ปัญหาใหญ่ของมนุษย์เงินเดือนหลายคนคือ “เก็บเงินไม่อยู่” เพราะส่วนใหญ่จะเข้าสูตร “รายรับ-รายจ่าย=เงินออม” แต่ถ้าใช้ วิธีเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน เราแค่ปรับสูตรให้เป็น “รายรับ-เงินออม=รายจ่าย” เพียงแค่นี้เราก็จะมีเงินออม และต่อยอดไปสู่การลงทุนเพื่อให้เงินทำงานแทนได้ในอนาคต
ลงทุนศาสตร์ ขอแนะนำ “6 วิธีเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน” ที่จะทำให้เงินของคุณโตวันโตคืนแบบไม่เครียดกับการออมเงินในภาวะเศรษฐกิจขาลง!
ประกันสังคม
เป็นเงินที่ลูกจ้างถูกหักจากเงินเดือน 5% และนายจ้างสมทบให้อีก 5% โดยใช้ฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท หรือหักเงินสูงสุดที่ 750 บาท ต่อเดือน หลายคนมองว่าเงินก้อนนี้ จ่ายเสียเปล่า
แต่รู้ไหมว่า… เมื่อเราเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างตกงาน ถูกเลิกจ้าง เราสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับค่าทดแทนได้ถึง 3 เดือน แบ่งเบาไปได้เยอะ รวมถึงหากเจ็บป่วยหนักๆ ก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียว
มองไกลกว่านั้น เงินประกันสังคมจะเป็นเงินบำเหน็จ บำนาญให้กับเราในอนาคต เมื่อเกษียณที่อายุ 55 ปี ได้อีกด้วย ประกันสังคมจึงเป็นนัมเบอร์วันในการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนอย่างแท้จริง
กองทุนสำรอเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินหักภาคสมัครใจของพนักงานเอกชน ซึ่งจะหักจากเงินเดือนในอัตรา 2-15% ตามนโนยายของแต่ละบริษัท ความเริดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เราหักกี่เปอร์เซ็นต์ บริษัทก็ต้องหักสมทบเท่ากับพนักงาน เท่ากับมีเงินคูณสองเลยก็ว่าได้ แถมยังได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานของกองทุนรวมไปอีกด้วย เป้าหมายของเงินก้อนนี้จึงเน้นการออมเพื่อการเกษียณอายุเป็นหลัก
ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นกองทุนที่ก่อตั้งเพื่อสนับสนุนการออมของข้าราชการ เพื่อสะสมไว้ใช้ตอนเกษียณเช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้ว่าข้าราชการจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว โดยสมาชิกจะออมเงิน 3% ของเงินเดือน รัฐสมทบอีก 3% และสมาชิกสมัครใจสะสมเพิ่มได้ในอัตรา 1-12% ของเงินเดือน ดีมากจริงๆ
ประกันชีวิต
เดี๋ยวนี้ประกันชีวิตไม่ได้คุ้มครองชีวิตอย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีประกันชีวิตรูปแบบบำนาญ และสะสมทรัพย์ให้เลือกซื้อตามความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง คนที่ซื้อประกัน 2 แบบนี้ส่วนใหญ่มักบอกว่า “เป็นคนทำงานที่เก็บเงินไม่อยู่” ทำให้ต้องมีการบังคับเล็กๆ เพื่อสร้างวินัยการออมเงิน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เยี่ยมมาก
ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันที่คล้ายการออมเงินไปจนถึงช่วงเวลาเกษียณและหลังจากเกษียณ เราจะได้รับเงินบำนาญคืนจนถึงเวลาที่กำหนดไว้ แต่เบี้ยประกันค่อนข้างแพง เหมาะสำหรับสร้างรายได้ เป็นหลักประกันหลังการเกษียณ โดยมีจุดเด่นคือ จะได้เงินจากประกันชีวิตแน่นอนตามกรมธรรม์ ไม่ผันผวน ซึ่งแตกต่างจากการนำเงินไปลงทุนเองที่เสี่ยงกว่า
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันที่เน้นการออมทรัพย์โดยจ่ายเบี้ยในช่วงเวลาที่กำหนด และได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น 9/15 หมายถึง จ่ายเบี้ยประกัน 5 ปี ได้รับความคุ้มครอง 15 ปี เมื่อครบปีที่ 15 ก็จะได้รับเงินคืนพร้อมผลตอบแทน ซึ่งจุดเด่นของประกันชีวิตที่มีมากกว่าการออมทรัพย์แบบฝากเงินธนาคารคือ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คุ้ม 2 เด้งขนาดนี้ มนุษย์เงินเดือนไม่ควรพลาด!
