ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อย สมองมักมีปัญหาแยกช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนไม่ได้ นาฬิกาชีวิตจึงรวนทำให้ร่างกายไม่หลั่งเมลาโทนิน (ฮอร์โมนแห่งการนอน) และฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับซ่อมแซมร่างกายออกมา หรืออาจหลั่งฮอร์โมนออกมาผิดเวลา อย่างที่เราเรียกว่า อาการ เจ็ตแล็ก (jet lag) นั่นเอง อาการเจ็ตแล็ก เมื่อเกิดอาการ เจ็ตแล็ก จะรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย การนอนหลับผิดปกติ นอนไม่หลับ ความสามารถในการทำงานลดลง ความรุนแรงของอาการนี้แปรผันตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนโซนเวลาที่ต้องบินผ่าน ทิศทางของการบิน โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งวันเพื่อปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่เปลี่ยนไปหนึ่งชั่วโมง แต่หากเดินทางไปทางทิศตะวันตกจะมีอาการน้อยกว่าเดินทางไปทางทิศตะวันออก ส่วนการเดินทางจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ไม่มีผลต่อการเกิดอาการเจ็ตแล็ก การเดินทางไปทิศตะวันตก เวลาช้ากว่าเวลาที่เราอยู่ในปัจจุบันทำให้เมื่อถึงที่หมายใหม่จะรู้สึกง่วงนอนเร็วกว่าปกติ คือ ง่วงนอนตั้งแต่ช่วงบ่ายไปถึงช่วงเย็นและตื่นนอนเร็วกว่าเวลาปกติ ดังนั้นการรับแสงแดดในช่วงเย็นจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น และปรับเวลาให้สมองสั่งให้รู้สึกง่วงนอนช้าลง ช่วยให้เข้านอนในที่หมายใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการเดินทางไปทิศตะวันออก เวลาเร็วกว่าเวลาที่เราอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เมื่อถึงเวลาเข้านอนในที่หมายใหม่ เราจึงยังไม่รู้สึกง่วงเลยนอนดึกกว่าปกติ (เมื่อเทียบกับเวลาในที่หมายใหม่) และตื่นสายหรือตื่นนอนยากในตอนเช้า ทั้งนี้การออกไปรับแสงแดดช่วงเช้าในวันต่อมาจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น และปรับเวลาให้สมองสั่งให้รู้สึกง่วงนอนเร็วขึ้น วิธีลดอาการ เจ็ตแล็ก ก่อนการเดินทาง หากเตรียมตัวดี มีเวลาฝึกปรับเวลานอนก่อนเดินทาง ช่วยลดอาการเจ็ตแล็กได้ การเดินทางไปทิศตะวันตก ควรปรับเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ช้าลงประมาณวันละ 1 ชั่วโมง […]