The Paris Library
แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส
เจเน็ต สเกสเลียน ชาร์ลส์ เขียน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์
(ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์)
——————————————————————————————————————-
บทที่ 1
โอดีล
ปารีส กุมภาพันธ์ 1939
ตัวเลขลอยล่องอยู่รอบหัวฉันราวกับดวงดาว – 823 ตัวเลขเหล่านี้คือกุญแจสู่ชีวิตใหม่ – 822 คือดวงดาวแห่งความหวัง – 841 ไม่ว่ายามดึกในห้องนอนหรือตอนเช้าระหว่างเดินไปซื้อครัวซองต์ มันลอยมาเป็นชุด ชุดแล้วชุดเล่า – 810, 840, 890 ทั้งหมดปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาฉัน ตัวเลขเหล่านี้คือตัวแทนของอิสรภาพและอนาคต นอกจากตัวเลขพวกนี้แล้วฉันยังได้ศึกษาประวัติของห้องสมุดต่างๆ ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่สิบหกไปพร้อมกัน ขณะที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ในอังกฤษวุ่นอยู่กับการบั่นคอมเหสี พระเจ้าฟรังซัวส์แห่งฝรั่งเศสก็ทรงง่วนกับการปรับปรุงห้องสมุดของพระองค์และได้ทรงเปิดให้เหล่านักปราชญ์เข้าไปใช้ด้วย หนังสือในห้องสมุดหลวงแห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ที่โต๊ะเขียนหนังสือในห้องนอน ฉันกำลังนั่งทบทวนโน้ตที่จดไว้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานที่[1]ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1920 และเป็นห้องสมุดแห่งแรกในปารีสที่อนุญาตให้สาธารณชนเข้าใช้ ห้องสมุดแห่งนี้มีสมาชิกจากประเทศต่างๆ กว่าสามสิบประเทศ ในจำนวนนี้หนึ่งในสี่เป็นชาวฝรั่งเศส ฉันพยายามจดจำข้อเท็จจริงและตัวเลขต่างๆ โดยหวังว่าจะช่วยทำให้ผู้อำนวยการห้องสมุดเห็นว่าฉันมีคุณสมบัติเหมาะสม
ฉันเดินจากอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟแซ็ง-ลาซาร์ บนถนนรูเดอโรมอันเต็มไปด้วยคราบเขม่าควันจากรถไฟ ฉันเหน็บปอยผมที่ลมพัดตีขึ้นมาเข้าไปใต้หมวกไหมพรม ไกลออกไป ฉันสามารถเห็นหลังคาโดมของโบสถ์แซ็ง-ออกุสตัง – ศาสนา 200 พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม 211 แล้วภาคพันธสัญญาใหม่ล่ะ ฉันรอให้ตัวเลขผุดขึ้นมาในหัว แต่มันไม่ขึ้น ฉันเริ่มประสาทเสียที่ลืมเรื่องแสนธรรมดานี้ไปได้ และหยิบสมุดบันทึกขึ้นจากกระเป๋า อ้อ ใช่แล้ว 225 ฉันเคยรู้น่ะ
วิชาที่ฉันโปรดปรานสมัยเรียนอยู่ในคณะบรรณารักษ์ศาสตร์คือระบบทศนิยมดิวอี้ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในปี 1873 โดยเมลวิล ดิวอี้ บรรณารักษ์ชาวอเมริกัน มันคือระบบการจัดเรียงหนังสือตามหมวดหมู่สิบหมวดหมู่ แยกตามสาขาวิชา ทุกสิ่งทุกอย่างมีตัวเลขกำกับเพื่อให้ผู้อ่านใช้หาหนังสือที่ต้องการได้ในห้องสมุดทุกแห่ง ตัวอย่างเช่น แม่ของฉันภาคภูมิใจกับความสามารถด้าน 648 (คหกรรมศาสตร์) ของท่าน พ่อฉันโปรดปราน 785 (ดนตรีแชมเบอร์) แม้จะไม่ยอมรับก็ตาม พี่ชายฝาแฝดของฉันโอนเอียงไปทาง 636.8 แต่ฉันชอบ 636.7 มากกว่า (แมวและสุนัขตามลำดับ)
ฉันเดินมาถึงเลอกร็องด์บูเลอวาร์ ปารีสสลัดคราบชนชั้นล่างออกและหยิบเสื้อโค้ตขนมิงค์ขึ้นสวมในเพียงหนึ่งช่วงถนนเท่านั้น กลิ่นกระด้างของถ่านหินจางหายไป แทนที่ด้วยกลิ่นมะลิหอมหวานปานน้ำผึ้งของจอย น้ำหอมแพงระยับซึ่งลอยมาจากสุภาพสตรีที่กำลังชมชุดสวยของนินา ริชชีและถุงมือหนังสีเขียวของคิสลาฟในตู้กระจกอย่างเพลิดเพลิน ฉันเดินต่อไป เลี้ยวหลบนักดนตรีที่เดินออกจากร้านขายโน้ตดนตรีเก่ายับยู่ยี่ ผ่านอาคารสไตล์บาโรคที่มีประตูสีน้ำเงินแล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนแคบๆ ฉันรู้จักหนทางเป็นอย่างดี
ฉันรักปารีส เมืองที่เต็มไปด้วยความลับ เช่นเดียวกับปกหนังสือ บ้างปกหนัง บ้างปกผ้า ประตูแต่ละบานในปารีสจะนำไปสู่โลกที่เราคาดไม่ถึง ในลานหน้าอาคารเราอาจพบจักรยานมากมาย หรือพนักงานดูแลอาคารร่างตุ้ยนุ้ยถือไม้กวาดในมือ กรณีของห้องสมุดอเมริกันนั้น ประตูไม้บานมหึมาเปิดสู่สวนลับ มีต้นพิทูเนียขึ้นเป็นแนวที่ด้านหนึ่ง อีกด้านเป็นสนามหญ้า มีทางเดินโรยกรวดสีขาวทอดยาวสู่อาคารซึ่งสร้างจากอิฐและหิน ฉันเดินข้ามธรณีประตูที่มีธงชาติฝรั่งเศสและอเมริกันโบกสะบัดเคียงข้างกันอยู่ด้านบน แล้วแขวนเสื้อแจ็คเก็ตกับที่แขวนซึ่งมีสภาพง่อนแง่นเต็มที รู้สึกเหมือนกลับมาถึงบ้านเมื่อได้สูดกลิ่นอับชื้นเหมือนหญ้ามอสของหนังสือผสมผสานกับกลิ่นแหลมฉุนของกระดาษหนังสือพิมพ์ กลิ่นที่ฉันชอบที่สุดในโลก
เนื่องจากไปถึงก่อนเวลาสัมภาษณ์เล็กน้อย ฉันจึงเดินเตร่อยู่แถวเคาน์เตอร์บริการซึ่งมีบรรณารักษ์ผู้ร่าเริงคอยรับฟังเรื่องสารพัดของสมาชิก (“เราจะหาสเต็กอร่อยๆ กินได้ที่ไหนในปารีส” ผู้มาใหม่ซึ่งสวมบูทคาวบอยถาม “ทำไมฉันต้องเสียค่าปรับด้วยทั้งที่ฉันยังอ่านไม่จบ” มาดามซิมงขี้หงุดหงิดอยากรู้เหตุผล) ก่อนจะเดินเข้าไปในห้องอ่านหนังสือที่สงบเงียบน่าสบาย
ที่โต๊ะใกล้หน้าต่างกรุกระจกแบบเฟรนช์วินโดว์ ศาสตราจารย์โคเฮนนั่งอ่านรายงานวิชาการ มีขนนกยูงสีสดใสปักอยู่ที่มวยผม มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์นั่งอ่านนิตยสารไทม์ อย่างครุ่นคิดพลางสูบไปป์ ปกติแล้วฉันจะกล่าวทักทายกับพวกเขา แต่ด้วยความตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์งานในวันนี้ ฉันจึงเดินเข้าไปนั่งหลบมุมอยู่ตรงแถวชั้นหนังสือโปรดของฉัน ฉันรักการอยู่ท่ามกลางเรื่องราวสารพัด บ้างเป็นเรื่องเก่าแก่ตั้งแต่ครั้นโบราณกาล บ้างเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนก่อน
ฉันว่าจะยืมหนังสือนิยายให้พี่ชายสักเล่ม เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะตื่นขึ้นเวลาไหนก็ตามกลางดึก ฉันจะต้องได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังต็อกแต็กของเขา หากไม่ได้กำลังเขียนบทความเรียกร้องให้ฝรั่งเศสรับผู้ลี้ภัยชาวสเปนที่หนีสงครามกลางเมืองเข้ามา ก็เป็นบทความทำนายว่าฮิตเลอร์จะยึดยุโรปแบบเดียวกับที่เข้ายึดส่วนหนึ่งของเชคโกสโลวาเกียอย่างแน่นอน สิ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้เรมีคลายกังวลกับเรื่องของคนอื่นได้ก็คือ หนังสือดีๆ สักเล่ม
ฉันไล่นิ้วไปตามสันหนังสือ เลือกออกมาเล่มหนึ่งแล้วสุ่มเปิดออกดู ฉันไม่เคยตัดสินหนังสือจากหน้าแรก เพราะรู้สึกเหมือนตอนที่ฉันมีนัดครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกับหนุ่มคนหนึ่งที่เราต่างยิ้มหวานใส่กันมากเกินไป ดังนั้นจึงเปิดไปตรงกลางเล่มซึ่งผู้เขียนไม่ได้พยายามสร้างความประทับใจ ‘ชีวิตเรามีความมืดแต่ก็มีแสงสว่างด้วย’ ฉันอ่าน ‘เธอคือหนึ่งในแสงสว่างเหล่านั้น แสงที่สว่างไสวที่สุดท่ามกลางแสงทั้งมวล’ อวี แมซี ใช่แล้ว ขอบคุณมากเลยมิสเตอร์สโตกเกอร์ นี่แหละที่ฉันอยากจะบอกกับเรมี
เอาล่ะสิ สายแล้ว ฉันรีบเดินไปที่เคาน์เตอร์บริการ เขียนชื่อบนบัตรยืมแล้วใส่ แดร็กคิวลา ลงในกระเป๋า ผู้อำนวยการห้องสมุดยืนรอฉันอยู่ ผมสีน้ำตาลแดงของเธอรวบเป็นมวยเช่นทุกครั้ง ในมือถือปากกาด้ามเงิน
ทุกคนรู้จักมิสรีเดอร์ เธอเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ และเป็นนักพูดที่น่าประทับใจเมื่อเธอกล่าวเชิญชวนผู้คน ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา ครู ทหาร ชาวต่างชาติหรือชาวฝรั่งเศสมาเยือนห้องสมุด โดยยืนกรานว่าห้องสมุดมีที่ให้ทุกคน
“โอดีล ซูเฌค่ะ” ฉันแนะนำตัว “ต้องขอโทษด้วยค่ะที่สาย ความจริงดิฉันมาก่อนเวลานัด แต่พอเปิดหนังสือก็…”
“การอ่านเป็นอันตราย” มิสรีเดอร์ว่าและยิ้มอย่างเข้าใจ “ไปคุยในห้องทำงานฉันกันดีกว่า”
ฉันเดินตามเธอไป เราเดินผ่านห้องอ่านหนังสือ สมาชิกในชุดสูทสง่างามพากันลดหนังสือพิมพ์ที่อ่านอยู่ลงมองผู้อำนวยการคนดังเดินขึ้นบันไดวน และตรงไปยังระเบียงทางปีกของอาคารซึ่งเขียนไว้ว่า สู่ห้องทำงาน ในห้องอบอวลด้วยกลิ่นกาแฟเอสเพรสโซ บนผนังมีภาพถ่ายทางอากาศขนาดใหญ่ของเมืองๆ หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมเหมือนกระดานหมากรุก แตกต่างกับถนนวกวนของปารีสอย่างลิบลับ
เมื่อสังเกตว่าฉันมองอย่างสนใจ มิสรีเดอร์จึงพูดขึ้นว่า “เมืองวอชิงตัน ดีซีน่ะ ฉันเคยทำงานที่หอสมุดรัฐสภา” เธอทำท่าเชิญฉันนั่ง แล้วจึงนั่งลงที่โต๊ะทำงานซึ่งเต็มไปด้วยเอกสาร บางแผ่นแตกแถวออกถาด บ้างมีที่เจาะกระดาษทับไว้ไม่ให้หนี ที่มุมหนึ่งมีโทรศัพท์สีดำมัน หนังสือตั้งหนึ่งวางอยู่บนเก้าอี้ข้าง ๆ มิสรีเดอร์ ฉันแอบเห็นนิยายของไอแซค เดนิเซนและอีดิธ วาร์ตัน ทั้งสองเล่มมีแถบริบบิ้นสีสดใสทำหน้าที่เป็นที่คั่นเชิญชวนให้ผู้อำนวยการกลับมาอ่านอีก
มิสรีเดอร์ชอบอ่านหนังสือประเภทไหนนะ ที่รู้คือเธอไม่เปิดหนังสือทิ้งไว้อ้าซ่าเหมือนฉันเพราะไม่ชอบใช้ที่คั่นหนังสือ แล้วก็คงไม่วางหนังสือซ้อนเป็นตั้งข้างเตียงด้วย เธอน่าจะอ่านหนังสือคราวละสี่ห้าเล่มพร้อมกัน มีหนังสือในกระเป๋าถือหนึ่งเล่มไว้อ่านบนรถประจำทาง เป็นหนังสือที่เพื่อนรักของเธอถามถึงความเห็น อีกเล่มน่าจะเป็นหนังสือที่ไม่มีใครรู้ เป็นความสุขลับๆ ของเธอในบ่ายวันอาทิตย์ยามฝนตก–
“ใครคือนักเขียนโปรดของคุณ” มิสรีเดอร์ถาม
ใครคือนักเขียนโปรดเหรอ ช่างเป็นคำถามที่ตอบยากเสียจริง เป็นไปได้ยังไงที่จะให้เลือกใครเพียงคนเดียว ความจริงแล้วน้าคาโรกับฉันเคยแบ่งนักเขียนออกเป็นประเภท คือนักเขียนที่เสียชีวิตแล้ว นักเขียนที่ยังมีชีวิต นักเขียนต่างประเทศ นักเขียนฝรั่งเศส ฯลฯ เพื่อจะได้เลือกง่ายขึ้น ฉันนึกถึงหนังสือในห้องอ่านหนังสือที่เพิ่งหยิบจับเมื่อสักครู่ พวกหนังสือที่ทำให้ฉันประทับใจในอดีต ฉันชื่นชมความคิดของราล์ฟ วาลโด อีเมอร์สันที่ว่า ฉันไม่เคยโดดเดี่ยวขณะที่อ่านหรือเขียน แม้จะไม่มีใครอยู่ด้วยก็ตาม แล้วก็ของเจน ออสเตนด้วย แม้นักประพันธ์สตรีผู้นี้จะเขียนในศตวรรษที่สิบเก้า แต่ผู้หญิงหลายคนยุคนี้ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน คือมีอนาคตที่ถูกกำหนดโดยผู้ชายที่แต่งงานด้วย เมื่อสามเดือนก่อน เมื่อฉันบอกพ่อแม่ว่าฉันไม่จำเป็นต้องมีสามี พ่อของฉันหัวเราะหึๆ จากนั้นก็เริ่มเชิญลูกน้องหนุ่มๆ มากินอาหารกลางวันที่บ้านทุกวันอาทิตย์ และนำเสนอแต่ละคนกับฉันราวกับไก่งวงอบโรยหน้าด้วยผักชีบนถาดฝีมือแม่ “มาร์คไม่เคยขาดงานแม้แต่วันเดียว ขนาดเป็นไข้หวัดก็ยังไม่ลางาน”
“คุณอ่านหนังสือไหมคะ”
พ่อบ่นเสมอว่าฉันเป็นคนปากไวกว่าความคิด และความหงุดหงิดที่ไม่อาจตัดสินใจได้ทำให้ฉันตอบคำถามแรกของมิสรีเดอร์ว่า
“นักเขียนโปรดที่เสียชีวิตแล้วของดิฉันคือดอสโตเยฟสกี เพราะฉันชอบรัสโคลนิคอฟ เขาไม่ใช่คนเดียวที่อยากตบกะโหลกใครสักคน”
เงียบ
ทำไมฉันถึงไม่ตอบอะไรที่คนปกติตอบกันนะ อย่างเช่น โซลา นีล เฮิร์สตัน นักเขียนโปรดที่ยังมีชีวิตอยู่ของฉัน
“รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบคุณค่ะ” ฉันเดินไปที่ประตู รู้ตัวว่าการสัมภาษณ์คงจบลงเท่านี้
ขณะที่มือแตะลงบนลูกบิดกระเบื้องเคลือบ ฉันก็ได้ยินมิสรีเดอร์พูดขึ้นว่า “กระโจนสู่ชีวิตโดยไม่ต้องไตร่ตรอง ไม่ต้องกลัว กระแสน้ำจะนำเธอไปยังฝั่ง ซึ่งเธอจะยืนขึ้นได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง”
ประโยคโปรดของฉันจาก อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ ของดอสโตเยฟสกี – 891.73 ฉันหันกลับ
“ผู้สมัครส่วนใหญ่บอกว่านักเขียนโปรดของเขาคือเชคสเปียร์” มิสรีเดอร์ว่า
“นักประพันธ์คนเดียวที่มีเลขทศนิยมดิวอี้ของตัวเองโดยเฉพาะ”
“มีสองสามคนที่พูดถึง ความรักของเจน แอร์”
นั่นน่าจะเป็นคำตอบปกติ ทำไมฉันถึงไม่บอกว่าชาร์ล็อตต์ บร็อนเต หรือไม่ก็พี่น้องบร็อนเตคนใดคนหนึ่งนะ “ดิฉันชอบเจนเหมือนกันค่ะ พี่น้องบร็อนเตมีเลขเดียวกัน – 823.8”
“แต่ฉันชอบคำตอบของคุณนะ”
“จริงเหรอคะ”
“คุณตอบอย่างที่รู้สึก ไม่ใช่อย่างที่คุณคิดว่าฉันอยากได้ยิน”
ก็จริงอยู่
“จงอย่ากลัวที่จะแตกต่าง” คุณรีเดอร์เอนตัวมาข้างหน้า สายตาฉลาดเฉลียวและแน่วแน่มองมาที่ฉัน “ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่”
ฉันไม่อาจให้เหตุผลที่จริงเพราะมันคงฟังดูแย่มาก “ฉันจำระบบทศนิยมดิวอี้และได้เกรด เอ รวดในคณะบรรณารักษ์ศาสตร์”
มิสรีเดอร์ชำเลืองดูใบสมัครของฉันและบอกว่า “ประวัติการศึกษาของคุณน่าประทับใจมาก แต่ไม่ได้ตอบคำถามฉัน”
“คือดิฉันเป็นสมาชิกที่นี่ และดิฉันรักวรรณคดีอังกฤษ–”
“ข้อนี้ฉันมองออก” น้ำเสียงมิสรีเดอร์เจือความผิดหวังเล็กน้อย “ขอบใจสำหรับเวลาของคุณนะ เราจะให้คำตอบในอีกสองสามอาทิตย์ เดี๋ยวฉันเดินไปส่ง”
ที่ลานหน้าห้องสมุด ฉันถอนใจด้วยความหงุดหงิด ฉันน่าจะตอบเธอไปตรงๆ ว่าทำไมถึงอยากทำงานนี้
“มีอะไรหรือจ๊ะโอดีล” อาจารย์โคเฮนถาม ฉันชอบการบรรยายชุด ‘วรรณกรรมอังกฤษ ณ ห้องสมุดอเมริกัน’ ซึ่งแน่นจนมีแต่ที่ยืนของศาสตราจารย์ผู้มีผ้าคลุมสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ท่านนี้มาก ท่านทำให้วรรณกรรมโบราณที่แสนเข้าใจยากอย่าง เบวูล์ฟ กลายเป็นเรื่องสนุกที่เข้าถึงได้ อีกทั้งยังสอดแทรกมุขตลกร้ายซึ่งทำให้การบรรยายเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เรื่องฉาวโฉ่ในอดีตที่ท่านปล่อยออกมาเป็นระลอกไม่ขาดสายเหมือนน้ำหอมกลิ่นไลแลคของท่านซึ่งโชยมาเป็นครั้งคราว ว่ากันว่ามาดามศาสตราจารย์ท่านนี้เป็นชาวมิลาน และเป็นอดีตดาราบัลเลต์ชื่อดังที่ทิ้งชื่อเสียง (และสามีแสนน่าเบื่อ) หนีตามชู้รักไปครองรักกันที่บราซซาวิลล์ ก่อนจะกลับมาปารีสอีกครั้ง (คนเดียว) และได้สมัครเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน เช่นเดียวกับซิโมน เดอ บูวัวร์ จากนั้นได้ผ่านการสอบ ลาเกรเกชั่น และได้ประกาศนียบัตรการสอนวรรณคดีระดับสูงสุดซึ่งน้อยคนมากจะทำได้สำเร็จ
“ว่าไงจ๊ะ โอดีล”
“หนูเพิ่งทำอะไรโง่ๆ ในการสัมภาษณ์งานมาค่ะ”
“หญิงสาวฉลาดๆ อย่างเธอน่ะเหรอทำอะไรโง่ๆ เธอบอกมิสรีเดอร์หรือเปล่าจ๊ะว่าไม่เคยพลาดการบรรยายของฉันแม้แต่ครั้งเดียว ฉันอยากให้ลูกศิษย์เป็นอย่างเธอบ้างจริงๆ”
“ฉันไม่ได้คิดไว้ว่าจะบอกค่ะ”
“งั้นเขียนทุกอย่างที่เธออยากบอกลงในจดหมายขอบคุณสิ”
“มิสรีเดอร์คงไม่รับหนูหรอกค่ะ”
“ชีวิตคือการต่อสู้ เธอต้องเข้าไปตะลุมบอนกับมันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ”
“หนูไม่แน่ใจ…”
“แต่ฉันแน่” อาจารย์โคเฮนว่า “นี่เธอคิดว่าอยู่ดีๆ พวกผู้ชายคร่ำครึที่ซอร์บอนก็จ้างฉันง่ายๆ อย่างนั้นรึ ฉันต้องพยายามมากแค่ไหนรู้ไหมกว่าพวกเขาจะเชื่อว่าผู้หญิงก็มีความสามารถพอที่จะสอนในมหาวิทยาลัยได้”
ฉันเงยหน้ามองท่าน ก่อนหน้านี้ฉันเห็นแต่ผ้าคลุมสีม่วงของท่านเท่านั้น แต่ตอนนี้ฉันเห็นประกายคมกล้าในดวงตาของท่านด้วย
“ความดึงดันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายนะจ๊ะ” ท่านพูดต่อ “แม้คุณพ่อฉันจะบ่นเสมอว่าฉันเป็นคนเถียงคอเป็นเอ็นไม่เคยยอมใครก็ตาม”
“หนูก็เหมือนกัน คุณพ่อหนูบอกว่าหนูเป็นคน ‘ดันทุรัง’”
“งั้นก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ซะนะ”
ถูกของท่าน ในหนังสือโปรดของฉันหลายเล่ม นางเอกไม่เคยยอมแพ้ ถูกของท่านที่บอกให้ฉันเขียนสิ่งที่ฉันคิดลงในจดหมาย การเขียนง่ายกว่าการพูดต่อหน้า เพราะเราลบแล้วเขียนใหม่ได้ ถึงต้องเริ่มเขียนใหม่กว่าหนึ่งร้อยครั้งฉันก็จะทำ
“ถูกของอาจารย์ค่ะ…” ฉันว่า
“แน่นอน! ฉันจะบอกผู้อำนวยการเองว่าคำถามของเธอดีที่สุดเสมอในการบรรยายของฉัน แต่เธอต้องทำตามที่ฉันแนะนำนะ” ท่านสะบัดผ้าคลุมดังหวืดขณะหันหลังเดินก้าวยาวเข้าไปในห้องสมุด
ไม่ว่าจะรู้สึกแย่แค่ไหนก็ตาม จะต้องมีใครคนหนึ่งในห้องสมุดช่วยดึงฉันกลับขึ้นมาสู้ใหม่เสมอ ห้องสมุดแห่งนี้เป็นมากกว่าแค่ก้อนอิฐกับหนังสือ ยังมีน้ำใจของคนที่เป็นเสมือนปูนที่สมานอิฐทุกก้อนเข้าด้วยกัน ห้องสมุดอื่นๆ ที่ฉันไปมามีเก้าอี้ไม้แข็งกระด้างกับความสุภาพ ‘บงฌู มาดมัวแซล สวัสดีค่ะ โอเรอวัว มาดมัวแซล ลาก่อนค่ะ’ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรผิด เพียงแต่บิบลิโอเทค เหล่านี้ไม่มีความรู้สึกของชุมชนที่แท้จริงเท่านั้นเอง ที่นี่เป็นเสมือนบ้านสำหรับฉัน
“โอดีล! รอก่อน!” มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ นักการทูตปลดเกษียณชาวอังกฤษในชุดสูทติดหูกระต่ายลายลูกน้ำนั่นเอง ตามด้วยมิสซิสเทิร์นบูล บรรณารักษ์ที่มีผมม้าเบี้ยวๆ สีเทาอมน้ำเงิน อาจารย์โคเฮนคงไปบอกพวกเขาว่าฉันกำลังรู้สึกท้อแท้
“เขียนไปเถอะ ไม่เสียเปล่าหรอก” มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ตบหลังเบาๆ ให้กำลังใจฉันอย่างเก้อเขิน “เธอต้องชนะใจผู้อำนวยการอย่างแน่นอน เขียนร่ายเหตุผลของเธอเป็นข้อๆ ในจดหมายแบบที่นักการทูตมีฝีมือหน่อยเขาทำกันนั่นแหละ”
“หยุดโอ๋โอดีลเหมือนเด็กๆ ซะทีเถอะค่ะ!” มิสซิสเทิร์นบูลดุอดีตนักการทูต แล้วหันมาทางฉัน “ฉันเป็นชาววินนิเป็ก พวกเราคุ้นเคยกับอุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิตซึ่งทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ฤดูหนาวที่นั่นลบสี่สิบองศา แต่เธอจะไม่เคยได้ยินใครโอดครวญ ไม่เหมือนกับพวกอเมริกัน…” เมื่อนึกขึ้นได้ว่าเธอออกมาที่นี่ทำไม (เพื่อจะได้ชี้นิ้วสั่งการใครบางคน) มิสซิสเทิร์นบูลก็ยกนิ้วผอมๆ ขึ้นตรงหน้าฉันและบอกว่า “ยืดตัวขึ้นมา อย่ายอมแพ้ง่ายๆ!”
ฉันยิ้มเมื่อตระหนักว่าบ้านคือที่ที่ไม่มีความลับ และฉันกำลังยิ้ม ซึ่งนั่นคืออะไรบางอย่างแล้ว
ในห้องนอน ฉันลงมือเขียนโดยไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป:
เรียนมิสรีเดอร์
ดิฉันขอขอบคุณที่คุณได้สละเวลาพูดคุยกับดิฉันเรื่องงาน ดิฉันตื่นเต้นดีใจมากที่ได้สัมภาษณ์กับคุณ ห้องสมุดนี้มีความหมายกับดิฉันมากกว่าที่ใดๆ ในปารีส ตอนที่ฉันยังเด็ก คุณน้าแคโรไลน์พาฉันไปที่นั่นในชั่วโมงเล่านิทานเสมอ ต้องขอขอบคุณคุณน้าที่ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษและตกหลุมรักห้องสมุดแห่งนี้ แม้คุณน้าของฉันจะไม่อยู่แล้ว แต่ที่เอแอลพี..ดิฉันยังคงมองหาท่านเสมอ ดิฉันจะเปิดหนังสือออกดูซองเสียบบัตรยืมหนังสือด้านหลัง โดยหวังว่าจะได้เห็นชื่อคุณน้าบนบัตร การได้อ่านนิยายเล่มเดียวกับท่านทำให้ฉันรู้สึกว่าท่านยังอยู่ใกล้ๆ ดิฉัน
ห้องสมุดแห่งนี้คือที่หลบภัยของดิฉัน ดิฉันหามุมสงบสำหรับนั่งฝันและนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ได้เสมอ และฉันอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสเช่นนี้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกต่างจากคนอื่นๆ และต้องการมีที่ที่ตัวเองเรียกได้ว่าบ้าน
ฉันเซ็นชื่อ ปิดท้ายการสัมภาษณ์อย่างบริบูรณ์
บทที่ 2
ลิลลี
ฟรอยด์, มอนตานา, 1983
แกชื่อมิสซิสกุสตาฟสัน แกอยู่ข้างบ้านฉัน ชาวบ้านเรียกแกลับหลังว่า ‘เจ้าสาวสงคราม’ แต่สำหรับฉันแกไม่ได้ดูเหมือนเจ้าสาวเลย ประการแรกคือแกไม่ได้สวมชุดขาว แล้วก็แก่ด้วย แก่กว่าพ่อแม่ฉันเยอะเลย ทุกคนรู้ว่ามีเจ้าสาวก็ต้องมีเจ้าบ่าว แต่สามีของแกเสียไปนานแล้ว แม้แกจะพูดได้อย่างคล่องแคล่วสองภาษา แต่ส่วนใหญ่แล้วแกแทบจะไม่พูดกับใคร แกอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1945 แต่ชาวบ้านมักมองว่าแกเป็นคนต่างถิ่นเสมอ
มิสซิสกุสตาฟสันเป็นเจ้าสาวสงครามคนเดียวในฟรอยด์ เหมือนกับที่หมอสแตนช์ฟิลด์เป็นหมอคนเดียวของที่นี่ บางครั้งฉันจะแอบมองเข้าไปในห้องนั่งเล่นของแกซึ่งแม้แต่โต๊ะเก้าอี้ก็ยังดูเป็นแปลกตา ขาโต๊ะแกะสลักทำจากไม้วอลนัตงามประณีตเหมือนเฟอร์นิเจอร์ในบ้านตุ๊กตา ฉันแอบดูกล่องไปรษณีย์ของแกด้วย แกมักได้รับจดหมายจากแดนไกล ไกลถึงชิคาโกเลยนะ จดหมายจ่าหน้าซองว่ามาดามโอดีล กุสตาฟสัน เปรียบเทียบกับชื่อโหลๆ ที่ฉันรู้จักเช่น ทริชาหรือทิฟฟานี ชื่อ ‘โอดีล’ ฟังดูแปลกดี ว่ากันว่าแกมาจากฝรั่งเศส ด้วยความที่ฉันอยากรู้จักแกมากขึ้น ฉันจึงเปิดสารานุกรมหาหัวข้อเกี่ยวกับปารีส แล้วก็ได้เห็นรูปแกะสลักการ์กอยล์สีเทาบน และประตูชัยของนโปเลียน ทว่าสิ่งที่ฉันได้อ่าน ไม่มีอะไรที่ตอบคำถามฉันได้เลยว่าอะไรทำให้มิสซิสกุสตาฟสันแตกต่างจากคนอื่นๆ
มิสซิสกุสตาฟสันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ในฟรอยด์ที่มีร่างกลมตุ้ยนุ้ยเหมือนนกกระจิบ สวมเสื้อสเว็ตเตอร์ตัวโคร่ง ใส่รองเท้าเชยๆ สีเทาอ่อน และไปจ่ายตลาดทั้งที่ยังมีโรลม้วนผมเต็มหัว แต่มิสซิสกุสตาฟสันจะใส่ชุดสวยแบบที่คนจะใส่ไปโบสถ์วันอาทิตย์อย่างกระโปรงพรีทและรองเท้าส้นสูง แม้จะแค่เอาขยะออกมาทิ้งหน้าบ้านก็ตาม เข็มขัดสีแดงที่คาดช่วยเน้นเอวคอด แกจะทาลิปสติกสีแดงแปร๊ดเสมอแม้เวลาไปโบสถ์ ‘แม่นั่นคงสำคัญตัวผิด’ ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นขณะที่มิสซิสกุสตาฟสันเดินผ่านไปนั่งยังที่ประจำด้านหน้า ดวงตาเธอซ่อนอยู่ใต้หมวกทรงระฆัง ไม่มีใครสวมหมวกในโบสถ์ และสมาชิกส่วนใหญ่จะนั่งออกันอยู่แถวหลังเพราะไม่อยากเรียกร้องความสนจากพระเจ้าหรือบาทหลวง
เช้าวันนั้นคุณพ่อมาโลนีย์หรือที่เรียกกันว่าคุณพ่อคอเสื้อเหล็กขอให้พวกเราอธิษฐานให้กับผู้โดยสาร 269 คนบนเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ถูกจรวดเค-8 ของโซเวียตยิงตก ประธานาธิบดีเรแกนได้ออกโทรทัศน์พูดถึงการยิงถล่มเครื่องบินขณะบินจากเมืองแองเคอเรจสู่กรุงโซล เสียงของท่านดังก้องอยู่ในหูฉันขณะที่ระฆังโบสถ์ดังกังวาน “ความโศกเศร้า ตกตะลึง ความโกรธ…สหภาพโซเวียตได้ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกแง่มุม…เราไม่ต้องประหลาดใจกับความอำมหิตผิดมนุษย์เช่นนี้เลย…” ฟังดูเหมือนท่านประธานาธิบดีจะบอกว่า พวกรัสเซียจะฆ่าเราทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก
สงครามเย็นทำให้ทุกคนกลัวจนตัวสั่นแม้แต่ในรัฐห่างไกลอย่างมอนตานา ลุงวอลต์ซึ่งทำงานที่ฐานทัพอากาศมาล์มสตรอมบอกว่ารัฐบาลได้ฝัง ‘มินิตแมน’ จรวดนิวเคลียร์ขนาดเล็กทั่วพื้นราบอันกว้างใหญ่ของมอนตานาเหมือนชาวนาฝังหัวมันฝรั่ง หัวจรวดเหล่านี้กำลังรอวันโลกแตกอย่างเงียบเชียบในห้องนิรภัยใต้ดิน แกยังโม้ด้วยว่ามินิตแมนพวกนี้มีแรงระเบิดมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาราบเป็นหน้ากลอง และบอกอีกว่าขีปนาวุธพวกนี้จะมองหากันเอง เพราะฉะนั้นขีปนาวุธของโซเวียตจะมองผ่านวอชิงตัน ดีซีและเล็งมาที่เรา โดยมินิตแมนของเราก็จะพุ่งขึ้นยิงมอสโคว์เป็นการโต้ตอบโดยทันที รวดเร็วชนิดที่ว่าฉันลุกขึ้นแต่งตัวไปโรงเรียนยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ
หลังพิธีมิสซา เหล่าสัตบุรุษพากันข้ามถนนไปยังหอประชุมเพื่อดื่มกาแฟ โดนัท และซุบซิบนินทา ฉันกับแม่ยืนต่อคิวรอรับขนม ที่แท่นตั้งเครื่องทำกาแฟ พ่อกับพวกผู้ชายยืนล้อมมิสเตอร์ไอเวอร์ส – ประธานธนาคารที่พ่อทำงานอยู่ พ่อทำงานสัปดาห์ละหกวันโดยหวังว่าจะได้เลื่อนเป็นรองประธาน
“โซเวียตไม่ยอมให้ใครเข้าไปค้นหาร่างผู้เสียชีวิต ไอ้พวกไม่มีศาสนานี่ชั่วร้ายจริงๆ”
“สมัยที่เคนเนดีเป็นประธานาธิบดี งบกลาโหมสูงกว่าทุกวันนี้ถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์”
“ตอนนี้พวกเราก็เลยเป็นเป้านิ่งของมัน”
ฉันได้ยินทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจฟัง ขณะที่ทุกคนพากันกังวลกับสงครามเย็น การสนทนาอย่างเคร่งเครียดแบบนี้เป็นเสมือนเสียงซาวด์แทร็กทุกวันอาทิตย์หลังโบสถ์เลิก ฉันวุ่นวายกับการหยิบโดนัทลูกกลมใส่จาน กว่าจะเห็นว่าแม่กำลังหายใจฟืดฟาดก็ผ่านไปแล้วหนึ่งนาที ปกติเวลามีอาการแบบนี้แม่จะมีเหตุผลเสมอ เช่น “ชาวนากำลังเก็บเกี่ยว ละอองหญ้าในอากาศทำให้เป็นหอบขึ้นมา” หรือ “คุณพ่อมาโลนีย์โบกธูปอย่างกับจะรมควันพวกเรา” แต่คราวนี้แม่ได้แต่บีบต้นแขนฉัน พูดไม่ออก ฉันค่อยๆ พาแม่ไปยังโต๊ะที่ใกล้ที่สุด และช่วยให้แม่นั่งลงข้างมิสซิสกุสตาฟสัน แม่หย่อนตัวลงบนเก้าอี้เหล็กและดึงฉันนั่งลงข้างๆ
ฉันพยายามเรียกความสนใจจากพ่อ
“ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ ไม่ต้องวุ่นวาย” น้ำเสียงของแม่จริงจัง
“ช่างน่าเศร้าจริง เรื่องที่เกิดขึ้นกับคนบนเครื่องบินนั่น” มิสซิสไอเวอร์สซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามเอ่ย
“ฉันถึงไม่ไปไหนทั้งนั้นไง” มิสซิสเมอร์ด็อคว่า “ร่อนไปร่อนมาหาเรื่องใส่ตัวแท้ๆ”
“คนบริสุทธิ์หลายคนต้องเสียชีวิต” ฉันว่า “ประธานาธิบดีเรแกนบอกว่ามีสมาชิกสภาคองเกรสเสียชีวิตหนึ่งคนด้วยค่ะ”
“ดีแล้ว เหลือบจะได้ลดลงอีกตัว” มิสซิสเมอร์ด็อคยัดโดนัทชิ้นสุดท้ายในจานของแกเข้าไประหว่างฟันเหลืออ๋อย
“พูดไม่ดีเลยนะคะ คนเรามีสิทธิ์จะบินไปไหนมาไหนโดยไม่ถูกยิง” ฉันว่า
มิสซิสกุสตาฟสันสบตากับฉันแล้วพยักหน้า ราวกับว่าความคิดของฉันมีความหมาย แม้ฉันจะคอยแอบดูแกเสมอจนเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง แต่นี่คือครั้งแรกที่ฉันมีตัวตนขึ้นมาสำหรับแก
“เธอเป็นคนกล้าหาญนะที่ยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ” แกว่า
ฉันยักไหล่ “เราไม่ควรใจร้ายกับคนอื่นค่ะ”
“ฉันเห็นด้วยที่สุด”
ก่อนที่ฉันจะพูดอะไรออกไป เสียงมิสเตอร์ไอเวอร์สก็ลั่นขึ้นว่า “สงครามเย็นนี่ยืดเยื้อมาเกือบสี่สิบปีแล้ว เราไม่มีวันได้รับชัยชนะเลย”
หลายศีรษะผงกยึกยักเห็นด้วย
“ไอ้พวกฆาตกรเลือดเย็น” แกพูดต่อ
“คุณเคยเจอคนรัสเซียจริงๆ หรือเปล่า” มิสซิสกุสตาฟสันถาม “เคยทำงานกับคนรัสเซียหรือเปล่า ฉันเคยค่ะ และฉันบอกได้ว่าพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากคุณหรือฉันเลย”
หอประชุมเงียบกริบ มิสซิสกุสตาฟสันไปเจอศัตรูของเราที่ไหนล่ะนี่ แถมยังเคย ‘ทำงาน’ กับพวกเขาด้วยหรือ
ในฟรอยด์ ไม่มีเรื่องใดของชาวบ้านที่เราไม่รู้ ทุกคนรู้เรื่องของทุกคน เรารู้ว่าใครดื่มมากเกินไปและทำไม ใครโกงภาษี ใครนอกใจภรรยา ใครอยู่กับใครโดยไม่ได้แต่งงานที่มิโนต์ สิ่งเดียวที่เป็นความลับดำมืดคือมิสซิสกุสตาฟสัน ไม่มีใครรู้ว่าแกเป็นลูกเต้าเหล่าใคร พ่อแกทำงานอะไร หรือแกเจอบัค กุสตาฟสันตอนสงครามได้อย่างไร และไปทำอีท่าไหนเขาถึงได้ทิ้งแฟนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมมาแต่งงานกับแก มีข่าวลือมากมากเกี่ยวกับมิสซิสกุสตาฟสัน แต่สักพักก็จางไป ไม่มีอะไรติดทนนาน ดวงตาแกมีแววเศร้า แต่ไม่รู้ว่าจากความสูญเสียหรือความเสียใจ และหลังจากใช้ชีวิตในปารีส แกมาลงหลักปักฐานในเมืองเล็กกลางทุ่งที่แสนจะน่าเบื่อนี้ได้อย่างไร
ฉันเป็นนักเรียนประเภท ‘นั่งแถวหน้าและยกมือเสมอ’ แมรีหลุยส์นั่งหลังฉันและชอบเหม่อลอย วันนี้มิสแฮนสันยืนอยู่หน้ากระดานดำ พยายามทำให้นักเรียนเกรดเจ็ดสนุกกับเรื่อง อัศวินไอแวนโฮ แมรีหลุยส์พึมพำว่า ‘ไอแวน-โน’ ถัดไปแถวข้างๆ นิ้วสีน้ำตาลของร็อบบี้โอบรอบดินสอ ผมของเขาเหมือนขนนกและมีสีน้ำตาลเหมือนฉัน เขาขับรถเป็นแล้วเพราะต้องช่วยพ่อแม่ขนข้าวสาลี เขายกดินสอขึ้นมาที่ปาก ยางลบสีชมพูตรงปลายแตะริมฝีปากล่าง ฉันนั่งจ้องมุมปากเขาได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เบื่อเลย
เฟรนช์คิส เฟรนช์โทสต์ เฟรนช์ฟรายส์ ของดีทุกอย่างเป็นฝรั่งเศสทั้งนั้น เท่าที่รู้ถั่วลันเตาฝรั่งเศสอร่อยกว่าของอเมริกา เพลงฝรั่งเศสก็น่าจะไพเราะกว่าเพลงลูกทุ่งที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งเดียวของเมืองแน่นอน ‘อกหักดังเป๊าะ เมื่อแม่วัวนมโตหนีไปกับกระทิงที่หนุ่มกว่า’ คนฝรั่งเศสน่าจะรู้เรื่องรักๆ ดีกว่าพวกเรา
ฉันอยากเดินนวยนาดไปตามรันเวย์สนามบิน รันเวย์แฟชั่น อยากเป็นนางเอกละครบรอดเวย์ อยากเห็นหลังม่านเหล็ก อยากรู้สึกว่าเวลาภาษาฝรั่งเศสกลิ้งไปมาในปากเป็นยังไง คนเดียวที่ฉันรู้จักซึ่งเคยใช้ชีวิตนอกฟรอยด์คือมิสซิสกุสตาฟสัน
แม้จะอยู่บ้านติดกัน แต่เหมือนห่างไกลกันหลายปีแสง ทุกวันฮัลโลวีน แม่จะเตือนว่า “เจ้าสาวสงครามไม่เปิดไฟที่ระเบียง แสดงว่าแกไม่ต้องการให้เด็กๆ ไปเคาะประตู” ตอนที่แมรีหลุยส์กับฉันขายคุกกี้เนตรนารีแม่บอกว่า “ยัยป้านั่นต้องประหยัด ไม่ต้องไปขายแกนะ”
การได้เจอมิสซิสกุสตาฟสันจังๆ ทำให้ฉันกล้าขึ้น ตอนนี้สิ่งเดียวที่ต้องการก็คือการได้การบ้านเหมาะๆ จากครูเพื่อฉันจะได้ไปขอสัมภาษณ์แก
แล้วก็อย่างที่หวังไว้ มิสแฮนสันสั่งให้เราเขียนรายงานเกี่ยวกับ ไอแวนโฮ เมื่อหมดชั่วโมง ฉันเดินไปที่โต๊ะครู และบอกว่าฉันขอเขียนรายงานเกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งแทนได้ไหม
“ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ” มิสแฮนสันว่า “เอาละ ครูจะรออ่านรายงานเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสของเธอ”
ฉันมัวแต่ใจลอยคิดถึงแผนการขณะที่เดินไปห้องน้ำ ลืมก้มลงไปมองว่าแต่ละคอกมีคนหรือเปล่า แถมยังลืมล็อกประตูทางเข้า ดังนั้นพอเปิดประตูออกมาก็เห็นทิฟฟานี ไอเวอร์สยืนจัดแต่งผมสีน้ำตาลทองหน้ากระจกบนอ่างล้างมือกับลูกสมุนกลุ่มหนึ่ง
“อึมาแล้ว” เธอว่า “สงสัยที่กดน้ำเสีย”
พูดเหมือนคนไร้การศึกษา แต่เมื่อดูตัวเองในกระจก ผมสีน้ำตาลที่เห็นเต็มตาก็เหมือนอึจริงๆ นั่นแหละ ฉันรีรออยู่หน้าคอกเพราะรู้ว่าถ้าเดินไปล้างมือ ยัยทิฟฟานีจะต้องผลักฉันไปที่ก๊อกน้ำและตัวต้องเปียกแน่ แต่ถ้าเดินออกไปเลยก็จะถูกเอาไปโพนทะนาทั่วโรงเรียนว่าฉันไม่ล้างมือเหมือนที่พวกเขาทำกับเมซี จะไม่มีใครอยากนั่งใกล้คน “มือเหม็นฉี่” ไปหนึ่งเดือนได้ แก๊งอันธพาลคุมห้องน้ำสี่คนยืนกอดอกรอจัดการฉัน
เสียงบานพับประตูดังเอี๊ยด มิสแฮนสันโผล่หน้าเข้ามาดู “เข้าห้องน้ำอีกแล้วนะทิฟฟานี กระเพาะปัสสาวะมีปัญหาหรือเปล่า”
แก๊งสี่คนเดินออกไป สายตามองฉันเหมือนบอกว่า ฝากไว้ก่อนนะ เรื่องไม่จบแค่นี้หรอก
เรื่องนี้แม่ผู้มองโลกในแง่ดีของฉันคงบอกให้มองในด้านดีว่าอย่างน้อยตาแก่ไอเวอร์สก็ไข่ทิ้งไว้แค่ฟองเดียว และวันนี้เป็นวันศุกร์
ปกติพ่อกับแม่จะเป็นเจ้าภาพดินเนอร์คลับในวันศุกร์ (แม่ทำซี่โครงอบ เคย์เอาสลัดมา และซู บ็อบทำเค้กหน้าสับปะรด) ส่วนฉันจะไปนอนค้างกับแมรีหลุยส์ แต่คืนนี้ฉันนั่งคิดคำถามที่จะถามมิสซิสกุสตาฟสันอยู่ในห้องนอน เสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากห้องอาหารขณะที่พวกผู้ใหญ่นั่งกินอาหารกัน เสียงเงียบลงและฉันรู้ว่าพวกเขากำลังทำเหมือนท่านลอร์ดและเลดี้ในอังกฤษ พวกผู้หญิงจะแยกออกมาเพื่อให้พวกผู้ชายได้ย้ายไปนั่งคุยสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถคุยกันได้หากภรรยานั่งอยู่ด้วย
ขณะที่พวกผู้หญิงพากันไปล้างจาน ฉันนั่งฟังแม่พูดคุยกับเพื่อนๆ ด้วยน้ำเสียงอีกแบบ ดูเหมือนแม่จะมีความสุขขึ้นเวลาอยู่กับเพื่อน คิดดูก็ตลกดีที่คนๆ หนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกคนได้ มันทำให้ฉันคิดว่ามีเรื่องอีกมากมายเกี่ยวกับแม่ที่ฉันไม่รู้ แม้ว่าแม่จะไม่ได้ลึกลับเท่ามิสซิสกุสตาฟสันก็เถอะ
ฉันนั่งเขียนคำถามที่ผุดขึ้นในหัว – ครั้งสุดท้ายที่กิโยตินตัดหัวคนคือเมื่อไหร่ ที่ฝรั่งเศสมีพยานพระยะโฮวาเหมือนกันไหม ทำไมชาวบ้านถึงพูดกันว่าคุณแย่งสามีคนอื่น ตอนนี้สามีคุณเสียชีวิตแล้ว ทำไมคุณยังอยู่ที่นี่ – ฉันกำลังจดจ่อกับงาน กว่าจะรู้ว่าแม่มายืนอยู่ข้างหลังก็ตอนที่มืออุ่นๆ ของแม่วางลงบนไหล่
“วันนี้ไม่ไปค้างกับแมรีหลุยส์เหรอจ๊ะ”
“หนูต้องทำการบ้าน”
“วันศุกร์เนี่ยนะ” แม่พูดอย่างไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ “วันห่วยแตกที่โรงเรียนเหรอลูก”
ส่วนใหญ่ก็ห่วยแตกแทบทุกวันอยู่แล้ว แต่ฉันไม่อยากพูดถึงทิฟฟานี ไอเวอร์สตอนนี้ แม่ยื่นกล่องของขวัญขนาดเท่ากล่องรองเท้าที่ซ่อนไว้ด้านหลังให้ “แม่ทำของบางอย่างไว้ให้ลูกนะ”
“ขอบคุณค่ะ!” ฉันกระชากกระดาษห่อของขวัญออก และพบเสื้อหนาวถักโครเชต์ข้างใน
ฉันหยิบขึ้นมาสวมทับเสื้อยืดที่ใส่อยู่ แม่จัดตรงเอวให้เรียบร้อย และดีใจที่เสื้อมีขนาดพอดีเป๊ะ “ลูกดูสวยนะ สีเขียวช่วยขับสีตาให้เด่นขึ้นด้วย”
ฉันชำเลืองมองกระจกแล้วพบว่าตัวเองดูเหมือนยัยงั่งไม่ผิด ถ้าใส่เสื้อตัวนี้ไปโรงเรียนต้องโดนยัยทิฟฟานีแหกแน่
“อืม…สวยดีค่ะ” ฉันพูดช้าไปหน่อย
แม่ยิ้มซ่อนความน้อยใจ “มีการบ้านอะไรเหรอ”
ฉันบอกว่าเป็นรายงานเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสและฉันต้องสัมภาษณ์มิสซิสกุสตาฟสัน
“โอย…อย่าไปรบกวนแกเลยลูก”
“จะถามอะไรสักสองสามคำถามเท่านั้นน่ะแม่ หนูเชิญแกมาบ้านได้ไหมคะ”
“น่าจะได้นะ ว่าแต่ลูกจะถามอะไรล่ะ”
ฉันชี้ไปยังกระดาษที่เขียนอยู่
หลังจากมองไปที่คำถามแล้วแม่ก็ถอนใจดังเฮือก “บางทีมิสซิสกุสตาฟสันอาจมีเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากกลับไปก็ได้นะ”
บ่ายวันเสาร์ ฉันเดินจ้ำผ่านรถเชฟโรเล็ตคันเก่าของมิสซิสกุสตาฟสันตรงไปขึ้นบันไดง่อนแง่นหน้าบ้านและกดกระดิ่ง ติ๊งต่อง เงียบ ฉันกดอีกครั้ง เงียบ ดังนั้นฉันจึงลองผลักประตูดู มันเปิดออกเสียงเอียดอาด “หวัดดีค่ะ” ฉันพูดและเดินเข้าไป
เงียบ
“มีใครอยู่ไหมคะ”
ห้องนั่งเล่นเงียบสงัด ที่ผนังมีหนังสือเรียงราย กระถางเฟิร์นตั้งเป็นแถวใต้หน้าต่างกระจก เครื่องสเตอริโอใหญ่เทอะทะขนาดเท่าตู้แช่แข็งที่แช่คนทั้งคนได้ ฉันไล่นิ้วดูแผ่นเสียง มีไชคอฟสกี บาค แล้วก็ไชคอฟสกีอีกหลายแผ่น
มิสซิสกุสตาฟสันเดินลากเท้ามาตามโถงทางเดินราวกับเพิ่งตื่นจากงีบหลับตอนบ่าย แม้จะอยู่คนเดียว ไม่มีแขก แต่แกก็ยังสวมกระโปรงชุดและคาดเข็มขัดสีแดง ถุงเท้าบางๆ ที่สวมทำให้แกดูบอบบาง จู่ๆ ฉันก็นึกขึ้นได้ว่าไม่เคยเห็นรถเพื่อนฝูงมาจอดหน้าบ้านแก ไม่เคยเห็นแกจัดเลี้ยงญาติโยมที่บ้าน ดูเหมือนแกจะเป็นนิยามของความสันโดษอย่างแท้จริง
มิสซิสกุสตาฟสันหยุดห่างจากฉันไปสองสามฟุต และมองจ้องฉันราวกับเป็นโจรที่เข้ามาปล้นแผ่นเสียงเพลง สวอนเลค “เธอต้องการอะไร”
คุณรู้อะไรต่อมิอะไรมากมาย และหนูอยากรู้ด้วย
แกยกมือกอดอก “ว่าไง”
“หนูกำลังทำรายงานส่งครูเกี่ยวกับคุณ หนูหมายความว่าประเทศของคุณน่ะค่ะ หนูอยากเชิญคุณไปสัมภาษณ์ที่บ้านได้ไหมคะ”
ริมฝีปากของแกคว่ำลง ไม่ตอบฉัน
ความเงียบทำให้ฉันกระสับกระส่าย “บ้านของคุณเหมือนห้องสมุดเลยค่ะ” ฉันชี้ไปที่ชั้นหนังสือซึ่งเต็มไปด้วยชื่อที่ฉันไม่รู้จัก..อย่าง มาดาม เดอ สตาแอล, มาดามโบวารี, ซิโมน เดอ โบวัวร์
นี่อาจเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าก็ได้ คิดแล้วฉันก็ตัดสินใจหันหลังกลับ
“เมื่อไหร่” มิสซิสกุสตาฟสันถาม
ฉันหันกลับไป “เดี๋ยวนี้เลยเป็นไงคะ”
“ฉันยุ่งอยู่” แกพูดอย่างหงุดหงิด ราวกับเป็นประธานบริษัทที่กำลังยุ่งและต้องกลับไปบริหารจัดการห้องนอนโดยด่วน
“หนูกำลังทำรายงานค่ะ” ฉันพูดเตือนสติแกอีกครั้งเพราะว่าโรงเรียนมีความสำคัญรองจากพระเจ้า ประเทศของเรา และอเมริกันฟุตบอล
มิสซิสกุสตาฟสันเดินไปเปลี่ยนรองเท้าเป็นส้นสูงและหยิบกุญแจบ้าน ฉันเดินตามออกไป แล้วยืนรอแกล็อกประตู แกเป็นคนเดียวในฟรอยด์ที่ล็อกประตูบ้าน
“เธอบุกเข้าบ้านคนอย่างนี้เสมอรึ” แกถามขณะที่เราเดินตัดสนามหญ้าไปที่บ้านฉัน
ฉันยักไหล่ “คนอื่นเขาจะมาเปิดประตูกันเวลาหนูกดกริ่งค่ะ”
ในห้องอาหารของบ้านเรา มิสซิสกุสตาฟสันประสานมือเข้ากันก่อนจะปล่อยมือตกข้างลำตัว ตามองไปที่พรม ที่นั่งข้างหน้าต่าง รูปถ่ายของครอบครัวบนผนัง แล้วขยับปากเหมือนจะพูดว่า “น่ารักจริง” อย่างที่ผู้หญิงคนอื่นๆ จะพูดกัน แต่แล้วก็กลับขบกรามแน่น
“ยินดีต้อนรับค่ะ” แม่พูดพลางวางจานคุกกี้ช็อคโกแล็ตชิพลงบนโต๊ะ
ฉันทำท่าเชิญเพื่อนบ้านของเรานั่งลงที่โต๊ะ แม่วางถ้วยมัคลงหน้าจานของตัวเองและฉัน แล้ววางถ้วยชาพร้อมจานรองตรงหน้ามิสซิสกุสตาฟสัน ฉันรู้เรื่องราวของถ้วยชานี้อย่างดี หลายปีก่อน มิสซิสไอเวอร์สได้ไป ‘ทัวร์ปราสาทและพระราชวัง’ ที่อังกฤษ ตอนนั้นพ่อฝากเงินให้แกช่วยซื้อชุดน้ำชาอย่างดีให้แม่ แต่ชุดถ้วยชากระเบื้องมีราคาแพงลิบ เงินที่ฝากไปจึงได้แค่ถ้วยชาและจานรองชุดเดียว มิสซิสไอเวอร์สถือมันไว้บนตักตลอดเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยกลัวว่ามันจะแตก ฉันคิดว่าถ้วยชาลายดอกไม้สีฟ้ากระจุ๋มกระจิ๋มแสนบอบบางนี้มาจากที่ใดที่หนึ่งที่ดีกว่า มีความประณีตกว่า เหมือนมิสซิสกุสตาฟสัน
แม่เทน้ำชา ฉันทำลายความเงียบ “อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับปารีสคะ มันเป็นเมืองที่สวยที่สุดในโลกจริงหรือเปล่า ชีวิตของคุณที่นั่นเป็นยังไงบ้างคะ”
มิสซิสกุสตาฟสันไม่ได้ตอบคำถามของฉันทันที
“หวังว่าไม่เป็นการรบกวนนะคะ” แม่ว่า
“ครั้งสุดท้ายที่ฉันถูกสัมภาษณ์แบบนี้คือตอนที่ฉันไปสัมภาษณ์งาน สมัยอยู่ที่ฝรั่งเศส”
“คุณตื่นเต้นไหมคะ”
“ตื่นเต้นสิ แต่ฉันเตรียมพร้อมด้วยการท่องจำหนังสือเป็นเล่มๆ หลายเล่มทีเดียว”
“แล้วมันช่วยได้ไหมคะ”
แกยิ้มเศร้า “เราต้องเจอคำถามที่เราไม่ได้เก็งไว้เสมอแหละ”
“ลิลลีจะไม่ถามคำถามแบบนั้นหรอกค่ะ” แม่พูดกับมิสซิสกุสตาฟสัน แต่จริงๆ แล้วจะเตือนฉัน
“สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับปารีสก็คือ มันเป็นเมืองของนักอ่าน” เพื่อนบ้านของเราบอก
เธอพูดต่อว่า ที่นั่นมองหนังสือสำคัญเท่าๆ กับเฟอร์นิเจอร์ ในฤดูร้อนมิสซิสกุสตาฟสันจะไปนั่งอ่านหนังสือในสวนสาธารณะที่ร่มรื่น จากนั้น เหมือนกับที่สวนตุยเลอรีส์จะนำต้นปาล์มเข้าไปเก็บในเรือนกระจกทันทีที่น้ำค้างเริ่มจับแข็ง ในฤดูหนาวแกจะเข้าไปนั่งขดตัวข้างหน้าต่างในห้องสมุดโดยมีหนังสือวางอยู่บนตัก
“คุณชอบอ่านหนังสือหรือคะ” ฉันถาม เพราะสำหรับฉันแล้ววรรณกรรมคลาสสิกทั้งหลายที่ครูสั่งให้ไปอ่านเป็นการบ้านในวิชาภาษาอังกฤษเป็นเหมือนยาขมทีเดียว
“ฉันอยู่เพื่ออ่าน” แกตอบ “ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบัน”
ฟังดูน่าสนุกพอกับการนั่งดูหิมะละลายนั่นแหละ “แล้วตอนที่อายุเท่าหนูล่ะคะ”
“ก็ชอบนิยายเยาวชนอย่าง ในสวนลับ พี่ชายฝาแฝดของฉันชอบพวกข่าว”
พี่ชายฝาแฝด! ฉันอยากถามว่าเขาชื่ออะไร แต่แกเปลี่ยนเรื่องเสียก่อน ชาวปารีสชื่นชอบอาหารพอกับวรรณกรรม แกพูดต่อ แม้เวลาจะผ่านไปกว่าสี่สิบปีแล้ว แต่แกยังคงจำขนมอบที่คุณพ่อของแกซื้อมาฝากในวันแรกของการทำงานได้ มันคือเค้กที่เรียกว่า ฟีนานซิเยร์ แกหลับตาและบอกว่าแป้งอัลมอนด์หอมอบอวลด้วยเนยในปากทำให้รู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์ทีเดียว คุณแม่ของแกชอบขนมเค้กโอเปรา ซึ่งแต่ละชั้นฉ่ำชุ่มด้วยกาแฟและเคลือบด้วยช็อคโกแลต… ฟี-นาห์น-ซี-เย…โอห์-เปย์-ราห์ ฉันลองพูดตาม และชอบความรู้สึกที่ลิ้นเวลาออกเสียง
“ปารีสเป็นเมืองที่คุยกับเรา” แกเล่าต่อ “เป็นเมืองที่ฮัมเพลงประจำตัวไปด้วยตลอดเวลา ในฤดูร้อนชาวปารีสจะเปิดหน้าต่างออกกว้าง เราจะได้ยินเสียงเปียโนกรุ๋งกริ๋งจากเพื่อนบ้าน เสียงสับไพ่ เสียงคลื่นซ่าๆ เวลาคนหมุนปุ่มบนวิทยุ มีเสียงเด็กหัวเราะ เสียงคนทุ่มเถียงกัน เสียงคนเป่าคลาริเน็ตที่จตุรัสดังไม่ขาดสาย”
“ฟังดูดีจังค่ะ” แม่พูด นัยน์ตาชวนฝัน
ปกติแล้วในวันอาทิตย์หลังโบสถ์เลิก ไหล่ของมิสซิสกุสตาฟสันตกลง แววตาเหมือนป้ายนีออนของโอเอซิสบาร์ในวันจันทร์ – ถูกถอดปลั๊กออก แต่ตอนนี้ตาของแกเป็นประกาย เมื่อพูดถึงปารีสเส้นสายกระด้างบนใบหน้าของแกดูเหมือนจะอ่อนโยนลง น้ำเสียงก็เช่นกัน ทำให้ฉันสงสัยว่าทำไมแกถึงทิ้งที่นั่นมาได้
แม่ทำให้ฉันแปลกใจเมื่อถามขึ้นว่า “ชีวิตที่นั่นเป็นยังไงบ้างคะในช่วงสงคราม”
“ลำบากมาก” นิ้วที่โอบถ้วยชาอยู่เกร็งขึ้น เวลาที่เสียงไซเรนกรีดดังขึ้น ครอบครัวของแกต้องวิ่งเข้าไปหลบในห้องใต้ดิน อาหารต้องปันส่วน แต่ละคนได้ไข่เดือนละฟองเท่านั้น ทุกคนผอมลงเรื่อยๆ จนแกคิดว่าวันหนึ่งพวกเขาคงหายไปดื้อๆ พวกเขาต้องผ่านด่านตรวจบนถนนของพวกนาซีซึ่งยืนเกาะกันเป็นฝูงเหมือนหมาป่า ผู้คนถูกจับโดยไม่มีเหตุผล หรือเหตุผลที่ไม่สลักสำคัญ เช่นอยู่นอกบ้านระหว่างเคอร์ฟิว
ฉันนึกว่าเคอร์ฟิวมีไว้สำหรับวัยรุ่นเท่านั้นเสียอีก อย่างแองเจิล พี่สาวของแมรีหลุยส์ที่ต้องกลับบ้านก่อนเคอร์ฟิว
“อะไรในปารีสที่คุณคิดถึงที่สุดคะ” ฉันถาม
“ครอบครัวและเพื่อนๆ” ดวงตาสีน้ำตาลมีแววเศร้า “คนที่เข้าใจฉัน ฉันคิดถึงการพูดภาษาฝรั่งเศส มันทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน”
ฉันไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ความเงียบคืบคลานเข้ามาในห้อง เราสองคนแม่ลูกเริ่มกระสับกระส่าย แต่ดูเหมือนเพื่อนบ้านของเราจะไม่รู้สึกอะไร และยกน้ำชาที่เหลืออยู่ก้นถ้วยขึ้นจิบ
เมื่อเห็นว่าเหลือน้ำชาในถ้วยหมดแล้ว แม่จึงลุกผลุงจากเก้าอี้ “ฉันจะไปต้มน้ำค่ะ”
เมื่อเดินไปได้ครึ่งทาง จู่ๆ แม่ก็หยุด และโซเซ ก่อนจะยื่นมือหนึ่งไปคว้าตู้ไว้ ยังไม่ทันที่ฉันจะคิดทำอะไร มิสซิสกุสตาฟสันก็พรวดเข้าไปโอบเอวแม่และพาเดินกลับมานั่งที่เก้าอี้ ฉันคุกเข่าลงข้างแม่ แก้มแม่แดงก่ำ หายใจสั้นๆ ช้าๆ เหมือนอากาศไม่ต้องการเข้าไปในปอด
“ฉันไม่เป็นไรค่ะ” แม่ว่า “แค่ลุกจากเก้าอี้เร็วเกินไปเท่านั้น”
“เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า” มิสซิสกุสตาฟสันถาม
แม่มองมาที่ฉัน ดังนั้นฉันจึงเดินกลับไปนั่งและทำเป็นวุ่นวายกับการปัดเศษคุกกี้จากโต๊ะ
“สองสามครั้งค่ะ” แม่สารภาพ
มิสซิสกุสตาฟสันโทรหาหมอสแตนช์ฟิลด์ทันที ในฟรอยด์ ผู้ใหญ่ทุกคนพูดเหมือนกันว่า “ในเมืองใหญ่ ถ้าโทรหาหมอ หมอไม่มีทางมา ไม่ว่าคุณจะป่วยหนักแค่ไหนก็ตาม แต่ที่นี่ แค่ดังสองกริ๊งเท่านั้น เลขาจะรับสาย และหมอสแตนช์จะถึงบ้านคุณในสิบนาทีไม่ขาดไม่เกิน” ทารกทุกคนที่เกิดในสามเขตของฟรอยด์เป็นฝีมือหมอแตนช์ทั้งสิ้น มือตกกระอุ่นๆ ของแกคือมือแรกที่อุ้มพวกเรา
หมอสแตนช์ฟิลด์เคาะประตูและเดินเข้ามาพร้อมกระเป๋าหนังสีดำในมือ
“คุณหมอไม่จำเป็นต้องมาเลยค่ะ” แม่พูดด้วยความเกรงใจ แม่จะพาฉันไปหาหมอสแตนช์ทันทีที่ฉันแค่จาม แต่แม่ไม่เคยนัดพบหมอสำหรับโรคหอบของแม่เองเลย
“เรื่องนี้ให้ฉันเป็นคนตัดสินเองเถอะนะ” หมอปัดผมแม่ไปข้างหนึ่งอย่างอ่อนโยน แล้วเอาที่ฟังวางลงบนหลัง “หายใจยาวๆ ซิ”
แม่สูดหายใจ
“นั่นยาวแล้วรึ…” จากนั้นหมอก็วัดความดัน เขาขมวดคิ้วและบอกว่าค่อนข้างสูงนะ แล้วเขียนใบสั่งยา
บางทีแม่อาจเข้าใจผิดก็ได้ว่าเป็นหอบ
หลังอาหารเย็น แมรีหลุยส์กับฉันนอนแผ่เขียนรายงานบนพื้นพรม “มิสซิสกุสตาฟสันพูดอะไรมั่ง” เธอถาม
“บอกว่าสงครามอันตราย”
“อันตราย? ยังไงเหรอ”
“มีศัตรูอยู่ทั่วทุกแห่ง” ฉันนึกภาพมิสซิสกุสตาฟสันเดินไปทำงาน ตามท้องถนนเต็มไปด้วยหมาป่าสกปรก บ้างหอน บ้างเดินเข้ามาแทะส้นสูง แต่แกยังคงเดินต่อไปไม่หยุด บางทีแกอาจไม่เคยใช้ทางเดิมซ้ำสอง
“แปลว่าแกต้องเดินหลบตลอดเวลา”
“คงงั้น”
“เกิดแกเป็นสายลับขึ้นมานี่คงเท่ไม่เบาเลยนะ”
“แน่นอน” ฉันนึกภาพแกส่งข้อความลับซึ่งซ่อนอยู่ในหนังสือกลิ่นอับๆ
“พูดถึงความลับ” แมรีหลุยส์วางดินสอลง “ฉันแอบสูบบุหรี่ของแองเจิลล่ะ”
“แอบสูบบุหรี่คนเดียวน่ะเหรอ! ไม่จริง”
แมรีหลุยส์ไม่ตอบ
“ไม่จริง” ฉันพูดอีกครั้ง
“กับทิฟฟานี”
คำตอบของเธอทำฉันอึ้ง “ถ้าเธอสูบบุหรี่ ฉันจะไม่พูดกับเธออีก” ฉันพูด แล้วกลั้นหายใจรอ
เราสองคนอายุสิบสองเท่ากัน แต่แมรีหลุยส์รู้ทุกอย่างก่อนฉันเพราะเธอมีพี่สาว เธอรู้เรื่องถุงยางและเหล้าเบียร์ พ่อแม่ฉันไม่ยอมให้ฉันแต่งหน้า เธอจึงให้ฉันยืมเครื่องสำอาง แมรีหลุยส์แข็งแรงกว่าฉัน ทำอะไรเร็วกว่าฉัน และตอนนี้ฉันรู้สึกว่าเธอกำลังวิ่งทิ้งฉันไว้เบื้องหลัง
“ฉันไม่ชอบเท่าไหร่หรอกน่า” เธอว่า
ในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา แม่เริ่มกินอาหารไม่ลง เสื้อผ้าเริ่มหลวมโพรก ยาที่หมอสแตนช์ให้ไม่ได้ผล พ่อจึงพาแม่ไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญซึ่งบอกว่าเป็นเพราะความเครียด แม่เหนื่อยเกินกว่าจะทำอาหาร ดังนั้นพ่อจึงทำแซนด์วิช เราสองพ่อลูกนั่งกินแซนด์วิชเนยแข็งย่างกันที่เคาน์เตอร์ครัวในวันขอบคุณพระเจ้า พลางเหลือบมองไปที่ประตูและหวังว่าแม่จะรู้สึกดีพอที่จะมาร่วมฉลองได้
พ่อกระแอม “โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง”
ฉันได้เอทุกวิชา ยังไม่มีแฟน และทิฟฟานี ไอเวอร์สพยายามแย่งแมรีหลุยส์ไปจากฉัน “ก็ดีค่ะ”
“ก็ดีเหรอ”
“เพื่อนหนูใครๆ ก็แต่งหน้ากันทั้งนั้น ทำไมหนูถึงแต่งไม่ได้”
“เด็กผู้หญิงสวยๆ อย่างลูกไม่ต้องเอาอะไรมาโปะหน้าหรอก”
ฉันไม่ได้ยินส่วนใหญ่ที่พ่อพูด ไม่ได้ยินความห่วงใย ไม่ได้ยินที่พ่อบอกว่าฉันสวยอยู่แล้ว คำที่ได้ยินคือ ไม่
“แต่พ่อคะ–”
“ลูกคงไม่ไปตื๊อแม่แบบนี้นะ”
เราสองพ่อลูกหันไปมองประตูห้องนอนเป็นครั้งที่พัน
แมรีหลุยส์กับฉันสะพายเป้ใส่หนังสือเรียนเดินกลับบ้านด้วยกัน ระหว่างทางเราหยุดเล่นกับเจ้าสโมคกี้ สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดบนถนนสายที่หนึ่ง แล้วเดินผ่านบ้านพวกไฟล์ชที่มีรูปปั้นคนแคระสี่สิบเจ็ดตัววางกระจายอยู่บนสนามหญ้า แต่ละตัวแทนจำนวนปีที่มิสเตอร์กับมิสซิสไฟล์ชแต่งงานกัน ที่บ้านหัวมุม ยายแก่หงำเหงือกมิสซิสเมอร์ด็อคแหวกม่านลูกไม้ออกดู เพื่อความแน่ใจว่าเราสองคนไม่เดินตัดสนามหญ้าบ้านแก หาไม่แล้วแกจะโทรไปฟ้องพ่อแม่เรา
ทุกคนในฟรอยด์จะไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งเดียวกัน ดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน มีอดีตและมีเรื่องเล่าเหมือนกัน เช่น มิสซิสเมอร์ด็อคไม่ได้ดุแบบนี้จนกระทั่งสามีแกหัวใจวายตายขณะโกยหิมะ บัค กุสตาฟสันไม่เหมือนบัคคนเดิมหลังจากสงคราม พวกเราอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน หาหมอคนเดียวกัน ไม่ว่าจะไปไหนก็ตามเราจะใช้ถนนดินสายเดียวกัน มองดูรถเกี่ยวข้าวกระชากข้าวสาลีขึ้นจากท้องทุ่งขณะที่แล่นไปเรื่อยๆ กลิ่นอากาศบริสุทธิ์สะอาด ตรงไปตรงมา จมูกและปากเต็มไปด้วยกลิ่นและรสชาตินุ่มนวลของฟาง ฝุ่นละอองจากการเก็บเกี่ยวแทรกอยู่ในสายเลือดที่สูบฉีดไปทั่วร่าง
“ไว้ย้ายไปอยู่เมืองใหญ่กันเถอะ” แมรีหลุยส์ถลึงตาใส่มิสซิสเมอร์ด็อค “ที่ที่ไม่มีใครรู้เรื่องใคร”
“และอยากจะทำอะไรก็ได้” ฉันเสริม “เช่นร้องกรี๊ดในโบสถ์”
“หรือไม่ไปโบสถ์ก็ยังได้”
พูดถึงตรงนี้เราสองคนก็เงียบไป ไอเดียใหญ่โตขนาดนี้ต้องใช้เวลาในการซึมซาบ เราสองคนเดินไปโดยไม่พูดอะไรในช่วงถนนสุดท้ายก่อนถึงบ้าน ฉันมองจากถนนเห็นแม่ที่หน้าต่าง แสงสะท้อนที่กระจกทำให้แม่ดูซีดเซียวเหมือนผี
แมรีหลุยส์เดินต่อไปที่บ้านของเธอ ส่วนฉันตรงไปยังตู้จดหมายแล้วยืนจับเสาตู้ผุๆ ยังไม่อยากเข้าไปในบ้าน เมื่อก่อนแม่จะอบคุกกี้พลางคุยกับเพื่อนๆ ที่เคาน์เตอร์ครัว บางทีก็ขับรถมารับฉันที่โรงเรียนและไปส่องนกด้วยกันที่ทะเลสาบเมดิซีนอันเป็นที่โปรดในการส่องนกของแม่ ฉันกับแม่ในรถตู้จะมองตรงไปทางเดียวกัน ถนนที่ทอดยาวเบื้องหน้ามีความเป็นไปได้สารพัดรออยู่ ฉันเล่าเรื่องปัญหาเกี่ยวกับทิฟฟานี ไอเวอร์ส หรือบ่นเรื่องคะแนนสอบของฉันให้แม่ฟังได้อย่างสบายใจ บางครั้งก็เล่าเรื่องดีๆ ด้วย เช่น ตอนเรียนพละที่ร็อบบี้เป็นหัวหน้าทีม และเลือกฉันเป็นคนแรกก่อนจะเลือกพวกผู้ชายเสียอีก ทุกครั้งที่ฉันตีลูกออก ทุกคนจะบ่นอย่างเจ็บแสบ แต่ร็อบบี้ยืนหยัดอยู่ข้างฉัน และบอกว่า “คราวต่อไปเธอทำได้แน่”
แม่รู้ทุกเรื่องของฉัน
มีนก 270 สายพันธุ์ที่ทะเลสาบเมดิซีน เราสองคนแม่ลูกเดินลุยหญ้าสูงท่วมหัวเข่า แม่คล้องกล้องส่องทางไกลที่คอ “ถึงเหยี่ยวจะยิ่งใหญ่กว่า” แม่ว่า “ถึงพวกนกไปป์ปิงโพลเวอร์จะมีชื่อเพราะที่สุด แต่แม่ก็ยังชอบนกโรบินที่สุดอยู่ดี”
ฉันล้อแม่ที่อุตส่าห์ขับรถมาดูนกไกลขนาดนี้ทั้งที่สนามหญ้าหน้าบ้านเราก็มี
“โรบินเป็นนกที่สง่างาม” แม่ว่า “เป็นลางดี เป็นสิ่งเตือนให้ตระหนักว่าเรามีสิ่งดีๆ มากมายอยู่ตรงหน้า” เธอโอบกอดฉันแน่น
เดี๋ยวนี้ แม่ได้แต่อยู่บ้านตามลำพัง น้อยครั้งที่จะมีเรี่ยวแรงพอที่จะพูดคุยกับใครแม้กระทั่งฉัน
ตอนนั้นเองที่มิสซิสกุสตาฟสันเดินออกมาเอาจดหมายที่ตู้จดหมายของแก ฉันเดินข้ามแนวหญ้าสีน้ำตาลที่กั้นระหว่างเราไปหา แกหยิบจดหมายขึ้นแนบอก
“ใครส่งมาคะ”
“ลูซีน เพื่อนฉันที่ชิคาโก เราเขียนกันไปมาหลายสิบปีแล้ว เราสองคนเดินทางมาที่นี่ในเรือลำเดียวกัน – สามอาทิตย์ที่ไม่มีวันลืมจากนอร์มังดีมานิวยอร์ก” แกมองฉัน “ทุกอย่างเรียบร้อยดีไหม”
“หนูสบายดีค่ะ” ทุกคนรู้ดีว่า จงอย่าเรียกร้องความสนใจให้ตัวเอง ไม่มีใครชอบคนโอ้อวด อย่าเหลียวหน้ามองหลังในโบสถ์แม้จะมีเสียงระเบิดดังตูมข้างหลังก็ตาม เวลาที่ใครถามว่าเป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม ให้ตอบว่า “สบายดี” ถึงจะกลัวหรือไม่สบายใจอยู่ก็ตาม
“เข้ามาในบ้านไหม” แกถาม
ฉันเข้าไปในบ้าน ทิ้งเป้ลงหน้าเหล่าชั้นวาง มีหนังสือเต็มไปหมด แต่มีภาพถ่ายใบเล็กขนาดเท่าภาพโพลารอยด์เพียงสามภาพ บ้านฉันมีภาพถ่ายมากกว่าหนังสือ (มีพระคัมภีร์ หนังสือดูนกของแม่ และสารานุกรมหนึ่งชุดที่เราซื้อเมื่อมีคนวางขายของเก่าตามหน้าบ้านตัวเอง)
รูปแรกเป็นรูปนาวิกโยธินหนุ่มที่มีตาเหมือนมิสซิสกุสตาฟสัน
มิสซิสกุสตาฟสันเดินมายืนข้างฉัน “ลูกชายฉัน มาร์ค เขาเสียชีวิตในเวียดนาม”
ครั้งหนึ่งตอนที่ฉันยืนแจกใบปลิวที่โบสถ์ ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งยืนออกันที่อ่างน้ำมนต์ พอมิสซิสกุสตาฟสันเดินเข้ามา มิสซิสไอเวอร์สก็พูดเสียงเบาๆ ขึ้นว่า “พรุ่งนี้เป็นวันครบรอบวันตายของมาร์ค” มิสซิสเมอร์ด็อคส่ายหน้าแล้วพูดว่า “ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าการต้องสูญเสียลูกอีกแล้ว เราน่าจะส่งดอกไม้หรือ–”
“หยุดซุบซิบนินทากันได้แล้ว” มิสซิสกุสตาฟสันแหว “อย่างน้อยก็เพลาๆ ระหว่างพิธีมิสซาหน่อยเถอะ”
ทุกคนจุ่มมือสั่นๆ ลงในอ่างน้ำมนต์ รีบทำเครื่องหมายกางเขน และเดินหลบๆ ซ่อนๆ กลับที่นั่ง
ฉันลูบกรอบรูปและพูดว่า “เสียใจด้วยค่ะ”
“ฉันก็เหมือนกัน”
ความเศร้าที่แฝงในน้ำเสียงทำให้ฉันอึดอัด ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมมิสซิสกุสตาฟสัน ไม่ว่าจะเป็นญาติสามี หรือครอบครัวชาวฝรั่งเศสของแก หรือว่าทุกคนที่แกรักเสียชีวิตไปหมดแล้ว แกคงไม่อยากให้ฉันเข้ามาในบ้านและรื้อฟื้นความสูญเสีย คิดแล้วฉันก็เดินไปหยิบเป้
“เอาคุกกี้หน่อยไหม” เธอถาม
ในครัวของแก ฉันหยิบขนมชิ้นใหญ่ที่สุดขึ้นมาสองชิ้นและกินหมดเกลี้ยงก่อนที่ตัวแกเองจะเริ่มหยิบเสียอีก คุกกี้น้ำตาลแผ่นบางกรอบของแกถูกม้วนเป็นแท่งเหมือนกล้องส่องทางไกลอันจิ๋ว
แกเพิ่งอบถาดแรกเสร็จ ดังนั้นในอีกชั่วโมงต่อมาฉันจึงนั่งช่วยแกม้วนแป้งทั้งหมดที่เหลือ ฉันรู้สึกขอบคุณที่แกไม่เอ่ยถึงแม่เลย ไม่มีการบอกว่า “เราไม่เห็นแม่หนูในงานประชุมครูและผู้ปกครองเลย บอกแม่ด้วยนะว่าทุกคนต้องช่วยกัน” หรือ “แม่หนูไม่เป็นอะไรมากหรอก แค่หมูอบอร่อยๆ ก็ช่วยให้ดีขึ้นแล้ว” ฉันไม่เคยรู้สึกดีกับความเงียบขนาดนี้มาก่อนเลย
“คุกกี้นี่เรียกว่าอะไรคะ” ฉันถามและหยิบอีกชิ้น
“ซิการ์เร็ตส์รุสส์ – บุหรี่รัสเซีย”
คุกกี้คอมมิวนิสต์! ฉันรีบวางกลับใส่จาน “ใครสอนคุณคะ”
“ฉันได้สูตรจากเพื่อนตอนที่ฉันเอาหนังสือไปส่ง และเธอเอาคุกกี้แบบนี้มาเลี้ยง”
“ทำไมเพื่อนคุณไม่มาเอาหนังสือเองล่ะคะ”
“ตอนสงครามเธอใช้ห้องสมุดไม่ได้”
ก่อนที่ฉันจะถามว่าทำไมก็มีเสียงทุบประตู “มิสซิสกุสตาฟสันครับ”
พ่อนั่นเอง แสดงว่าหกโมงเย็นแล้ว – เวลาอาหาร เดี๋ยวฉันคงโดนดีแน่ ฉันรีบเช็ดเศษคุกกี้ที่ติดปากและเตรียมหาข้อแก้ตัว หนูลืมเวลาไปเลยค่ะ มัวแต่อยู่ช่วย…
มิสซิสกุสตาฟสันเปิดประตู และฉันเตรียมพร้อมรับพายุเฮอริเคนของพ่อ
พ่อหน้าตาตื่น เน็คไทเบี้ยวไปข้าง “ผมจะพาเบรนดาไปโรงพยาบาล” พ่อพูดกับมิสซิสกุสตาฟสัน “ฝากลิลลีหน่อยได้ไหมครับ”
ฉันกำลังจะบอกว่า หนูขอโทษ แต่พ่อรีบเดินไปก่อนโดยไม่รอฟัง
บทที่ 3
โอดีล
ปารีส, กุมภาพันธ์ 1939
เงาวิหารแซ็ง-ออกุสตังทอดยาวเหนือมาม็อง เรมี และฉันขณะที่เราสามคนเดินกลับบ้านหลังพิธีจากเสร็จพิธีมิสซาอันน่าเบื่อหน่ายในวันอาทิตย์ ฉันสูดอากาศเย็นยะเยือกเข้าปอดหลังจากถูกควันธูปรมอยู่นาน รู้สึกโล่งอกที่หลุดจากบาทหลวงและคำเทศนาน่าเบื่อหน่ายได้เสียที มาม็องต้อนเราสองคนผ่านร้านหนังสือโปรดอันดับสองของเรมี ผ่านบูลางเกอรีของคนทำขนมปังอกหักที่ขายขนมปังไหม้ๆ ก่อนจะเดินเข้าประตูอาคารอพาร์ตเมนต์ของเรา
“วันนี้ใครนะ ปิแอร์หรือพอล” แม่เอ่ยอย่างหงุดหงิด “ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หนุ่มนั่นคงใกล้จะมาถึงแล้ว และก็ไม่ต้องชักสีหน้าเลยนะโอดีล พ่อแค่อยากรู้จักพวกเขามากขึ้นเท่านั้น…หนุ่มๆ พวกนี้ไม่ได้อยู่ในเขตของพ่อทุกคน ใครจะรู้อาจจะมีคนหนึ่งที่เหมาะสมกับลูกก็ได้”
อาหารกลางวันอีกมื้อกับตำรวจคอยจับตามองโดยไม่รู้ตัว เวลาที่หนุ่มคนไหนแสดงความสนใจ ฉันมักจะทำอะไรไม่ถูก แต่พอพวกเขาเฉยเมย ก็อดใจเสียไม่ได้
“แล้วก็ไปเปลี่ยนเสื้อซะนะ ไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกจะใส่เสื้อเก่าซีดนั่นไปโบสถ์ ไม่รู้คนเขาจะคิดยังไง” แม่บ่น แล้วก็รุดเข้าไปดูเนื้อที่อบอยู่ในเตาอบในครัว
ที่โถงทางเดิน หน้ากระจกกรอบทองสีถลอก ฉันยืนถักเปียผมสีน้ำตาลแดงใหม่ เรมีแตะน้ำมันใส่ผมเล็กน้อยแล้วลูบผมหยักศกให้เข้าที่ สำหรับครอบครัวชาวฝรั่งเศสแล้ว มื้อเที่ยงวันอาทิตย์เป็นมื้อศักดิ์สิทธิ์พอกับพิธีมิสซาเลยทีเดียว และแม่ยืนกรานว่าทุกคนจะต้องดูดีที่สุด
“เลขดิวอี้สำหรับอาหารมื้อเที่ยงนี้คือ?” เรมีถาม
“ง่ายมาก 841 – A Season in Hell (หนึ่งฤดูกาลในนรก)
เรมีหัวเราะ
“นี่พ่อเชิญลูกน้องมากินอาหารแล้วกี่คนนะ”
“สิบสี่” เรมีว่า “คิดว่าพวกเขาคงไม่กล้าปฏิเสธน่ะ
“ทำไมเธอไม่เห็นต้องเจออะไรแบบนี้บ้างเลย”
“เพราะไม่มีใครสนหรอกว่าผู้ชายจะขึ้นคานหรือเปล่า” เขายิ้มล้อ แล้วกระตุกผ้าพันคอขนสัตว์คันยุบยิบจากคอฉันไปคลุมหัวแล้วผูกปมที่คางแบบแม่ “ลูกเอ๋ย ผู้หญิงน่ะเหม็นบูดง่าย”
ฉันหัวเราะกิ๊ก เรมีรู้วิธีทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นเสมอ
“เท่าที่เห็น” เขายังคงทำเสียงแบบแม่ “ลูกสาวฉันคงจะค้างเติ่งอยู่บนชั้น!”
“งั้นขอเป็นชั้นหนังสือในห้องสมุดแล้วกัน..ถ้าฉันได้งานล่ะก็”
“ได้แหงอยู่แล้ว”
“ฉันไม่แน่ใจ…”
เรมีดึงผ้าพันคอออก “เธอมีปริญญาสาขาบรรณรักษ์ศาสตร์ พูดภาษาอังกฤษคล่อง ได้คะแนนดีตอนฝึกงาน ฉันเชื่อในตัวเธอ เพราะฉะนั้นเธอต้องเชื่อในตัวเองด้วย”
เสียงเคาะประตูดังขึ้น เมื่อเปิดออกก็เจอนายตำรวจผมทองสวมสูทกระดุมสองแถว ฉันเตรียมพร้อม – หลังจากที่ถูกลูกน้องพ่อที่มาเมื่ออาทิตย์ทักทายด้วยการเอาแก้มมันๆ มาถูไถหน้า
“ผมพอล” หนุ่มประจำสัปดาห์ว่า และแค่เอาแก้มเข้ามาเฉียดแก้มฉันเท่านั้น
“ดีใจที่ได้ผมคุณทั้งสอง” เขาพูดแล้วจับมือกับเรมี “ผมได้ยินเรื่องดีๆ มากมายเกี่ยวกับคุณสองคน”
ท่าทางของเขาดูจริงใจ เพียงแต่ฉันไม่ค่อยจะเชื่อว่าพ่อมีอะไรดีๆ พูดเกี่ยวกับเราสองคน เท่าที่ได้ยินหากพ่อไม่บ่นถึงผลสอบที่น่าผิดหวังของเรมี (แม้เขาจะเป็นนักโต้วาทีฝีปากเยี่ยมที่สุดในวิชากฎหมาย!) ก็บ่นถึงความไม่เอาไหนเรื่องงานบ้านของฉัน (เตียงมีแต่หนังสืออย่างนั้น นอนเข้าไปได้ยังไง”)
“ผมรอวันนี้มาตลอดทั้งอาทิตย์เลยครับ” ลูกน้องพ่อบอกมาม็อง
“เธอน่าจะชอบอาหารโฮมเมดนะจ๊ะ” แม่ว่า “เราดีใจที่เธอมา”
พ่อดันหลังแขกไปที่เก้าอี้นวมใกล้เตาผิง แล้วจัดการแจกจ่ายเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อยให้ทุกคน (เหล้าเวอร์มุธสำหรับผู้ชาย เหล้าเชอร์รีสำหรับผู้หญิง) ขณะที่แม่ลุกจากเก้าอี้ใกล้กับกระถางต้นเฟิร์นแสนรักเข้าไปดูว่าแม่บ้านทำตามที่สั่งไว้ในครัว พ่อนั่งเป็นประธานอยู่บนเก้าอี้สไตล์หลุยส์ที่ 15 ตัวโปรด หนวดทรงไม้กวาดขยับไปมาขณะที่พูด “ไม่มีใครอยากได้ ‘ปัญญาชนว่างงาน’ หรอก ฉันคนหนึ่งล่ะที่ขอบอกว่า อยากจะแต่งกลอนก็แต่งตอนขนถ่านหินแล้วกัน มีประเทศไหนบ้างที่แยกได้ว่าคนว่างงานคนไหนฉลาด คนไหนโง่ เอาภาษีฉันไปถลุงแท้ๆ! ทุกอาทิตย์ชายหนุ่มที่มาบ้านจะเปลี่ยนหน้ากันไป แต่คำเทศนายืดยาวของพ่อไม่เคยเปลี่ยน
และเป็นอีกครั้งที่ฉันเถียงว่า “ไม่มีใครบังคับให้พ่อช่วยศิลปินหรือนักเขียนนะคะ พ่อจะเลือกจ่ายเป็นอากรสแตมป์ธรรมดาหรือจ่ายภาษีรายได้เพิ่มอีกนิดก็ได้”
เรมีซึ่งนั่งอยู่บนม้ายาวข้างฉันยกมือกอดอก ฉันอ่านความคิดเขาออกว่า พูดไปก็เท่านั้น
“ผมไม่เคยได้ยินโครงการนี้เลยครับ” ลูกน้องของพ่อพูด “ถ้าส่งจดหมายไปบ้าน ผมจะซื้อแสตมป์พวกนั้น”
บางทีตานี่อาจไม่เลวนักก็ได้เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
พ่อหันไปทางพอล “เพื่อนตำรวจของเรากำลังวุ่นกับค่ายผู้อพยพที่ชายแดน ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด อีกหน่อยประเทศของเราคงมีคนสเปนมากกว่าฝรั่งเศส”
“สเปนกำลังมีสงครามกลางเมือง” เรมีว่า “พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ”
“พวกเขากำลังช่วยเหลือตัวเองกันอร่อยเลยกับประเทศของเรา”
“พลเรือนไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะทำยังไงได้ครับ” พอลถามพ่อ “จะให้อยู่บ้านเฉยๆ รอถูกฆ่าหรือครับ”
เป็นครั้งแรกที่พ่อพูดไม่ออก ฉันพิจารณาดูแขกของเราด้วยความสนใจ แต่ไม่ใช่ที่ผมตัดสั้นที่ชี้ขึ้นจากศีรษะหรือตาสีฟ้าเข้ากับสีเครื่องแบบ ทว่าบุคลิกที่แข็งแกร่ง สุขุม และกล้าที่จะยืนหยัดในความเชื่อของตนอย่างไม่เกรงกลัว
“จากสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวาย” เรมีว่า “คิดว่าสงครามต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
“ไร้สาระ!” พ่อว่า “เราลงทุนด้านความมั่นคงไปนับล้าน เรามีแนวป้องกันมาฌีโน ฝรั่งเศสต้องปลอดภัยอย่างแน่นอน”
ฉันนึกภาพคูขนาดมหึมาที่ทอดยาวระหว่างพรมแดนฝรั่งเศสกับอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี กองทัพไหนก็ตามที่บุกเข้ามาจะต้องถูกมันกลืนกินอย่างแน่นอน
“วันอาทิตย์แบบนี้ อย่าคุยเรื่องสงครามหรือเรื่องเครียดๆ กันเลย” แม่ว่า “เรมี เล่าให้ฟังหน่อยซิว่าการเรียนเป็นยังไงบ้าง”
“ลูกชายฉันอยากลาออกจากวิทยาลัยกฎหมาย” พ่อบอกพอล “ได้ข่าวมาว่าเขาโดดเรียนบ่อย”
ฉันพยายามพูดอะไรบางอย่าง แต่พอลหันไปทางเรมีและพูดขึ้นก่อนที่ฉันจะคิดออก “คุณอยากทำอะไรเหรอ”
นี่แหละคือคำถามที่ฉันอยากให้พ่อถาม
“สมัครเป็นผู้แทน” เรมีตอบ “พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ”
พ่อกรอกตา
“หรือเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานจะได้ไปให้พ้นๆ จากโลกโสมมนี่” เรมีว่า
“เธอกับฉันปกป้องประชาชนและธุรกิจ” พ่อพูดกับพอล “ส่วนลูกชายฉันจะปกป้องต้นสนกับอึหมี”
“ป่าของเรามีความสำคัญเท่าๆ กับพิพิธภัณฑ์ลูร์ฟนะครับ”
อีกหนึ่งความเห็นที่ทำให้พ่อเงียบไป ฉันมองไปทางเรมีเพื่อดูว่าเขาคิดอย่างไรกับพอล แต่เขาเหม่อมองไกลออกไปนอกหน้าต่างอย่างที่เขาทำประจำระหว่างมื้อกลางวันวันอาทิตย์ที่ยาวยืด วันนี้ฉันตัดสินใจนั่งคุยต่อเพราะอยากรู้ว่าพอลจะพูดอะไรบ้าง
“กลิ่นอาหารหอมจัง” ฉันพยายามเบนความสนใจของพ่อจากเรมี
“ครับ” พอลพูดอย่างกระตือรือร้น “ผมไม่ได้กินอาหารทำเองที่บ้านมาหลายเดือนแล้ว”
“ซุปน่าจะเสร็จแล้ว…” แม่นั่งเด็ดใบเฟิร์นแห้งทิ้งด้วยความกระสับกระส่าย
เรมีเดินตัดหน้าแม่เข้าไปในห้องอาหารโดยไม่พูดอะไร
“งานไม่ทำ แต่เรื่องกินถึงโต๊ะคนแรก!” พ่อบ่นตามหลัง ไม่เว้นแม้แต่เวลามีแขก
เช่นเคย พวกเรากินซุปต้นกระเทียมกับมันฝรั่ง พอลเอ่ยชมซุปเข้มข้นและแม่พึมพำตอบว่าเป็นเพราะได้สูตรดี เสียงช้อนขูดจานซุปก้นลึกเป็นสัญญาณบอกว่าเสร็จอาหารจานแรกแล้ว แม่อ้าปากเล็กน้อยเหมือนจะบอกพ่อว่าให้เบาลงหน่อย แต่แม่ไม่มีวันตำหนิพ่อต่อหน้าคนอื่นเด็ดขาด
แม่บ้านนำมันบดใส่โรสแมรีกับหมูอบออกมา ฉันหรี่ตาดูนาฬิกาที่ตั้งอยู่บนแท่นเหนือเตาผิง ปกติฉันจะรู้สึกว่ามื้อกลางวันยาวนานเหลือเกิน แต่วันนี้กลับประหลาดใจว่าบ่ายสองแล้วหรือนี่
“คุณยังเรียนอยู่เหมือนกันหรือเปล่า” พอลถาม
“ไม่ค่ะ ฉันจบแล้ว และเพิ่งสมัครงานที่ห้องสมุดอเมริกา”
รอยยิ้มผุดขึ้นที่ริมฝีปาก “ทำงานในที่สงบและสวยงามแบบนั้นก็ดีนะครับ”
ตาดำเข้มของพ่อเป็นประกายขึ้นมาด้วยความสนใจ “พอล ถ้าเธอไม่ชอบงานในเขตที่แปด ทำไมไม่ขอย้ายมาเขตฉันล่ะ ตอนนี้มีตำแหน่งสิบเอกว่างอยู่สำหรับคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนะ”
“ขอบคุณครับผม แต่ผมมีความสุขดีกับที่เขต” สายตาของเขาไม่ละจากฉันขณะที่พูด “มีความสุขมากครับ”
จู่ๆ ฉันก็รู้สึกเหมือนมีเราเพียงสองคนในโลก ด้วยตอนนี้เขาเอนตัวลงพิงเก้าอี้ ดวงตาลึกคมหันมาจับจ้องที่เธอ บางทีเขาอาจเห็นความหวั่นไหวของเธอแวบหนึ่งขณะที่เธออยากโผเข้าซบอกของเขาและมอบความเชื่อมั่นทั้งหมดที่ก่อตัวสะสมในหัวใจให้กับเขา
“งานพวกผู้หญิง” พ่อพูดอย่างดูถูก “แต่อย่างน้อยก็น่าจะเลือกห้องสมุดฝรั่งเศส”
ฉันออกจากฉากแสนหวานกับพอลและชารล์ส ดิคเก็นส์ด้วยความเสียดาย “พ่อคะ พวกอเมริกันไม่ได้แค่จัดเรียงหนังสือตามอักษรเท่านั้น พวกเขาใช้ตัวเลขที่เรียกว่าระบบทศนิยมดิวอี้ด้วย…”
“ใช้ตัวเลขจัดหมวดหมู่ตัวอักษรน่ะรึ ต้องเป็นความคิดของพวกนายทุนเป็นแน่ พวกนี้เท่านั้นที่เห็นตัวเลขสำคัญกว่าตัวหนังสือ! วิธีของเราไม่ดียังไงรึ”
“มิสรีเดอร์บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น”
“พวกต่างชาติ! พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าลูกต้องเจอคนประเภทไหนอีกบ้าง!”
“เราต้องให้โอกาสคนบ้าง พวกเขาอาจมีอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจได้..”
“ชอบนักนะ เรื่องประหลาดใจน่ะ” พ่อยกส้อมชี้มาที่ฉัน “ทำงานกับคนนี่ยากนะ เมื่อวานฉันเพิ่งถูกเรียกเพราะวุฒิสมาชิกคนหนึ่งถูกจับฐานพังประตูเข้าไปในตึกอพาร์ตเมนต์ หญิงชราคนหนึ่งเจอเขานอนหมดสติอยู่ที่ชั้นของแก พอได้สติก็เอะอะโวยวายจนกระทั่งเริ่มอาเจียน เราต้องเอาน้ำฉีดใส่กว่าจะได้เรื่องราวจากเขาว่า เขาเข้าใจผิดคิดว่านี่เป็นอาคารที่เมียเก็บเขาอยู่ และกุญแจของเขาใช้ไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจปีนกันสาดและมุดเข้าทางหน้าต่าง เชื่อฉันเถอะ อย่าทำงานกับคนเด็ดขาด แล้วก็อย่าให้ฉันเริ่มพูดถึงไอ้งั่งที่พาประเทศของเราไปสู่ความล่มจมนะ”
เอาล่ะสิ พ่อเริ่มร่ายยาวถึงชาวต่างชาติ นักการเมือง และผู้หญิงอวดดีอีกแล้ว ฉันครางเบาๆ เรมียกเท้าแตะเท้าฉันเบาๆ ใต้โต๊ะ ทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น ไหล่ที่เกร็งเริ่มผ่อนคลาย นี่คือวิธีให้กำลังใจกันและกันที่เราคิดขึ้นตอนเด็ก ยามใดที่พ่อโกรธ “เรมี อาทิตย์นี้ฉันจะจับแกใส่หมวกไอ้งั่งไปโรงเรียนสองวัน” ฉันรู้ดีว่ากว่าที่จะปลอบใจเรมีด้วยคำพูด เพราะครั้งสุดท้ายที่ทำ พ่อบอกว่า “เออ เข้าข้างกันดีนักนะ เดี๋ยวจะโดนทั้งสองคน”
“ยังไงพวกเขาก็เลือกคนอเมริกันด้วยกัน ไม่ใช่แกแน่” พ่อสรุป
ฉันอยากจะสามารถพิสูจน์ให้นายตำรวจผู้รอบรู้ผู้นี้ให้รู้ว่าเขาคิดผิดไปแล้ว อยากให้พ่อเคารพในการตัดสินใจของฉันแทนที่จะบอกฉันว่าฉันควรต้องการอะไร
“หนึ่งในสี่ของสมาชิกห้องสมุดเป็นชาวฝรั่งเศสค่ะ” ฉันเถียง “พวกเขาต้องการคนที่พูดฝรั่งเศสได้”
“แล้วชาวบ้านชาวช่องจะคิดยังไง” แม่บ่น “พวกเขาคงว่าพ่อของลูกไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกหรือไง”
“เดี๋ยวนี้ผู้หญิงทำงานกันถมเถครับ” เรมีว่า
“แต่โอดีลไม่จำเป็นต้องทำ” พ่อบอก
“แต่โอดีลอยากทำ” ฉันพูดเบาๆ
“เลิกเถียงกันเถอะจ้ะ” แม่ตักมูสโอชอโกลา ใส่ชามแก้วเจียระไน ของหวานเข้มข้นชวนฝันนี้เรียกความสนใจจากพวกเราได้ชะงัด และทำให้มีบางอย่างที่เราเห็นพ้องต้องกันได้ นั่นคือ มูสฝีมือแม่อร่อยที่สุด
บ่าย 3 แล้ว พอลลุกจากโต๊ะ “ขอบคุณสำหรับอาหารกลางวันครับ ขอโทษด้วยที่ผมต้องไปแล้ว วันนี้ผมต้องเข้าเวร”
พวกเราเดินไปส่งเขาที่ประตู พ่อจับมือกับเขาและบอกว่า “เอาข้อเสนอฉันไปคิดดูนะ”
ฉันอยากขอบคุณพอลที่ยืนหยัดข้างเรมี..และฉันด้วย แต่ไม่สามารถพูดอะไรได้เพราะพ่อยืนอยู่ พอลค่อยๆ ขยับตัวเข้ามาจนอยู่ต่อหน้าฉัน ฉันกลั้นใจ รอว่าเขาจะพูดอะไร
“ขอให้ได้งานนะครับ” เขาพูดเบาๆ
ริมฝีปากนุ่มที่สัมผัสแก้มเมื่อเขาจูบลา ทำให้ฉันอยากรู้ขึ้นมาว่าถ้าปากของเขาประกบลงบนปากฉันจะเป็นอย่างไร แค่คิด ใจก็เต้นตูมตาม ช่างเหมือนกับครั้งแรกที่อ่านวรรณกรรมเรื่อง A Room with a View (อะ รูม วิธ อะ วิว) ที่ฉันพลิกหน้าตะลุยอ่านอย่างรวดเร็ว ทนลุ้นแทบไม่ไหวว่าเมื่อไหร่จอร์จกับลูซีซึ่งสมกันราวกับกิ่งทองใบหยกจะสารภาพรักและโผเข้ากอดกันในจตุรัสที่ปลอดผู้คนเสียที ตอนนี้ฉันอยากจะพลิกหน้าหนังสือของชีวิตฉันเร็วกว่านี้จะได้รู้ว่าเมื่อไหร่จะเจอพอลอีก
ฉันเดินไปที่หน้าต่างและยืนมองเขาเดินไปอย่างรีบเร่ง
เบื้องหลังฉัน เสียงพ่อรินเหล้าหลังอาหารหารดังกรุก กรุก มื้อเที่ยงวันอาทิตย์คือวันเดียวในสัปดาห์ที่พ่อกับแม่อนุญาตให้ตนนั่งคิดถึงมหาสงครามที่ผ่านมา หลังจากจิบเหล้าไปสองสามจิบ แม่ก็เริ่มร่ายชื่อเพื่อนบ้านที่เสียชีวิตแต่ละคนราวกับพวกเขาเป็นลูกประคำแต่ละลูก สำหรับพ่อ แม้หน่วยที่สังกัดจะรบชนะหลายครั้งแต่กลับรู้สึกเหมือนความพ่ายแพ้เพราะเพื่อนทหารหลายคนต้องเสียชีวิตลง
เรมีเดินมายืนกับฉันที่หน้าต่าง พลางเด็ดใบเฟิร์นของแม่ “เราทำให้หนุ่มของเธอเปิดไปอีกหนึ่งแล้ว”
“เธอหมายความว่าพ่อต่างหาก”
“พ่อทำให้ฉันอยากจะบ้า ใจแคบเหลือเกิน ช่างไม่รู้ว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”
ฉันมักจะเข้าข้างเรมี แต่ครั้งนี้ฉันหวังว่าพ่อจะเป็นฝ่ายถูก “เธอเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เหรอ เรื่องสงครามน่ะ”
“น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ” เขาว่า “เวลาที่ยากลำบากกำลังจะมา”
Hard Times (ยามยาก) – 823 นิยายอังกฤษ
“พลเรือนมากมายกำลังเสียชีวิตในสเปน ชาวยิวถูกข่มเหงในเยอรมนี” เรมีพูดต่อ ตาจับจ้องอยู่บนใบเฟิร์นที่จับอยู่ คิ้วขมวด “แต่ฉันติดแหง็กอยู่ในห้องเรียน”
“แต่เธอก็เขียนบทความที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ลี้ภัย รณรงค์รับบริจาคเสื้อผ้าช่วยพวกเขา และพยายามทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม ฉันภูมิใจในตัวเธอมากนะ”
“เท่านั้นไม่พอหรอก”
“ตอนนี้เธอต้องมุ่งกับการเรียนก่อน เธอเป็นที่หนึ่งของรุ่น และกำลังจะจบแล้วด้วย”
“ฉันเอียนกับการเรียนรู้ภาคทฤษฎีจากกรณีตัวอย่างต่างๆ ในศาลเต็มทีแล้ว ขณะที่คนกำลังต้องการความช่วยเหลือ และนักการเมืองก็ไม่ทำอะไร ฉันเอาแต่นั่งเฉยในบ้านไม่ได้หรอก จะต้องมีใครบางคนที่ลงมือทำ”
“แต่เธอต้องเรียนให้จบก่อน”
“ปริญญาไม่ได้ช่วยอะไรหรอก”
“ฉันว่าพ่อไม่ได้ผิดไปหมดนะ” ฉันพูดอย่างอ่อนโยน “เธอต้องทำสิ่งที่เริ่มไว้ให้เสร็จ”
“ฉันพยายามจะบอกเธอว่า…”
“อย่าบอกนะว่าเธอหุนหันทำอะไรไปแล้ว” ก่อนหน้านี้เรมีได้บริจาคเงินออมททั้งหมดของเขาให้กับกองทุนกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัย และได้เอาอาหารแห้งทั้งหมดในครัว ไม่เหลือกระทั่งแป้งสักถุง ไปช่วยคนยากไร้โดยไม่ได้บอกให้แม่รู้ แม่กับฉันต้องวิ่งไปตลาดเพื่อซื้อของมาทำอาหารเย็นก่อนที่พ่อจะกลับบ้านเพื่อเรมีจะได้ไม่ต้องถูกดุ
“เธอเคยเข้าใจฉัน” เรมีเดินก้าวเท้ายาวๆ ออกจากห้องและปิดประตูดังปัง
ฉันสะดุ้งกับคำกล่าวหาของเขา และอยากตะโกนตามหลังไปว่านั่นเป็นเพราะเขาไม่เคยวู่วามแบบนี้มาก่อน แต่รู้ว่าทะเลาะกันไปก็ไม่มีประโยชน์ ไว้รอให้เขาเย็นลงค่อยพูดดีกว่า ตอนนี้ ฉันอยากลืมพ่อ พอล แม้กระทั่งเรมี
แล้วก็หยิบ Hard Times (ยามยาก) ลงจากชั้นหนังสือ
บทที่ 4
ลิลลี
ฟรอยด์, มอนตานา, ธันวาคม 1983
พ่อกับฉันยืนอยู่ข้างเตียงแม่ แม่พยายามยิ้ม แต่ปากแค่สั่น ริมฝีปากซีดเซียวไม่มีสี ตากระพริบขึ้นลงช้าๆ แบบสโลว์โมชั่น เครื่องอะไรต่อมิอะไรรอบตัวแม่ส่งเสียงปิ๊บปิ๊บ ทำไมนะฉันถึงไม่ตรงเข้าบ้าน ถ้าฉันเข้าบ้าน ไม่มัวโอ้เอ้ แม่อาจไม่ต้องมานอนอยู่ตรงนี้ก็ได้
ฉันหลับตาลง..แล้วพาแม่ออกจากชามเจลลีสีเขียวที่กินค้างอยู่และกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อฉุนกึกของโรงพยาบาลไปยังทะเลสาบเมดิซีน แม่สูดกลิ่นโคลนหอมๆ ขณะที่เราเดินย่ำเข้าไปในทุ่ง แก้มเป็นสีแดงก่ำจากแดดร้อน เมื่อสังเกตเห็นอะไรบางอย่างแม่จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆ และพบว่ามันเป็นกระป๋องเบียร์ที่ถูกทิ้งไว้ แม่ดึงถุงพลาสติกออกจากกระเป๋าเสื้อกันลมและหยิบกระป๋องใส่ถุง ฉันซึ่งไม่อยากเสียเวลาดีๆ นี้ไปบอกว่า “ไปกันเถอะ อย่าเสียเวลาไปเก็บขยะพวกนี้เลย” แต่แม่ไม่ฟัง สำหรับแม่แล้วการจากที่หนึ่งที่ใดไปในสภาพที่ขึ้นดีกว่าตอนที่มาพบเป็นสิ่งสำคัญ
หมอสแตนช์ฟิลด์นำฉันกลับสู่โลกความจริง แกเข้ามาในห้องแม่เพื่ออธิบายการวินิจฉัยของหมอผู้เชี่ยวชาญให้ฟัง ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกว่าแม่หัวใจวายโดยไม่รู้ตัวหลายครั้งซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับหัวใจ ฉันงงว่าอาการ ‘แค่’ หายใจขัดที่แม่บอกกลายมาเป็นหัวใจวายไปได้อย่างไรกัน มันช่างห่างกันไกลโข..เหมือนการเดินทางบนถนนสายยาวที่ไม่มีอะไรเตือน ไม่มีป้ายระวัง ‘ก้อนหินร่วง’ หรือ ‘ทางชันและวกวน’ นี่เรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง แล้วแม่ต้องอยู่โรงพยาบาลอีกนานแค่ไหน
เมื่อถึงเวลาอาหารเย็น พ่อเอาสเต็กแช่แข็งออกมาละลายแล้วใส่ถาดไปนั่งกินกันหน้าโทรทัศน์ พ่อบอกว่าจะได้ดูข่าวไปด้วย แต่ฉันรู้ดีว่าเพื่อที่แกรห์ม บรูว์สเตอร์ คนอ่านข่าวท่าทางเหมือนคุณตาจะได้เป็นคนพูดแทนเราสองคน คืนนี้เขาสัมภาษณ์สมาชิกสหภาพนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเกิดสงครามนิวเคลียร์
“แม่จะหายมั้ย” ฉันถามพ่อ
“ไม่รู้เหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะดีขึ้นแล้วนะ เหนื่อยน้อยลงแล้ว”
ระเบิดจะทำให้เกิดควัน 225 ตันลอยขึ้นสู่อากาศ..นักฟิสิกส์ของสถาบันเอ็มไอทีว่า
“แล้วเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน”
“พ่อก็อยากจะตอบได้เหมือนกันนะ แต่หมอสแตนช์ไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย หวังว่าคงเร็วๆ นี้แหละ”
ควันจะบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง
“หนูกลัว”
“กินสเต็กซะ” พ่อว่า
ไม่ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม มันอาจแย่ลงกว่านี้ได้เสมอ..นักวิทยาศาสตร์จากเอ็มไอทีสรุป
ฉันได้แต่เอาส้อมเขี่ยเนื้อสเต็กไปมา กินไม่ลง ท้องที่แข็งปั๋งเหมือนก้อนหินส่งเสียงดังตุบๆ ช้าๆ เหมือนหัวใจที่กำลังสับสน
หลังอาหารเย็น พ่อหายลงไปในห้องใต้ดิน ฉันม้วนสายโทรศัพท์กับนิ้วเล่น แล้วก็โทรไปหาแมรีหลุยส์ แต่สายไม่ว่าง ถ้าแองเจิลไม่มีนัดกับแฟน ก็ต้องคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา ฉันเหลียวมองเพื่อความแน่ใจว่าพ่อไม่ได้อยู่แถวนี้ ก่อนจะหมุน 5896 เพี้ยง! ขอให้ร็อบบีอยู่บ้านเถอะ
“ฮัลโหล” เขารับสาย “ฮัลโหล ฮัลโหล ใครน่ะ”
ฉันอยากคุยกับเขา แต่ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร แล้วก็ค่อยๆ วางหูลง แต่ไม่ได้ปล่อยลงทันที..เสียงทุ้มนุ่มดุจกำมะหยี่ของเขาทำให้ฉันรู้สึกเหงาน้อยลงนิดๆ
ฉันมองดูพระจันทร์เต็มดวงทางหน้าต่างห้องนอน มันมองฉันกลับ ลมพัดกิ่งไม้แห้งหักดังเป๊าะ ตอนเด็กเวลากลัวพายุ แม่จะสมมติว่าเตียงเป็นเรือ ลมพายุที่พัดมาเป็นระลอกเป็นคลื่น สนามหญ้าคือทะเลที่กำลังปั่นป่วน และเรือกำลังนำเราไปยังดินแดนห่างไกล แต่เมื่อไม่มีแม่อยู่ด้วย ลมก็เป็นแค่ลมที่กำลังพัดโหยหวนผ่านฉันไปยังที่ที่ดีกว่า
สิบวันหลังจากนั้น แม่กลับบ้านและทิ้งตัวนอนลงบนเตียง พ่อชงชาคาโมไมล์มาให้แม่โดยมีฉันนอนอยู่ข้างๆ ใต้ผ้าทออัฟกันสีเหลืองมะนาว ตัวแม่มีกลิ่นสบู่ไอวอรี แท่งน้ำแข็งย้อยลงจากหลังคา หิมะเกาะสายโทรศัพท์แน่น ท้องฟ้าสีฟ้ากว้างใหญ่ แต่โลกของเราเป็นสีขาว
“วันนี้โชคดีจัง” แม่ชี้ไปทางหน้าต่าง “มีเหยี่ยวหลายตัวเลย”
บางครั้งเหยี่ยวพวกนี้จะร่อนอยู่เหนือทุ่งซึ่งอยู่อีกฝั่งของถนน บางครั้งก็โฉบลงต่ำเพื่อจับหนู แม่บอกว่าดูนกสนุกกว่าดูโทรทัศน์เสียอีก
“ตอนที่ท้องลูกอยู่ พ่อกับแม่ชอบนั่งอิงแอบดูนกโรบินบนโซฟาตัวยาวที่หน้าต่าง แม่ชอบอกสีเหลืองสดใสของมัน โรบินคือสัญญาณที่บอกว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว แต่พ่อเขาไม่ชอบเห็นเวลามันดูหนอนเข้าปาก “คิดว่ามันเป็นสปาเก็ตตีแล้วกัน” แม่บอกพ่อ
“อึ๋ย!”
“ลูกเกือบจะชื่อโรบินแล้วนะ ตอนที่คลอด แม่บอกพยาบาลว่า..เด็กหญิงโรบิน แต่แม่รู้ว่าพ่อชอบชื่อลิลลีมากกว่า เพราะเราซื้อบ้านตอนที่ดอกลิลลีกำลังบาน แล้วแม่ก็หันไปเห็นภาพพ่อกับลูก นิ้วเล็กจิ๋วของลูกที่กำนิ้วก้อยพ่ออยู่ทำให้แม่นึกถึงดอกไม้เล็กๆ พ่อก้มลงจูบท้องลูก สายตาที่มองลูกเต็มไปด้วยความรัก แม่ก็เลยเปลี่ยนใจ” แม่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหลายครั้งแล้ว แต่คราวนี้ด้วยเหตุผลบางอย่าง แม่พูดต่อว่า “ที่พ่อทำงานหนัก ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้เรามีความมั่นคง พ่อของลูกเคยจนมากตอนเด็ก เพราะฉะนั้นลึกๆ แล้วพ่อกลัวเสมอว่าจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกเข้าใจหรือเปล่า”
“ก็พอเข้าใจค่ะ”
“บางครั้งคนเราก็เงอะๆ งะๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำตัวยังไง พูดยังไง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปถือสา เพราะเราไม่รู้หรอกว่าใจเขาเป็นยังไง”
บางครั้งคนเราก็เงอะๆ งะๆ อย่าไปถือสา เราไม่รู้หรอกว่าใจเขาเป็นยังไง แม่หมายความว่าอะไรเหรอ แม่กำลังพูดถึงตัวเอง? หรือพ่อ? ฉันได้ยินแม่แมรีหลุยส์บอกว่าพ่อชอบถือว่าตัวเองเป็นโบรกเกอร์ในวอลล์สตรีท และรักเงินมากกว่าคน
“พ่อไม่ค่อยอยู่บ้านเลย” ฉันว่า
“โอ ลูกจ๋า แย่จริงที่เด็กทารกจำไม่ได้ว่าพวกเขาเคยได้รับความรักขนาดไหน พ่อหนูน่ะอุ้มหนูทั้งคืนไม่ได้หลับได้นอนเลย”
พ่อเขาเป็นนกอินทรี เยือกเย็นและกล้าหาญ..แม่ว่า และฉันรู้ว่านกอินทรีทั้งตัวผู้ตัวเมียจะผลัดกันกกไข่
“มนุษย์เราอยู่เป็นครอบครัว” แม่พูดต่อ “แล้วห่านล่ะ”
ฉันยักไหล่
“ในภาษาอังกฤษ ครอบครัวห่านหรือฝูงห่านเรียกว่า a gaggle of geese”
“แล้วนกนางแอ่นล่ะ”
“เรียกกว่า a host of sparrows”
“แล้วเหยี่ยว”
“a cast”
เหมือนรายการตอบปัญหาเกี่ยวกับนกในโทรทัศน์เลย ฉันหัวเราะคิก
“แล้วรู้มั้ยว่าฝูงกาเหว่าเรียกว่าอะไร ..เรียกว่า an unkindness of ravens”
ฟังดูตลกดี แม่อำหรือเปล่า ฉันมองหน้าแม่เพื่อค้นหาความจริง แต่สีหน้าของแม่ดูจริงจัง
“แล้วฝูงกาทั่วๆ ไปล่ะคะ”
“เรียกว่า a murder of crows”
“a murder of crows” ฉันทวน
เหมือนกับว่าวันคืนเก่าๆ ที่ทุกอย่างยังเป็นปกติกลับคืนมาอีกครั้ง ฉันกอดแม่แน่น แน่นมากๆ และหวังว่าจะเช่นนี้ตลอดไป ..เราสองคนบนเตียงทองเหลืองหลังใหญ่อุ่นสบาย
ในตอนเช้า ฉันกับพ่อนั่งอ้อยอิ่งที่เคาน์เตอร์ในครัวกับแม่ พ่อบอกว่าคงไม่เป็นไรถ้าฉันจะขาดเรียนสักวัน
“ฉันไม่ต้องการพี่เลี้ยงหรอกน่ะ!” แม่ว่า
“หมอสแตนช์บอกว่าเธอไม่ควรออกจากโรงพยาบาลด้วยซ้ำ” พ่อว่า
เรานั่งกินเบคอนกับไข่กันเงียบๆ ทันทีที่เสร็จ แม่ก็ไล่เราสองพ่อลูกออกจากบ้าน
ที่โรงเรียน ฉันนั่งคิดถึงแต่แม่ – อย่างน้อยตอนอยู่โรงพยาบาล ก็ยังมีคนอยู่ด้วย ระหว่างวิชาเลข ทิฟฟานีเตะเก้าอี้ฉัน “นี่ ยัยบื้อ ครูถามเธอแน่ะ” เธอว่า ฉันเงยหน้าขึ้น แต่ครูผ่านไปเรื่องอื่นแล้ว ฉันรีบกลับบ้านทันทีที่กระดิ่งหมดเวลาวิชาสุดท้ายดังขึ้น จากด้านนอก ฉันเห็นพ่อกับแม่นั่งอยู่ที่โซฟาข้างหน้าต่าง ฉันจึงเดินอ้อมไปเข้าประตูห้องครัวหลังบ้าน
“หมอสแตนช์แนะว่าให้จ้างผู้ช่วยพยาบาล” ฉันได้ยินเสียงพ่อ
“ให้ตายสิ ฉันไม่เป็นไรหรอกน่า”
“แต่มีใครมาช่วยทำงานบ้านก็ดีนะ ลิลลีจะได้ไม่ต้องกังวลมาก”
ถูกของพ่อ ฉันคงสบายใจขึ้นมาก
“คุณจะไปหาใครล่ะ” แม่ถาม
“ซู บ็อบเป็นไง”
ฉันหูผึ่งเมื่อได้ยินชื่อแม่ของแมรีหลุยส์
“ฉันไม่อยากให้เพื่อนเห็นฉันในสภาพแบบนี้” แม่บอก
“ฉันแค่เสนอเท่านั้น” พ่อว่า
บางทีมิสซิสกุสตาฟสันอาจมาช่วยได้ ฉันรีบไปหาแก คราวนี้ฉันเคาะประตูแล้วยืนรอ ไม่ผลุนผลันเข้าไปโดยพลการ
“แม่หนูยังไม่หายเลยค่ะ” ฉันบอก
“เสียใจด้วยนะ”
“เราอยากหาคนมาช่วยทำโน่นทำนี่ แม่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก ไม่ทราบว่าคุณ…”
“ลิล.. เสียงพ่อดังขึ้นด้านหลัง ‘ทำอะไรน่ะ กลับไปอยู่กับแม่ไป”
“ฉันไปช่วยได้นะ” มิสซิสกุสตาฟสันว่า
“ไม่ต้องหรอกครับ” พ่อว่า “เราจัดการได้”
มิสซิสกุสตาฟสันมองพ่อแล้วมองฉัน “ฉันจะไปทำอาหารเย็นให้ ขอไปหยิบของสองสามอย่างก่อน” แกเดินเข้าไปในบ้านและกลับมาพร้อมมันฝรั่ง ผักเต็มมือ และครีมหนึ่งกล่อง
ที่เคาน์เตอร์ในครัว มิสซิสกุสตาฟสันจัดการปอกมันฝรั่งอย่างประณีต เปลือกบางเฉียบขนาดมองทะลุได้
“จะทำอะไรคะ”
“ซุปมันฝรั่งกับต้นกระเทียมจ้ะ”
“ต้นกระเทียมเป็นยังไงเหรอ”
“ในมอนตานาตะวันออก ส่วนใหญ่คนจะปล่อยทิ้งกัน ไม่สนใจ”
ขณะที่มันฝรั่งอยู่ในหม้อต้ม มิสซิสกุสตาฟสันก็ลงมือตัดรากหงิกงอของต้นกระเทียมซึ่งมีกลิ่นหัวหอมอ่อนๆ ออก ผ่าลำต้นสีขาวเรียวตามยาวแล้วหั่นบางๆ เสร็จแล้วก็กวาดทั้งหมดลงในกระทะที่มีเนยร้อนปุดๆ พอได้ทั้งมันฝรั่งและต้นกระเทียมได้ที่ก็เอาใส่ลงในเครื่องปั่นปั่นจนละเอียด แล้วเหยาะครีมลงไปช้อนโต ก่อนจะเทซุปสีขาวใส่ชาม
“อาหารเย็นพร้อมแล้วค่ะ” ฉันตะโกนบอก
พ่อเดินเคียงข้างมากับแม่ มือประคองเอวราวกับบุรุษพยาบาล ถ้าเป็นเมื่อก่อน ฉันจะกรอกตาเวลาพ่อแม่จูบกัน แต่ตอนนี้ฉันอยากให้ทั้งสองกลับไปหวานแหววกันอย่างเมื่อก่อน
หลังจากอธิษฐานเสร็จ ฉันก็ก้มหน้าก้มตาตักซุปคำโตเข้าปาก ซุปเนื้อเนียนอร่อยจนฉันอยากยกชามโกยใส่ปาก แต่มันร้อน”
“ซุปสอนเราถึงความอดทน” มิสซิสกุสตาฟสันพูด แกนั่งหลังตรงและยกช้อนขึ้นมาที่ปาก ฉันรีบยืดตัวขึ้นตรง
“อร่อยจริงๆ ค่ะ” แม่ว่า
“เป็นซุปโปรดลูกชายฉัน” แววตาแกหมองลงเล็กน้อย “อาหารที่ดีต่อสุขภาพแบบนี้มีส่วนผสมไม่กี่อย่างเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมอาหารในอเมริกาชอบพูดกรอกหูเราว่าการทำอาหารเป็นเรื่องเสียเวลา พวกเธอก็เลยได้แต่กินซุปกระป๋อง ทั้งที่แค่เอาต้นกระเทียมผัดกับเนยเท่านั้นก็ได้ซุปแสนอร่อยแล้ว”
“ความขาดแคลนทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ มากขึ้น ตอนสงคราม แม่ฉันคิดถึงน้ำตาลมากกว่าอะไรทั้งนั้น แต่ฉันคิดถึงเนย”
“แสดงว่าขาดแคลนอาหารมากนะครับ” พ่อว่า
“อาหารดีๆ จ้ะ ตอนนั้นฉันไม่แน่ใจว่าอะไรแย่กว่ากันระหว่างขนมปังบาแก็ตต์ที่ทำจากเศษไม้เพราะขาดแคลนแป้ง หรือซุปที่ทำจากน้ำกับหัวสวีด..ที่ในอเมริกาเรียกว่ารูทาบากา เชื่อไหมว่าคนเข้าแถวรอซื้อเนื้อ นม ไข่ ผลไม้ และผักยาวเหยียด แต่รูทาบากาแจกฟรีก็ยังไม่มีใครเอา ตอนที่ฉันมาถึงมอนตานาใหม่ๆ รู้ไหมว่าแม่สามีฉันใส่อะไรทุกครั้งที่ทำสตูว์ – รูทาบากา!
พวกเราหัวเราะครืน มิสซิสกุสตาฟสันเล่านี่เล่านั่นสร้างความครื้นเครงให้กับเราหลังจากที่พรรคหลังมานี้เราได้แต่นั่งกินกันเงียบๆ เมื่อแกลุกขึ้นจากโต๊ะจะกลับบ้าน แม่บอกว่า “ขอบคุณค่ะโอดีล”
เพื่อนบ้านของเรามีสีหน้าแปลกใจ ฉันสงสัยว่าคงเป็นเพราะแกคงไม่ชินกับการที่ใครเรียกชื่อ ในที่สุดแกก็พูดออกมาว่า “ด้วยความยินดี”
เมื่อแมรีหลุยส์กับฉันเดินกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้าน เราได้ยินเสียงหัวเราะดังออกมาจากห้องนอนของพ่อแม่ โอดีลสลัดรองเท้าส้นสูงของแกออกและย้ายเก้าอี้โยกมาใกล้ๆ แม่ แม่เพิ่งสระผมและม้วนเป็นทรง แถมทาลิปสติกสีแดงอมส้มเหมือนโอดีลซึ่งสวยมาก
“หัวเราะอะไรกันคะ” แมรีหลุยส์ถามแม่
“โอดีลเล่าว่าพ่อแม่สามีของเธอออกเสียงเธอไม่ถูกน่ะจ้ะ”
“พวกเขาเรียกฉันว่า ออร์ดีล! ที่แปลว่าบททดสอบแสนทรหดน่ะ”
“เฮ้อ นี่ล่ะนะคะชีวิตแต่งงาน เราขอสัญญาว่าเราจะไม่ทอดทิ้งกันไม่ว่าจะดีหรือร้าย..หรือพ่อผัวแม่ผัวจะเพี้ยนขนาดไหนก็ตาม” แม่ว่า แล้วทั้งสองก็หัวเราะกัน
ขณะที่แมรีหลุยส์กับฉันเดินไปทำการบ้านที่ห้องฉัน เราได้ยินแม่พูดขึ้นว่า “จะว่าอะไรมั้ยคะ ถ้าฉันถามว่าคุณกับสามีเจอกันได้ยังไง”
“ที่โรงพยาบาลในปารีสน่ะ สมัยนั้นเวลาทหารเกณฑ์จะแต่งงานต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน เจ้านายของบัคไม่อนุญาต บัคเลยท้าเจ้านายเขาเล่นไพ่คริบเบจ ถ้าชนะ เราจะได้แต่งงานกัน แต่ถ้าแพ้ บัคต้องเทกระโถนหนึ่งเดือน”
“บัคเป็นคนมุ่งมั่น!”
แล้วทั้งสองก็ลดเสียงลง ทำให้แมรีหลุยส์กับฉันต้องขยับเข้าไปใกล้ประตู
“แต่เขาไม่ได้เล่าให้ฉันฟัง…” โอดีลเล่าต่อ “การมาถึงของฉันกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่จนฉันอยากกลับฝรั่งเศส แต่ฉันไม่มีเงินค่าตั๋ว แล้วฉันก็คิดว่าอีกหน่อยคนคงให้อภัยฉัน…แต่ก็ใช่ว่าฉันไปทำอะไรที่ต้องให้ใครให้อภัยหรอกนะ!”
“ข่าวฉาวอะไรน่ะ” แมรีหลุยส์กระซิบ “แกเป็นนางระบำแคนแคนงั้นเหรอถึงไม่มีใครพูดกับแกน่ะ”
“แกไม่พูดกับพวกนั้นต่างหากล่ะ” ฉันว่า
แม่จำศีลตลอดฤดูหนาว หลังเลิกเรียนฉันจะนอนลงข้างแม่และเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง แม่จะพยักหน้าแต่ไม่เปิดตา พ่อวนเวียนอยู่ใกล้ๆ พร้อมที่จะนำชาคาโมไมล์ในถ้วยชาใบโปรดมาเสิร์ฟทุกเมื่อ หมอสแตนช์ฟิลด์สั่งยาเพิ่ม แต่อาการของแม่ก็ไม่ขึ้นเลย
“ทำไมเบรนดาถึงลุกจากเตียงไม่ได้เสียที” พ่อถามหมอ เราสามคนยืนอยู่หน้าห้อง “แค่ทำอะไรเล็กน้อยเธอก็เหนื่อยแล้ว”
“หัวใจของเธอเสียหายมาก” หมอสแตนช์บอก “คงอยู่ได้อีกไม่นาน”
“กี่เดือนครับ” พ่อถาม
“กี่อาทิตย์มากกว่า” หมอว่า
พ่อยกแขนโอบฉันไว้ขณะที่ความจริงเริ่มซึมซาบ
พ่อกับแม่ยืนกรานว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ฉันจะขาดเรียนไม่ได้ และพ่อได้ลางานดูแลแม่แทนชนิดประกบไม่ห่างตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง
“ฉันอึดอัดจนหมายใจไม่ออกแล้วนะ!” ฉันได้ยินแม่บ่นพ่อ ทั้งคู่ไม่ถึงขนาดเถียงกัน แต่ดูเหมือนพ่อไม่เคยทำอะไรถูกใจแม่ และเวลาที่โมโหขึ้นมา แม่จะเริ่มหอบ ด้วยความกลัวว่าจะทำให้แม่ยิ่งทรุด พ่อจึงกลับไปทำงาน โดยออกจากบ้านตั้งแต่ไก่โห่และกลับมาดึกดื่น และเพื่อจะไม่รบกวนแม่ จึงย้ายมานอนที่โซฟา ตอนกลางคืน ในความเงียบ ฉันได้ยินเสียงแม่คราง เสียงหายใจฟืดฟาด เสียงไอ เสียงถอนใจแต่ละครั้งของแม่ทำให้ฉันกลัวจนได้แต่นอนขดอยู่บนเตียงแทนที่จะเดินไปดู
ฉันรู้สึกดีขึ้นหน่อยหลังจากที่ได้ระบายให้โอดีลฟังถึงเสียงหายใจฟืดฟาดของแม่ โอดีลรู้ว่าต้องทำอย่างไร และได้ย้ายเตียงเล็กๆ มาตั้งข้างเตียงแม่เพื่อจะได้มาค้างคืนได้ เมื่อแม่ค้าน แกบอกว่าไม่ลำบากหรอก “ฉันนอนกับทหารมาแล้วเป็นสิบ”
“โอดีล!” แม่อุทาน แล้วเหลือบมองฉัน
“นอนข้างๆ พวกเขาในโรงพยาบาลตอนช่วงสงครามน่ะจ้ะ”
สามทุ่ม เสียงประตูหลังดังเอียดอาด พ่อกลับมาแล้ว โอดีลลุกจากเตียงเดินย่องลงไปในครัว ฉันเดินย่องตามหลังและแนบหูกับผนังห้อง
“ภรรยาคุณต้องการคุณนะ ลูกสาวคุณก็เหมือนกัน” โอดีลว่า
“เบรนดาบอกว่าเธอรู้สึกเหมือนกับว่าเธอตายไปแล้วเวลาเห็นผมกลุ้มใจ”
“นั่นคือเหตุผลที่เธอไม่ยอมให้เพื่อนๆ มาเยี่ยมน่ะหรือ”
“เบรนดาไม่อยากเห็นน้ำตา ไม่อยากให้ใครสงสาร ผมอยากอยู่เคียงข้างเธอ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าการอยู่ห่างๆ อย่างที่เธอต้องการจะดีกว่า”
“คุณไม่อยากที่จะต้องเสียใจในภายหลังหรอกนะ” น้ำเสียงของมิสซิสกุสตาฟสันอ่อนลงเหมือนคนที่เป็นแม่
“ถ้าทุกอย่างขึ้นกับผมล่ะก็…”
เสียงไอของแม่ดังมาจากห้องนอน แม่ตื่นอยู่หรือเปล่า แม่ต้องการฉันไหม ฉันรีบถลันไปที่ห้องของแม่ แต่แล้วความกลัวก็ทำให้ฉันหยุดชะงักลงที่ปลายเตียง ข้างหลังฉัน เสียงพ่อดังขึ้น “เบรนดา ที่รัก เป็นยังไงบ้าง”
โอดีลสะกิดให้ฉันเดินเข้าไปหาแม่ แต่ฉันแข็งขืน ไหล่ดันไปด้านหลังต้านฝ่ามือแก แม่ยื่นมือให้ฉัน ฉันกลัวเกินกว่าจะจับ แต่ก็กลัวเกินกว่าที่จะไม่จับด้วย แม่กอดฉัน แต่ตัวฉันแข็งทื่อในอ้อมกอด
“เวลาช่างน้อยเหลือเกิน” แม่พูดเสียงแผ่ว “น้อยเหลือเกิน กล้าหาญไว้นะลูก…”
ฉันพยายามรับคำ แต่ความกลัวขโมยเสียงฉันไปหมด หลังจากนั้นพักใหญ่ แม่ก็ผลักฉันออกและมองดูฉัน ขณะที่ถูกสะกดด้วยแววตาแสนเศร้านั้นเอง ฉันก็นึกถึงคำของแม่ขึ้นมา เด็กทารกจำไม่ได้ว่าพวกเขาได้รับความรักขนาดไหน ฝูงห่านเรียกว่า a gaggle of geese ฝูงกา a murder of crows บางครั้งมนุษย์เราก็งกๆ เงิ่นๆ ไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไง พูดยังไง เพราะฉะนั้นอย่าถือสาพวกเขา เราไม่รู้หรอกว่าใจจริงเขาเป็นยังไง แม่อยากตั้งชื่อลูกว่าโรบิน แต่ลูกคือลิลลี โอ..ลิลลี
บทที่ 5
โอดีล
“มาดมัวแซล์รีเดอร์โทรมาลูก” แม่บอกขณะที่ฉันกับเรมีเดินเข้าบ้าน “เธอบอกว่าอยากจะพบลูกน่ะจ้ะ”
ฉันหันไปมองเรมี และมองเห็นความหวังและความโล่งอกในตาของเขา
“แน่ใจนะว่าลูกจะออกไปทำงานนอกบ้าน” แม่ถามฉัน
“แน่ที่สุดค่ะ” ฉันกอดแม่
เรมีส่งถุงผ้าสีเขียวให้ “เพื่อความโชคดี และไว้ใส่หนังสือที่เธอจะเอากลับบ้านด้วย”
ฉันรีบแล่นไปที่ห้องสมุดก่อนที่มิสรีเดอร์จะเปลี่ยนใจ วิ่งเข้าไปในลานและตรงขึ้นบันไดเวียน ก่อนจะหยุดกึกหน้าห้องทำงานของมิสรีเดอร์ เธอกำลังนั่งดูเอกสาร ในมือถือปากกาด้ามเงิน แววตาและท่าทางเหนื่อยล้า ลิปสติกจางไปนานแล้ว เธอทำท่าบอกให้ฉันนั่งลง
“ฉันกำลังทำงบประมาณอยู่” มิสรีเดอร์อธิบายว่าเนื่องจากห้องสมุดอเมริกาเป็นห้องสมุดเอกชนจึงไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เงินค่าหนังสือไปจนถึงค่าไฟต้องพึ่งพาคณะผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้บริจาค
“แต่เรื่องนี้เธอไม่ต้องกังวลนะ” มิสรีเดอร์ปิดแฟ้ม “อาจารย์โคเฮนชมเธอให้ฟังเสียจนฉันประทับใจ เราจะมาคุยเรื่องงานกัน เมื่อก่อนพนักงานที่นี่เข้าๆ ออกๆ ตลอดเวลาด้วยเหตุผลสารพัด ตอนนี้เราจึงต้องขอให้เซ็นสัญญาสองปี”
“ทำไมพวกเขาถึงอยู่ไม่ยืดคะ”
“บางคนเป็นชาวต่างชาติ ฝรั่งเศสไกลบ้านพวกเขาเกินไป บางคนก็ไม่ชอบทำงานกับผู้คน อย่างที่เธอบอกมาในจดหมายมาว่า ห้องสมุดเป็นที่หลบภัย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเจ้าหน้าที่ของเราพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อให้มันเป็นเช่นนั้น”
“ดิฉันคิดว่าดิฉันทำได้ค่ะ”
“เงินเดือนที่นี่ไม่มากนัก เธอมีปัญหาหรือเปล่า”
“ไม่เลยค่ะ”
“เรื่องสุดท้ายคือ พนักงานต้องผลัดกันมาทำงานในวันอาทิตย์!”
ดีเลย ฉันจะไม่ต้องไปโบสถ์หรือกินข้าวกับหนุ่มๆ ที่พ่อเชิญมาดูตัวอีกแล้ว “ได้เลยค่ะ!”
“งั้นงานนี้เป็นของเธอ” มิสรีเดอร์พูดอย่างเคร่งขรึม
ฉันกระโดดขึ้นจากเก้าอี้ด้วยความดีใจ “จริงเหรอคะ”
“จริงสิ”
“ขอบคุณค่ะ ขอบคุณมาก ดิฉันจะไม่ทำให้ผิดหวังเลยค่ะ”
มิสรีเดอร์ขยิบตาให้และล้อว่า “ยังไงอย่าเอาหนังสือทุ่มหัวสมาชิกแล้วกันนะ!”
ฉันหัวเราะ “ดิฉันจะไม่รับปากกับใครถ้าไม่แน่ใจว่าจะรักษาคำพูดได้ค่ะ”
“งั้นเริ่มพรุ่งนี้เลย” เธอบอก แล้วหันไปทำงบประมาณต่อ
ฉันวิ่งออกจากห้องสมุด โดยหวังว่าจะทันเจอเรมีก่อนที่เขาจะออกไปประท้วง และชนกับเขาอย่างจังที่ถนน
“โอ้โห อุตส่าห์มา!”
“ศาลตัดสินว่าไง!” เรมีถาม “หายเข้าไปนานเลย”
“ยี่สิบนาทีเท่านั้นเอง”
“นั่นแหละ” เขาพึมพำ
“ฉันได้งาน!”
“บอกแล้วไม่เชื่อ!”
“คิดว่าเธอจะไปร่วมประท้วงซะอีก” ฉันว่า
“ก็มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าน่ะ”
“แต่เธอเป็นประธานนะ พวกเขาต้องการเธอ”
เขายกเท้าแตะเท้าฉัน “แต่ฉันต้องการเธอ ถ้าไม่มีเธอก็ไม่มีฉัน”
ที่บ้าน ฉันเดินเข้าไปในห้องนั่งเล่น แม่กำลังถักผ้าพันคอให้ฉันอยู่
“ว่าไงจ๊ะ” แม่วางเข็มถักลง
“หนูเป็นบรรณารักษ์แล้ว!” ฉันดึงตัวแม่ขึ้นมาเต้นวอลต์ซไปรอบห้อง
หนึ่ง-สอง-สาม
หนังสือ-อิสรภาพ-ความสุข
“ยินดีด้วยลูกแม่” แม่แสดงความยินดีกับฉัน “เดี๋ยวแม่จะพูดกับพ่อให้เอง แม่สัญญา”
ฉันเดินเข้าห้องเพื่อทบทวนระบบทศนิยมดิวอี้ที่จดไว้สมัยเรียนเป็นการเตรียมตัว… เมื่อวานนี้ที่สวนสาธารณะลักเซมบูร์ก ฉันเห็น 598 (นก) เยอะมาก วันหนึ่งฉันจะเรียน 469 (ภาษาโปรตุเกส) …ว่าแต่ว่ามีตัวเลขสำหรับความรักมั้ยนะ หรือถ้าฉันมีตัวเลข ตัวเลขของฉันคืออะไร
ฉันคิดถึงน้าคาโรซึ่งเป็นคนแนะให้ฉันรู้จักกับระบบทศนิยมดิวอี้ จำได้ว่าตอนเด็กฉันชอบนั่งฟังนิทานบนตักน้าในชั่วโมงเล่านิทานของห้องสมุดเป็นที่สุด! หลายปีหลังจากนั้นตอนอายุเก้าขวบ น้าคาโรก็สอนให้ฉันรู้วิธีหาหนังสือที่ต้องการจากบัตรรายการหนังสือในตู้ไม้หน้าตาประหลาดที่มีช่องเล็กๆ เต็มไปหมด
“หลานจะได้เจอความลับของจักรวาลในตู้นี้แหละ” ว่าแล้วน้าคาโรก็ดึงลิ้นชักตัวอักษร N ออกมา ข้างในมีบัตรรายการหนังสือหลายสิบใบ “บัตรแต่ละใบมีข้อมูลที่จะเปิดโลกทั้งโลกให้เรา ลองดูสิจ๊ะ หนูต้องชอบแน่”
ฉันมองเข้าไปในตู้และพลิกบัตรดูจนกระทั่งเจอ “Nougat” (ขนมนูแก็ต)
จากนั้นน้าคาโรก็สอนขั้นต่อไป คือตัวเลขซึ่งจะนำเราไปที่แผนก ชั้นหนังสือ แล้วก็หนังสือเล่มที่เราต้องการ ช่างเหมือนการล่าสมบัติไม่ผิด!
น้าคาโรมีเอวที่เล็กบอบบางที่สุด แต่มีสมองใหญ่ที่สุด เช่นเดียวกับแม่ น้าคาโรมีตาสีฟ้าเหมือนดอกเพอริวิงเคิล แต่ของแม่จะสีอ่อนหน่อย..เหมือนเสื้อเชิ้ตสีฟ้าของพ่อ ของคุณป้ามีสีฟ้าสดใสมีชีวิตชีวา ในฐานะนักอ่าน น้าคาโรเหมือนสัตว์กินเนื้อที่สวาปามไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บทละครหรือกวี ชั้นหนังสือที่บ้านของน้าคาโรเต็มจนล้น ดังนั้นโต๊ะเครื่องแป้งของน้าจึงมีทั้งแปรงหวีผมสีชมพู หนังสือของโดโรธี ปาร์คเกอร์, ของมงตาญ และมาสคาราปนกัน ในตู้เสื้อผ้ามีหนังสือของโฮเรซและรองเท้าส้นสูง ถุงน่องกับจอห์น สไตน์เบค ชีวิตของฉันอบอวลความรักที่น้าคาโรมีให้กับหนังสือและฉัน เหมือนกับที่น้าคาโรอบอวลด้วยกลิ่นน้ำหอมชาลิมาร์สีอำพันที่น้าแตะหลังหู
ความทรงจำมากมายเกี่ยวกับน้าคาโรทำให้ฉันรู้ว่าทำไมฉันถึงต้องได้งานนี้ให้ได้
วันแรกของการทำงาน ฉันตื่นเต้นยิ่งกว่าตอนสัมภาษณ์เสียอีก ถ้าเกิดฉันทำให้มิสรีเดอร์ผิดหวังล่ะ ถ้าเกิดมีใครถามอะไรแล้วฉันตอบไม่ได้ล่ะ ถ้าน้าคาโรยังอยู่ก็ดีสิ ว่าแต่ฉันคงห้ามไม่ให้น้ามาห้องสมุดในวันแรกของฉันเป็นแน่ แต่ยังไงน้าก็ต้องมาอยู่ดีแหละ ท่ามกลางกองหนังสือของเชลลีกับเบลก น้าจะขยิบตาให้กำลังใจฉัน แล้วความตื่นเต้นของฉันก็จะมลายไปสิ้นเมื่อนึกถึงคำที่น้าเคยบอกว่า: คำตอบน่ะมีอยู่แล้ว เราต้องหาให้เจอเท่านั้น
“ขอแนะนำ…” มิสรีเดอร์ ผู้อำนวยการห้องสมุดแนะนำบอริส เนทเชฟฟ์ หัวหน้าบรรณารักษ์ท่าทางเป็นผู้ดีชาวฝรั่งเศส-รัสเซีย ซึ่งอยู่ในชุดสูทสีน้ำเงินผูกไทเช่นทุกครั้ง ที่เคาน์เตอร์บริการ สมาชิกเดินเรียงแถวผ่านเขาไปราวกับสมาชิกโบสถ์เรียงคิวรอทักทายหรือพูดคุยกับบาทหลวง ประกายสีเขียวระยิบระยับในตาของเขาไม่เคยหมองลงแม้ขณะที่ฟังสมาชิกเล่าเรื่องตัวเองไม่รู้จบ บอริสรู้ว่าจะซื้อเสื้อผ้าที่ประณีตที่สุดได้ที่ไหน (‘คุณจะไม่ผิดหวังเลยกับช่างประจำของผมที่ บาซาร์ เดอ โลเตล เดอ วิลล์) หรือสิ่งสำคัญที่ต้องดูเวลาจะซื้อม้า มิสซิสเทิร์นบูลผู้เคร่งขรึมบอกว่า บอริสมีเชื้อสายขุนนางและเคยเป็นเจ้าของม้าสายพันธุ์ดีมาก่อน ส่วนมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์บอกว่าเขาเคยเป็นทหารในกองทัพรัสเซีย เรียกได้ว่าห้องสมุดของเรามีข่าวลือมากพอกับหนังสือทีเดียว
บอริสเป็นนักหนังสือบำบัดที่มีชื่อเสียง เขารู้ว่าเล่มไหนสามารถรักษาอาการอกหัก เล่มไหนเหมาะสำหรับอ่านในยามบ่ายของฤดูร้อน เล่มไหนจะนำคุณไปสู่การผจญภัยที่น่าตื่นเต้น ครั้งแรกที่ฉันมาห้องสมุดคนเดียวโดยไม่มีน้าคาโร..ตอนนี้ก็สิบปีแล้ว ฉันรู้สึกเหมือนถูกหนังสือสูงท่วมหัวล้อมไว้ ชื่อหนังสือตัวนูนบนสันแต่ละเล่มไม่พูดกับฉันเช่นเคย น้ำตาที่รื้นขึ้นมาทำให้ทุกอย่างเบลอไปหมด
บอริสเดินเข้ามาหาฉันด้วยสีหน้าห่วงใย “คุณน้าไม่ได้มาด้วยเหรอ พวกเราไม่เห็นเธอมาพักใหญ่แล้ว”
“น้าไม่มาอีกแล้วค่ะ”
เขาเลือกหนังสือเล่มหนึ่งจากชั้น “เล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียในครอบครัว และการที่เราสามารถมีความสุขได้แม้ในเวลาที่แย่
ฉันไม่กลัวพายุเพราะฉันกำลังหัดแล่นเรือชีวิตของฉันอยู่
Little Women – สี่ดรุณี ที่บอริสแนะนำยังคงเป็นหนังสือโปรดของฉันจนทุกวันนี้
“บอริสเริ่มทำงานที่นี่ในฐานะพนักงานฝึกหัด เขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเอแอลพี” มิสรีเดอร์ว่า
เขาจับมือกับฉัน “เธอเป็นสมาชิกนี่นา”
ฉันพยักหน้า ดีใจที่เขาจำได้ แต่ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป มิสรีเดอร์ก็พาฉันเข้าไปในห้องอ่านหนังสือและตรงไปยังผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง เธอมีผมสีดอกเลาล้อมรอบใบหน้า แว่นตากรอบดำตั้งอยู่บนปลายจมูก มีหนังสือเกี่ยวกับอังกฤษยุคพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 หลายเล่มแผ่อยู่ข้างหน้า มิสรีเดอร์แนะนำฉันกับเคาน์เตสคลารา เดอ ฌองบรุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ของห้องสมุด ฉันเคยได้ยินชื่อท่านและเพิ่งอ่าน Playing with Soul – (เล่นกับจิตวิญญาณ) นวนิยายซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์จบ โอ้โห เป็นทั้งเคาน์เตสและนักเขียนเลยนะนี่!