เงินฝาก
เป็นเงินออมกับธนาคาร ทุนไม่หาย แถมได้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารกำหนด แต่อย่างที่เรารู้กันว่า ช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยเงินฝากขาลง ใครหวังดอกเบี้ยเงินฝากคงต้องคิดใหม่ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ที่ยังต้องการความคล่องตัวในการเบิกถอนเงิน และเริ่มออมเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อรอให้เงินก้อนใหญ่ขึ้น เงินฝากก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรมองไว้
เงินฝากหลักๆ มี 4 ประเภท
เงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา เป็นเงินฝากที่ไม่มีข้อกำหนดเบิกถอน และทำบัตรเอทีเอ็มได้ มนุษย์เงินเดือนมีกันทุกคนเพราะต้องใช้รับเงินเดือน เป็นเงินฝากที่ไม่เหมาะจะเก็บเงินมากๆ เพราะดอกเบี้ยน้อยมากจนถึงศูนย์
เงินฝากประจำ เป็นเงินฝากที่กำหนดเวลาเบิกถอนชัดเจน เช่น 3 เดือน 6 เดือน ข้อดีคือได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แต่แลกมาด้วยการสูญเสียสภาพคล่อง เพราะหากเบิกถอนก่อนกำหนดก็จะไม่ได้ดอกเบี้ย
เงินฝากไม่ประจำ เป็นเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนฝากประจำ แต่เบิกถอนได้บ่อยกว่าตามเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด เป็นบัญชีแนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนเลยก็ว่าได้
เงินฝากปลอดภาษีดอกเบี้ยสูง เป็นเงินฝากที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออมเงิน ซึ่งได้ดอกเบี้ยสูงแต่ต้องทยอยสะสมต่อเนื่องอย่างน้อย 24 เดือน ในบรรดาเงินฝากทุกประเภท เงินฝากประเภทนี้ได้ดอกเบี้ยสูงที่สุด
สลากออมทรัพย์
สลากออมทรัพย์เป็นนโยบายสนับสนุนการออมโดยรัฐบาล ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย และออกโดยธนาคารของรัฐเท่านั้น ปัจจุบันสลากออมทรัพย์ที่นิยมมีหลายธนาคาร ได้แก่ สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. และสลาก ธอส. โดยจะเรียกชื่อสลากตามชื่อธนาคาร เช่น สลากออมสินออกโดยธนาคารออมสิน
วิธีซื้อสลากออมสินนั้นง่ายมาก เหมือนเปิดบัญชีธนาคารทั่วไป ครั้งแรกต้องไปซื้อและเปิดบัญชีที่จะรับเงินรางวัลที่สาขาของธนาคารก่อน หลังจากนั้นก็ซื้อออนไลน์ได้ (บางธนาคาร) รางวัลจะออกทุกวันที่ 16 ของเดือน ก็ลุ้นกันได้สนุกๆ
ปกติแล้วผลตอบแทนของสลากออมทรัพย์จะน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำเล็กน้อย หากเราซื้อสลากออมทรัพย์มากถึงระดับหนึ่งจะสามารถการันตีผลตอบแทนได้ โดยทั่วไปประมาณ 500,000 บาท เพราะจะเหมือนเราซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 00-99 ซึ่งการันตีผลตอบแทนเลขท้ายแน่นอน
สลากออมทรัพย์แต่ละธนาคารมีจุดเด่นแตกต่างกัน แนะนำให้เปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานก่อนว่าชอบธนาคารไหนที่สุด และควรซื้อช่วงที่เปิดตัวสลากรุ่นใหม่ เพราะโดยทั่วไปประมาณ 3 เดือนแรก จะมีการแจกของรางวัลพิเศษเพิ่ม เช่น รถยนต์ ทองคำ หรือเงินรางวัลพิเศษ ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มไปด้วย
หลายคนชอบสลากออมทรัพย์มากกว่าเงินฝากประจำ เพราะรู้สึกว่าการลุ้นรางวัลช่วยให้ชีวิตกระชุ่มกระชวย เหมือนมีโอกาสได้เป็นเศรษฐีทุก 30 วัน! แต่ถ้าเบิกถอนก่อน 3 เดือนจะโดนหักเงินต้นเล็กน้อย ส่วนคนที่ชอบสภาพคล่องสูงจึงเลือกเงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูงแทน
กองทุนรวม
กองทุนรวมเป็นการระดมเงินจากคนจำนวนมากเพื่อก่อตั้งกองทุน และจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” มาจัดการซื้อขาย หากมีดอกผลการลงทุนจากสินทรัพย์ที่ตกลงกันไว้ในนโยบายของกองทุนรวม ก็จะแบ่งกำไรตามสัดส่วนของการถือหน่วยลงทุนในกองทุนนั้น
กองทุนรวมจึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มต้นการลงทุน แถมยังเป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการเงินได้อีกด้วย
หากใครสนใจลงทุนในกองทุนรวม ปัจจุบันสามารถสอบถามหรือขอหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง แค่มีเงินเริ่มต้น 500-1,000 บาท ก็ลงทุนได้แล้ว เรียกได้ว่า สะดวกมาก เหมือนเราจ้างผู้บริหารมาทำให้เงินลงทุนของเราเติบโตก็ว่าได้
ข้อดีของกองทุนรวม คือ
1.มีผู้เชี่ยวชาญบริหารให้ เราไม่ต้องใช้ความรู้ด้านการลงทุนมากนัก
2. กำจัดความเสี่ยงได้ดี เพราะกองทุนส่วนใหญ่กระจายความเสี่ยงการลงทุนอยู่แล้ว
3.ช่วยเข้าถึงสินทรัพย์บางประเภทได้ เพราะบางสินทรัพย์ไม่เปิดให้รายย่อยลงทุน
ข้อเสียขอกองทุนรวม คือ
1.มีค่าธรรมเนียมบริหารกองทุน เพราะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแล
2.เราไม่มีอำนาจบริหาร และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้
3.ผลตอบแทนอาจน้อยกว่าลงทุนเอง
วิธีเก็บเงินง่ายๆ แค่นี้ มนุษย์เงินเดือนก็สามารถมั่งคั่ง มีเงินก้อนโตไว้ใช้ในอนาคต ได้สบายๆ แบบไม่เครียด!
ลงทุนศาสตร์ 6 วิธีเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน
Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต
เขียนโดย “ลงทุนศาสตร์” กูรูด้านการเงินที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้าน
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก