การจัดการความเครียดในที่ทำงาน : โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ความเครียดในที่ทำงานคือปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ หาก การจัดการความเครียด ในที่ทำงานของเราไม่มีประสิทธิภาพ ชีวิตคงไม่เป็นสุขแน่ แต่หาก การจัดการความเครียด ของเรามีประสิทธิภาพ ชีวิตการทำงานย่อมราบรื่น ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานก็จะดีขึ้น และชีวิตในมิติอื่นๆ ก็จะเป็นสุขขึ้น วันนี้คุณหมอประเสริฐจะมาแนะนำวิธี การจัดการความเครียด ในที่ทำงานที่ทำได้จริง และไม่ยากให้ทุกคนได้ทำตาม

 

ไปออกกำลังกาย

 

นี่คือการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด ได้ผลที่สุด และลงทุนน้อยที่สุด แต่เราไม่ค่อยทำกันเมื่อรู้ตัวว่าเครียด

อย่างแรกที่ควรทำคือ “ไปออกกำลังกาย”

ถ้ารอได้ก็อย่าเพิ่งเดินเข้าหาปัญหาหรือพยายามแก้ปัญหาในขณะที่ตนเองกำลังเครียด เพราะมักจะทำให้เรื่องราวยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนขั้นที่หนึ่ง หรือจะเรียกว่าขั้นที่ศูนย์คือ “หยุดตัวเองให้ได้” อย่าคิด อย่าพูด อย่าทำ แล้วถอนตัวจากสถานการณ์ไปคลายเครียด

 

ถอนตัวออกจากสถานการณ์ชั่วคราว

 

การจัดการความเครียด ในที่ทำงานอีกวิธีหนึ่ง คือการถอนตัวออกจากสถานการณ์ชั่วคราว แล้วยืนมองสถานการณ์จากระยะไกล เป็นเทคนิคการจัดการความเครียดง่าย ๆ ที่คนส่วนใหญ่มักลืมทำ ชอบคลุกกับปัญหาจนตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ของตัวปัญหาด้วยซ้ำ

การถอยออกมาจากสถานการณ์ จะมีปรากฏการณ์สองอย่างเกิดขึ้นทันที คือ หนึ่ง เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกองปัญหาอีกต่อไปแล้ว และ สอง คือ ระหว่างนั้นอาจจะมีใครมาขโมยก้อนปัญหานั้นไปเสีย หรือแม้กระทั่งแก้ไขปัญหาไปเสียแล้วก็ได้

พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราถอนตัวออกมาจากกองปัญหาชั่วคราว โลกก็จะเปลี่ยนไป

 

พูดคุยเพื่อความชัดเจน

 

ความเครียดเรื่องหนึ่งที่เกิดในที่ทำงานคือ หัวหน้าไม่ชัดเจน จนเราไม่รู้ว่าควรปรับปรุงตัวเองเรื่องใด สิ่งที่ทุกคนควรทำคือ เดินไปหาเจ้านายและขอเวลาทำความเข้าใจว่าเราบกพร่องตรงไหน และต้องการให้แก้ไขตรงไหน การทำเช่นนี้ได้แปลว่าเราต้องยอมรับผิดว่าเราไม่ได้เรื่องจริง ๆ ในตอนแรก อย่างน้อยก็ไม่ได้เรื่องในสายตาของเขา

เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองเสียหายตรงไหน เช่น ทำงานไม่ครบถ้วน ทำงานไม่ละเอียด ทำงานไม่ลงลึก หลงลืมนั่นนี่บ่อยครั้ง ไม่ได้เรื่องมากมายก่ายกอง เรื่องก็จะกลับมาที่ตัวเราเองว่าต้องการปรับปรุงตัวเอง หรือต้องการอยู่เป็นกาฝากในองค์กรไปวัน ๆ แล้วมาบ่นเครียด

 

อย่าใส่ใจคำนินทา

 

ความเครียดในที่ทำงานที่เกิดจากการใส่ใจคำซุบซิบนินทาเป็นความเครียดที่ขาดทุน ขอให้ระลึกเสมอว่า แม้ศาสดาก็ยังมีมารผจญ เราเป็นใครเหตุใดจะไม่มี

