กฎ 7 ข้อ ของการนำเงินที่ได้จากสิ่งที่ชอบมาลงทุนซ้ำให้เกิดความมั่งคั่ง

การใช้เงินที่ได้รับจากการทำสิ่งที่ชอบ โดยนำมาลงทุนซ้ำๆ กับตัวเอง ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะยิ่งช่วยให้คุณมีหนทางเพิ่มรายได้มากขึ้น กฎ 7 ข้อ ของการนำเงินที่ได้จากสิ่งที่ชอบมาลงทุนซ้ำให้เกิดความมั่งคั่ง จะมีอะไรบ้าง ถ้าอย่างนั้นเราไปดูหัวข้อแรกของกฎ 7 ข้อ “เลือกซื้อประสบการณ์ดีกว่าสิ่งของ” กันเลยดีกว่า

เลือกซื้อประสบการณ์ดีกว่าสิ่งของ

สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดสำหรับคนที่ต้องการสร้าง “วงจรมิรู้จบ” ให้สำเร็จคือ การใช้เงินไปกับสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่เราถนัด

สมมติว่าคุณเริ่มทำธุรกิจใหม่จากสิ่งที่ชอบ และได้เงินมา 10,000 บาท คุณรู้สึกดีใจกับรายได้พิเศษนี้ จึงนำเงินนั้นไปซื้อนาฬิกาข้อมือที่อยากได้ แต่มันไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณชอบหรือสิ่งที่คุณถนัด เพราะถือเป็นเพียงการซื้อของขวัญให้ตัวเอง

แน่นอนว่า การซื้อของขวัญให้ตัวเองนานๆ ครั้ง ถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่นี่คุณเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่วงจรมิรู้จบ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำในตอนนี้คือ การพยายามสร้างปัจจัยในการทำเงินจากสิ่งที่คุณชอบหรือสิ่งที่คุณถนัด

ด้วยเหตุนี้จึงขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งรีบซื้อของอย่างอื่น แต่ให้ใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ และขัดเกลาทักษะความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่คุณถนัดจะดีกว่า
จากตัวอย่างที่ยกมา ถ้านาฬิกาข้อมือที่คุณซื้อให้ตัวเองเป็นของขวัญ คือสิ่งที่คุณชอบหรือสิ่งที่คุณถนัดละก็ แทนที่จะซื้อนาฬิกาข้อมือเฉยๆ คุณน่าจะลองออกไปพบเจอคนที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจนาฬิกา หรือออกเดินทางไปดูตลาดนาฬิกามือสองของจริงในฝั่งตะวันตก เพราะการใช้เงินแบบนี้ถือเป็นการลงทุนที่ช่วยพิ่มความรู้และประสบการณ์ให้คุณได้ นี่คือแนวคิดพื้นฐานของกฎข้อแรก “เลือกซื้อประสบการณ์ดีกว่าสิ่งของ”

เลือกใช้ของที่มีมูลค่ามากกว่าราคา

มีประโยคดังของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “กฎการลงทุนของบัฟเฟตต์ นักลงทุนอันดับ 1 ของโลกคิดและลงมือทำอย่างไร (ฉบับตีพิมพ์ใหม่)” เขียนโดย เจเน็ต โลว์ ว่า “ราคาคือสิ่งที่คุณจ่ายเมื่อคุณซื้อของบางอย่าง ส่วนมูลค่าคือสิ่งที่คุณจะได้รับเมื่อซื้อมันมา” เพราะเราควรพิจารณาถึงคุณค่าของสิ่งของ ไม่ใช่มองเพียงแค่ราคา จึงจะถือเป็นการจัดการเงินอย่างชาญฉลาด

ไม่ใช่ว่าของยิ่งแพงยิ่งสูงค่า แต่ควรพิจารณาว่าคุณจะได้มูลค่าอันสูงส่งจากมันหรือไม่ ไม่ใช่ว่าต้องซื้อเพราะราคาถูก แต่ควรพิจารณาว่าถ้าเราได้มาแล้ว มันมีคุณค่าอะไรสำหรับเรา

ในแง่ของการลงทุน ถ้าคุณลงทุน 1 แสนบาท แล้วได้มูลค่าตอบแทนกลับมามากกว่านั้น ก็ถือว่าไม่ใช่การใช้จ่ายที่สูญเปล่า แต่ถ้าคุณรู้สึกเสียดายเงิน 1 แสนบาทจึงไม่ยอมใช้มันลงทุนไปกับสิ่งที่สมควร คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าเงิน 1 แสนบาทจะยังไม่ไปไหน แต่คุณจะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเงินก้อนนั้นได้เลย