“หาข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับเชคสเปียร์อยู่หรือคะ” ผู้อำนวยกาถาม “ไม่เข้าไปใช้ห้องทำงานฉันล่ะคะ”
“ไม่ต้องให้สิทธิพิเศษฉันหรอกจ้ะ ฉันก็แค่สมาชิกคนหนึ่งเท่านั้นเอง”
สำเนียงของเคาน์เตสคลาราบอกว่าท่านไม่ใช่คนฝรั่งเศสแน่นอน และก็ไม่ใช่อังกฤษด้วย แต่อเมริกามีเคาน์เตสด้วยเหรอ ความสงสัยนี้จะถูกเฉลยในวันรุ่งขึ้น ตอนนี้ผู้อำนวยการนำฉันไปที่ห้องวารสารซึ่งฉันจะประจำอยู่ ระหว่างทางเธอแนะนำฉันกับมาดมัวแซลฟรีกาต์ (ฝรั่งเศส-สวิส) เลขานุการของเธอ แล้วก็มิสเว็ดด์ (อังกฤษ) สมุห์บัญชี และปีเตอร์ อุสตินอฟ (อเมริกัน) เจ้าหน้าที่จัดเก็บหนังสือซึ่งดูแลการเก็บหนังสือขึ้นชั้น
ฉันสำรวจชั้นหนังสือขนาดยาวหลายชั้นในแผนก มีหนังสือพิมพ์ 15 ฉบับและวารสาร 300 ฉบับจากอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศอื่นๆ ไกลไปถึงญี่ปุ่น เมื่อมิสรีเดอร์บอกว่าฉันต้องรับผิดชอบบอร์ดข่าวสาร, จดหมายข่าว และคอลัมน์ (ข่าวจากเอแอลพี) ในหนังสือพิมพ์เฮอรัลด์ด้วย ฉันถึงกับตะลึงเพราะไม่คิดว่าจะทำได้
“รู้ไหม ฉันเริ่มงานจากแผนกนี้เหมือนกัน” เธอว่า “แล้วดูสิตอนนี้ฉันเป็นอะไร”
เราสองคนเพลิดเพลินกับการยืนดูกิจกรรมในห้องสมุดขณะที่สมาชิกประคองหนังสือในมืออย่างทะนุถนอมและก้มหน้าก้มตาอ่าน
มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์เดินตรงมาหาเรา ท่านทำให้ฉันนึกถึงนกกระสาที่มีชีวิตชีวาติดหูกระต่ายลายลูกน้ำ ที่เดินมาด้วยข้างๆ คือสมาชิกท่าทางคล้ายแมวน้ำหนวดขาวเป็นพุ่ม “สวัสดีค่ะสุภาพบุรุษ นี่เจ้าหน้าที่คนล่าสุดของเราค่ะ” มิสรีเดอร์แนะนำฉัน แล้วก็เดินกลับไปยังห้องทำงาน
“ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่บอกให้เขียนทุกอย่างในใจลงในจดหมายนะคะ” ฉันบอกมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์
“ดีใจด้วยนะที่ได้งาน” เขาบอก หูกระต่ายที่คอกระเพื่อมขึ้นๆ ลงๆ จากนั้นก็ชี้ไปยังเพื่อนที่เดินมาด้วยกันและบอกว่า “นักข่าวที่ไม่แสดงตัวคนนี้คือ จอฟฟัว เดอ แนเซีย เขาชอบคิดว่าเฮอรัลด์ในห้องสมุดนี่เป็นของเขา”
“เที่ยวอำคนอีกแล้วนะตาเฒ่า” เมอซิเออร์เดอแนเซียว่า “พวกนักการทูตอำเก่งแบบนี้กันทุกคน”
“ดิฉันโอดีล ซูเฌ บรรณารักษ์และกรรมการตัดสินค่ะ” ฉันพูดขำๆ
“ไหนล่ะนกหวีด” มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ถาม “กับเราสองคน เธอต้องมีนกหวีดนะ”
“เราคือมวยฝีปากเอกเลย” เมอซิเออร์เดอแนเซียโม้
“คนเดียวที่ตะเบ็งเสียงได้ดังกว่าเราก็คือเคาน์เตสเดอฌองบรุน”
“ที่เรารู้ก็เพราะเธอเคยแทรกเข้ามาตรงกลางระหว่างเรา และบอกให้เราไปเถียงกันข้างนอกน่ะ” ชายชาวฝรั่งเศสเหลือบไปที่เคาน์เตสคลารา
“ฉันกลัวหงอเลย คิดว่าจะโดนดึงหูลากออกไปซะอีก!”
เมอซิเออร์เดอแนเซียยิ้ม “สุภาพสตรีผู้นี้สามารถพาผมไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ”
“สงสัยแต่ว่าสามีเธอจะยอมหรือเปล่าเท่านั้นแหละ”
“เขาเป็นนายพลเชียวนะ! ฉันต้องระวังตัวสักหน่อย”
ชายทั้งคู่ฟาดฟันกันต่อขณะที่ฉันนำหนังสือพิมพ์ออกมาจัดวางและทำความคุ้นเคยกับนิตยสารและวารสารในแผนก หลังจากนั้นไม่นานก็ง่วนอยู่กับการศึกษาสารบัญ ในหัวมีแต่ประวัติศาสตร์ แฟชั่น และสถานการณ์ปัจจุบัน
“มาดมัวแซล? โอดีล?”
ฉันมัวแต่ง่วนกับงานจนไม่ได้ยิน
“ขอโทษครับ มาดมัวแซล?”
เมื่อรู้สึกว่ามีมือยื่นมาจับต้นแขนจึงเงยหน้าขึ้นมอง แล้วก็เห็นพอล
เขาดูหล่อเหลาในเครื่องแบบของหน่วย เลสิรองแดลส์ หรือหน่วยนกนางแอ่น – ตำรวจจักรยานลาดตระเวน เสื้อนอกสีน้ำเงินกรมท่าเน้นแผ่นอกกว้าง พอลน่าจะตรงมาที่นี่จากเลยหลังเลิกงาน
วันหนึ่งที่มีลมพัดแรง ขณะที่นั่งอ่านหนังสือในสวนสาธารณะ สายลมหอบหนึ่งได้พัดหน้าหนังสือที่อ่านอยู่กระพือหลุดจากนิ้วที่คั่นไว้ และตอนนี้พอลกำลังทำให้หัวใจของฉันกระพือพรึ่บพรั่บเหมือนหน้าหนังสือที่ปลิวผ่านนิ้วไปไม่ผิด
แต่แล้วจู่ๆ ความคิดที่น่ากลัวก็ผุดขึ้น..หรือว่าคุณพ่อส่งเขามา
“มาทำอะไรที่นี่คะ” ฉันถาม
“ไม่ได้ตั้งใจมาหรอกครับ เผอิญผ่านมา” เขาว่า
“ฉันก็คิดอย่างนั้นแหละค่ะ” ฉันปด
“นักท่องเที่ยวมักจะมาถามทางกับตำรวจ ผมก็เลยมาหาหนังสือที่จะพัฒนาภาษาอังกฤษของผมสักหน่อย”
“คุณพ่อฉันบอกคุณเหรอคะว่าฉันได้งานที่นี่”
“ผมได้ยินแต่ท่านบ่นถึงผู้หญิงอวดดีน่ะครับ”
“ฉันเข้าใจความนัยของเขา” และประชดว่า “อีกหน่อยพ่อคงตั้งให้คุณเป็นหัวหน้านักสืบอย่างที่คุณต้องการเลย”
“คุณไม่รู้หรอกว่าผมต้องการอะไร” เขาหยิบดอกไม้ช่อเล็กๆ จากกระเป๋าสะพายของตำรวจ “สำหรับการเริ่มงานวันแรก ขอให้โชคดีนะครับ”
ฉันควรขอบคุณเขาด้วยการจูบแก้มซ้ายขวา แต่ด้วยความเขินอายจึงเสก้มลงดมดอกแดฟโฟดิล ดอกไม้โปรดของฉันเป็นสัญญาที่บอกว่าฤดูใบไม้ผลิกำลังมา
“ให้ฉันช่วยหาหนังสือให้มั้ยคะ”
“คิดว่าให้ผมฝึกหาเองดีกว่าครับ” แล้วเขาก็หยิบบัตรห้องสมุดขึ้นมา “ผมว่าจะใช้เวลาที่นี่สักหน่อย”
พอลเดินก้าวยาวๆ ไปยังห้องหนังสืออ้างอิง ทิ้งให้ฉันยืนคว้าง บัตรห้องสมุดของเขายังใหม่เอี่ยม บางทีเขาอาจมาเพราะฉันก็ได้
ตลอดเช้า สมาชิกหลายคนต้องรออย่างอดทนขณะที่ฉันช่วยพวกเขาหาวารสารที่ต้องการ แต่มีคนเดียวที่ร้องเรียน “ทำไมไม่มีใครคอยดูแลเฮอรัลด์นะ” เขาบ่น ตอนหลังฉันเจอมันยัดอยู่ในกระเป๋าเอกสารของเมอซิเออร์เดอแนเซีย
เสียงเอะอะเอ็ดตะโรทำให้ฉันเดินออกจากห้องวารสารไปยังเคาน์เตอร์บริการและเห็นผู้หญิงคนหนึ่งถือหนังสือโบกไปมาหน้าบอริส หน้าแดงก่ำด้วยความโกรธ และพูดเสียงดังว่า ห้องสมุดไม่ควรมีนิยายที่ “ไร้ศีลธรรม” แบบนี้ เมื่อบอริสปฏิเสธไม่เก็บหนังสือเหล่านี้ออกจากชั้น หล่อนก็เดินกระฟัดกระเฟียดออกไป
“ไม่ต้องตกใจขนาดนั้นหรอก” เขาว่า “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง จะต้องมีใครคนหนึ่งคิดว่าตนมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ศีลธรรมอันดีงาม”
“ถามหน่อยนะคะ ฉันสงสัยว่าหนังสือที่ว่านั่นคือเล่มไหน”
“Studs Lonigan – สตัดส์ โลนิแกน”
“ไว้จะต้องอ่านดูเสียแล้ว”
บอริสหัวเราะ และฉันอดคิดไม่ได้ว่าช่างประหลาด (และยอดเหลือเกิน) ที่ตอนนี้ฉันได้กลายมาเป็นผู้ร่วมงานเขา
“ฉันมีอะไรบางอย่างจะให้เธอแน่ะ”
“อะไรคะ!” ฉันหวังว่าเขาจะเลือกหนังสือที่เหมาะกับฉันให้ แต่กลับเป็นว่า เขายื่นรายชื่อหนังสือเจ็ดสิบเล่มซึ่งฉันต้องไปหยิบจากชั้นและห่อส่งไปให้สมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัด ฉันดูนาฬิกา บ่ายสองแล้ว ตั้งแต่เช้าฉันยังไม่ว่างมือและลืมอาหารกลางวันเสียสนิท ตอนนี้ก็สายเกินกว่าจะไปพักแล้ว จาก Summer (ฤดูร้อน) – 813 ถึง Alcools – (ออลคูลส์) บทกวีของกีโยม อาปอลีแยร์ – 841 ฉันเดินหาหนังสือไปทั่วสามชั้นของห้องสมุดเหมือนเกมล่าสมบัติ เมื่อถึง 6 โมงเย็น นอกจากเท้าจะปวดเมื่อยไปหมดแล้ว ศีรษะก็ปวดด้วย ฉันไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้มาก่อน ขนาดช่วงสอบสมัยเรียนหนังสือก็ยังไม่เท่านี้ ตลอดวันนี้ต้องเจอคนราวยี่สิบคน แต่จำชื่อไม่ได้สักคน ฉันต้องพูดภาษาอังกฤษทั้งวัน ตอบคำถามนับสิบ ตั้งแต่ จริงเหรอที่ว่ากันว่าคนฝรั่งเศสกินขากบ แล้วเขาทำอะไรกับตัวมัน ผมอยากจะขอเข้าไปค้นข้อมูลในคลังเอกสารหน่อย ห้องน้ำอยู่ที่ไหนคะ ว่าอะไรนะสาวน้อย พูดดังหน่อยสิ! เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ภาษาอังกฤษก็หนีฉันไปหมด เหมือนเวลาเปิดหนังสือแล้วเจอแต่หน้าเปล่าไม่ผิด
ฉันถือช่อดอกแดฟโฟดิลที่คอเริ่มตกแนบอก และก้าวออกสู่อากาศหนาวเหน็บยามค่ำ น้ำแข็งจับก้อนกรวดบนทางเดินทำให้ลื่น เท้าที่พองปวดตุบๆ รู้สึกว่าการเดินกลับบ้านยาวนานเหมือนสิบห้าปีแทนที่จะเป็นสิบห้านาที ขณะที่เดินเขยกอยู่นั้นก็สังเกตเห็นว่าที่ถนนฝั่งตรงข้ามมีรถสีดำคันหนึ่งขับชะลอลงช้าๆ ใต้แสงสลัวจากเสาไฟ แล้วพ่อก็ลงจากรถมาเปิดประตูข้างผู้โดยสารให้
“โอ้ พ่อ แมซี ขอบคุณค่ะ” ฉันโล่งอกที่ได้พูดฝรั่งเศสอีกครั้งพลางก้าวขึ้นรถ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ตอนกินอาหารเช้าที่ฉันได้นั่ง
“หิวไหม” พ่อยื่นกล่องขนมของออนอเร ร้านขนมชื่อดังมาให้ เมื่อเปิดออกมาก็ได้กลิ่นเนยหอมกรุ่นของฟีนานเซียร์ ฉันยกขึ้นกัดแล้วหลับตาลงเคี้ยวช้าๆ
“เป็นไงล่ะ” พ่อถาม “แค่วันแรกเท่านั้นก็เหนื่อยขนาดนี้แล้ว คงไม่ได้ปวดหัวอย่างที่เป็นประจำนะ”
“ไม่ค่ะพ่อ หนูสบายดี”
“ตอนอายุเท่าลูก” น้ำเสียงของพ่ออ่อนโยน “พ่อกับแม่เพิ่งผ่านสงครามมา เราเสียเพื่อนและคนในครอบครัวหลายคน ลูกเพิ่งอายุยี่สิบ เราอยากให้ลูกสนุกกับวัยสาว มีแฟน ไปเต้นรำ ไม่ใช่ไปลำบากลำบนกับการทำงานราวกับทาสในโรงงานหนังสือ”
“พ่อคะ ขอร้องล่ะ อย่าพูดเรื่องนี้…” ตลอดชีวิตของฉันมีแต่รถถัง สนามเพลาะ แก๊สมัสตาร์ด และทหารแขนขาขาดจากเรื่องสงครามที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง
“โอเค งั้นเรามาพูดเรื่องอื่นกัน พ่อได้ข่าวมาว่าลูกต้องทำงานวันอาทิตย์ พ่อก็เลยเชิญหนุ่มมากินอาหารเย็นวันพุธนี้ คนนี้เห็นบอกว่าชอบอ่านหนังสือด้วยนะ!”
บทที่ 6
โอดีล
ปารีส, มีนาคม 1939
ทุกเช้าก่อนห้องสมุดเปิด ฉันจะแวะเวียนไปตามแผนกต่างๆ วันจันทร์นี้ฉันมีนัดกับแผนกบัญชี มิสเว็ดด์ สมุห์บัญชีของห้องสมุดซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเฉลียวฉลาดและมีฝีมือในการทำสโคนแสนอร่อย ฉันเห็นดินสอสามแท่งเสียบอยู่ที่มวยผมสีน้ำตาลขณะที่เธอก้มหน้าง่วนอยู่กับสมุดบัญชี หลังจากที่เธออธิบายแถวค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมทุกอย่างตั้งแต่ค่าถ่านหิน ไม้ฟืน จนถึงหนังสือและกาวสำหรับซ่อมหนังสือแล้ว ฉันจึงถามว่าจะขออนุญาตสัมภาษณ์เธอหน่อยได้หรือไม่ ฉันมีไอเดียบางอย่างสำหรับจดหมายข่าวประจำเดือนซึ่งมิสรีเดอร์มอบหมายให้รับผิดชอบ นอกจากรีวิวหนังสือและรายชื่อหนังสือที่นิยมยืมกันที่สุดแล้ว ฉันอยากมีคอลัมน์แนะนำให้รู้จักสมาชิกและเจ้าหน้าที่ห้องสมุด
“คุณชอบอ่านหนังสือประเภทไหนคะ” ฉันถาม พร้อมสมุดบันทึกในมือพร้อมจด
“สมัยเรียนฉันชอบคณิตศาสตร์ สำหรับฉันตัวเลขดูมีเหตุผลมากกว่าคน หนังสือโปรดของฉันจึงมักเป็นหนังสือของนักปราชญ์กรีกโบราณอย่างพิธาโกรัสหรือเฮราคลิตุส งานและไอเดียของพวกเขายังคงใช้ได้ในทุกวันนั้น”
“ฉันไม่เก่งเรื่องคนเหมือนกับบอริสหรือมิสรีเดอร์” เธอเสียบดินสอแท่งที่ 4 กับมวยผม “ยังไงฉันหวังว่างานของฉันคงมีประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ กับที่นี่บ้าง เป็นเวลากว่าสิบปี ฉันได้บันทึกเรื่องราวของผู้ที่บริจาคเงินให้กับห้องสมุด และเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพียงแต่ฉันจะบันทึกเรื่องราวของพวกเขาในเชิงตัวเลขและเป็นแนวตั้งแทนที่จะเป็นแนวนอน”
การสัมภาษณ์มิสเว็ดด์เหมือนการนั่งมองดอกกุหลาบที่ค่อยๆ เบ่งบาน เมื่อพูดถึงงานไฟในตัวเธอจะลุกโชนจนแก้มเป็นสีชมพูกลีบกุหลาบ ฉันดีใจที่เลือกสัมภาษณ์เธอเป็นคนแรกและขอบคุณเธอที่ได้สละเวลา “คนอ่านต้องชอบแน่ค่ะ ฉันเองก็อยากรู้จักกับเฮอราคลิตุสบ้างแล้ว”
ฉันยังสนุกกับการได้รู้จักกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นด้วย ในวันอังคาร ฉันได้พูดคุยกับปีเตอร์ ผู้รับผิดชอบการจัดเก็บหนังสือซึ่งเป็นคนเดียวที่สูงพอจะเอื้อมถึงชั้นบนสุด ปีเตอร์จะเรียงหนังสือบนรถเข็นตามหมายเลขก่อน ทำให้สามารถหยิบใส่ชั้นได้ครั้งละสิบเล่มขณะที่ฉันได้เพียงครั้งละสอง เขามีรูปร่างล่ำสันเหมือนนักมวย แต่เมื่อใดที่ได้ยินมาดามฟร็อตแผดเสียงดังผ่านชั้นหนังสือ “ปีเตอร์จ๋า ปีเตอร์ที่รัก” เขาจะรีบเผ่นเข้าไปในห้องเก็บเสื้อโค้ตเพื่อหลบมาดามสมาชิกที่คลั่งไคล้เขา
วันพุธ ฉันเข้าไปในห้องหนังสือเด็กซึ่งมีชั้นหนังสือเตี้ยๆ เรียงไปตามผนังห้อง มีโต๊ะและเก้าอี้ตัวเล็กๆ วางเป็นกลุ่มหน้าเตาผิง แม้จะไม่เคยเจอมูเรียล ฌูแบร์ บรรณารักษ์แผนกหนังสือเด็กแต่รู้สึกว่าฉันรู้จักเธอ เพราะลายเซ็นประณีตของเธอบนบัตรหนังสือแต่ละใบที่ฉันยืม อาทิตย์ที่ผ่านมาเพียงอาทิตย์เดียว เธออ่านชนะฉันหลายเล่ม ตั้งแต่ Belinda (เบลินดา), The Interesting Narrative of the Life of Olaudah Equiano (เรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของโอลอดา อีเควียโน) และ My Antonia (แอนโธเนียของฉัน) จากหนังสือทั้งหมดที่เธออ่าน ฉันคิดว่าเธอคงเป็นหญิงสูงอายุ ผมขาวโพลน แต่กลับพบหญิงสาววัยเดียวกัน ดวงตาสีม่วงดอกไวโอเล็ตที่มองดูฉันอย่างพินิจพิจารณา เธอเป็นคนร่างเล็ก แม้รวมเปียดำหนาที่ขมวดอยู่บนกระหม่อมแล้วก็ยังสูงไม่เกินห้าฟุต
“มาดมัวแซลฌูแบร์?” ฉันถาม
เธอบอกให้ฉันเรียกเธอว่า ‘บิตซี’ หรือหนูจิ๋วเหมือนกับทุกคนหลังจากที่สมาชิกชาวเท็กซัสคนหนึ่งอุทานออกมาเมื่อเห็นตัวเล็กจิ๋วของเธอ บิตซีบอกว่าเธออยากรู้จักฉันตั้งแต่สังเกตเห็นชื่อฉันบนบัตรยืมหนังสือเล่มโปรดของเธอบ่อยๆ
“เราเป็นบุ๊คเมตกัน” เธอบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเหมือนกับพูดว่า ‘ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า’ หรือ ‘ปารีสเป็นเมืองที่เยี่ยมที่สุดในโลก’” ฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องเนื้อคู่เท่าไหร่ แต่บุ๊คเมต – คนสองคนที่ผูกพันกันด้วยความรักในหนังสือนี่พอเป็นไปได้
บิตซีเอ่ยถึง The Brothers Karamazov (พี่น้องคารามาซอฟ) ว่า “ฉันร้องไห้ตอนจบ” ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “ประการแรก ด้วยความดีใจที่ได้อ่าน ประการที่สอง เพราะเรื่องราวที่ซาบซึ้งสะเทือนใจ และสาม ฉันจะไม่ได้รู้สึกแบบความรู้สึกตอนค้นพบมันอีกแล้ว”
“ดอสโตเยฟสกีเป็นนักเขียนโปรดที่เสียชีวิตแล้วของฉัน” ฉันบอก
“เหมือนกันเลย แล้วที่มีชีวิตล่ะ”
“โซรา นีล เฮิร์สตัน ครั้งแรกที่ฉันยืม The Eyes Were Watching God (ดวงตาที่กำลังเฝ้ามองพระเจ้า) ฉันอ่านอย่างตะกละตะกราม อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เจนีจะเลือกสามีผิดหรือเปล่า ทีเค้กจะดีสำหรับเจนีอย่างที่ฉันคิดไหม จากนั้นพอเหลืออีกแค่ไม่กี่หน้าก็เริ่มกังวลว่าโลกที่ฉันรักกำลังจะจบลงโดยที่ฉันยังไม่พร้อมจะบอกลา ดังนั้นจึงพยายามอ่านให้ช้าที่สุดเพื่อจะได้ละเลียดกับทุกฉาก”
บิตซีพยักหน้าอย่างเข้าใจ “ฉันก็เหมือนกัน พยายามอยู่กับแต่ละหน้าให้นานที่สุด”
“ฉันอ่านจบในสี่วัน แต่เก็บหนังสือไว้ถึงสองอาทิตย์ ไม่ยอมคืนห้องสมุดรอจนวันครบกำหนด ตอนเอาไปคืนฉันวางหนังสือลงบนเคาน์เตอร์แต่มือยังวางอยู่บนปก ไม่อยากจากมันไป จนกระทั่งบอริสต้องไปหาหนังสือของเฮิร์สตันให้ฉันอีกสามเล่ม”
“ฉันสวาปามหนังสือพวกนั้นราวกับเค้กช็อกโกแล็ตหรือความรักเลยล่ะ แล้วก็รักตัวละครจริงจังยังกับว่าพวกเขามีตัวตนจริงด้วย ฉันรู้สึกว่าฉันรู้จักกับเจนี..แบบว่าวันหนึ่งเธออาจเดินเข้ามาในห้องสมุดและเชิญฉันนั่งดื่มกาแฟด้วย”
“ฉันก็รู้สึกแบบนี้กับตัวละครโปรดของฉันเหมือนกัน” บิตซีว่า
คุณแม่คนหนึ่งเดินเข้ามา “ลูกชายฉันอยากได้สองเล่มนี้ค่ะ” เธอชูหนังสือนิทานขึ้น “แต่ดูสิ..มีรอยเยอะแยะ”
“ค่ะ เล่มนี้คนชอบกันมาก” บิตซีตอบ “แต่หนังสือใหม่เราก็มีนะคะ..ที่ชั้น ‘หนังสือล่าสุด’ ค่ะ”
บิตซีทำปากบอกว่า “ขอกลับไปทำงานก่อนนะ” แล้วก็นำสองแม่ลูกไปดูหนังสือที่จัดแสดงไว้ที่ชั้น ฉันเหลือบมองเข้าไปในห้องหนังสืออ้างอิง หวังว่าจะเห็นพอล แต่เขาไม่อยู่แล้ว
ด้วยความผิดหวัง ฉันเดินกลับไปที่โต๊ะทำงานซึ่งสมาชิกคนหนึ่งกำลังยืนเคาะเท้ารอยืมนิตยสารฮาร์เปอร์’ส บาซาร์อยู่ “ไปไหนมาเนี่ย” มาดามซิมงดุ
เมื่อฉันส่งนิตยสารเล่มล่าสุดซึ่งยังอยู่ในห่อกระดาษสีน้ำตาลให้ แกจึงอ่อนลง และบอกว่าที่บ้านแก แกได้อ่านคนสุดท้ายเสมอ ฟันปลอมของแกสั่นกึกๆ ขณะที่บอกว่าทุกอย่างที่แกมีล้วนเป็นของตกทอดจากคนอื่นทั้งนั้น ไม่ว่าเสื้อขนมิงค์ขนฟีบแบนจากป้าที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือฟันปลอมซึ่งเคยเป็นของแม่สามี แต่ในห้องสมุดแห่งนี้ มาดามซิมงเป็นคนแรกที่ได้ชื่นชมกับแฟชั่นจากนิตยสารคนแรก แม้จะไม่มีปัญญาซื้อ “หรือใส่ได้ก็ตาม” แกบ่น มืออวบอูมลูบไปตามร่างอ้วนท้วน ก่อนจะนั่งลงข้างศาสตราจารย์โคเฮน
มาดามซิมงนั่งมองบอริส แล้วก็พูดขึ้นว่า “คนบอกว่า ครอบครัวแกสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างตอนปฏิวัติรัสเซีย แกต้องมาเริ่มต้นใหม่ในฝรั่งเศสในสภาพยาจกไม่มีแม้แต่สตางค์แดงเดียว”
“ไม่ว่าจะมีสภาพยังไง บอริสก็คือเจ้าชายแห่งมนุษย์” ศาสตราจารย์โคเฮนว่า
“เมียเขาเป็นเจ้าหญิงนะ พูดให้ถูกคือเป็นอดีตเจ้าหญิง แต่ตอนนี้ทำงานเป็นแคชเชียร์ เรียกว่าชีวิตตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ!”
“พูดโดยคนที่ไม่เคยทำมาหาเลี้ยงตัวเองเชียวนะนี่”
คลารา เดอ ฌองบรุนเดินผ่านมาพร้อมกระดาษตั้งสูง “พูดถึงขุนนาง ขุนนางก็มา” มาดามซิมงหัวเราะคิก “เรายังมีเคาน์เตสจากโอไฮโอด้วยนะ”
“วันนี้คุณมีผึ้งในหมวกเบเรต์หรือไง ถึงได้ต่อยไม่ยั้ง คลาราเป็นกรรมการผู้ดูแลผลประโยชน์ที่มีความสามารถในการหาทุนมากนะ พวกเราคงไม่ได้มานั่งกันตรงนี้ถ้าไม่มีเธอ เห็นคุณชอบแฟชั่นเหลือเกิน ฉันเลยอยากจะบอกว่า การเที่ยวจิกกัดแบบนี้ไม่ได้ทำให้ใครดูดีหรอกนะคะ”
บทที่ 7
มาร์กาเร็ต
ปารีส, มีนาคม 1939
มาร์กาเร็ตตบสร้อยมุกที่คอเบาๆ ด้วยความประหม่าขณะที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าธรณีประตูห้องสมุดอเมริกาที่สงบเงียบราวกับมหาวิหารจนเธอไม่แน่ใจว่าควรจะก้าวเข้าไปหรือไม่ มาร์กาเร็ตไม่ใช่ชาวอเมริกันอย่างแน่นอนและไม่สนใจหนังสือด้วย ทว่าหลังจากอยู่ปารีสมาสี่เดือน เธอโหยหาภาษาอังกฤษทุกรูปแบบ ภาษาฝรั่งเศสที่มีเสียงขึ้นจมูกเหมือนเมือกเหนียวที่เธอต้องลุยผ่านทุกวัน ไม่ว่าตามร้านค้า ร้านทำผม หรือร้านขนมปัง ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย สุดท้ายเธอต้องใช้ภาษามือโดยชี้ไปที่ครัวซองต์แล้วยกนิ้วขึ้นเพื่อบอกว่าครัวซองต์หนึ่งชิ้น หรือพยักหน้าเพื่อบอกว่าเข้าใจ และยักไหล่ในยามที่ไม่เข้าใจ
ที่บ้าน ลอเรนซ์ สามีของเธอเป็นคนพูดเสียส่วนใหญ่ มีพี่เลี้ยงคอยดูแลคริสตินา และมีเจมสันดูแลบ้าน ซึ่งเขาทำได้อย่างดีเยี่ยมเช่นเดียวกับสมัยอยู่ลอนดอน ไม่มีใครต้องการเธอ และวันๆ เธอแทบจะไม่ได้เปิดปากพูดกับใคร
ตอนแรกที่ย้ายมา มาร์กาเร็ตคิดว่าเธอคงจะต้องรักปารีส ดินแดนแห่งแฟชั่นโอกูตูร์ ชุดนอนสุดเซ็กซี่ และน้ำหอมสารพัด แต่การช็อปปิ้งคนเดียวไม่ได้สนุกเลย เวลาลองเสื้อก็ไม่มีเพื่อนคอยชมรูปร่างของเธอ แต่เหนืออื่นใดคือ ความเห็นของแม่ อย่าง..สีของชุดราตรีขับผิวเธอหรือไม่ เธอควรพูดคุยกับลอเรนซ์แบบเปิดอกหรือปล่อยเขาไป สิ่งที่ทำให้มาร์กาเร็ตประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับปารีสไม่ใช่ชุดสวยของลองแวง หรือหมวกใบเก๋ที่พวกผู้หญิงสวมใส่กัน แต่คือการตระหนักว่าเธอคิดถึงมารดาขนาดไหน
มาร์กาเร็ตไม่เข้าใจเงินฟรังค์ที่เธอไม่คุ้นเคยและมักจะโดนพนักงานโกง! เมื่อซื้อถุงน่อง พนักงานสาวพวกนี้จะพูดกับเธอด้วยภาษาชวนปวดหัวว่า ราคาที่ติดไว้คือ 75 ฟรังค์ต่อข้าง ไม่ใช่ต่อคู่ แต่ผู้หญิงที่ยืนต่อคิวข้างหลังซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสซื้อถุงน่องคู่เดียวกันกับเธอในราคาครึ่งเดียวของที่เธอจ่าย มาร์กาเร็ตไม่สามารถเถียงกับพวกเธอ ได้แต่กระทืบเท้าและเดินออกไปซึ่งทำให้พนักงานพวกนั้นพากันหัวเราะคิกคัก เรียกว่าตลกของพวกเขามีค่างวดที่เธอต้องจ่ายแพงเหลือเกิน
ในที่สุดมาร์กาเร็ตจึงเลิกออกไปข้างนอก เลิกพยายาม และได้แต่เดินไปเดินมาในอพาร์ตเมนต์หรือนอนขดตัวร้องไห้ในชุดราตรีแสนสวย แม้การไม่มีความสุขในเมืองที่อัศจรรย์ที่สุดในโลกนี้จะฟังดูน่าขันก็ตาม เธอเคยคุยโม้กับเพื่อนๆ ว่ายังไงนะ ..ฉันจะได้ไปอยู่ในเมืองหลวงที่โรแมนติกที่สุดในโลก! โอ ลา ลา! หนุ่มฝรั่งเศสจะเดินตามฉันเป็นพรวน! โอ ลา ลา! แชมเปญ! ช็อคโกแล็ต! พวกเธอต้องมาเยี่ยมฉันนะ! ความจริงช่างน่าอายเหลือเกิน เธอคงตายก่อนจะได้เจอเพื่อนๆ เป็นแน่ พวกเขาไม่เคยโทรศัพท์หรือเขียนจดหมายถึงเธอเลย หลังจากที่ย้ายมาจากลอนดอนก็ดูเหมือนว่าเธอได้หายวับไปจากโลกของพวกเขา
เช้านี้ ภรรยาผู้มีเมตตาแต่ติดจะเชยไปนิดของท่านกงสุล แวะมาเยี่ยม เมื่อเจมสันมาบอก เธอรีบแล่นไปส่องกระจก..แล้วก็เห็นดวงตาแดงก่ำ ผมลีบแบนที่จำไม่ได้ว่าสระครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาร์กาเร็ตรู้สึกอับอายกับสภาพที่น่าสมเพทของตัวเองในตอนนี้ และคิดว่าน่าจะบอกบัตเลอร์ของเธอให้เรียนมิสซิสเดวีส์ว่าเธอไม่สะดวกที่จะพบ แต่อีกใจก็อยากมีเพื่อนใจจะขาด และนี่เป็นแขกคนแรกที่มาเยือนเสียด้วย คิดแล้วเธอจึงลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อคลุมกระดำกระด่างที่ใส่อยู่บ้านเป็นชุดกระโปรงลายดอกไอวีสวยงาม ภรรยาของท่านกงสุลเห็นเธอเพียงแวบเดียวก็ยืนกรานว่าเธอต้องไปเยี่ยมห้องสมุดอเมริกาบ่ายวันนี้เลย ดังนั้นเธอจึงมายืนอยู่ที่นี่
ห้องสมุดแห่งนี้มีความเป็นมิตรอย่างที่เธอไม่เคยพบมาก่อน พวกผู้หญิงไม่ถามซอกแซก เช่น “สามีคุณทำอะไร” แค่อยากรู้ว่า “คุณกำลังอ่านอะไรอยู่” มาร์กาเร็ตถอนหายใจ กระนั้นเธอก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาพูดคุยกัน
“ยินดีต้อนรับค่ะ”
แม้บรรณารักษ์จะแต่งตัวค่อนข้างเชย แต่ผมที่รวบไว้ด้วยโบว์สีดำเผยให้เห็นใบหน้าสะสวย ดวงตาเป็นประกายเหมือนเพชรที่สามีคนที่สองของมาร์จอรี ซิมป์สันมอบให้หล่อนเป็นของขวัญครบรอบแต่งงานสามปี เดี๋ยวนี้ลอเรนซ์ไม่ได้ให้เครื่องเพชรเป็นของขวัญเธออีกแล้ว
“หาอะไรอยู่คะ มีอะไรให้ช่วยไหมคะ”
มาร์กาเร็ตกัดริมฝีปากบนอยากจะบอกได้ใจจะขาดว่าเธอมองหาอะไรอยู่ แล้วก็พูดออกไปว่า “มีหนังสืออะไรสำหรับลูกสาววัยสี่ขวบของฉันมั้ยคะ”
บรรณารักษ์เอียงศีรษะและถามว่า “Bella the Goat (แพะน้อยเบลลา) ดีมั้ยคะ”
“คุณคงไม่รู้ว่าฉันโล่งใจแค่ไหนที่ได้พบที่ที่คนพูดภาษาอังกฤษได้ ฉันรู้สึกแปลกที่แปลกทางมากเลยค่ะในปารีส” แล้วมาร์กาเร็ตก็เงียบไป รู้สึกว่าตนพูดอะไรออกมาก็ไม่รู้ ดูเหมือนทุกอย่างที่เธอพูดจะผิดไปหมด “แน่นอนค่ะ ฉันรู้ว่าที่นี่คือฝรั่งเศส ฉันเองที่เป็นชาวต่างชาติ…”
“ที่นี่เหมาะกับคุณแน่ค่ะ” บรรณารักษ์ปลอบ “เรามีสมาชิกหลายคนจากอังกฤษและแคนาดา”
“ดีเลยค่ะ ไม่ทราบว่ามีหนังสืออะไรแนะนำฉันมั้ยคะ”
“ของโดโรธี วิปเพิลดีมั้ยคะ The Priory (เดอะไพรออรี) เป็นเล่มโปรดเล่มหนึ่งของฉันเลยค่ะ”
ความจริงแล้วมาร์กาเร็ตหมายถึงนิตยสารมากกว่า หนังสือเล่มสุดท้ายที่เธออ่านคือนิยายที่น่าเบื่อของจอร์จ อีเลียต นักเขียนสตรีสมัยวิคตอเรียตอนเรียนหนังสือในโรงเรียนการเรือน”
“หรือ Miss Pettigrew Lives for a day (มิสเพ็ตติกริวมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้) หนังสือซินเดอเรลลาสำหรับผู้ใหญ่”
มาร์กาเร็ตคิดว่าเธอน่าจะรับนิยายโรแมนติกชวนฝันแบบนี้ได้มากกว่า
“ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส เรามีหนังสือไวยากรณ์ดีๆ หลายเล่มเลยค่ะ อย่างเช่น…”
มาร์กาเร็ตซาบซึ้งใจมากกับความใส่ใจที่ได้รับ เวลามีงานเลี้ยงที่สถานทูต คนที่พูดคุยกับเธอมักจะมองเธอด้วยตาเดียว อีกตากวาดมองไปทั่วห้อง เมื่อเห็นใครที่สำคัญกว่าก็จะผละไปดื้อๆ ทั้งที่ยังคุยกันค้าง
“หรือถ้าไม่ชอบ เรามีนิตยสารโว้คด้วยนะคะ”
เมื่อเห็นสีหน้าที่ดูผิดหวังของบรรณารักษ์ มาร์กาเร็ตจึงบอกว่า “ขอหนังสือดีกว่าค่ะ”
บรรณารักษ์ผู้กระตือรือร้นหน้าบานขึ้นมาทันที “งั้นไปหยิบกันค่ะ อ้อ ฉันชื่อโอดีลค่ะ”
“ฉันมาร์กาเร็ตค่ะ”
ทว่าแทนที่จะเดินไปที่ชั้นหนังสือ โอดีลเดินขึ้นบันได มาร์กาเร็ตเดินตาม เมื่อผ่านประตูที่มีป้าย “เฉพาะเจ้าหน้าที่” เธอจึงถามว่า “จะไปไหนกันคะ”
“เดี๋ยวก็รู้ค่ะ”
ในห้องเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่ โอดีลนำถ้วยชาที่ไม่เข้าชุดกันออกมาสองชุด และสโคนเปล่าๆ หนึ่งจาน ขณะที่เธอยกกาขึ้นตั้งบนเตาไฟฟ้า มาร์กาเร็ตไร้นิ้วไปบนผิวหน้าขรุขระของสโคน มันเหมือนกับสโคนที่แม่ทำ แม้ปารีสจะเต็มไปด้วยอาหารโอชะ และขนมอบอร่อยมากมาย แต่มาร์กาเร็ตก็คิดถึงอาหารบ้านๆ ที่คุ้นเคยอย่างมาก
โอดีลนั่งลงและทำท่าบอกให้มาร์กาเร็ตนั่งลงบนเก้าอี้ข้างเธอ “รากงต์ แปลว่า ‘เล่ามา’ เล่ามาเลยค่ะ”
เป็นครั้งแรกนับแต่มาถึงปารีสที่มาร์กาเร็ตรู้สึกมีความสุข รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน
บทที่ 8
โอดีล
ปารีส, เมษายน 1939
เลอเบลอ ช่วงเวลาที่วิเศษที่สุดซึ่งคั่นระหว่างกลางวันกับกลางคืนมาถึงแล้ว ความสงบถักทอลงคลุมห้องสมุดหลังจากที่สมาชิกพากันยืมหนังสือและกลับบ้านกันหมดแล้ว ฉันชอบเวลานี้ที่สุด รู้สึกเหมือนกับว่าทั้งห้องสมุดเป็นของฉันคนเดียว
ในสมุดบันทึกปกหนังเล่มหนา ฉันช่วยบอริสนับจำนวนสมาชิกที่มาใช้บริการวันนี้ (287) จำนวนหนังสือที่ถูกยืมออกไป (936) และเหตุการณ์ในห้องสมุด (มีหญิงมีครรภ์เป็นลมอีกคน ขณะที่อ่านหนังสือว่าที่คุณแม่ Prospective Mother (ว่าที่คุณแม่) หน้า43)
“เย็นมากแล้ว เธอกลับก่อนก็ได้นะ” บอริสว่า
“ฉันอยากอยู่ค่ะ”
บอริสผายมือไปยังห้องอ่านหนังสือที่ว่างเปล่า มือสวยแข็งแรงของเขาเต็มไปด้วยรอยกระดาษบาด “สวรรค์ จริงไหม” แล้วระบำปลายเท้าในยามเย็นของเราก็เริ่มขึ้น ฉันเพิ่งฝึกท่าเต้นที่ออกแบบไว้อย่างดีได้คล่องแคล่วเมื่อเดือนก่อน…บอริสเดินดูจนมั่นว่าหน้าต่างทุกบานล็อกเรียบร้อยและม่านรูดปิด ฉันหรี่ไฟเพื่อให้อาจารย์ทั้งหลายที่ยังง่วนอยู่ในแผนกหนังสืออ้างอิงรู้ว่าห้องสมุดกำลังจะปิด แม้พวกเขาจะยังมีปัญหาต้องถก งานต้องมอบหมาย แต่ทุกอย่างต้องรอจนถึงพรุ่งนี้ ความเงียบเป็นเสมือนรางวัลหลังจากต้องพูดตอบคำถามทั้งวัน ฉันสงสัยว่าอาจถูกของมาดามซิมงที่ว่าบอริสเป็นขุนนางเก่า แต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะเชื่อใจฉันพอที่เล่าถึงชีวิตของเขาให้ฉันฟังหรือไม่
วันนี้เป็นเวรของฉันในการไล่สมาชิกออกจากห้องสมุด ดังนั้นจึงเริ่มทำหน้าที่ด้วยการเดินไปทั่วห้องสมุด ขณะที่เดินไปตามแถวชั้นหนังสือประเภทสารคดี ฉันได้เห็นหนังสือที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน เช่น เย็นนี้ฉันเจอหนังสือ How to Boil Water in a Paperbag (วิธีต้มน้ำในถุงกระดาษ) เมื่อมองเข้าไปในห้องหนังสืออ้างอิง ฉันก็พบสิ่งที่ดีที่สุด..คือพอล ซึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสือไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ
ฉันพยายามสูดกลิ่นของเขาเข้าปอดขณะที่เขาจูบแก้มสองข้างทักทาย เนื้อตัวเขามีกลิ่นบุหรี่และกลิ่นควันซึ่งคล้ายคลึงกับลัพซ็อง ซูฌง – ชาโปรดของฉัน ฉันคิดว่าควรจะถอยออก แต่มีหนังสือซึ่งเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่รู้เห็นเป็นใจบังอยู่
“ถึงเวลาปิดแล้วหรือครับ” เขาถาม “ขอโทษที่รั้งคุณไว้”
“ไม่เป็นไรค่ะ” ..รั้งสิ รั้งฉันไว้เป็นของคุณคนเดียวเลย
“ผมมาหลายครั้งแล้ว…”
“เหรอคะ”
“แต่คุณกำลังวุ่นกับสมาชิก”
เรายืนห่างกันเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่เหมือนห่างไกลกันเหลือเกิน และฉันขยับเข้าไปใกล้ขึ้นจนปากของเขาสัมผัสกับปากฉัน และฉันปล่อยให้นิ้วของฉันสัมผัสแก้มเขาเบาๆ ตามใจชอบ เมื่อวานนี้ถ้าใครบอกว่าฉันกับพอลจะจูบกันหลังชั้นหนังสือ ฉันคงหาว่าคนที่พูดคงไปดมกาวมาถึงได้พูดจาเพ้อเจ้อ ทว่าการพุ่งเข้าหากันอย่างจังแต่อ่อนโยนนี้รู้สึกดีจนฉันไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดด้วยซ้ำ
ฉันเคยอ่านถึงความรู้สึกอันร้อนแรงระหว่างแอนนากับวรอนสกี, เจนกับมิสเตอร์โรเชสเตอร์ และพอจะเข้าใจถึงร่างที่สั่นเทิ้มขึ้นมาหรืออย่างน้อยก็คิดว่าเข้าใจ ทว่าพอเอาเข้าจริงก็พบว่าไม่มีหนังสือเล่มใดที่สามารถบรรยายความรู้สึกของจูบนี้ได้เลย
เสียงรองเท้าส้นสูงกระทบพื้นปาร์เก้ทำให้พอลกับฉันรีบผละจากกัน แม้เนื้อตัวของเราแทบจะไม่ได้สัมผัสกันเลย แต่ฉันรู้สึกว่าทุกส่วน ไม่ว่าผิว เลือด หรือกระดูกยังคงรู้สึกถึงเขาอยู่เลย
“อยู่นี่เอง” มิสรีเดอร์มองฉันแล้วก็พอล
“ขอบคุณครับ เออ..มาดมัวแซลซูเฌ” เขาพูด “ผมรู้แล้วว่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับ ..เออ.. past participle tense ได้ที่ไหน” เขายกหนังสือไวยากรณ์ภาษาอังกฤษขึ้นแล้วก็ผลุนผลันออกจากห้อง
ริมฝีปากของผู้อำนวยการสั่นระริกเหมือนจะยิ้ม “มิสเว็ดด์รอเธออยู่แน่ะ”
“มิสเว็ดด์?”
“วันนี้เงินเดือนออกจ้ะ”
จริงสิ! วันเงินเดือนออก ลืมสนิทเลย
“เธอจะทำอะไรกับเงินเดือนเดือนแรกดีล่ะ”
“ทำอะไร?” หัวฉันหมุนติ้ว
“แน่นอน เธอต้องเก็บเงินส่วนใหญ่ไว้ การมีเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การฉลองโอกาสพิเศษก็สำคัญพอกัน บางทีเธออาจซื้อของขวัญขอบคุณให้กับคนที่มีพระคุณคอยช่วยเหลือเธอ”
“เป็นความคิดที่ดีมากเลยค่ะ” ฉันหวังว่าจะน่าจะคิดได้เอง “ตอนที่คุณได้เงินเดือนแรก คุณให้ใครบ้างคะ”
“ให้แม่ แล้วก็เพื่อนรักคนหนึ่ง ฉันให้หนังสือทั้งสองเป็นของขวัญ” เธอบอก “เอาล่ะ อย่าให้มิสเว็ดด์ต้องรอนานเลย”
ฉันเดินไปหาสมุห์บัญชีผู้ร่าเริงที่โต๊ะ คืนนี้มีดินสอสองแท่งเท่านั้นที่มวยผมของเธอ “ถูกของคุณเรื่องนักปรัชญากรีกเฮอราคลิตุส ฉันชอบเรื่องที่เขาบอกว่า ‘ไม่มีใครก้าวลงบนแม่น้ำเดิมสองครั้ง’”
“จ้ะ สิ่งเดียวที่แน่นอนคือการเปลี่ยนแปลง” มิสเว็ดด์เห็นด้วย
เธอนับเงินที่จะจ่ายฉัน แต่ละฟรังค์คือชัยชนะของฉันเมื่อตอบคำถามได้ อับอายเมื่อไม่แน่ใจ ตลอดเวลาที่พูดภาษาต่างประเทศ ค่ำคืนที่นอนอ่านหนังสือเพื่อจะแนะนำสมาชิกได้ ฉันรู้ว่าฉันรักงานนี้ แต่ก็อดประหลาดใจกับความท้าทายอย่างที่ฉันคิดไม่ถึงไม่ได้
ฉันเก็บเงินใส่กระเป๋า นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่ฉันอยากทำงานนี้ – เงินเท่ากับความมั่นคง ฉันจะไม่มีวันเป็นผู้หญิงที่โดดเดี่ยวสิ้นไร้ไม้ตอกเหมือนน้าคาโรลีนเด็ดขาด
ฉันนำเงินเดือนที่ได้ไปฝากธนาคารในบ่ายวันรุ่งขึ้น เก็บไว้กับตัวเพียงไม่กี่ฟรังค์สำหรับใช้จ่าย จากนั้นก็ไปที่สถานีรถไฟและซื้อตั๋วไปฟองแตนเบลอสองใบเป็นของขวัญขอบคุณเรมีที่เป็นกำลังใจให้ฉันตลอดมา สิ่งที่เรมีชอบมากกว่าดนตรีและหนังสือคือการเดินป่า ฉันคิดว่าจะให้ตั๋วรถไฟเขาตอนอาหารเย็น แต่เขากินอาหารแค่ไม่กี่คำแล้วก็ขอตัวจากโต๊ะ
“เดี๋ยวนี้เรมีแทบไม่กินอะไรเลย” แม่พึมพำ “หรือว่าเบื่อฝีมือฉัน”
พ่อกุมมืออวบอูมของแม่ “อาหารอร่อยมากจ้ะ”
“เดี๋ยวนี้คุณก็ชอบออกไปหากินนอกบ้านเหมือนกัน” แม่พูดเสียงเข้ม
“ไม่เอาน่าออเทนซ์” พ่อปลอบ
“โอดีลไปดูเรมีหน่อยสิ” แม่บอกฉัน
เขานั่งอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือ มีกระดาษแผ่อยู่ข้างหน้า ฉันยื่นตั๋วรถไฟให้เขาและคิดว่าเขาจะชวนฉันไปทันที แต่เขาแค่จูบแก้มฉันอย่างใจลอย เรมีเป็นแบบนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ แม้จะนั่งอยู่กับเรา แต่ใจไม่ได้อยู่กับเรา ฉันคิดถึงเรมีคนเดิม เดี๋ยวนี้เขาไม่พูดอะไรเลย แล้วก็ไม่ได้เขียนบทความอะไรทั้งนั้นด้วย
“วันนี้ไปเรียนหรือเปล่า”
“เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครให้ความเคารพกับกฎหมายอีกแล้ว เยอรมันบุกยึดออสเตรีย ทหารญี่ปุ่นเพ่นพ่านทั่วจีน โลกเราบ้าไปแล้ว ไม่มีใครสนใจอะไรทั้งสิ้น
ในแง่หนึ่งก็ถูกของเขา แต่สำหรับฉันการทะเลาะวิวาทระหว่างสมาชิกที่ห้องสมุดดูจริงจังกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไกลตัว จำได้ว่าครั้งล่าสุดที่ฉันเถียงกับเรมี ฉันหนีบลงตรงกลางของกระดาษชิ้นหนึ่งแล้วถือไว้ที่คอ “นี่คือมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์กับหูกระต่ายลายผักชี” แล้วก็เลื่อนกระดาษขึ้นมาที่ปาก “และนี่คือเมอซิเออร์เดอแนเซียกับหนวดสิงโตทะเลปุกปุย”
หูกระต่าย: “การจัดหาอาวุธเพิ่มคือคำตอบ! เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสงคราม”
หนวด: “เราต้องการสันติภาพ ไม่ใช่ปืนเพิ่ม”
หูกระต่าย: “ตานกกระจอกเทศ! เลิกเอาหัวมุดดินได้แล้ว”
หนวด: “นกกระจอกเทศก็ยังดีกว่าเป็นลางี่เง่า”
หูกระต่าย: ไม่รู้ว่าคุณจะบ่นอะไรนักหนากับสงคราม สิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือทรงผมดูไม่จืดของคุณ”
เรมีหัวเราะ
“ถ้าเธอคิดว่านี่ตลกแล้ว ต้องมาดูการแสดงสดที่ห้องสมุดเสียก่อน”
“ฉันต้องรีบส่งบทความนี้ ไม่มีเวลาหรอก”
“มาเถอะน่า” ฉันตื๊อ “เธอจะได้รู้ว่ามีคนที่แคร์เรื่องนี้เหมือนกัน”
วันพฤหัสมีชั่วโมงเล่านิทานซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฉันโปรดปรานที่สุดของสัปดาห์ ฉันชอบนั่งดูเด็กๆ นั่งฟังนิทานอย่างตั้งอกตั้งใจ อย่างที่ฉันเคยเป็นกับน้าคาโร ระหว่างที่เดินไปยังห้องเด็ก ฉันมองเข้าไปในแผนกหนังสืออ้างอิง หวังว่าจะเห็นพอล แต่เขาไม่อยู่ที่นั่น The Death of the Heart (ความตายของหัวใจ) – 823 ฉันบอกตัวเองว่าเขาคงมาห้องสมุดทุกวันไม่ได้ แล้วก็ยกมือขึ้นแตะริมฝีปากเมื่อคิดถึงจูบของเรา เอาเถอะ เดี๋ยวเขาก็มาเอง
ในห้องเด็ก ฉันเดินไปยังเตาผิงที่เด็กและบรรดาแม่ๆ นั่งกันอยู่ ส่วนใหญ่ทุกคนนั่งคุยกัน มีเพียงคนเดียวที่ยืนแยกออกมา
“สวัสดีค่ะ” เธอทักฉัน มือจับสร้อยคอมุก “ดีใจที่พบคุณอีก”
ผู้หญิงอังกฤษที่เหงาหงอยนั่นเอง มาร์โก? ไม่สิ มาร์กาเร็ต
“The Priory (เดอะไพรออรี) ดีมากเลยค่ะ” เธอพูดต่อ “ฉันชอบมาก และได้ยืมหนังสือของมิสซิสวิปเปิลเพิ่มอีกสามเล่ม เมื่อก่อนฉันไม่ใช่นักอ่านเลยค่ะ แต่ตอนนี้ฉันตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือกับลูกสาวทุกวัน”
“คนไหนลูกสาวคุณคะ” ฉันถาม
มาร์กาเร็ตชี้ไปที่เด็กหญิงผมทองที่นั่งกับเอแลน ลูกสาวตัวน้อยของบอริส ทั้งสองคุยกันอย่างตื่นเต้นขณะที่รอบิตซีซึ่งกำลังจะเริ่มเล่าในวินาทีใดวินาทีหนึ่ง ฉันหรี่ตามองนาฬิกาเหนือประตู แล้วก็แปลกใจที่เห็นเรมีเดินลัดเลาะหลบเด็กๆ มายืนข้างฉัน
“ดีใจจังที่เธอมาได้” ฉันบอก
“จะพลาดได้ไงล่ะ หลังจากดูละครเดี่ยวของเธอแล้ว ความจริงฉันอยากใช้เวลากับเธอในสถานที่โปรดของเธอมากกว่านี้นะ แต่เราต่างยุ่งกันทั้งคู่…”
“เอาเถอะ ยังไงตอนนี้เธอมาแล้ว นั่นแหละที่สำคัญ”
บิตซีซึ่งนั่งอยู่บนม้ากลมพลิกหน้าหนังสือแล้วกระแอม ทั้งห้องตกอยู่ในความเงียบ เด็กยี่สิบคนขยับเข้าไปใกล้เธอยิ่งขึ้น บิตซีทำเสียงทุ้มลึกกว่าปกติขณะที่อ่าน Miss Maisy (มิสเมซี) สายตาที่มองดูเด็กๆ เหมือนมีมนตร์สะกด ถึงขนาดว่าเด็กชายคนหนึ่งเอื้อมมือมาจับชายกระโปรงที่ไหวไปมาเหนือรองเท้าส้นเตี้ยโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเหลือบมองไปที่เรมี ฉันก็รู้ว่าบิตซีมีแฟนนิทานอีกคนแล้ว สายตาของเขามองเธอไม่ละ เขาตบมือดังลั่นเมื่อเธออ่านจบ และเด็กๆ พากันตบตาม
“นั่นน่ะเหรอ ‘บุ๊คเมต’ ของเธอ” เรมีว่า “แล้วเขาอ่านหนังสือเยอะเหมือนเธอหรือเปล่า”
“น่าจะเยอะกว่าอีกนะ”
“มีพรสวรรค์ดีนะ” เขาว่า
“บิตซีทำให้ตัวละครมีชีวิตขึ้นมาได้”
“ไม่ใช่แค่นั้น แต่เขากลายเป็นตัวละครเองเลยแหละ” เรมีว่า แล้วก็เดินเข้าไปหาบิตซี
ฉันเดินตามเขาไป
“วู เส็ต มักนิฟีค คุณยอดมาก” เขาชม
“แมร์ซี ขอบคุณค่ะ” บิตซีพึมพำ แล้วหลุบตามองพื้น
ฉันกระตุกแขนเสื้อเรมี ด้วยอยากจะพาเขาไปรู้จักกับมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์และเมอซิเออร์เดอแนเซีย แต่เขาไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น
“คุณคงเหนื่อยมาก” เรมีว่า “ไปดื่มน้ำมะนาวคั้นกันมั้ยครับ”
เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นเขาสนใจผู้หญิง ฉันเคยมีเพื่อนร่วมชั้นหกคนที่มาผูกมิตรกับฉันเพื่อจะได้รู้จักกับพอล แต่ทุกครั้งที่ฉันแนะนำพวกเธอกับเรมี เขาจะสุภาพ รับฟัง แต่ไม่เคยชวนคุย
ฉันหวังว่าบิตซีจะรับคำชวนของเขา คงจะไม่เป็นไรถ้าเธอจะกลับบ้านก่อนเวลาสักวัน
บิตซีวางมือลงบนข้อศอกที่เรมียกขึ้น และเขาหลับตาลงนานกว่าการกระพริบตาปกติเหมือนรู้สึกขอบคุณในใจก่อนจะพาเธอออกไป ฉันรู้สึกเหมือนถูกลืม แต่พยายามปลอบใจตัวเองว่าเป็นเรื่องปกติที่เรมีจะมัวแต่สนใจบิตซี พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทิ้งฉันหรอก
บอริสสะกิดหลังฉัน “ข่าวดี” เขาบอก “เรากำลังจะบริจาคหนังสือ”
“แล้วข่าวไม่ดีล่ะคะ”
“หนังสือที่จะบริจาคมีกว่าสามร้อยเล่ม และเธอต้องเป็นคนคัด”
เขาส่งรายการให้ฉัน และฉันรับมาอ่านชื่อ ทำให้หลุดออกจากความรู้สึกเสียใจกับตัวเองมาได้ สรุปว่าการมาห้องสมุดของเรมีครั้งนี้ไม่ได้จบลงอย่างที่ฉันหวัง แต่ไม่เป็นไร เอาไว้ครั้งหน้าก็แล้ว
“ฉันรู้สึกชื่นชมมากเลยค่ะตอนที่รู้ว่าห้องสมุดได้มอบหนังสือนับพันเล่มให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่แน่นอน นั่นคือก่อนที่ฉันจะต้องมาเป็นคนนั่งแพ็ค!” ฉันพูดขำๆ
บอริสหัวเราะ “ฉันรอดตัวจากหน้าที่นี้แล้ว”
ห้องด้านหลังเต็มไปด้วยกล่องเปล่าและหนังสือมากมาย “เดินทางโดยสวัสดิภาพนะ” ฉันพูดกับหนังสือปกแข็งเล่มหนึ่งขณะหยิบมันใส่ลงในกล่องสำหรับวิทยาลัยอเมริกาในกรุงเตหะราน ประเทศเปอร์เซีย อีกเล่มสำหรับสถาบันนักเดินเรือในอิตาลี ส่วนเล่มที่สาม สี่ ห้าจะเดินทางร่วมกันไปยังตุรกี ฉันนั่งทำงานอยู่นานโดยคิดว่าน่าจะเป็นชั่วโมงแล้ว แต่เมื่อดูนาฬิกา ปรากฏว่าเวลาผ่านไปแค่สิบนาทีเท่านั้น แล้วก็คิดว่านี่คงเป็นบ่ายที่หงอยเหงาและยืดยาวไม่รู้จบเป็นแน่
จู่ๆ ก็มีเสียงเคาะประตู “ฉันถามคนที่เคาน์เตอร์ว่าคุณหายไปไหน และเขาบอกฉันว่าอยู่ที่นี่” มาร์กาเร็ตว่า
“กำลังอยากมีเพื่อนเลยค่ะ ช่วยฉันหน่อยได้มั้ยคะ” ฉันถาม แล้วก็เห็นกระโปรงไหมสีชมพูของเธอ คงดูไม่จืดแน่ถ้าเธอลงมาช่วยฉัน ผู้หญิงที่สวมใส่เสื้อผ้าหรูคงไม่มานั่งทำงานแบบนี้กันหรอก
“ได้สิคะ ฉันไม่มีอะไรทำ” มาร์กาเร็ตว่า
ฉันอาสาจะไปพาลูกสาวเธอมาให้ แต่เธอบอกว่าคริสตินากำลังสนุกกับการทำความรู้จักกับเอแลนและพ่อของเธอ ฉันสอนวิธีคัดว่าเล่มไหนจะส่งไปไหนให้ จากนั้นเธอก็เดินลัดเลาะนำหนังสือไปใส่ในแต่ละกล่องอย่างระมัดระวังด้วยท่าทางอันสง่างาม “บงโวยาจ เดินทางปลอดภัยนะ” เธอกระซิบกับแต่ละเล่ม
ฉันจ้องมองเธอ
“คงคิดว่าฉันบ้าไปแล้วสินะที่พูดกับหนังสือ”
“ไม่เลยค่ะ”
“บงโวยาจ คือภาษาฝรั่งเศสคำเดียวที่ฉันจำได้จากโรงเรียน แม่ฉันพูดถูก ว่าฉันควรขยันกว่านี้”
“ยังไม่สายหรอกค่ะ! ฉันจะสอนเอง บงวง แปลว่า ‘ลมดี’ เราจะพูดเวลาอวยพรให้คนโชคดี และบอกว่า บงกูราจ เพื่อบอกให้ใครกล้าหาญเข้าไว้”
“บงกูราจ!” เธอบอกตำราเคมีเล่มหนึ่ง
“บงวง!” เธอบอกตำราคณิตศาสตร์อีกเล่ม
เราสองคนหัวเราะคิกคักขณะอวยพรหนังสือแต่ละเล่ม
“อะไรทำให้คุณย้ายมาปารีสคะ”
“สามีฉันเป็นทูตทหารของสถานทูตอังกฤษน่ะค่ะ”
“เป็นวงการที่ดีนะคะ”
“วงการที่ฟอนเฟะน่ะสิคะไม่ว่า” เธอบอก “โอ อย่าบอกใครเชียวนะคะว่าฉันพูดแบบนี้ เห็นแล้วใช่ไหมคะว่าฉันไม่ใช่นักการทูตที่ดีเลย”
จู่ๆ มาร์กาเร็ตก็รู้สึกเก้อขึ้นมา และหันกลับไปแยกหนังสือต่อ
“คุณคงได้ไปงานเลี้ยงหรูๆ” ฉันว่า โดยหวังว่าเธอจะเล่าให้ฟัง
“เมื่อวานนี้ฉันไปงานเลี้ยงน้ำชาที่บ้านเอกอัครราชทูตเนเธอแลนด์ แต่ฉันว่านั่งแพ็คของอย่างตอนนี้สนุกกว่าซะอีกค่ะ”
“เป็นไปได้ยังไงคะ น่าตื่นเต้นออก ได้เจอคนจากทั่วโลก”
“พวกเขาสนใจแต่สามีฉันค่ะ ไม่ใช่ตัวฉัน” น้ำตาเธอไหลลงอาบแก้มที่ปัดไว้อย่างดี “ฉันคิดถึงแม่ คิดถึงการดื่มชากับเพื่อนๆ ของฉัน”
ฉันพูดอะไรไม่ถูก มิสรีเดอร์เคยบอกว่าชาวต่างชาติมักจะคิดถึงบ้าน และพวกเราสามารถช่วยให้พวกเขาคลายความคิดถึงได้บ้าง
“ฉันไม่ได้ตั้งใจจะร้องไห้เลยค่ะ” มาร์กาเร็ตซับน้ำตา “แม่ฉันเรียกฉันว่า ‘แม่กาน้ำชาพวยรั่ว’”
“อีกหน่อยคุณแม่ต้องเรียกคุณว่า ‘แม่สาวปารีเซียน’ ค่ะ” ฉันปิดฝากล่อง “คุณช่วยได้มากเลย”
“จริงเหรอคะ”
“คุณน่าจะมาสมัครเป็นอาสาสมัครที่นี่นะคะ”
“ฉันไม่เคยเรียนด้านนี้เลยค่ะ กลัวว่าจะทำอะไรผิด”
“ที่นี่เป็นห้องสมุดนะคะ ไม่ใช่ห้องผ่าตัด! ไม่มีใครเสียชีวิตเพราะคุณเก็บหนังสือผิดชั้นหรอก”
“ไม่รู้สิคะ…”
“คุณจะได้รู้จักคน มีเพื่อน แล้วฉันจะสอนภาษาฝรั่งเศสให้เอง”
ฉันเดินไปที่ลานหน้าห้องสมุดกับมาร์กาเร็ต ลูกสาวของเธอกำลังเล่นกับเอแลนที่นั่น เงามืดเริ่มคืบคลานเข้าปกคลุมเมือง ก่อนจะคืบมาที่กำแพง แผ่ไปที่สนามหญ้า ผ่านพุ่มไอวีในกระถางใบใหญ่สู่ตัวอาคารห้องสมุด มันหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ด้านในโคมไฟในห้องอ่านหนังสือส่องสว่างไสว ที่หน้าต่าง มาร์กาเร็ตกับฉันเห็นมาดามซิมงมองซ้ายมองขวาก่อนจะนำสุนัขพูเดิลออกจากกระเป๋ามาวางบนตัก แล้วแกกับศาสตราจารย์โคเฮนก็นั่งลูบท้องมันอย่างมีความสุขจนไม่ได้สังเกตว่าที่มุมหนึ่ง บอริสกับแอนนา ภรรยาของเขากำลังเอียงศีรษะเข้าหากัน แม้ทั้งคู่จะไม่เคยแตะเนื้อต้องตัวกัน แต่ความรักอ่อนโยนแผ่รอบตัวพวกเขา มิสซิสเทิร์นบูลกำลังยกนิ้วผอมๆ ขึ้นที่ปากและทำเสียงจุ๊ จุ๊เตือนนักศึกษาที่คุยเสียงดัง ปีเตอร์ที่น่าสงสารกำลังย่อตัวหลบมาดามที่คลั่งไคล้เขาหลังชั้นหนังสือขณะที่นางไล่ล่าเขาราวกับเหยื่อ และสมุห์บัญชีของเราที่ดูเขาอยู่ยกมือปิดปากกลั้นหัวเราะ
มาร์กาเร็ตมองภาพในห้องสมุดด้วยสายตาโหยหา อะไรบางอย่างบอกฉันว่าเธอต้องการห้องสมุดแห่งนี้ และห้องสมุดแห่งนี้ก็ต้องการเธอเช่นกัน ฉันคิดถึงตอนที่เรานั่งทำงานไปคุยกันไปท่ามกลางกองหนังสือที่ฝุ่นจับเกรอะ การสนทนาของเราที่ไหลไปอย่างต่อเนื่องเหมือนลำน้ำแซน แล้วก็หวังสุดหัวใจว่ามาร์กาเร็ตจะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของเรา
บทที่ 9
โอดีล
ปารีส, กรกฎาคม 1939
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ห้องสมุดจึงมีคนนั่งเต็มทุกโต๊ะ เหลือที่ว่างเพียงที่เดียว เมอซิเออร์โกรสฌ็องสวมที่ครอบหูสีส้มแป๊ดนั่งปักหลักอยู่กลางห้องอ่านหนังสือ บอริสกับฉันเฝ้าดูเขาและเตรียมรับมือ “ขาประจำของเราจะก่อเรื่องอะไรอีกวันนี้”
“เรียกฉันว่าอิสมาเอล” เขาเริ่มอ่านเสียงดัง “เมื่อหลายปีก่อน – ไม่ต้องสนใจหรอกว่ากี่ปีมาแล้ว – ฉันซึ่งแทบจะไม่มีเงินในกระเป๋าและไม่มีอะไรที่ฉันสนใจอีกบนแผ่นดินได้คิดว่าจะออกแล่นเรือเพื่อดูโลกส่วนที่เป็นน้ำสักหน่อย…” เมื่อบอริสชี้ไปยังเก้าอี้ที่ว่างอยู่และเชิญเขาไปนั่งอ่านเงียบๆ ที่นั่น เมอซิเออร์โกรสฌ็องตอบว่า “ให้ฉันตายซะดีกว่าถ้าจะให้ไปนั่งกับพวกยิวใส่น้ำหอมฉุนกึกนั่น”
มิสรีเดอร์เม้มปากเมื่อได้ยินและเดินหน้าตึงเข้ามา เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นเธอโกรธ เมอซิเออร์ถอยไปหนึ่งก้าว “เดี๋ยวฉันจะมาจัดการ” เธอพูดห้วนๆ เคาน์เตสคลารารวบรวมเด็กนักศึกษาสาวๆ จากซอร์บอนและกล่าวขอโทษพร้อมบอกว่าพวกเธอจะสามารถนั่งอ่านหนังสือได้ตามสบาย แล้วหันไปต่อว่าเมอซิเออร์โกรส์ฌ็องว่า “คุณไม่ควรพูดแบบนี้ในห้องสมุดนะ”
“ผมก็แค่พูดในสิ่งที่คนอื่นคิดกันเท่านั้น” เขาพึมพำ
“งั้นก็คิดเสียใหม่”
“ไม่ต้องมาบอกผมหรอกว่าผมต้องทำอะไร!” เมอซิเออร์พูดพลางโบกมือเหมือนจะฟาดเธอ
บอริสรีบเข้ามาคว้าแขนเขาและพาเดินไปที่ประตู แม้จะใส่เสื้อกั๊ก ผูกไทแต่บอริสสามารถสวมบทบาทอันธพาลเฝ้าประตูไนต์คลับได้อย่างน่าประหลาดใจ
“ฉันแค่จะอ่านข้อความเกี่ยวกับ ‘พฤศจิกายนที่ชื้นแฉะในจิตวิญญาณฉันเท่านั้นแหละ”
“จิตวิญญาณอะไร” บอริสว่า
“เอามือออกไปนะ…”
“คุณไม่ใช่เหยื่อ” บอริสพูดพลางลากเมอซิเออร์ออกไปข้างนอก “คนอย่างคุณทำให้หลายคนที่นี่อึดอัด ถ้าพูดอะไรอีกแม้แต่คำเดียวล่ะก็ รับรองคุณจะไม่ได้กลับมาที่นี่อีก”
มิสรีเดอร์พยายามปลอบสมาชิกที่ตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉันตัดสินใจเดินออกไปดูบอริส และพบเขาอยู่สุดอีกด้านของสนาม ใกล้กับพุ่มกุหลาบที่พ่อบ้านที่ดูแลห้องสมุดคุยด้วยทุกวันราวกับลูก บอริสยืนพิงกำแพง นิ้วคีบบุหรี่เกร็ง
“เป็นไงบ้างคะ”
เขาไม่ตอบ ฉันเดินเข้าไปยืนพิงกำแพงข้างเขา เราสองคนมองควันบุหรี่ค่อยๆ คลายออกและลอยขึ้นไป
“หลังปฏิวัติรัสเซีย ฉันต้องฝืนใจบอกลาบ้านเกิด” เขาว่า “มันเจ็บปวดมาก แต่ฉันกับน้องชายเชื่อว่าการมาที่นี่เราจะอยู่ในที่ที่เจริญกว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เห็นแจ้งไม่ใช่หรือ ในรัสเซีย คนมากมายต้องตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อนบ้านของเราถูกฆ่าเพียงเพราะเป็นยิว เพราะฉะนั้นเวลาที่ฉันได้ยินอะไรแบบนี้…”
“ฉันเสียใจด้วยค่ะ”
“คิดว่าความเกลียดชังคงมีทุกที่” เขาสูบบุหรี่ยาว และปล่อยควันออกมาเหมือนถอนหายใจ “แม้แต่ในห้องสมุดของเรา
ถูกของพ่อ การทำงานกับผู้คนบั่นทอนกำลังใจได้ ความเหนื่อยหน่ายทำให้ฉันตัดสินใจขึ้นรถประจำทางกลับบ้านในวันนี้ หลังจากนั่งลงแล้วก็หยิบหนังสือ..เพื่อนที่ดีที่สุดออกมาอ่าน – 813 Their Eyes Were Watching God (ดวงตาที่กำลังเฝ้ามองพระเจ้า) ฉันหันหนังสือไปทางหน้าต่างเพื่อรับแสงลางๆ เธอรู้เรื่องสารพัดที่ไม่เคยมีใครเคยบอก เช่น เสียงกระซิบของต้นไม้และสายลม เธอมักจะพูดคุยกับเมล็ดพันธุ์ที่กำลังร่วงหล่นว่า ‘อา..ขอให้เธอตกลงบนพื้นดินที่อ่อนนุ่ม’ เพราะได้ยินว่าเมล็ดพันธุ์พืชมักจะบอกกันแบบนี้ขณะที่พัดผ่านกันและกัน เธอรู้ว่าโลกของเราคือม้าที่วิ่งผ่านทุ่งสีฟ้าของอากาศธาตุ รู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทำลายโลกใบเก่าทุกเย็นและสร้างใบใหม่เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น การมองมันค่อยๆ ก่อตัวขึ้นพร้อมดวงอาทิตย์และปรากฏขึ้นจากฝุ่นสีเทาทึมที่มันก่อเกิด ผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่เธอคุ้นเคยทำให้เธอผิดหวัง ดังนั้นเธอจึงยืนเกาะประตูและมองออกไปยังถนนที่ทอดยาวเบื้องหน้า รถเบรกดังเอียดแล้วหยุดลงเมื่อถึงไฟแดง ทำให้ฉันหลุดออกจากโลกของหนังสือ
ถึงไหนแล้วนะ ฉันมองหาหมุดหมายที่คุ้นเคยเพื่อจะได้รู้ว่าอยู่ตรงไหน แล้วก็เห็นอาคารมหึมาเคร่งขรึมของศูนย์บัญชาการตำรวจซึ่งพ่อทำงานอยู่ ยังอีกไกลกว่าจะถึงบ้าน ฉันอาจกลับกับพ่อได้ถ้าพ่อยังทำงานอยู่ แล้วก็สอดส่ายมองดูข้างถนนว่ารถของพ่อยังจอดอยู่หรือเปล่า แต่กลับเห็นพ่อแทน หมวกของพ่อหลุบต่ำเหนือคิ้ว แขนโอบผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ พ่อคงกำลังปลอบเหยื่อของอาชญากร ผู้หญิงนั่นอาจเป็นเจ้าของร้านค้าที่ถูกปล้นก็ได้ แต่แล้วฉันก็สังเกตเห็นชื่อของอาคารที่อยู่ด้านหลัง..โรงแรมนอร์มังดี ไม่นะ เธอเป็นพนักงานต้อนรับหรือไม่ก็แม่บ้านของโรงแรมต่างหาก พ่อยิ้มเมื่อเธอพูดอะไรบางอย่าง แล้วก็จูบเธอ ไม่ใช่ที่แก้มด้วย แต่ที่ปาก
นี่พ่อทำแบบนี้กับแม่ได้ยังไง หญิงแพศยานั่นสวยไม่เท่าแม่ด้วยซ้ำ ผมบาง แก้มป่องเหมือนลูกบิดประตู โชคดีที่ไฟเขียวและรถเคลื่อนตัวไปพาฉันออกจากที่นั่นเสียก่อน
ฉันรู้สึกคลื่นไส้และตัดสินใจลงจากรถในป้ายถัดมา ระหว่างที่เดินกลับบ้าน ฉันพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็น มันเกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว แม่ทำอะไร..หรือไม่ได้ทำอะไรหรือถึงต้องเจอเรื่องแบบนี้ ฉันพลิกหน้าหนังสือของความทรงจำ วันหนึ่งตอนอาหารเย็น แม่พูดว่าพ่อชอบ ‘หากินข้างนอก’ มันหมายถึงเรื่องนี้หรือเปล่า
ที่โถงทางเดิน ฉันทิ้งถุงหนังสือลงและตะโกนเรียกเรมี เขากำลังอ่าน Of Mice and Men (เพื่อนยาก) อยู่ “สไตน์เบคคอยก่อนได้” ฉันบอก เราสองคนเดินไปยังที่ลับของเรา..ที่ที่ห่างจากพ่อแม่ ห่างคนทั้งโลก ใต้เตียงนอนฉันซึ่งแสงส่องแทบไม่ถึง เรมีกับฉันวิ่งไถลไปตามพื้นปาเก้ รู้สึกดีที่ได้กลับไปยังวัยเด็กอีก..ยังที่สุดท้ายที่คนจะมองหาเราอีกครั้ง
ฉันหายใจไม่ทันและพูดตะกุกตะกักออกไปว่า “พ่อ กับผู้หญิง ไม่ใช่แม่”
“ไม่เห็นแปลก”
ท่าทางไม่ยี่หระของเขาเจ็บปวดพอกับการเห็นพ่อกับนางแพศยานั่น “เธอรู้แล้วเหรอ งั้นทำไมไม่บอกฉัน”
“ก็ไม่เห็นต้องบอกกันทุกเรื่องเลย”
“ตั้งแต่เมื่อไหร่”
“ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จมีอีหนูทั้งนั้นแหละ” เขาว่า “มันเป็นเครื่องบอกสถานะ เหมือนนาฬิกาเรือนทองแหละ”
เรมีเชื่อแบบนี้จริงๆ เหรอ แล้วพอลล่ะ ฉันเริ่มรู้สึกว่าเรื่องชู้สาวของพ่อไม่ได้เป็นแค่การทรยศแม่เท่านั้น แต่ทรยศทุกคนในครอบครัว ทว่าทำไมเรมีถึงมองไม่เห็น ฉันมองไปที่เขา แต่อ่านสีหน้าเขาไม่ออก ไม่รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร และก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองจะคิดยังไง นิ้วของฉันจับอยู่ที่ลวดสปริงใต้ที่นอน
“บิตซีบอกว่าการตระหนักว่าพ่อแม่ของเราก็มีชีวิตและความปรารถนาของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตขึ้น” เรมีว่า
บิตซีบอก!
ฉันนึกถึงครั้งหนึ่งที่เรมีกับฉันมีความเห็นไม่ตรงกันขึ้นมา มันเป็นฤดูร้อนที่เราสองคนอายุย่างเก้าขวบ เรมีมีปัญหาเกี่ยวกับปอด ต้องนอนพักบนเตียงตลอดเวลา และแม่เอายามัสตาร์ดทาหน้าอกให้เพื่อช่วยให้หายใจคล่องขึ้น ทุกวันฉันจะนั่งเป็นเพื่อนเขา อ่านหนังสือให้เขาฟัง และมองดูเขาหลับ ยกเว้นวันอาทิตย์ที่ฉันจะโบสถ์กับแม่ น้าคาโรและน้าไลโอเนล – สามีของน้าคาโร ฉันชอบน้าไลโอเนลเพราะน้าพูดเสมอว่าอยากมีลูกสาวอย่างฉัน มันทำให้น้าคาโรเศร้า และแม่ปลอบว่าอีกไม่นานทั้งสองก็จะมีลูกของตัวเอง แต่แม่..ซึ่งชอบคุยว่าท่านพูดถูกเสมอ..จะได้พบในเวลาต่อมาว่าคราวนี้แม่พูดถูกแค่ครึ่งเดียว
เมื่อน้าไลโอเนลไม่ได้ไปโบสถ์กับพวกเราอีก น้าคาโรจะให้เหตุผลแบบขอไปทีว่า น้าไลโอเนลเป็นหวัด หรือไม่ก็ต้องพาลูกค้าไปกาเล ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น ครั้งสุดท้ายที่เราออกจากโบสถ์ แม่ยังพูดเลยว่า “มีแต่พวกเราสาวๆ ก็ดีนะ”
ฉันวิ่งนำหน้า ฝันถึงของหวาน
“โล่งอกจังที่เธอพูดแบบนั้น” น้าคาโรว่า “เพราะฉันมีข่าวบางอย่างอยากบอกเธอ”
อะไรบางอย่างไม่สู้ดีในน้ำเสียงของน้าทำให้ฉันหยุดวิ่ง แต่ไม่หันไปมองเพราะเกรงว่าแม่จะหาว่าฉันแอบฟังเรื่องผู้ใหญ่
“เดี๋ยวนี้ไลโอเนลทำตัวเหินห่าง” น้าคาโรพูดต่อ
“เหินห่าง?”
“ฉันรู้สึกว่าเขามีคนอื่น เมื่อฉันถาม เขายอมรับ”
“โลกของพวกเราก็เป็นแบบนี้แหละ” แม่พูด “ฉันประหลาดใจที่เขายอมรับตรงๆ มากกว่า”
น้ำเสียงของแม่ฟังดูขมขื่นจนฉันต้องหันไปมอง แต่ทั้งคู่ไม่ได้สังเกต
“เขาจำเป็นต้องบอก” น้าคาโรน้ำตารื้น “เพราะผู้หญิงคนนั้นท้อง ฉันกำลังจะฟ้องหย่า”
“หย่า!” คุณแม่หน้าซีด “ถ้ามีใครถามเราจะบอกพวกเขายังไง”
สิ่งแรกที่แวบขึ้นในหัวแม่คือ คนอื่นจะคิดอย่างไร แม่เหลือบไปมองคุณพ่อเคลมองต์ที่บันไดโบสถ์
“ก็บอกไปสั้นๆ เท่านั้นแหละ” น้าคาโรว่า
“งั้นเธอก็เข้าร่วมพิธีมิสซาไม่ได้นะ”
“น่าเสียดาย แต่ฉันอ่านพระคัมภีร์เองก็ได้ ไปกันเถอะ”
แม่ยังคงยืนนิ่ง “เธอกลับบ้านไปจัดการกับปัญหาให้เรียบร้อยก่อนเถอะ”
“ฉันคิดว่าจะย้ายมาอยู่กับเธอ”
“เธอต้องกลับบ้าน”
“ฉันกลับไปไม่ได้ ไลโอเนลพาผู้หญิงคนนั้นเข้ามาอยู่ด้วย”
“นั่นไม่ใช่เรื่องฉัน”
ฉันตกใจมากที่เห็นคุณแม่ซึ่งเกลียดการเผชิญหน้ายืนต่อล้อต่อเถียงกับคุณป้าหน้าโบสถ์ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าและทุกคน ทำไมแม่ถึงใจร้ายน้องในไส้ของตัวเองได้ขนาดนี้
“ขอร้องล่ะ” คุณป้าคาโรครวญ “ฉันทนอยู่คนเดียวไม่ได้”
แม่มองมาที่ฉัน และฉันคาดหวังว่าท่านจะกอดน้องสาวของเธออย่างที่กอดฉันเวลาหกล้มเป็นแผลที่เข่า แต่แม่พูดแค่ว่า “ฉันไม่อยากให้เธอเป็นแบบอย่างของลูกๆ ฉัน”
ผู้หญิงที่หย่าร้างแย่ยิ่งกว่าผู้หญิงที่นอนกับผู้ชายโดยไม่ได้แต่งงานเสียอีก แม่ฉันเชื่อในสิ่งที่โบสถ์บอกให้เชื่อ แต่แม่ต้องยกเว้นน้องสาวของตัวเองสิ
“ฉันไม่รู้จะไปไหนอีกแล้ว” น้าคาโรพูด “เงินก็ไม่มี”
“ได้โปรดเถอะค่ะแม่” ฉันขอร้อง แต่แม่หน้าตึง
“การหย่าร้างเป็นบาป”
“เราขอให้พระเจ้ายกโทษให้ได้ตอนสารภาพบาปนี่คะ”
เมื่อจนด้วยเหตุผล แม่ก็หันมาใช้กำลังด้วยการคว้าแขนและลากฉันกลับบ้าน ฉันหันไปมองน้าคาโรลีนซึ่งยืนกุมอกมือสั่นเทิ้ม มองเราเดินจากไป
เมื่อถึงบ้าน ฉันตรงไปที่ห้องเรมี ขณะที่กำลังหมุนลูกบิด แม่ก็เดินมาขวางประตู
“อย่าไปทำให้พี่เขาหัวเสียล่ะ”
ในอีกหลายวันต่อมา ฉันจะเซ้าซี้เรื่องน้าคาโรโดยหวังว่าแม่จะใจอ่อน แต่แม่บอกว่า “ถ้าเอ่ยถึงคาโรอีกครั้งเดียว ฉันจะส่งแกไปอยู่ที่อื่น” และฉันเชื่อคำขู่ของแม่
เป็นเวลาสองอาทิตย์ที่ฉันปิดปากเงียบ หรือไม่ก็ความเงียบปิดปากฉัน แต่แล้วฉันก็ทนเก็บความลับต่อไปไม่ไหวอีกและนั่งลงข้างเตียงเรมี ใบหน้าของเขาซีดเซียว และฉันรู้ว่าเขาเหนื่อยอ่อนจากการไอไม่หยุด “ยามัสตาร์ดนั่นทำให้เธอมีกลิ่นเหมือนเนื้ออบวันอาทิตย์เลย”
“ขำตายล่ะ”
“ขอโทษจ้ะ” ฉันขยี้หัวเขา ซึ่งถ้าเขาปล่อยให้ฉันขยี้ ก็แปลว่าเขายกโทษให้ แต่ถ้าไม่ ก็แสดงว่ายังโกรธอยู่
เขาปล่อยให้ฉันขยี้
“รู้สึกดีขึ้นไหม”
“ไม่เชิง”
“โอ” ฉันไม่กล้าเล่า เพราะแม่เตือนว่าอย่ากวนใจเขา ทุกคนที่บ้านใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าอาการของเรมีจะทรุดลง เราจะกระซิบกระซาบหรือค่อยๆ ย่องเมื่อเดินผ่านห้องเขาเวลาที่คิดว่าเขานอนอยู่
มีอะไรเหรอ ฉันคิดว่าเขาถาม
ไม่มีอะไรหรอก ฉันตอบ
บอกมาซะดีๆ เขายืนกราน
บางครั้งเราสื่อสารกับแบบนี้
เรมีนอนฟังขณะที่ฉันปลดปล่อยความเจ็บปวดออกมา ฉันเคยเชื่อว่าความรักของแม่ไหลเรื่อยอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีวันหมด แต่จู่ๆ มันกลับหยุดลงเหมือนกับว่าแม่ปิดก๊อกลง แล้วนี่น้าของเราจะเป็นยังไงบ้าง
“แม่บอกว่าน้าคาโรอยากย้ายกลับไปมากง” เรมีพูดช้าๆ
ฉันแหงนหน้าขึ้น อยากงั้นเหรอ
“งั้นทำไมน้าคาโรถึงไม่บอกลา” ฉันเถียง “ทำไมไม่เขียนจดหมายมา”
เป็นครั้งแรกที่พี่ชายช่างพูดของฉันไม่มีคำตอบให้
“เธอก็เชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ แทนที่จะเชื่อในความจริง” ฉันกล่าวหาเขา
“เธอต้องเข้าใจผิดแน่ๆ แม่เราไม่ใจร้ายแบบนั้นหรอก”
การที่เขาปฏิเสธไม่เชื่อฉันทำให้ผิดหวังพอๆ กับการเห็นแม่ผลักไสน้องตัวเอง
“เธอไม่ได้อยู่ที่นั่นตอนนั้น” ฉันว่า “เพราะมัวแต่สวมบทคนป่วย”
เรมีหน้าแดง เขาผุดขึ้นนั่งและอ้าปาก ฉันเตรียมพร้อมรับคำตอบโต้ของเขา แต่เขากลับไอไม่หยุด ไอจนมีเลือดสีดำคล้ำหลุดออกมา ฉันรีบส่งผ้าเช็ดหน้าให้และลูบหลังเขา ความคิดว่าฉันจะต้องเอาชนะมลายหายไป
สองเดือนหลังจากนั้น เรมีก็ไปโบสถ์กับเราได้ เช่นเดียวกับแม่ เขาคุกเข่าลงหน้าไม้กางเขนด้วยความเชื่อว่าศรัทธาที่เขามีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เขาหาย ฉันปล่อยให้เขาเชื่ออย่างที่เขาต้องการจะเชื่อ ส่วนตัวฉันเอง ฉันเรียนรู้ว่าความรักไม่ได้คือความอดทน ไม่ได้คือความกรุณา ไม่ได้ปราศจากเงื่อนไขใดๆ อย่างที่พระคัมภีร์ว่า ความรักมีเงื่อนไข แม้แต่คนที่ใกล้ชิดสนิทสนมที่สุดก็หันหลังบอกลาเราได้ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนเดียวที่พึ่งพาได้คือตัวเราเองเท่านั้น
ฉันเริ่มหันหน้าเข้าหาหนังสือมากขึ้น หนังสือเท่านั้นที่ไม่มีวันทรยศเรา ขณะที่เรมีใช้เงินที่แม่ให้เป็นค่าขนมซื้อของกิน ฉันเก็บเงินที่ได้ใส่กระปุก เรมีเป็นตัวตลกของชั้น ส่วนฉันเป็นเด็กหัวกะทิ เวลาที่เพื่อนเขาขอเดทฉัน ฉันปฏิเสธ ฉันไม่ต้องการความรัก ฉันจะเรียนวิชาชีพ ทำงาน แล้วก็เก็บเงิน หากมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับชีวิตจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้
ฉันอยู่ในสภาพโผลเผลหลังจากนอนกระสับกระส่ายทั้งคืน แต่ก็พยายามให้ความช่วยสมาชิกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ..พ่อมีเมียน้อย เรมีใช้เวลาทุกนาทีกับบิตซี พอลไม่ได้กลับมาหาฉันอีก.. ฉันแวะที่เคาน์เตอร์บริการโดยหวังว่าบอริสจะมีหนังสือให้
“วันที่ไม่ค่อยดีสินะ” บอริสทัก แล้วก็ส่ง 891.7.3 ให้ “ไปที่แดนสุขาวดีสิ รับรองไม่มีใครไปกวน”
ฉันหยิบหนังสือของเชคอฟแนบอก เดินขึ้นบันได ผ่านเหล่าอาจารย์นักวิชาการบนชั้นสองซึ่งไม่สนใจว่าเข้าฤดูร้อนแล้ว และตรงขึ้นไปยังชั้นสามซึ่งเราใช้เก็บหนังสือที่ไม่ค่อยมีคนยืมที่เราเรียกกันว่า..แดนสุขาวดี
ฉันเดินผ่านชั้นหนังสือ ความเงียบทำให้รู้สึกสงบลง ก่อนจะหาที่นั่งเหมาะๆ ที่ไม่มีใครรบกวนได้แล้วก็เริ่มอ่าน เขามีสองชีวิต ชีวิตหนึ่งเปิดเผย เป็นที่รู้จักและมองเห็นของผู้สนใจ อีกชีวิตเป็นชีวิตลับที่ไม่มีใครรู้ แต่ที่น่าแปลกหรืออาจด้วยความบังเอิญก็ได้ที่สิ่งต่างๆ ที่สำคัญสำหรับเขาเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ใดรู้เห็น เราไม่มีวันรู้จักคนที่เรารักอย่างแท้จริง และพวกเขาก็ไม่มีวันรู้จักเราอย่างแท้จริงด้วย ช่างน่าเศร้า แต่ก็เป็นความจริง ทว่าการได้อ่านเรื่องราวของคนอื่น และรู้ว่าเราไม่ใช่คนเดียวเท่านั้นก็ยังช่วยปลอบใจได้
“อยู่นี่เอง!” มาร์กาเร็ตร้องขึ้น ใบหน้าซึ่งปกติผัดแป้งมาอย่างดีบ่งบอกว่าแม้หนังสือที่ยกมานั้นหนักอึ้งแต่ก็มีความสุข หญิงสาวร่างบอบบางท่าทางเงอะงะที่ฉันเจอในวันแรกถูกแทนที่ด้วยสตรีที่มีความสามารถและมั่นใจเต็มเปี่ยม
“วันนี้ทำอะไรคะ”
“ย้ายสารานุกรมทั้งหมด” มาร์กาเร็ตตอบพลางลูบต้นแขน “คนทำงานที่นี่ต้องแข็งแรงน่าดูเลยนะ”
“คุณกรุณามากเลยค่ะที่สละเวลามากมายมาช่วยงานที่นี่”
“มันเป็นเรื่องง่ายค่ะถ้าคุณมีความเชื่อ และฉันเชื่อในห้องสมุดนี้”
ฉันไม่แน่ใจนักกับการมอบหัวใจให้พอล “แล้วถ้าคุณไม่ได้อะไรตอบแทนล่ะคะ”
“ฉันไม่แน่ใจนะคะว่าเวลาเราให้อะไรใครแล้ว เราควรคาดหวังว่าจะได้อะไรกลับหรือเปล่า” เธอมองฉันด้วยความฉงน “แล้วนี่มาทำอะไรที่นี่คนเดียวคะ”
“นับหนังสือน่ะค่ะ”
“ดูเหมือนคุณคิดอะไรอยู่”
“ไม่มีอะไรหรอกค่ะ”
“ค่ะ ฉันเข้าใจ ที่นี่คงอึดอัด คุณคงต้องการอากาศบริสุทธิ์สักหน่อย” เธอพูดอย่างร่าเริง
ฉันพามาร์กาเร็ตเดินเลี้ยวเข้าไปในซอยทันทีที่ออกจากห้องสมุดโดยมี The Lady with the Little Dog and Other Stories (สุภาพสตรีกับสุนัขตัวน้อยและเรื่องอื่นๆ) หนีบอยู่ใต้แขน
“จะไปไหนกันคะนี่” เธอถาม
ฉันขมวดคิ้ว ที่ทำงานของพอลอยู่บนถนนวอชิงตันหรือเปล่านะ
ฉันเคยเห็นรักที่เดินทางผิดพลาดมาแล้ว ตอนนี้ฉันอยากเห็นที่เดินทางถูกต้องบ้าง ฉันต้องรู้ว่าเขารู้สึกเหมือนฉันหรือเปล่า คือ มีความหวังและระมัดระวัง ตอนนี้ฉันทำงานและมีอิสระมากขึ้นแล้ว บางทีฉันน่าจะลองเสี่ยงดู
“มีอะไรหรือเปล่าคะ”
“ฉัน..” ฉันไม่รู้ว่าจะบรรยายความรู้สึกออกมาได้ยังไงหมด แต่เอาเถอะมาร์กาเร็ตเป็นคนโลกกว้าง ปัญหาของฉันคงไม่น่าสนใจนักหรอก
“ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่สถานทูตในวันบาสตีย์กันมั้ยคะ”
ฉันหันไปมองเธอ “ถามจริงๆ เหรอคะ”
“แน่สิ! ฉันอยากทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น มาเจอกันที่บ้านฉันนะ จะได้เตรียมตัวกัน ฉันให้ยืมชุดราตรีได้นะคะ เออ..ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีชุดหรอกนะ..”
ฉันแทบไม่ได้ยินที่มาร์กาเร็ตพูด โอ้ เห็นแล้ว นั่นไงที่ทำงานของพอล มาร์กาเร็ตมองลูกกรงที่หน้าต่างอย่างไม่สบายใจนัก เมื่อตำรวจรูปหล่อหลายนายเดินออกมา เธอจึงเริ่มเข้าใจ “คุณหวังว่าจะได้เจอสมาชิกห้องสมุดบางคนหรือเปล่าคะนี่ หวังว่าเขาเป็นตำรวจนะคะ ไม่ใช่โจร!”
“เขาเป็นตำรวจค่ะ”
“ไปทักทายเขาสิคะ”
“คุณพ่อฉันคงไม่ชอบใจแน่ค่ะ สถานีตำรวจเต็มไปด้วยอาชญากร”
“คุณพ่อคุณทำงานที่นี่เหมือนกันเหรอคะ”
“เปล่าค่ะ”
“งั้นฉันก็ไม่เห็นว่าทำไมคุณจะเข้าไปไม่ได้” มาร์กาเร็ตเปิดประตูไม้ออกและดันฉันเข้าไป แสงไฟสลัวข้างในแทบจะไม่สามารถส่องทะลุควันบุหรี่ ชายสวมเสื้อกล้ามสกปรกที่นั่งอยู่บนม้านั่งข้างฉันจ้องมองฉันด้วยสายตากระลิ้มกระเหลี่ย ฉันกอดหนังสือที่นำมาด้วยแนบอก เมื่อเขาขยับตัวเข้ามาใกล้ขึ้น ฉันขยับถอยออก หรือว่าพอลจะตกลงรับตำแหน่งที่พ่อเสนอให้และไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว หรือไม่ก็ไม่เคยทำงานที่นี่เลย ฉันนี่โง่จริงๆ ไม่น่ามาเลย ขณะที่กำลังจะเดินออก ฉันรู้สึกว่ามีมือมาจับที่ข้อศอก ฉันกระชากศอกออก พร้อมจะเอาหนังสือของเชคอฟฟาดหมอนั่น แต่เมื่อหันไปก็พบดวงตาสีฟ้าที่มองอยู่ด้วยความห่วงใย
“ผมฝันเสมอว่าจะได้พบคุณอีก แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นที่นี่” พอลพูด
ฉันลดมือที่ถือหนังสืออยู่ลง “คุณอยากพบฉันอีกเหรอคะ”
“แน่นอน แต่หลังจากทำให้คุณต้องอับอายต่อหน้านายของคุณแล้ว…”
“ไม่เลยค่ะ เอาเถอะ พวกเราทุกคนคิดถึงคุณ…หมายถึงพวกเราที่ห้องสมุดน่ะค่ะ”
“ผมก็คิดถึง…เออ…ห้องสมุดเหมือนกัน” เขาว่า
ฉันรอให้เขาพูดต่อ เมื่อเขาไม่พูดอะไรอีกฉันจึงบอกว่า “ฉันต้องไปแล้วค่ะ เพื่อนฉันรออยู่ข้างนอก…”
“ผมกำลังจะเลิกเวรพอดี ผมขออนุญาตพาคุณสองคนไปเลี้ยงอาหารเย็นได้ไหมครับ”
ที่ร้านอาหาร บริการแต่งกายอย่างประณีตในชุดสูทสีดำผูกหูกระต่ายนำเราไปยังโต๊ะเงียบๆ ที่ด้านหลัง ไกลออกมาจากพวกตำรวจนั่งดื่มเบียร์อยู่ซึ่งพากันมองมาที่เรา แม้จะไม่มีใครที่คุ้นหน้า แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีใครที่มารับประทานมื้อกลางวันวันอาทิตย์ที่บ้านเราอยู่ด้วยไหม
กลิ่นแอปเปิลเชื่อมที่ลอยออกจากครัวชวนให้น้ำลายสอ
“กลิ่นอะไรคะหอมจัง” มาร์กาเร็ตถาม
“ทาร์ตตาแต็งค่ะ” ฉันตอบ “ขนมโปรดอันดับสามของฉัน รองจากโปรฟิเตอโรลและช็อคโกแล็ตมูสของคุณแม่”
“ขนมโปรดอันดับสี่ของผมครับ” พอลว่า
“ฉันยังไม่เคยลองเลยค่ะ” มาร์กาเร็ตพูด “แต่มั่นใจว่าต้องเป็นของโปรดใหม่ของฉันแน่”
จู่ๆ ฉันก็รู้สึกเขินขึ้นมา และเสก้มลงปัดเศษขนมปังบนผ้าปูโต๊ะลายหมากรุก มาร์กาเร็ตทำปากขมุบขมิบบอกกันฉันว่า “คุยกับเขาสิ” ความเงียบเริ่มดังขึ้นทุกทีขณะที่ฉันพยายามหาเรื่องพูด หรือว่าจะถามถึงงานของเขาดี ฉันนึกถึงพ่อซึ่งมักจะกลับถึงบ้านด้วยอารมณ์ขุ่นมัวและพร่ำบ่นถึงวายร้ายทั้งหลายที่ต้องเจอ ซึ่งเรมีกับฉันไม่แน่ใจว่าพ่อหมายถึงพวกอาชญากรหรือเพื่อนร่วมงานของพ่อกันแน่
“คิดยังไงคะถึงได้อยากเป็นตำรวจ” ฉันโพล่งออกไป
“โอดีลหมายความว่ามันเป็นงานที่อันตรายมากน่ะค่ะ” มาร์กาเร็ตแก้ “เธอพูดถึงเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบสีฟ้าให้ฉันฟังด้วยความชื่นชมเสมอ”
“ผมอยากเป็นตำรวจมาโดยตลอดเลยครับ” พอลว่า “จะได้ช่วยเหลือปกป้องผู้คน”
“เป็นงานที่มีคุณค่าจริงๆ นะคะ”
“แล้วคุณคิดยังไงล่ะครับถึงอยากเป็นบรรณารักษ์” เขาถาม ตาเป็นประกายระยิบระยับ
“เพราะบางทีฉันก็ชอบหนังสือมากกว่าคน”
“หนังสือไม่โกหกหรือขโมย” เขาว่า “เราพึ่งพามันได้เสมอ”
ฉันรู้สึกประหลาดใจและมีกำลังใจที่ได้ยินเสียงสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง
“คุณชอบอ่านหนังสือประเภทไหนคะ” ฉันถาม
“ถามสำหรับตัวคุณเอง หรือจดหมายข่าวของห้องสมุดครับ”
ฉันหน้าแดงขึ้นมาด้วยความภูมิใจ “อ่านจดหมายข่าวของฉันด้วยเหรอคะเนี่ย”
“ผมชอบคำตอบของมิสเว็ดด์ และได้ไปหาหนังสือของเฮราคลิตัสมาอ่าน”
“เราไม่เคยก้าวลงในแม่น้ำเดียวกันซ้ำสอง” เขาและฉันพูดขึ้นพร้อมกัน
“ฉันถามสำหรับตัวเองค่ะ” ฉันพูดอายๆ
“โดยทั่วไปผมชอบหนังสือสารคดี โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ แล้วผมก็สนุกกับการทบทวนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ อะไรบางอย่างที่มีกฎเกณฑ์ บางอย่างที่ผมสามารถชี้ลงไปและบอกว่า ถูกต้อง อะไรทำนองนั้น คงเป็นเพราะผมอย่างให้ทุกอย่างถูกต้องและเป็นความจริง”
ฉันกำลังจะเถียงว่าบางครั้งนิยายก็จริงยิ่งกว่าชีวิตจริงเสียอีก แต่เขาพูดต่อว่า “อาจเป็นเพราะผมต้องทำงานกับอาชญากรที่ทำผิดกฎหมายตลอดเวลา พวกเขาไม่สนใจว่าพวกเขาทำร้ายใคร พวกนี้แต่งเรื่องเก่งมากเพื่อทำให้เราเชื่อว่าพวกเขาทำโดยมีเหตุผล คุณจะรู้สึกแย่มากเวลาที่รู้ว่าคนที่คุณเชื่อใจโกหกคุณซึ่งๆ หน้า”
“ค่ะ มันเจ็บปวดมาก” ฉันพูด พลางคิดถึงพ่อกับหญิงแพศยานั่น
บริกรกระแอม ฉันลืมเสียสนิทว่าเรานั่งอยู่ในร้านอาหารที่เต็มไปด้วยผู้คน ลืมมาร์กาเร็ตที่นั่งอยู่ข้างๆ หลังจากที่บริกรจดอาหารที่สั่งเสร็จและเดินไปแล้ว พอลพูดภาษาอังกฤษตะกุกตะกักกับมาร์กาเร็ตว่า “ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถอยู่ไกลบ้านได้ ผมชื่นชมคุณจริงๆ”
“ขอบคุณค่ะ” มาร์กาเร็ตว่า “ความจริงฉันคิดถึงบ้านมาก โชคดีที่ได้เจอโอดีล”
“มาร์กาเร็ตช่วยเราได้มากเลยค่ะที่ห้องสมุด”
มาร์กาเร็ตหน้าแดง บอกว่า “คุณมีแผนการสำหรับวันหยุดหรือยังคะ”
“ทุกหน้าร้อน ผมจะไปช่วยป้าผมที่ฟาร์มครับ” เขาว่า
“ใกล้ปารีสเหรอคะ” มาร์กาเร็ตถาม
“ที่บริตตานีครับ”
“คุณจะไปที่อื่นเหรอคะ” ฉันพูดหน้าเศร้า บริกรนำเสต็กกับมันฝรั่งทอดมาให้ แต่ฉันหายหิวแล้วและได้แต่หยิบมันฝรั่งกิน
หลังอาหารเย็น มาร์กาเร็ตขอบคุณพอลและขึ้นแท็กซี่กลับ ภายใต้แสงไฟถนนที่อ่อนโยน เขาเดินพาฉันไปส่งบ้าน ฉันไม่รู้ว่าควรเดินอย่างเร่งรีบเหมือนทุกครั้งหรือก้าวไปพร้อมกับเขา ไม่รู้ว่าควรเดินล้วงกระเป๋าหรือปล่อยมือข้างตัวเพื่อเขาจะได้จับได้..ถ้าต้องการ ขณะที่เดินขึ้นบันได ฉันสงสัยว่าเขาจะก้มลงจนริมฝีปากอยู่เหนือริมฝีปากฉันและฉันสามารถสูดกลิ่นของเขาเข้าไปเหมือนสูดอากาศหรือไม่ ที่เชิงบันได เขาไม่ได้ขยับตัวเข้ามาใกล้ขึ้น ทำให้ฉันต้องซ่อนความผิดหวังโดยก้มหน้าลงแสร้งทำเป็นควานหากุญแจซึ่งไหลลงไปอยู่ก้นกระเป๋า
ขณะที่เสียบกุญแจ พอลแตะข้อมือฉัน ฉันยืนตัวแข็ง
“ผมอยากชวนคุณไปข้างนอก” เขาว่า
“เหรอคะ”
“แต่คุณพ่อคุณเสนองานให้ผมอีก”
กุญแจร่วงลงจากมือฉัน
พอลชอบฉันเพราะคุณพ่อนั่นเอง นี่ฉันทำอะไรโง่ๆ ลงไป..แจ้นไปหาเขาถึงสถานีตำรวจ ฉันรู้สึกคลื่นไส้ขึ้นมาจนต้องขยับตัวไปเข้ายังอีกฝั่งของประตูและปิดเสีย แต่ขณะที่ก้มลงจะดึงกุญแจเข้ามา พอลซึ่งไวกว่าได้รีบตะครุบมันไว้ด้วยมือหนึ่ง อีกมือจับศอกฉันไว้
“ผมมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ” เขาว่า พลางช่วยฉันยืนขึ้นมา “และพูดตรงๆ แล้ว ผมต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้หาที่อยู่ที่ดีกว่านี้”
ตาของฉันจ้องกระดุมสีน้ำเงินที่เสื้อเขาและบอกว่า “ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ แล้วจะเริ่มงานเมื่อไหร่…”
“ผมปฏิเสธคุณพ่อคุณ”
“เหรอคะ!”
“ผมไม่อยากให้คุณสงสัยในความรู้สึกที่ผมมีต่อคุณ”
หัวใจฉันเริ่มบานออก เขาปิดปากฉันด้วยปากของเขา ตอนแรก ปากของฉันเผยอขึ้นเหมือนนางเอกในหนัง แล้วจึงเปิดออก ปล่อยให้ลิ้นของเขาลูบไล้ไปบนลิ้นฉัน เมื่อเขาเงยหน้าขึ้น ฉันมองเขาด้วยความสงสัย รู้สึกเหมือนกับว่าขณะที่ละเลียดจูบกันนั้นฉันได้ตกลงไปใน Wuthering Heights (วูทเธอริงไฮต์ส)
ในวันบาสตีย์ เมื่อถึงแฟล็ตของมาร์กาเร็ต บัตเลอร์ของเธอนำฉันไปยังห้องนั่งเล่นซึ่งประดับประดาด้วยภาพเหมือนของสุภาพบุรุษท่าทางเย่อหยิ่งมอง ทุกคนมองตรงมาที่ฉันทำให้ฉันประหม่าจนต้องเดินเลี่ยงไปทางแกรนด์เปียโนหลังใหญ่ขนาดพอกับรถของพ่อได้ทางมุมหนึ่งของห้อง นิ้วอยู่ไม่สุขของฉันลองจิ้มคีย์เปียโนดู ไม่มีใครที่ฉันรู้จักมีบัตเลอร์หรือแกรนด์เปียโน เคยอ่านเจอแต่ในนิยาย ไม่ใช่ในชีวิตจริง ที่หน้าต่าง ฉันสามารถมองเห็นโดมสีทองของวิหารที่ฝังศพนโปเลียน นี่เป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนชั้นสูงโดยแท้ ที่บ้าน เราไม่ค่อยเปิดหน้าต่างเพราะฝุ่นถ่านหินที่ลอยมาจากสถานีรถไฟ เพดานเตี้ยๆ ทำให้อพาร์ตเมนต์ของเราดูสบายพอสมควรในวันที่ดี และอึดอัดในวันที่แย่ หน้าต่างห้องนอนฉันเปิดออกไปเห็นอาคารฝั่งตรงข้ามที่อยู่ห่างออกสิบฟุต มองเห็นชุดชั้นในเหี่ยวๆ บนราวตากผ้าเหนืออ่างอาบน้ำในห้องน้ำมาดามเฟลด์มอง แสงแดดและวิวคือของหรู มาร์กาเร็ตไม่ใช่หญิงสาวร่างบางธรรมดาๆ อย่างที่ฉันคิดเลย
“รอนานไหมคะ คริสตินาไม่ยอมขึ้นจากอ่างน้ำน่ะค่ะ” มาร์กาเร็ตว่า มืออุ้มลูกสาว เด็กหญิงตัวเล็กซ่อนหน้าลงกับปกเสื้อของเธอ เห็นเพียงลอนผมเปียกๆ
“เราเคยเจอกันตอนชั่วโมงเล่านิทานแล้วนะคะ” ฉันบอกเธอ “มันคือเวลาโปรดของฉันในสัปดาห์เลย”
เด็กหญิงเงยหน้าขึ้น “หนูก็เหมือนกันค่ะ”
พี่เลี้ยงคนหนึ่งเดินมานำคริสตินาไป และฉันเดินตามมาร์กาเร็ต ผ่านห้องนอนสีฟ้าไปยังห้องแต่งตัวซึ่งมีขนาดเท่าห้องทำงานของมิสรีเดอร์ ผนังข้างหนึ่งแขวนชุดกระโปรงหรูสำหรับใส่กลางวันแขวนเรียงราย อีกด้านเป็นชุดราตรี แต่ละชุดราคามากกว่าเงินเดือนหนึ่งปีทีเดียว ไม่อยากเชื่อว่าผู้หญิงคนเดียวจะมีอะไรต่ออะไรมากมายขนาดนี้ ฉันอดมองตาโตไม่ได้ ดูสีสิ! มีทั้งแดงก่ำแบบแอปเปิลเคลือบน้ำตาล สีทอฟฟี สีเป็ปเปอร์มินต์ สีชะเอมเทศ! ฉันอดไม่ได้ที่จะลูบคลำดู
“อยากลองไหมคะ”
“ได้เหรอคะ”
เมื่อฉันตัดสินใจไม่ได้มาร์กาเร็ตจึงส่งชุดราตรีสีดำให้ ฉันถือชุดแนบกับตัวแล้วเต้นไปรอบห้อง “เอาล่ะ มัวรออะไรกันอยู่!”
มาร์กาเร็ตดึงชุดสีเขียวจากที่แขวนและเต้นไปรอบห้องกับฉัน ฉันร้องเพลง มง เลจงแนร์ ของอีดิธ เพียฟ มาร์กาเร็ตร้องตาม เราสองคนร้องเพลงและเต้นไปรอบห้อง หัวเราะคิกคักจนหมดแรง และลงไปนั่งหอบโดยมีชุดราตรีไหมบนตัก
“ผมเข้ามาขัดจังหวะหรือเปล่า” ผู้ชายที่ถามพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงฝรั่งเศสชัดเจนมีหนวดบางดำขลับเหมือนซาลวาดอร์ ดาลี
มาร์กาเร็ตและฉันยืนขึ้น และมาร์กาเร็ตแนะนำเรา
“อองฌองเต – ยินดีที่รู้จักครับ”
เนื่องจากเขามีแต่ลูกค้าผู้ลากมากดี หนังสือพิมพ์จึงให้สมญาเขาว่า ‘เมอซิเออร์ช่างผม’ เขาไม่เคยถามไถ่ว่า ลูกค้า ต้องการอะไร เพราะรู้ดีว่าเขาต้องทำอะไรกับลูกค้าบ้าง สิ่งที่ฉันให้กับมาร์กาเร็ตคือวันอันน่าเบื่อที่หมดไปกับการซ่อมหนังสือ แต่ดูสิ สิ่งที่เธอให้ฉันคือนัดทำผมกับสไตลิสต์ชื่อดังซึ่งเป็นที่เป็นที่ต้องการตัวที่สุดของปารีส
มาร์กาเร็ตให้ฉันลองชุดราตรีสีดำ เพื่อคนรับใช้ของเธอจะได้นำไปแก้ให้พอดีตัวฉัน จากนั้นก็พาฉันไปนั่งที่โต๊ะเครื่องแป้งสไตล์อาร์ตเดโค
“พอลเป็นคนน่ารักมาก” เธอพูดขณะที่เมอซิเออร์ซีเริ่มแปรงผมฉัน
“คุณคิดว่าเราสองคนมีอะไรเหมือนกันไหมคะ เขาเป็นตำรวจ แต่ฉันเป็น เออ.. เป็นฉันนั่นแหละ”
“ลอเรนซ์กับเพื่อนที่เคมบริดจ์ของเขาร่ายกวีซอนเน็ตได้ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะรู้อะไรเกี่ยวกับความรัก แต่พอลแคร์คุณอย่างเห็นได้ชัด และนั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่าตำแหน่งงานหรือหนังสือที่เขาอ่านเสียอีกนะคะ”
ฉันควรจะบอกมาร์กาเร็ตว่าฉันรู้สึกขอบคุณสำหรับกำลังใจที่เธอให้ แต่เมอซิเออร์กำลังนวดหนังศีรษะฉัน และฉันมัวแต่เพลินจนไม่ได้พูดอะไร ก่อนหน้านี้ฉันไม่รู้ตัวเลยว่าฉันเครียดขนาดไหนกับความรู้สึกที่มีต่อพอล ความเหินห่างที่น่าเจ็บปวดระหว่างเรมีกับฉัน และการที่พ่อทิ้งเราไปหาเมียน้อย จนกระทั่งตอนที่มันค่อยๆ มลายหายไปในตอนนี้ เวลาที่แม่ตัดผมให้ หวีของแม่จะกระชากลอนผมของฉันเสมอ แต่หวีของเมอซิเออร์ลากผ่านผมฉันไปอย่างนุ่มนวลราวกับมีดที่ตัดผ่านเนยลงไป
นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันทำผมกับมืออาชีพ และฉันเพลิดเพลินกับการที่เมอซิเออร์พันผมของฉันกับกับคีมร้อนทีละปอยเพื่อสรรสร้างทะเลที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่น
เมื่อเมอซิเออร์กางมือออกโชว์ผมที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและร้องว่า ‘วัวลา!’ มาร์กาเร็ตถึงกับอุทานว่า “เหมือนเบ็ตตี เดวิสยังไงยังงั้นเลย อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าสวยประหาร”
ขณะที่เมอซิเออร์ซีเกล้าผมมวยสูงให้มาร์กาเร็ตอย่างวิลิสมาหรานั้น เธอถามขึ้นว่า “คุณคิดว่ามิสรีเดอร์มีคนรักไหมคะ”
“ตอนงานกาลาดินเนอร์ของห้องสมุด มิสรีเดอร์มากับท่านทูต”
“ว่ากันว่าบิล บุลลิตต์เป็นนักเจรจาชั้นยอดแต่เจ้าชู้ไม่เบาเลย ฉันรู้จักกงสุลนอร์เวย์ ฉันคิดว่าคนนี้แหละเหมาะกับมิสรีเดอร์ที่สุด ไว้ฉันจะชวนเขามาเป็นสมาชิกที่ห้องสมุด”
“งั้นคงต้องเข้าคิวรอแล้วล่ะค่ะ”
มาร์กาเร็ตไม่มองกระจกเลยเมื่อเมอซิเออร์ซีทำผมให้เสร็จ แต่มองมาที่ฉันแทน
“เป็นยังไงคะ”
“สวยมาก” ฉันพูดเต็มปากเต็มคำ “คุณเป็นคนสวยทั้งนอกและในเลย”
มาร์กาเร็ตหน้าแดง ทำให้ฉันสงสัยว่าเธอไม่ได้รับคำชมมานานแล้วนะ
“ลอเรนซ์จะต้องตกหลุมรักคุณอีกครั้งอย่างแน่นอน” ฉันบอก
“ยากค่ะ..เขายุ่งมาก”
“ยุ่งเกินกว่าจะมีเวลาชมว่าคุณสวยน่ะเหรอคะ”
“คนไม่ได้เห็นฉันอย่างที่คุณเห็นทุกคนหรอกค่ะ” แล้วเธอก็ลุกขึ้นโดยไม่แม้แต่จะชำเลืองมองกระจก
มาร์กาเร็ตหยิบชุดสีเขียวเปลือยไหล่ขึ้นสวม แล้วส่งชุดราตรีที่ได้รับการสอยให้สั้นขึ้นเล็กน้อยให้ ผ้าไหมที่ทิ้งตัวลงแนบกับผิวช่างแตกต่างจากผ้าขนสัตว์คันๆ ที่ฉันใส่ในฤดูหนาว หรือผ้าลินินแข็งกระด้างในฤดูร้อน มาร์กาเร็ตรูดซิปให้ ฉันหยุดหายใจไปชั่วขณะขณะที่เมื่อเห็นตัวเองกระจกเงา ช่างสวยเหลือเกิน ขณะที่ชุดกระโปรงของฉันพันเนื้อพันตัวเหมือนผ้าปูโต๊ะ ชุดราตรีชุดนี้แนบลงบนเอวและดันทรงซึ่งฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าฉันมีกับเขาด้วย แม้จะบอกตัวเองว่าช่วงอกคับไปหน่อย แต่ฉันรู้ว่าความรู้สึกเย็นเยียบที่พันอยู่รอบซี่โครงแต่ละซี่นั้นคือความอิจฉา มาร์กาเร็ตมีมากมายเหลือเฟือ แต่ฉันมีน้อยนิดเหลือเกิน
“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันสนุกกับการเตรียมตัวไปงานเลี้ยงในปารีส” มาร์กาเร็ตว่า “หวังว่าคุณจะมาอีกนะคะ”
ชุดราตรีกับช่างทำผมที่มาทำถึงบ้าน..ฉันเคยชินกับความหรูหราแบบนี้ได้อย่างแน่นอน คำชวนของมาร์กาเร็ตทำให้ความอิจฉาของฉันมลายไปสิ้น
เมื่อเดินลงไปสมทบกับลอเรนซ์ที่ห้องใต้ดิน เสียงชุดผ้าไหมที่ลูบไล้น่องของฉันอยู่ส่งเสียงกระซิบกระซาบชวนให้รู้สึกวาบหวิว อยากให้พอลเห็นฉันตอนนี้เหลือเกิน
ลอเรนซ์นั่งเอนตัวอยู่บนโซฟา เฮอรัลด์ที่ถืออยู่ปิดเขาเกือบมิด มาร์กาเร็ตกระแอมโดยมีฉันเยือนอยู่ข้างๆ เขาวางหนังสือพิมพ์ลง ขนตาสีเข้มล้อมรอบดวงตาสีฟ้าเทอควอยซ์ของเขา มงเดอ พระเจ้า! เขาช่างหล่อเหลาเหลือเกินในชุดทักสิโด! “คุณสวยมาก!” เขาลุกขึ้นมาจูบมือฉัน และฉันคิดว่าเขาจะจูบมาร์กาเร็ตด้วย แต่เขาเอาแต่จ้องฉันและจับมือไว้ไม่ปล่อย “ถ้าผมยังไม่แต่งงานละก็…” เขายักคิ้ว ทำให้ฉันหัวเราะคิกกับเสน่ห์ของเขา
“คุณรู้จักกับมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ด้วยใช่ไหมคะ” ฉันถามเพื่อแสดงเห็นว่าฉันก็รู้จักคนในแวดวงการทูตที่โก้หรูเหมือนกัน
“ท่านเป็นตำนานเลยล่ะครับ! เป็นคนเขียนระเบียบปฏิบัติสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส และตั้งแต่ปี 1926 เป็นต้นมาท่านไม่เคยแพ้ในการโต้คารมเลย คุณรู้จักท่านได้ยังไงครับ”
“ท่านเป็นสมาชิกประจำคนหนึ่งของห้องสมุดน่ะค่ะ” มาร์กาเร็ตพูดด้วยความภูมิใจ
ลอเรนซ์ยังคงมองฉัน “คุณช่างกรุณาเหลือเกินที่เปิดโอกาสให้มาร์กาเร็ตได้เล่นสนุกกับการเป็นบรรณารักษ์”
มาร์กาเร็ตซึ่งยืนอยู่ข้างฉันตัวเกร็งขึ้นมาทันที ทำให้ฉันคิดถึงประโยคหนึ่งในเรื่อง Their Eyes Were Watching God (ดวงตาที่กำลังมองดูพระเจ้า) ที่ว่า เธอลงแป้งและรีดใบหน้าของเธอจนมันเป็นใบหน้าที่คนต้องการจะเห็น
“มาร์กาเร็ตไม่ได้ทำ ‘เล่นๆ’ นะคะ” ฉันตอบ และดึงมือฉันออกมาโอบเอวมาร์กาเร็ต “เธอมีประสิทธิภาพมากจริงๆ”
ทันใดนั้นบรรยากาศก็แปลกไป เขาเปลี่ยนจากชายเจ้าเสน่ห์เป็นชายผู้โอหังขณะที่มาร์กาเร็ตยืนแข็งทื่อเป็นไม้ ฉันนักถึงคำแนะนำที่แม่ให้กับโคลทิลด์ ลูกพี่ลูกน้องของฉัน พยายามประวิงเวลาให้ช่วงจีบกันยาวที่สุดที่จะยาวได้ เพราะหลังจากแต่งงานแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนไป นี่น่ะหรือคือความหมายของแม่
“คุณดูดีมากค่ะ” มาร์กาเร็ตพูดราวกับกำลังท่องบทละครที่น่าเบื่อซึ่งเธอไม่อยากเล่นอีกต่อไป
“คุณก็เหมือนกัน” เขาพูดอย่างไม่ใส่ใจ แล้วก็ก้มดูนาฬิกาพก “ไปกันเลยดีกว่า คนรถรออยู่”
ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตอังกฤษ ภายใต้แสงไฟจากโคมระย้า เหล่าสุภาพสตรีสวยงามอย่างน่าทึ่งด้วยเครื่องเพชรระยิบระยับ เช่นเดียวกับลอเรนซ์ สุภาพบุรุษทุกคนสวมชุดทักสิโดสีดำ นี่แหละงานเลี้ยงแบบที่ฉันใฝ่ฝัน ฉันอยากจะฟังพวกเขาพูดคุยถึงสถานที่ต่างๆ ที่พวกเขาได้เห็นและหนังสือที่พวกเขาเคยอ่านเหลือเกิน
ลอเรนซ์ทิ้งเราสองคนและปรี่เข้าไปหาสตรีผมสีน้ำตาลหน้าอกอวบอั๋น “ถ้าคุณไม่มีความสุขกับชีวิตสมรสล่ะก็ ผมจะพาคุณออกไปเองนะครับ”
“ที่รักขา อย่าปล่อยให้อะไรมาหยุดคุณได้นะคะ!” เธอลูบคลำแผงอกเขาราวกับมาร์กาเร็ตไม่ได้อยู่ที่นั่น
มันเป็นวงการที่ฟอนเฟะ ฉันเริ่มเข้าใจสิ่งที่มาร์กาเร็ตพูดถึงเกี่ยวกับวงการทูต และถลึงตาใส่ลอเรนซ์ด้วยความโกรธที่เขาฉีกหน้าเธอ อีกทั้งยังโกรธตัวเองที่หลงไปกับคำป้อยอที่ดูเหมือนเขาจะหว่านไปทั่ว
“อย่าปล่อยให้เขาทำลายค่ำคืนนี้ของคุณเลยค่ะ” มาร์กาเร็ตพยักเพยิดไปทางหญิงร่างอวบอ้วน “เธอเป็นภรรยาของท่านกงสุล ทำหน้าที่ดูแลพวกที่กำลังหลงทาง หาตัวเองไม่เจอน่ะค่ะ”
“โอ มิสซิสเดวีส์ ยินดีที่ได้พบค่ะ” มาร์กาเร็ตตะโกนทัก “ขอบคุณนะคะที่แนะให้ฉันไปเยี่ยมห้องสมุดอเมริกา”
“คุณดูดีขึ้นมากนะคะ” มิสซิสเดวียส์ตอบกลับอย่างอบอุ่น
“เคยเจอเพื่อนรักคนใหม่ของฉันเหรอยังคะ”
“มีเพื่อนดีๆ แค่คนเดียวก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้นะคะ” มิสซิสเดวีส์ว่า “เราเคยเห็นหน้ากันมาบ้างแล้วในงานบรรยายของศาสตราจารย์โคเฮน”
ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามิสซิสเดวีส์เป็นบุคคลสำคัญในวงการทูต แม้จะไม่เป็นทางการก็ตาม และมองเธอทักทายผู้มาใหม่แต่ละคนอย่างกันเอง “โอ้โห สวยจังเลยค่ะ” เธอทักทายสุภาพสตรีหน้าตาซีดเซียวซึ่งเบ่งบานขึ้นทันทีทันใดที่ได้รับคำชม “ปรับตัวได้หรือยังคะ” เธอถามสุภาพสตรีชาวอิตาเลียนที่ยืนอยู่คนเดียวและมองไปรอบห้องด้วยความประหม่า “ฝรั่งเศสอาจเป็นความฝันของผู้หญิงทุกคน แต่ในความจริงเราต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยหน่อยนะคะ”
“เราไม่สามารถปล่อยให้ฮิตเลอร์รุกไปทั่วยุโรปแบบนี้! มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ว่า ความเห็นของท่านสะท้อนไปทั่วห้องบอลรูมแบบเดียวกับที่เป็นที่ห้องสมุดเวลาที่เถียงกับเมอซิเออร์แนเซีย “เราต้องจับมือกันลุกขึ้นสู้”
“นี่ท่านไม่ทราบหรือคะว่านี่เป็นงานเลี้ยง” ฉันว่า
“เดี๋ยวนี้สิ่งเดียวที่ท่านพูดถึงคือสงคราม” มาร์กาเร็ตตอบ
“พวกคุณได้ดูละครเรื่อง โอเทลโล กันเมื่ออาทิตย์ก่อนหรือเปล่า” มิสซิสเดวีส์ถาม
แขกหลายคนพูดขึ้นพร้อมกันด้วยความโล่งอกที่ได้คุยเรื่องอื่นกันบ้างนอกจากสงคราม “ละครเชคสเปียร์เป็นภาษาฝรั่งเศสนี่แปลกมากเลยนะคะ!” “เทร บิซาร์!” “เดสเดอโมนาน่าสงสารจริงๆ”
“นายพลไวส์บอกว่ากองทัพอากาศฝรั่งเศสยอดที่สุดในยุโรปแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วง!”
“เราต้องหาแนวร่วม” ลอเรนซ์ยืนกราน “อิตาลีเคยเป็นพันธมิตรกับเรา แต่ตอนนี้มุสโสลินีกลับไปลงนามข้อตกลงกับฮิตเลอร์”
“มีใครรู้จักช่างเสื้อที่เก่งๆ มีชื่อเสียงบ้างไหมคะ”
“ลองไปที่เชส์ เจอเนอวีฟสิคะ เอ็มมา เจน เคอร์บีเป็นลูกค้าที่นั่น ชุดราตรีของเธอสวยหรูมาก!”
“ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าเอ็มมากำลังควงกับผู้ชายอายุมากกว่าเธอถึงสามเท่า” มาร์กาเร็ตกระซิบกับฉันขณะที่จ้องมองสาวสวยผมบลอนด์ “ดูท่าผู้ชายคนนั้นจะต้องรวยมาก”
“พ่อวัวแก่คงต้องพยายามน่าดูเลย” ฉันตอบ
“ถูกของพ่อหนุ่มลอเรนซ์!” มิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ว่า “เราต้องคอยจับตาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบตัว”
“เหลวไหล เราต้องยอมฮิตเลอร์หน่อย” ท่านทูตตอบ
“ตางั่ง!” มาร์กาเร็ตกระซิบ
“ช่างไร้น้ำยา!” ลอเรนซ์คำราม
“แชมเปญ!” ภรรยาท่านกงสุลรีบตะโกนเรียก “แชมเปญมาเติมเลย”
ฟองตาสตีค วิเศษที่สุด! ครั้งสุดท้ายที่ฉันได้ดื่มคือตอนปีใหม่ เสียงจุกก๊อกดังป๊อกอันเป็นสัญญาณของการเฉลิมฉลองและเป็นเสียงที่ฉันชอบที่สุดในโลกดังขึ้น จากนั้นบริกรก็เดินถือถาดใส่แก้วแชมเปญทรงสูงร่อนไปทั่วห้อง ทุกอย่างถูกนำมาเสนอให้ฉันบนถาดเงิน ฟองระยิบระยับในแก้ว แชมเปญเย็นเฉียบไหลเลื่อนผ่านคอ ฉันเพลิดเพลินไปกับทุกสิ่งทุกอย่างจนลืมพฤติกรรมน่ารังเกียจของลอเรนซ์ ลืมการทุ่มเถียงของเหล่านักการทูต ฉันมองดูภาพวาดภูมิทัศน์ของเทอร์เนอร์บนผนังด้วยความชื่นชม ลิ้มรสไข่ปลาคาร์เวียร์ที่บริกรในถุงมือสีขาวยื่นให้ มาร์กาเร็ตมีทั้งหมดนี้ตลอดเวลา แต่ฉันมีเพียงคืนเดียว เพราะฉะนั้นต้องสนุกให้เต็มที่ ต้องขอขอบคุณมาร์กาเร็ตเป็นอย่างมาก ดอกไม้ไฟระเบิดออกเหนือท้องฟ้า ฉันรีบลากมาร์กาเร็ตออกไปยังสนามหญ้าซึ่งมีคนมายืนรอดูอยู่แล้ว กลิ่นหอมรวยรินของดอกกุหลาบโชยมาตามลม กำแพงหินสูงปิดซ่อนพวกเราจากกรุงปารีส หน้าต่างคฤหาสน์อันโอ่อ่า บ้านพักของเอกอัครราชทูตสว่างขึ้น เหนือขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกายไฟพุ่งขึ้นก่อนจะดับลง ฉันมีความสุขจนลืมความกังวลเกี่ยวกับสงคราม เรมี พ่อ และพอล
บทที่ 10
เดี๋ยวนี้พอลมาห้องสมุดบ่อยมากจนมิสรีเดอร์มอบตำแหน่ง ‘สมาชิกที่เหนียวแน่นที่สุดของห้องสมุด’ บ่ายวันไหนที่เป็นเวรลาดตระเวนเขาจะขี่จักรยานมาจอดที่ลานของห้องสมุดและเข้ามาช่วยฉันทำงาน เช่น แกะกระดาษที่ห่อนิตยสาร เช่น ไลฟ์ และ ไทม์ มาอย่างแน่นหนาเพราะต้องเดินทางสมบุกสมบันข้ามน้ำข้ามทะเล น่าเสียดายที่ภายใต้สายตาสอดรู้สอดเห็นของมาดามซิมงทำให้การแอบจูบกันเป็นไปไม่ได้เลย
ที่บ้านก็ไม่ดีไปกว่านั้น พอลกับฉันนั่งห่างกันสามสิบสองเซ็นติเมตร ปล่อยน้ำชาตรงหน้าให้เย็นชืดโดยไม่ได้แตะต้อง “คิดว่าฝนจะหยุดไหมคะ” ฉันถามโดยรู้ว่าแม่กำลังแอบฟังอยู่แถวนั้น
“ฟ้าเริ่มใสแล้วล่ะ”
พรุ่งนี้พอลจะไปบริตตานีแล้ว แต่เรากลับนั่งพูดถึงดินฟ้าอากาศราวกับคนแปลกหน้าที่เจอกันตามป้ายรถเมล์
“ไปเดินเล่นกันเถอะ” พอลชวน “ผมอยากพาคุณไปที่โปรดของผมในปารีส”
“ฉันไม่แน่ใจว่า…” เสียงแม่ดังขึ้นจากโถงทางเดิน
“ให้หนูเถอะค่ะแม่” ฉันอ้อนวอน “พอลจะไม่อยู่เกือบทั้งเดือนสิงหานี้”
“งั้นก็ได้ ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ แล้วก็อย่าไปนาน”
มืออุ่นๆ ของเขาประคองหลังฉันขณะที่นำเดินไปตามถนน ท่ามกลางเสียงแตรรถที่ดังสอดประสานกันไม่หยุดหย่อน ผ่านเจ้าของร้านค้าที่ออกมายืนสูบบุหรี่หน้าร้าน เราเดินมาเรื่อยๆ จนมาถึงสถานีรถไฟการ์ดูนอร์ด ภายใต้หลังคากระจกมหึมา พนักงานขนกระเป๋าในชุดเอี๊ยมสีน้ำเงินวุ่นอยู่กับการขนกระเป๋าขึ้นลง คนเดินทางตะเบ็งเสียงขอทางพลางผลักผู้กีดขวางขณะที่เดินตรงไปขึ้นรถไฟ
พอลชี้ไปยังชานชาลาซึ่งชายหนุ่มสวมแว่นตาคนหนึ่งกำลังจุมพิตหญิงสาวที่เพิ่งลงจากรถไฟ “ผมมาที่นี่เพื่ออยู่ท่ามกลางความรัก คุณคงคิดว่าผมบ้าไปแล้วที่มาเที่ยวแอบดูคน…”
ฉันส่ายหน้าปฏิเสธ นี่แหละเหตุผลที่ฉันอ่านหนังสือ – เพื่อที่จะได้แอบดูชีวิตคนอื่น
นักดนตรีคนหนึ่งถือกล่องใส่ทรัมเป็ตเดินผ่านไปอย่างเร่งรีบ ลูกเสือกลุ่มหนึ่งยืนพิจารณาดูหัวรถจักรด้วยความสนใจ คุณแม่คนหนึ่งปล่อยมือจากลูกวัยเตาะแตะ และพากันวิ่งไปหาชายสวมเสื้อโค้ตกันฝนซึ่งอุ้มทั้งสองขึ้นเหวี่ยงไปรอบๆ
“น่ารักจริงๆ นะคะ” ฉันว่า
พอลจับจ้องภาพครอบครัวเล็กๆ ไม่วางตา
“มีอะไรหรือคะ”
“ไม่มีอะไร”
“ไม่มี?”
เขาดูครอบครัวดังกล่าวเดินออกจากสถานีรถไฟ “ครอบครัวผมเคยอยู่ห่างจากสถานีรถไฟนี่ไปหนึ่งช่วงถนน”
“จริงเหรอคะ”
“จนกระทั่งพ่อทิ้งเราไป..ตอนผมเจ็ดขวบ แม่บอกว่าพ่อขึ้นรถไฟไปไกลมาก ผมคิดว่าอีกไม่นานพ่อคงกลับ และจะมารอพ่อที่นี่” พอลหันมาหาฉัน “ทุกวันนี้ผมก็ยังมาอยู่”
ฉันยกมือโอบเขาเข้ามาหา และเขาซุกหน้าลงกับผมฉัน หัวใจของเราเต้นไม่เป็นส่ำ บางครั้งการมอบความไว้วางใจให้กับใครก็ไม่ได้อันตรายเลย
“ผมไม่เคยบอกใคร”
เราสองคนเดินกลับบ้านเงียบๆ ตลอดทาง ก่อนจะก้าวขึ้นบันไดและหยุดตรงเชิงบันได
“อยู่ทานอาหารเย็นได้มั้ยคะ”
เขาจูบขมับ จูบแก้ม แล้วก็ริมฝีปากฉัน “แล้วให้ผมทำเป็นไม่รู้สึกรู้สากับอะไรทั้งนั้นทั้งที่ต้องไปจากที่นี่พรุ่งนี้เช้างั้นหรือ..ผมทำไม่ได้หรอก”
ขณะที่ยืนมองดูเขาเดินลงบันไดหายไปนั้น ประตูด้านหลังฉันก็เปิดออก
“ฉันว่าฉันได้ยินเสียงคนนะ” เรมีว่า “เธอพูดกับตัวเองเหรอ”
“พูดกับพอลน่ะ” ฉันอยากเล่าให้เรมีฟังถึงความสุข ความรู้สึกเบาหวิวเหมือนหิ่งห้อย กระนั้นบางที..อย่างเช่นตอนนี้ที่ฉันกับพอลต้องจากกัน ฉันก็รู้สึกแย่เหลือเกิน “ฉันหยุดคิดถึงเขาไม่ได้” ฉันอยากเอาพอลเก็บไว้ตรงขอบของหน้าหนังสือแห่งหัวใจ แต่เขากลับขยับมาปรากฏอยู่กลางหน้าหนังสือและเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดของฉัน
“เธอกำลังมีความรัก” เรมีว่า “ดีใจด้วยนะ”
“ฉันอยากให้เธอมีความสุขเหมือนฉัน”
“นั่นแหละที่ฉันกำลังจะบอกเธอ ฉันตกหลุมรักบิตซี”
ทั้งสองช่างสมกันเหลือเกิน และฉันรู้สึกภูมิใจอย่างมากที่มีส่วนในการนำทั้งคู่มาเจอกัน “ความจริงแล้วฉันพยายามแนะนำให้เธอรู้จักกับเมอซิเออร์เดอแนเซียกับมิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์ แต่คิดว่าบิตซีอาจจะดีกว่า”
“อาจจะ?”
“แล้วบอกบิตซีหรือยัง”
“ฉันอยากบอกเธอก่อน”
เราบอกเรื่องต่างๆ ให้กันและกันฟังเสมอ เรมีเป็นคนแรกที่อ่านจดหมายข่าวของฉัน และฉันเป็นคนเดียวที่เขายอมให้ตรวจแก้บทความทางกฎหมายของเขา เรารู้ความลับของกันและกัน เรมีคือที่พึ่งพิงของฉัน
แต่แล้วทุกอย่างก็กำลังจะเปลี่ยนไป ฉันมีพอล เขามีบิตซี ฉันทำงานแล้ว ส่วนเขากำลังจะเรียนจบ นี่อาจเป็นปีสุดท้ายแล้วที่เราจะได้อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน เราสองคนอยู่ด้วยกันมาก่อนที่จะเกิดเสียอีก แต่ในที่สุดต่างก็ต้องมีชีวิตของตัวเอง ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าเราจะมีเวลาอยู่ด้วยกันอีกนานแค่ไหน
หลังเลิกงาน ฉันทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษของมาร์กาเร็ต “คำกิริยาแบ่งเป็นสามกลุ่ม รัก พูด และกินอยู่กลุ่มไหน”
“แอเม, ปาเล, มองเจ อยู่กลุ่ม er” มาร์กาเร็ตตอบ
“กลับไปลอนดอนแล้วอย่างลืมภาษาฝรั่งเศสนะคะ”
“โธ่ ฉันไปแค่สองอาทิตย์เท่านั้นเอง”
เราเดินฝึกภาษาฝรั่งเศสไปจนถึงลานด้านนอกซึ่งจักรยานของเรมีจอดพิงกำแพงอยู่
“แมซี ที่แนะนำให้ฉันมาเป็นอาสาสมัครที่นี่นะคะ” เธอว่า “ในที่สุดฉันก็รู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างเสียที”
“แมซี อะ ตัว! ฉันสิคะต้องขอบคุณคุณ ถ้าไม่มีคุณช่วย ฉันคงยังปลุกปล้ำกับการคัดหนังสือพวกนี้ใส่กล่องหรือยังทำงานอยู่ในห้องสมุด”
“เหลวไหลน่ะ!” แก้มของเธอแดงก่ำ แต่ดูชอบใจ
“ฉันคงไม่รู้ว่าจะทำยังไงถ้าไม่มีคุณ” ความจริงฉันอยากบอกมาร์กาเร็ตมากกว่านี้ แต่ครอบครัวเราไม่ค่อยพูดถึงความรู้สึกกัน.. ถ้าไม่มีคุณ ฉันคงไม่กล้าไปหาพอล การสอนภาษาฝรั่งเศสทำให้ฉันมองเห็นความงามของฝรั่งเศสที่ฉันเห็นเป็นของตายอีกครั้ง ขนาดงานที่น่าเบื่ออย่างการจัดส่งหนังสือให้สมาชิก ซ่อมแซมนิตยสารที่ขาด ขนหนังสือพิมพ์เก่าไปเก็บในห้องเก็บเอกสารก็ยังผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีคุณอยู่ข้างๆ
เมื่อมาร์กาเร็ตบอกว่า “เพื่อนรัก ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงถ้าไม่มีคุณเหมือนกัน” ฉันอยากโผเข้าไปจูบแก้มสองข้างของเธอ แต่ใจฉันดันจดจ่ออยู่กับอาหารเย็น และรีบขึ้นไปนั่งบนจักรยานของเรมี
“ขี่จักรยานเป็นด้วยเหรอคะ” เธอถาม
“อ้าว คุณขี่ไม่เป็นเหรอคะ” ฉันเอาขาลงจากที่ปั่น “ฉันสอนให้ได้นะคะ”
“ฉันขี่ไม่ได้หรอก เกิดตกลงมาละก็ขายหน้าแย่เลย”
“ไม่เห็นต้องสนใจเลยค่ะถ้าจะมีชาวปารีสไม่กี่คนเห็นแผลที่เข่าคุณ นี่แหละค่ะที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเวลาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง จะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครที่บ้านรู้”
ฉันจับจักรยานไว้นิ่งๆ ให้มาร์กาเร็ตขึ้นไปนั่ง จักรยานส่ายไปมาขณะที่ค่อยๆ ขยับไป มือข้างหนึ่งของมาร์กาเร็ตจับพวงมาลัย อีกข้างจับแขนฉัน
“ฉันทำไม่ได้หรอก”
“คุณกำลังทำได้แล้วไงคะ จับพวงมาลัยแน่นๆ ค่ะ”
“ฉันไม่แน่ใจว่านี่เป็นความคิดที่ดีนะ”
“จักรยานหัดง่ายกว่าภาษาฝรั่งเศส และการใช้ชีวิตในต่างประเทศเยอะเลยค่ะ” ฉันบอก แล้วผลักเธอไปเบาๆ “บงวง..ไปเลย โชคดี!”
จักรยานเริ่มทรงตัวได้และไปเร็วขึ้น ลมพัดกระโปรงของมาร์กาเร็ตขึ้นมาที่หัวเข่า “ถ้าตก ฉันจะลุกขึ้นมาใหม่”
“นั่นแหละ ยอดที่สุด!”
เธอเริ่มถีบไปช้าๆ “โอย น่ากลัวจัง”
“เชื่อใจฉัน!” ฉันวิ่งเหยาะไปข้างๆ “ฉันไม่ปล่อยให้คุณตกหรอกน่า”
“ฉันเชื่อใจคุณค่ะ” เธอตะโกน น้ำเสียงมีความแน่ใจแต่มีความสุขมากกว่า
ฉันกางแขนออก พร้อมคว้าเธอไว้หากพลาดตก
ปารีสในเดือนสิงหาคมร้อนอบอ้าว สมาชิกห้องสมุดหลายคนไปอาบแดดที่นีซและเบียริตซ์ หรือกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่นิวยอร์กหรือซินซินเนติ ที่โต๊ะทำงานของฉัน ฉันกับมิสรีเดอร์มีความสุขกับความสงบนานปีทีหน เธอดูสดใสในชุดกระโปรงรายจุด ผมขมวดเป็นมวยด้านหลัง มือถือปากกาด้ามเงินพร้อมจะเขียนคำปราศรัยหรือจดหมายขอบคุณ
คนส่วนใหญ่ในชีวิตฉัน ตั้งแต่คุณพ่อ ครู เจ้าหน้าที่ จนถึงบริกรเสิร์ฟอาหารจะพูดคำว่า “ไม่ได้” กับฉันเสมอ อย่างตอนที่ฉันขอเรียนบัลเลต์ “ไม่ได้หรอก รูปร่างเธอไม่เหมาะ’ หรือเรียนวาดรูป “ไม่ได้หรอก เธอไม่มีประสบการณ์ในการวาดรูปมาก่อน’ หรือตอนฉันบอกว่าอยากได้ไวน์แดงสักแก้ว “ไม่ได้หรอกค่ะ ฉันคิดว่าไวน์ขาวเหมาะกับอาหารที่คุณสั่งมากกว่า” แต่มิสรีเดอร์ไม่เหมือนทุกคน เมื่อฉันบอกว่าฉันอยากเปลี่ยนอะไรบางอย่างในห้องวารสารสักหน่อย ฉันถึงกับตะลึงเมื่อเธอบอกว่า “ได้สิ เอาเลย”
ฉันมีคำถามมากมายอยากถามมิสรีเดอร์ใจจะขาด เช่น คุณพ่อคุณแม่ของเธอคิดยังไงที่เธอมาอยู่ที่นี่ เธอเอาความกล้าหาญมาจากไหนในการมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่างนี้ ฉันจะมีวันกล้าหาญอย่างเธอหรือเปล่า.. แล้วฉันก็ได้ยินเสียงแม่ดังขึ้นว่า โอดีล อย่าสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่น! แต่คำถามเหล่านี้ครุกรุ่นอยู่ในใจฉันตลอดมา และในที่สุดมันก็หลุดออกมา:
“อะไรคะที่นำคุณมาฝรั่งเศส”
“ความรักจ้ะ” ตาสีน้ำตาลทองของเธอเป็นประกาย
ฉันเอนตัวเข้าไปใกล้ขึ้น “จริงเหรอคะเนี่ย”
“ฉันตกหลุมรักมาดามเดอสตาเอล”
“นักเขียนน่ะเหรอคะ”
“ในยุคของมาดามเดอสตาเอล สามมหาอำนาจของยุโรปคือ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และมาดามเดอสตาเอล เธอหมิ่นนโปเลียนโดยบอกว่า “ฟังเหมือนเขาไม่ได้พูดภาษาของตัวเอง” และเขาตอบกลับด้วยการแบนหนังสือและเนรเทศเธอ”
“มาดามเดอสตาเอลไม่เคยเกรงกลัวใครเลยค่ะ”
“เชื่อไหม ฉันเคยแอบเข้าไปในคฤหาสน์ที่มาดามเดอสตาเอลเคยอยู่ ตอนแรกว่าจะเข้าไปแค่ตรงลานด้านหน้า แต่คนรับใช้ของคฤหาสน์ บงฌู ทักทายฉันราวกับว่าฉันอยู่ที่นั่น ฉันก็เลยเดินเข้าใน และก็ตรงไปที่บันได มือจับราวพลางมองดูผนังที่ครั้งหนึ่งเคยแขวนภาพเหมือนของครอบครัว ฟังดูเหมือนฝันเลยมั้ยล่ะ”
“เหมือนความรักค่ะ คุณมาที่นี่เพราะนักเขียนคนหนึ่งจริงๆ เหรอคะ”
“ตอนนั้นฉันอยู่ที่สเปนอยู่แล้ว ฉันไปจัดบูธของหอสมุดรัฐสภาในงานนิทรรศการห้องสมุดไอบีเรีย พอดีที่นี่มีตำแหน่งว่าง ฉันก็เลยรีบคว้าโอกาส เธอล่ะ เธอเคยอยากเดินทางท่องเที่ยวไหม เธออยากเป็นบรรณารักษ์มาตลอดเลยรึ”
“ฉันอยากทำงานที่นี่มาโดยตลอดเลยค่ะ อย่างที่บอกในจดหมายแหละค่ะ..ฉันอยากทำงานที่นี่เพราะความทรงจำดีๆ ตอนเด็กที่ฉันจะมาที่นี่กับน้า คุณทำให้ฉันคิดถึงน้า ไม่ใช่เพราะผมมวยเก๋ๆ ของคุณเท่านั้นนะคะ แต่ความกรุณาที่คุณมีต่อคนอื่นๆ และความรักในหนังสือของคุณด้วย”
เคาน์เตสคลาราเดินมาทางเราพร้อมแฟ้มหนีบใต้แขน ผมของท่านทำให้ฉันนึกถึงท้องทะเลในวันครึ้มฟ้าครึ้มฝน ปอยผมสีขาวเป็นลอนเหมือนคลื่นเหนือน้ำทะเลสีเทา แว่นที่ปลายจมูกทำให้ดูเหมือนว่าเราสองคนกำลังจะถูกเทศนา
“ฉันมีเรื่องจะคุยด้วยหน่อย” ท่านพูดกับมิสรีเดอร์
“เดี๋ยวค่อยคุยกันต่อนะ ถ้าเธอมีอะไร” มิสรีเดอร์บอกฉันก่อนเดินตามกรรมการทรัสตีของห้องสมุดไปยังห้องทำงาน
ขณะที่จัดหนังสือพิมพ์อยู่ บอริสอ่านหนังสือพิมพ์ เลอฟิกาโร ให้ฉันฟัง “เมอซิเออร์เนวิลประกาศปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมถึง 3 ตุลาคม นอกจากมีเหตุการณ์จำเป็นต้องเร่งประชุมด่วน”
“ฉันอยากหยุดพักร้อนบ้างจังค่ะ” ฉันว่า..พลางคิดว่าถ้าได้อยู่กับพอลก็คงดี
“งั้นก็ต้องสมัครเป็นผู้แทนรัฐสภาแล้วล่ะ” บอริสพูดเล่น
เอาเถอะ ถึงไม่ได้พักร้อนอย่างน้อยมื้อกลางวันอาทิตย์นี้ก็มีบางอย่างให้ตื่นเต้น เพราะเรมีจะเชิญบิตซีมาที่บ้าน ซึ่งเท่ากับการประกาศหมั้นทีเดียว สิ่งเดียวที่ฉันกังวลก็คือพ่อจะพูดอะไรออกมาให้เรมีต้องอับอายและทำลายบรรยากาศเท่านั้น
ฉันรวบรวมหนังสือพิมพ์ของสัปดาห์ก่อน และนำขึ้นไปเก็บที่ห้องเก็บเอกสาร เมื่อเห็นประตูห้องทำงานมิสรีเดอร์แง้มอยู่ขณะเดินผ่านก็อดมองเข้าไปไม่ได้
สีหน้าเคาน์เตสคลาราค่อนข้างเคร่งเครียด “ฉันได้รับจากหมายจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่สตราสบูร์ก เมอซิเออร์วิกเคอร์แชมเขียนมาบอกว่าเขากับมาดามคูห์ลมันน์ได้เก็บหนังสือลงกล่องและย้ายไปยังที่ปลอดภัยแล้ว 250 กล่อง”
“สงครามกำลังจะเกิดขึ้น” น้ำเสียงเคาน์เตสคลาราฟังดูตื่นเต้น
สตราสบูร์กอยู่ใกล้เยอรมนีอย่างน่ากลัว บรรณารักษ์ที่นั่นได้ขนย้ายหนังสือไปยังที่ปลอดภัยแล้ว แต่นักการเมืองยังไม่ได้พูดถึงการอพยพคนออกจากพื้นที่?
“หนังสือพวกนั้นถูกส่งไปยังปี-เดอ-โดมซึ่งปลอดภัยกว่า” มิสรีเดอร์ว่า “เราน่าจะวางแผนล่วงหน้ากันแล้วนะคะ”
พื้นที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ปลอดภัยกว่าสตราสบูร์กและปารีสหรือ?
“ฉันจะเอาของมีค่าไปเก็บไว้ที่บ้านชนบทเพื่อความปลอดภัย..อย่างจดหมายและกวีของอลัน ซีเกอร์ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก และอะไรพรรค์นั้น”
“เราต้องสต็อกอาหารกระป๋อง น้ำขวด ถ่านหิน และทรายเอาไว้ดับไฟ”
เคาน์เตสคลาราถอนใจ “แล้วก็หน้ากากกันแก๊สพิษด้วยหากว่าสงครามครั้งนี้จะเหมือนครั้งก่อนที่ตายไปสิบล้าน และบาดเจ็บทุพพลภาพจำนวนมากพอกัน ไม่อยากเชื่อเลยว่ามันจะเกิดขึ้นอีก”
ตาย..บาดเจ็บ..ทุพพลภาพ..ฉันพยายามไม่พูดถึงสงครามและเปลี่ยนเรื่องเสมอเวลาที่เรมีหยิบยกขึ้นมา หรือไม่ก็เดินเลี่ยงเข้าไปในห้องเด็กเวลามิสเตอร์ไพรซ์-โจนส์พูดไม่หยุด แต่ตอนนี้ดูเหมือนหนังสือในห้องสมุดอาจตกอยู่ในอันตราย..เราทุกคนอาจตกอยู่ในอันตราย ฉันคงต้องหันหน้ามาเผชิญกับความจริงเสียทีว่าสงครามกำลังจะเกิดขึ้น
[1] ห้องสมุดอเมริกันในปารีสหรือเอแอลพี (The American Library in Paris – ALP)