แต่เรื่องสำคัญกว่าคือ เราไม่ควรทำเช่นนี้กับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ลูกหลานเจ็บป่วย ครอบครัวใกล้แตกแยก ถ้าพบเพื่อนร่วมงานกำลังลำบากเพราะเผชิญสถานการณ์เหล่านี้ ควรฝึกปิดปากให้เงียบ ไม่ผสมโรงซุบซิบนินทาไปกับเขา ไม่กล่าววาจาปรารถนาดีประสงค์ร้าย

ถ้ารู้สึกเครียดให้นั่งลงทบทวนตนเองให้ดีว่า ความเครียดที่เรามีเกี่ยวอะไรกับเป้าหมายของงานหรือเปล่า ถ้าใช่ก็แก้ไขเสีย ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ควรสนใจ

 

ไม่ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ

การจัดการความเครียด

 

ความเครียดในที่ทำงานที่ต้องการการจัดการคือ บางครั้งอุดมการณ์ในการทำงานกับการหาเลี้ยงครอบครัวก็ไม่ค่อยไปด้วยกัน ในเรื่องนี้ ถ้าเป้าหมายคือทำงานตามอุดมการณ์และต้องการเงินเดือนเลี้ยงครอบครัวด้วย เช่นนี้ก็ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างงาน เงิน และความเครียดให้ดี ซึ่งมักทำได้ยาก แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีหนทาง

ที่จริงแล้วการทำงานให้ดีมีหลักการง่ายๆ เพียงสองข้อ คือ ทำสิ่งที่ต้องทำและอย่าทุจริต

ความหมายคือ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำและอย่าโกง เพียงเท่านี้ก็จะได้ผลงานที่ดีเป็นเกราะคุ้มภัย

คำว่า “ไม่ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ” มิได้แปลว่าไม่ทำอะไรเลย แต่หมายความว่า

ถ้าถูกบังคับให้ทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ ก็ต้องทำเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว โดยไม่ลงทุนแรงและเวลามากเกินไป ควรเก็บแรงและเวลาไว้ทำงานตามอุดมการณ์ที่มีประโยชน์มากกว่า

“อุดมการณ์” ในที่นี้มิได้หมายถึงอุดมการณ์เพื่อสังคม แต่หมายถึงอุดมการณ์ขององค์กร อย่ากังวลว่าเราไม่ให้เวลากับงานไร้สาระมากเกินไปแล้วจะถูกตำหนิ เพราะในความเป็นจริงแล้วงานไร้สาระนั้นไม่มีสาระให้ประเมินผลตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว การทำงานให้เสร็จเร็วจึงทำได้ไม่ยาก

 

นั่งดู และรอให้มันสลายไปเอง

 

การจัดการความเครียดวิธีนี้ใช้ได้กับความเครียดประเภทที่เราไม่ควรเข้าไปทำอะไร เพราะยิ่งเข้าไปยุ่ง เรื่องก็จะยิ่งยุ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องใช้ความสามารถที่เรียกว่า “อดทน”

แน่นอนว่าเรื่องยากคือ เราไม่ค่อยจะรู้ว่า เรื่องไหนควรยุ่ง เรื่องไหนไม่ควรยุ่ง เรื่องที่ไม่ควรยุ่ง หากเราเข้าไปยุ่ง สถานการณ์มักเลวร้ายกว่าเดิม

เรื่องที่ควรยุ่ง ควรจัดการ ควรแก้ไข ถ้าเราเอาแต่นั่งดู นอกจากก้อนความเครียดจะไม่สลายไปเองแล้ว มันยังก่อความเสียหายได้เรื่อย ๆ แถมเปลี่ยนรูปร่างหรือซ่อนรูปให้ซับซ้อนได้อีก ดังนั้นประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าอะไรควรยุ่ง อะไรไม่ควรยุ่ง

แม้ว่าจะนั่งดู แต่มิใช่ให้นั่งเหม่อลอย สมองยังคงต้องตามติดคิดวิเคราะห์อยู่เสมอ ว่าถึงเวลาจัดการหรือยัง และจะเข้าไปจัดการอย่างไร

 

ศึกษาวิธีบำบัดเครียด จากผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มเติมได้จากหนังสือ บำบัดเครียด

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สำนักพิมพ์ Amarin Health

สั่งซื้อ คลิก

 

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า