะ มีบุคลิกคล่องแคล่ว อยู่ไม่สุข ชอบท้าทายทุกเรื่อง เช่น ช่วงอายุน้อยกว่า 3 เดือนก็มีอาการร้องโคลิก ร้องไม่มีสาเหตุ ต้องอุ่มท่านุ่มนวลในแสงสลัว และจะหายได้เองเมื่ออายุ 3 เดือน เติบโตต่อมาหลัง 6 เดือน ก็ร้องจนสูดลมหายใจแล้วกลั้นหายใจ เรียกว่าหายใจดั้น และต่อมาก็ร้องดิ้นอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ วิ่งไปวิ่งมา พลังงานเยอะมาก

หากพ่อแม่ไม่ยึดติดกับกรอบมาตรฐานเดียวกับเด็กเลี้ยงง่าย รับฟังเสียงลูกมากๆ และมีพื้นที่ให้เขาปลดปล่อยพลังงานสร้างสรรค์ เขาก็จะสามารถเติบโตไปมีอาชีพที่เขารักและถนัด มีความศรัทธาต่ออาชีพของตัวเอง ยิ่งเป็นคนมีพลังเยอะและคิดนอกกรอบด้วยแล้วก็จะยิ่งไปได้ไกล

 

เด็กประเภทที่ 3 “เด็กอ่อนไหวง่าย” อยากได้กำลังใจ

“อารมณ์ศิลปิน โลกส่วนตัวสูง ชอบคำชม”

กรณีที่เด็กอารมณ์อ่อนไหวง่าย เขาจะขี้อ้อนและต้องการกำลังใจเยอะๆ จะเป็นเด็กที่เก็บทุกเม็ดทุกรายละเอียด สนใจคำชื่นชม อยากได้กำลังใจ และมีอารมณ์แกว่งขึ้นลงเร็วมาก หรืออาจหงุดหงิดง่าย เรียกว่า “มีอารมณ์แบบศิลปิน” นั่นเอง

เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีอุปนิสัยคล้ายจะเศร้าหรือเครียดได้ง่ายก็จริง แต่ถ้าพ่อแม่สามารถเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถแสดงออกถึงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม และใช้ความถนัดทางอารมณ์ไปในทางที่สร้างสรรค์ สุดท้ายเขาอาจเป็นศิลปินที่สร้างผลงานละเอียดอ่อนและอลังการได้ หรือหากต้องการฝึกฝนให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองหรือสร้างความเชื่อมั่น ก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป และให้กำลังใจเยอะๆ แล้วเขาจะทำได้เอง

 

เด็กประเภทที่ 4 “เด็กผสมผสาน” เปลี่ยนสไตล์ทุกวัน

“เป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น มีส่วนผสมของเด็กทั้ง 3 แบบ”

เด็กผสมผสาน คือเด็กที่มีลักษณะพื้นฐานอารมณ์ทั้งของเด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก และเด็กอ่อนไหวง่าย ผสมผสานกันไป บางวันต้องการคำอธิบายมากมายเหลือเกิน บางวันแสดงอารมณ์อ่อนไหวกว่าปกติ บางวันก็ว่าง่ายจนน่าตกใจ เป็นทุกอย่างให้พ่อแม่แล้ว แต่ไม่ได้ผสมมาพร้อมๆ กัน แต่เขาจะสุ่มไปตามวัน แต่ละวันจะไม่เหมือนกัน

การเลี้ยงเด็กผสมผสานก็ไม่มีอะไรมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเด็กเลี้ยงยาก เด็กเลี้ยงง่าย และเด็กอ่อนไหวง่าย ตามพื้นฐานอารมณ์ที่เขาเป็นในวันนั้นๆ ได้เลย

 

ข้อมูลจากหนังสือ เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด

เขียนโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ

แนะนำหนังสือเลี้ยงลูก คู่มือพ่อแม่สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น

60 นิทานแนะนำ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย

จะเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังต้องทำยังไง ? : วิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำตามได้ทันที

นิทานคำกลอน ชุดพ่อมดน้อย เพิ่มความสนุกในการอ่านสำหรับเด็กอายุ 4-6 ขวบ

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กเล็กสำคัญอย่างไร

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า