ประเด็นสำคัญคือ การใช้เงินอย่างถี่ถ้วนให้เหมาะสมกับความเป็นไปได้ และอย่าใช้เงินแม้แต่แดงเดียวไปกับสิ่งของหรือประสบการณ์ที่ไร้มูลค่า

เลือกใช้หนังสือ การลงทุนใหม่ที่เสี่ยงน้อยแต่ได้ผลมาก

“หนังสือ” ถือเป็นสิ่งที่ลงทุนแล้วคุ้มค่า เพราะเราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือเล่มนั้นและนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ มากจนประเมินค่าไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนสิ่งนี้ให้เป็นเงิน ก็อาจจะได้เกินกว่า 1 หมื่นเท่าเป็นอย่างต่ำ เพราะราคาของหนังสือจัดว่าถูกมากหากเทียบกับคุณค่าของเนื้อหาที่อยู่ในนั้น

ถ้าคุณได้พัฒนาและเรียนรู้เกี่ยวกับ “สิ่งที่ชอบ” และ “สิ่งที่ถนัด” อย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยการเลือกหนังสือและอ่านอย่างตั้งใจจนนำไปประยุกต์ใช้จริงแล้ว คุณก็จะสามารถเข้าถึงคุณค่าของมันได้

เราได้ความรู้จากหนังสือ และได้ประสบการณ์จากการนำความรู้นั้นมาใช้ในชีวิตจริง นี่คือทรัพย์สมบัติที่ไม่มีใครสามารถขโมยไปจากคุณได้ และมันก็ไม่อาจจางหายไปจากตัวคุณด้วย เพราะยิ่งคุณอ่านหนังสือและนำความรู้ที่ได้ไปใช้มากเท่าไร คุณก็จะได้รับคุณค่าดีๆ จากมันมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันจะกลายเป็นตัวทำเงินให้คุณได้ตลอดไป

ไม่มีใครสามารถขโมยสิ่งที่อยู่ในสมองหรือท้องของคุณไปได้ เช่นเดียวกับการเลือกใช้เงินไปกับหนังสือ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยปราศจากความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนอย่างยอดเยี่ยมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

เลือกทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง

ถ้าถามว่าเมื่อคนเราหาเงินได้แล้ว เราจะยังต้องการอะไรอีก คำตอบกคือ ความสุขนั่นเอง แล้วทำอย่างไรถึงจะมีความสุขได้ คำตอบทางจิตวิทยาบอกไว้ว่า ความสุขนั้นมาจากการทำเพื่อผู้อื่นนั่นเอง

ผลการทดลองเกี่ยวกับกระบวนการทางสมองบ่งบอกว่า การหักเงินส่วนหนึ่งจากจำนวน 100 ดอลลาร์ในบัญชีไปบริจาคให้แก่คนยากไร้ จะกระตุ้นการทำงานของนิวเคลียสแอกคัมเบนส์และนิวเคลียสในปมประสาทฐานสมอง

แม้แต่การบังคับบริจาคด้วยการหักภาษีเงินในบัญชีก็ยังสามารถกระตุ้นการทำงานของของนิวเคลียสแอกคัมเบนส์ และนิวเคลียสในปมประสาทฐานสมองได้เหมือนกัน ถ้าคุณบริจาคด้วยความเต็มใจ สมองก็จะยิ่งทำงานตอบสนองอย่างกระตือรือร้นมากขึ้น

นิวเคลียสแอกคัมเบนส์และนิวเคลียสในปมประสาทฐานเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้รางวัลและจะเกิดการทำงานเมื่อเรารู้สึกยินดี แต่ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกยินดีออกมาจากใจ มันจะไม่ทำงานตอบสนองใดๆ

ดังนั้นการใช้เงินเพื่อผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความยินดีได้อย่างแท้จริง เมื่อคุณมีความสุขขึ้น คุณก็จะเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้มีพลังในการทำ “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่ถนัด” อย่างแข็งขัน

แล้วตอนที่เราจะเป็นผู้ให้ เราควรให้อะไรแก่ใคร สำหรับคำถามที่ว่า “ควรให้ใคร” คำตอบคือควรให้ทุกคนที่เป็นคนรู้จักของคุณ การใช้เงินเพื่อผู้อื่นไม่ได้เพิ่มความสุขให้คุณเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิด “การตอบแทนบุญคุณ” ซึ่งจะส่งผลให้ทุกคนกลายเป็น “ผู้ให้สำหรับคุณ” ดังนั้นการใช้เงินเพื่อคนอื่นจึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยน “สิ่งที่คุณชอบ” “สิ่งที่คุณถนัด” ให้กลายเป็นตัวสร้างเงิน

ใช้วิธีสร้างทีมเพื่อทำงาน

สิ่งสำคัญในการสร้างทีมเช่นนี้คือ การสร้างความดึงดูดโดยบอกกับคนรอบข้างให้ชัดเจนว่า “ฉันชอบทำสิ่งนี้ ฉันทำสิ่งนี้ได้”

คนที่ “ชอบ” หรือ “อยากทำ” สิ่งเดียวกับคุณก็จะเริ่มจับกลุ่มกันมากขึ้น และเราก็เลือกสรรคนที่มีความสามารถคนละด้านกับเราจากในบรรดากลุ่มคนเหล่านั้น

แน่นอนว่าเราต้องให้ผลตอบแทนสูงด้วย เพราะเมื่อเราเริ่มนำสิ่งที่ชอบมาเปลี่ยนให้เป็น “งาน” เราก็จะได้กลุ่มคนที่จะคอยสนับสนุนเราในด้านนั้น

การสร้างทีมที่มีคุณภาพคับปริมาณจะกลายเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการทำให้งานเกี่ยวกับ “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่ถนัด” ของคุณสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ

ใช้วิธีซื้อเวลาเพื่อทุ่นแรง

ยิ่งคนที่งานยุ่งและหาเงินได้มากก็ยิ่งให้ความสำคัญกับเวลา เพราะพวกเขารู้คุณค่าของเวลา ถ้าใช้เวลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรคืนมาหรือเปล่า เพราะแต่ละคนมีจิตสำนึกเกี่ยวกับคุณค่าของเวลาไม่เท่ากัน

ถ้าคุณตั้งใจจะสร้างวงจรมิรู้จบโดยใช้ “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่ถนัด” เป็นล้อเพลา อย่างน้อยคุณก็ต้องรู้ว่าเวลานั้นมีค่ายิ่งกว่าเงิน และถ้าคุณได้ลงทุนอีกครั้ง ขอแนะนำให้ใช้เวลาว่าง 20% ไปกับ “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่ถนัด” ดีกว่า

นี่คือแนวคิดที่มาจาก “กฎ 80:20” หมายถึง 20% ของพนักงานที่ทำงานได้ดี จะสามารถสร้างผลกำไรให้บริษัทได้ถึง 80% ซึ่งกฎนี้ใช้กับการทำงานส่วนตัวได้ด้วย ถ้าเราทำงานสำคัญอย่างมีคุณภาพได้ถึง 20% จากทั้งหมด งานนั้นก็จะสร้างผลสำเร็จได้ถึง 80%

ดังนั้นถ้าเราลงทุนกับ “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่ถนัด” โดยใช้เวลา 20% ของเราไปกับมันอย่างตั้งใจ มันก็จะให้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กลับมา

ใช้กระบวนการที่สามารถสร้างแรงมหาศาลที่สุด

ก่อนอื่นคุณต้องรู้จักระดับความสามารถของตนเองที่มีอยู่ในตอนนี้เกี่ยวกับ “สิ่งที่ชอบ” จากนั้นจึงพิจารณาว่า เราจะใช้ความสามารถที่มีนั้นเพื่อช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้หรือเปล่า

สิ่งสำคัญในการนำ “สิ่งที่ชอบ” มาผนวกเข้าเป็น “งาน” ที่สามารถสร้างผลกำไรให้คุณได้คือคุณต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการตลาดหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วย ความรู้ด้านนี้ไม่ได้จำเป็นสำหรับการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตของคุณอีกด้วย

กฎ 7 ข้อ ของการนำเงินที่ได้จากสิ่งที่ชอบมาลงทุนซ้ำให้เกิดความมั่งคั่ง

หนังสือ เปลี่ยนความชอบให้เป็นเงิน

เขียนโดย Mentalist DaiGo

วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์
คลิก

บทความอื่นๆ

สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นตัวทำเงิน

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า