ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน ดัดแปลงยาที่กินให้เป็นสารที่เอื้อต่อการรักษาโรค ฯลฯ แต่เรารู้จักตับน้อยมากจึงไม่ได้ดูแล จนเกิดโรคตับที่อันตรายโรคหนึ่งคือ ‘ไวรัสตับอักเสบ’ เรามารู้จักกับไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ว่าแต่ละชนิดมีสาเหตุจากอะไร ต่างกันอย่างไร อาการของไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ เป็นอย่างไร และเราจะป้องกันการติดเชื่อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร
การติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดทั้งโรคตับอักเสบ ตับแข็ง และลุกลามไปเป็นมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ติดต่อได้ทางปาก คือ ไวรัสตับอักเสบเอและอี และกลุ่มที่ติดต่อได้ทางเลือดและสารคัดหลั่ง คือ ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี
กลุ่ม ‘ไวรัสตับเอกเสบ’ เอและอี
ไวรัสตับอักเสบกลุ่มนี้แพร่เชื้อทางอุจจาระ และติดต่อจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อจากการปนเปื้อนของอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขอนามัย เช่น แม่ครัวป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบเอ และเข้าห้องน้ำแล้วล้างมือไม่สะอาด เมื่อมาทำอาหารเชื้อไวรัสตับอักเสบเอก็อาจปนเปื้อนมาได้ นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อได้จากการใช้ปุ๋ยคอกมูลคนที่นำมารดพืชผักได้เช่นกัน
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อจะผ่านกระเพาะไปยังลำไส้และกระจายเข้าสู่ตับ หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์จะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มีไข้ต่ำๆ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น ในประเทศไทยไวรัสตับอักเสบเอไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ส่วนใหญ่มักระบาดในแหล่งที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นและมีสุขอนามัยไม่ดี
ไวรัสตับอักเสบเอ
อาการ เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน เป็นแล้วมักหายขาดรวมทั้งมีภูมิคุ้มกันขึ้นโดยอัตโนมัติจึงไม่เป็นซ้ำอีก
การแพร่ระบาด ในปัจจุบันจากระบบสาธารณสุขดีขึ้น ทำให้พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอน้อยลง
การป้องกัน มีวัคซีนป้องกัน
ข้อควรระวัง หากเป็นในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ตับไม่ค่อยดีอยู่แล้ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านที่ยังไม่ติดเชื้อหรือไม่มีภูมิต้านทานควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน
ไวรัสตับอักเสบอี
ลักษณะ มีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 สายพันธุ์ที่มักทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง คือสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ที่ 3
การติดต่อ มีลักษณะเหมือนกับไวรัสตับอักเสบเอ คือ การรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ไม่ถูกสุขอนามัย มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส การติดต่ออีกทางหนึ่งคือ จากการรับประทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู วัว ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอีแฝงอยู่ หากรับประทานเนื้อสัตว์แบบสุกๆ ดิบๆ ก็มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบอีเข้าไปด้วย
ข้อควรระวัง จากการสุ่มตรวจเนื้อหมูและเครื่องในหมูในซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีไวรัสตับอักเสบอีประมาณร้อยละ 1
กลุ่ม ‘ไวรัสตับอักเสบ’ บี ซี และดี
ไวรัสตับอักเสบบีและซี
เป็นไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก เพราะเป็นต้นเหตุของโรคเกี่ยวกับตับหลายโรค ทั้งตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ติดต่อได้โดยการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ อสุจิ เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้ทั้งจากแม่สู่ลูก (ช่วงท้อง) ทางเพศสัมพันธ์ จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ฯลฯ ไวรัสชนิดนี้มีทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง หากเป็นไวรัสตับอักเสบบีชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักติดเชื้อในตอนโตหรือวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยมักปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียอย่างมาก เหนื่อยง่าย มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการจุกแน่นบริเวณซี่โครงด้านขวา และจะเริ่มสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติ ตัวเหลือง และตาเหลือง ควรรีบพบแพทย์ แนวทางการรักษาจะเป็นการประคับประคองตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา แพทย์จึงเพียงเฝ้าดูและรักษาตามอาการ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นตับวาย เซลล์ตับเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง จะต้องใช้การรักษามาตรการสุดท้าย คือการปลูกถ่ายตับหรือการเปลี่ยนตับใหม่
ส่วน ไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 3 ระยะสำคัญ คือ ระยะที่มีเชื้อมากแต่ไม่มีอาการ ระยะการอักเสบ ระยะนี้ภูมิต้านทานจะเริ่มตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในตับจึงพยายามเข้าทำลาย แต่การอักเสบลักษณะนี้มักไม่มีอาการใดๆ และระยะสงบเชื้อน้อย ผู้ป่วยที่ตับอักเสบไม่มาก เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ตับจะมีลักษณะเกือบปกติทุกประการ แต่หากผ่านการอักเสบมานาน แม้ว่าผลการทำงานของตับยังเป็นปกติ แต่ตับก็เสียหายไปมากแล้ว
หากผู้ป่วยทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนเพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือไม่
ส่วนการรักษาไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง แพทย์จะประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใด เพื่อจะได้ทราบว่าควรรักษาหรือเฝ้าดูอาการ
ไวรัสตับอักเสบซี มี 6 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 สายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลกคือสายพันธุ์ที่ 1 ส่วนสายพันธุ์ที่รักษาได้ยากที่สุดในปัจจุบันคือสายพันธุ์ที่ 3 ติดต่อได้หลายช่องทางทั้งจากการรับเลือดที่ไม่มีประวัติคัดกรอง จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จากแม่สู่ลูก ทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ไวรัสชนิดนี้ส่วนมากมักเป็นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะทราบว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็ต่อเมื่อบังเอิญตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบเชื้อ หรือร่างกายเริ่มแสดงอาการแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง อาเจียนเป็นเลือด ท้องมาน หรือเป็นมะเร็งตับแล้ว หากมีข้อสงสัยควรพบแพทย์ทันที
[su_quote]แม้ไวรัสตับอักเสบซีจะยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่มียารักษาให้หายขาดแล้ว [/su_quote]
ไวรัสตับอักเสบดี
ไวรัสตับอักเสบชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย เนื่องจากเป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ไวรัสพิการ” ต้องอาศัยเปลือกของไวรัสตับอักเสบบีห่อหุ้มจึงจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ารักษาไวรัสตับอักเสบบีหาย ไวรัสตับอักเสบดีก็จะหมดไป
ปัจจุบันมีแนวทางการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบีที่ได้ผลมาก คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนไวรัสชนิดอื่นๆ ต้องอยู่ที่การควบคุมพฤติกรรมไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย ดื่มน้ำที่สะอาด การไม่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ไม่ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
รู้จักตับ โรคเกี่ยวกับตับ พร้อมวิธีป้องกันและรักษาได้จากหนังสือ
เมื่อตับประท้วง ร่างกายก็พ่ายแพ้
เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ รศ.นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
Pingback: ท่าบริหารร่างกายสำหรับคนที่มีอาการ ข้อเข่าเสื่อม : แนะนำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
Pingback: 5 สูตร วิตามินบำรุงสายตา จากน้ำผักผลไม้ เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี
Pingback: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ อาหารเพื่อสุขภาพ :กินแล้วผอมจริงหรือ
Pingback: ทำไม ออกกำลังกายลดน้ำหนัก แล้วยังไม่ผอม :ความเข้าใจผิดเรื่องการลดน้ำหนัก
Pingback: โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ : กฎเหล็กเพื่อป้องกันโรคที่ทุกคนต้องรู้
Pingback: วิธีป้องกันและควบคุม NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน