เชื่อว่ามนุษย์วัยทำงานล้วนมี ความเครียดจากการทำงาน กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือเป็นนายตัวเอง ความเครียดเกิดจากปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวัน ทั้งโดนเจ้านายดุ ยอดไม่เข้าเป้า ทำงานไม่ทัน งานเยอะท่วมหัว ฯลฯ
ก่อนที่เราจะไปแก้ปัญหานั้น ควรลดความเครียดลงเสียหน่อย เพราะความเครียดจะทำให้เรารู้สึกกังวล กดดัน จนคิดหาทางไม่ออก ปรับสภาพจิตใจให้คงที่ด้วยการคิดบวกก่อนแล้วค่อยเดินหน้าลุยปัญหาอีกครั้ง
ลองมาดูกันว่า ความเครียดจากการทำงาน สามารถแก้ไขด้วยการคิดบวกได้อย่างไร
ความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้
การทำอะไรสักอย่างพลาดถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง การลองแล้วพลาดทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการรับมือจากปัญหาต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ถ้ามัวแต่เครียด กังวล ไม่กล้าทำเพราะกลัวพลาดก็จะกลายเป็นว่าเราไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีรับมือกับอะไรเลย
ตัวอย่างเช่น คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ นั้นคงเต็มไปด้วยความเครียด ความกังวลเป็นอย่างยิ่ง กังวลว่าจะทำงานนี้ไม่สำเร็จ เครียดถ้าทำงานพลาดไปแล้วเกิดผลกระทบกับบริษัท ถ้ามัวแต่รีรออยู่แบบนั้นคงไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าได้ ถ้าไม่เริ่มสักก้าวหนึ่ง แล้วเรียนรู้การผิดพลาด ชีวิตนี้ก็ไม่มีทางเรียนรู้การทำงานได้เลย
ใช้ความเครียดเพิ่มสีสันในชีวิต
ลักษณะของความเครียดนั้นจะเปลี่ยนไปตามทักษะและประสบการณ์การทำงาน วิธีที่จะชนะความเครียดได้มีแต่การเผชิญหน้าเท่านั้น แม้จะเครียดมากแค่ไหนก็ต้องพยายามทำอะไรเพื่อขจัดความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างเช่น ซีเนียร์ในบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้เดินอยู่บนเส้นทางการทำงานที่ราบรื่นสวยหรูนัก แม้จะเก่ง มีความสามารถ และประสบความสำเร็จมาระยะหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ ก็มีความเครียดจากการได้เห็นเด็กจบใหม่ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแบบยุคใหม่ เขากลัว กลัวที่สักวันหนึ่งจะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง
ในเวลานั้นเขาคิดที่จะเอาชนะความเครียดของตัวเองให้ได้ ด้วยการลงเรียนเพิ่มเติม หาเทคนิคใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเขาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าฝ่าย
ทำสิ่งที่ทำไม่ได้ในอดีต ให้สำเร็จในวันนี้
การเปรียบเทียบบางอย่างก็ทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน เรามักจะมองคนอื่นๆ ว่าทำไมเขาถึงขายดีกว่าเรา ทำไมเขาถึงได้เลื่อนตำแหน่งไว ทั้งที่เราทำงานมาก่อน มีแต่คำว่าทำไมเต็มไปหมด จริงๆ การเปรียบเทียบมีทั้งข้อดีข้อเสีย จะทำให้เรามีแรงผลักดัน หรืออาจทำให้เราท้อถอยถอดใจได้
ไหนๆ ถ้าคิดอยากจะเปรียบเทียบแล้ว ลองเปรียบเทียบกับตัวเองดูดีกว่า หากเปรียบเทียบตัวเองในอดีตและตัวเองในตอนนี้แล้วรู้สึกว่า “ชอบตัวเองที่เป็นอยู่ในตอนนี้มากกว่าตัวเองเมื่อก่อน” ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเลยทีเดียว
ระดับความสุขในชีวิตจะเปลี่ยนไปตามระดับความสามารถในการพัฒนาในชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถแต่งเติมเรื่องราวในชีวิตของเราได้ แทนที่จะมัวเครียดว่า ทำไมคนนี้ทำได้แล้วเราทำไม่ได้ เป็น “ถ้าเทียบกับตัวเองเมื่อสามปีก่อน ฉันสามารถทำงานพัฒนาขึ้นเยอะเลย” จะเป็นผลดีต่อเรามากขึ้นเยอะ
ปล่อยวางเสียบ้าง
การคาดหวังบางสิ่งบางอย่างส่งผลต่อความเครียดเป็นอย่างมาก ลองเปรียบเทียบระหว่าง A กับ B ดู
A กับ B ได้รับมอบหมายงานชิ้นเดียวกัน ด้วยการทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ และมีคนซื้อผลิตภัณฑ์ได้มากที่สุด
A รู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ แม้จะมีคนสนใจไม่เยอะตามที่หวัง แต่ยอดสั่งซื้อก็มีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ไม่มีคนมาสั่งผลิตภัณฑ์ทีละจำนวนมาก แต่ก็ยังขายของอยู่ได้เรื่อยๆ
B รู้สึกผิดหวังกับการทำงานของตัวเอง เพราะยอดไม่ถึงเป้า คนสนใจไม่เยอะ ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง จนมองข้ามยอดขายที่ค่อยๆ ไหลเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ถ้าลองมองตัวเองดู คุณรู้สึกว่าตัวเองเหมือนกับ A หรือ B
A สามารถมีความสุขได้ในปัจจุบันโดยไม่ยึดติดกับเป้าหมายที่ทำได้ไม่เต็ม 100% แต่ก็ไม่ถือว่าล้มเหลวเสียทีเดียว เขาสามารถมองเห็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้มีความสุข ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนที่สนุกได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน จะทำให้คนอื่นมีความสุขไปด้วยได้
B ไม่สามารถรับรู้ถึงแง่ดีที่มีอยู่ เพราะเอาแต่เครียดได้ทุกสถานการณ์ การบ่น การทำหน้าบึ้งตึงมีผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย เพราะทำให้คนอื่นๆ รู้สึกอึดอัดไปด้วยได้
คนที่มีความสุขในปัจจุบัน รู้จักแก้ปัญหาความเครียดได้ถูกจุด และสามารถเดินหน้าทำงานต่อได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น
ยอมรับตัวเองในปัจจุบัน
บางครั้งความเครียดก็ต้องได้รับการยอมรับจากตัวเอง คือการคิดว่าตัวเราในตอนนี้ก็โอเค ปล่อยวาง และไม่ปล่อยให้มาตรฐานที่เราคาดหวังสูงเกินไปมาชักนำชีวิต
สมมติว่าคุณกำลังเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ มาตรฐานที่หวังไว้คือการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วลื่นไหล ไร้ที่ติ แต่ในความเป็นจริงกลับพูดได้แค่งูๆ ปลาๆ เท่านั้น
ในจุดนี้ถ้าเราเครียดจนรู้สึกไม่ชอบตัวเองที่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง มีความเป็นไปได้ที่จะล้มเลิกกลางคัน หากยอมรับว่าตัวเราทำได้เท่านี้ เราจะรู้สึกสนุกที่ได้สื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดเป็นภาษาอังกฤษได้ แม้จะยังไม่คล่องมากนัก จุดนี้นี่เองจะจุดเริ่มต้นที่ดีในการเก่งภาษา
ความเครียดเกิดขึ้นที่ตัวเรา เราสามารถเลือกได้ว่าจะกำจัดความเครียดอย่างไร แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร หรือเลือกที่จะใช้มุมมองแบบใหม่ คิดบวกเพื่อเยียวยาจิตใจให้ต่อสู้กับปัญหาได้อีกครั้ง
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ
5 พฤติกรรมห้ามทำที่ทุกคนต้องรู้ เพื่อเสริมสร้างให้สมองแข็งแรง
การบริหารสมองให้สดชื่น ฉับไว ด้วย 4 ท่าทางง่ายๆ ช่วยแก้สมองล้า
เทคนิคบริหารสมอง เพื่อป้องกันอาการขี้ลืม
ความเครียดและ วิธีผ่อนคลายความเครียด ทางร่างกาย
การจัดการความเครียดในที่ทำงาน : โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Pingback: ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็หาวิธีอยู่กับมันซะ!
ถ้าอยู่แล้วเครียดมาก ๆ ก็ต้องหาทางออกไปที่ใหม่ ที่อาจจะดีขึ้น หรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยก็ออกจากสภาพเดิม ๆที่ไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะคนที่กดดันเราไม่ยอมลดภาวะกดดันเราลงได้ เราก็ต้องปรับตัวปรับใจหาที่ใหม่