มงคลชีวิตจากทศพิธราชธรรม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า

[su_quote]“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” [/su_quote]

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน “ธรรม” ที่พระองค์ตรัสไว้นั้น ส่งผลให้ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะธรรมของพระองค์คือรูปธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์ของชาวสยามอย่างแท้จริง

 

ธรรมในที่นี้คือ ทศพิธราชธรรม อันประกอบไปด้วย

๑. ทาน การให้ การเสียสละ

๒. ศีล ความประพฤติดีงาม

๓. ปริจจาคะ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม

๔. อาชชวะ ความซื่อตรงสุจริต

๕. มัททวะ ความสุภาพ อ่อนโยน

๖. ตบะ ความเพียร ความอุตสาหะ

๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ

๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน

๙. ขันติ ความอดทน และ

๑๐. อวิโรธะ ความหนักแน่น เที่ยงธรรม

 

ด้วยทศพิธราชธรรมเช่นนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิใช่จะทรงครองแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังทรงครองหัวใจคนทั้งปวงเอาไว้อีกด้วย

 

 

ทาน

หมายถึง การเสียสละพระราชทรัพย์ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งในด้านบำรุงพระศาสนาและบรรเทาความยากไร้ให้ประชาชนอยู่เป็นกิจวัตร ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยธรรมชาติหลายต่อหลายครั้งนอกจากทรัพย์แล้ว ทาน ของในหลวงยังหมายถึงการพระราชทานความรู้ เพื่อประชาชนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน

การพระราชทาน ความช่วยเหลือแก่พสกนิกรล้วนมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และหนึ่งนั้นก็คือ การสร้างต้นแบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ด้วยการผสมผสานวิทยาการแผนใหม่เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย ประหยัด และเบ็ดเสร็จในจุดเดียว นั่นคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์รวมในการช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ประชาชนเข้ามาศึกษาหรือขอรับความช่วยเหลือได้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกิน เรื่องน้ำ เรื่องเมล็ดพันธุ์ การตลาด และอื่น ๆ ปัจจุบันมีอยู่ ๖ แห่งกระจายกันอยู่ในทุกภูมิภาค

 

ศีล

เป็นความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่ประชาชนจะเห็นได้ในทุกพระราชจริยวัตรของในหลวงที่ทั้งกาย วาจา และพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังหมายถึงศีลในการปกครอง อันได้แก่กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา ที่พระองค์ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยทั้งอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย

 

ในหลวงทรงผนวช และได้รับพระสมณฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” ทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑๕ วัน ระหว่าง ๑๕ วันนั้น ทรงครองสมณเพศด้วยพระจริยวัตรอันสมถะงดงาม แม้เมื่อลาผนวชแล้วก็ยังทรงปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ

 

พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เขียนไว้ในบทความเรื่อง “การปฏิบัติธรรมและพระสมาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ว่า ตนเองมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติสมาธิ จึงขอพระราชทานคำแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งตอบว่า ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีนับหนึ่ง – เข้า  หนึ่ง – ออก  สอง – เข้า  สอง – ออก ตรัสว่า การปฏิบัติกรรมฐานของพระองค์ท่านก็ทำเช่นนี้

 

 

ปริจจาคะ

เสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประชาชนมีความสุข ในพระราชกรณียกิจที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ในหลวงต้องเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ต้องทนลำบากในการเดินทาง อดทนต่อความแปรปรวนของอากาศ ความร้อนหนาว ก็เพื่อสร้างความสุขให้ประชาชนทั้งสิ้น

 

แรงบันดาลพระราชหฤทัยของในหลวงในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรส่วนหนึ่งมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างเช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพก็ทรงได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยจากเครื่องวิดน้ำเข้านาของชาวบ้านที่เรียกว่า “หลุก” ทรงนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น และปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบัน มีการวิจัยพัฒนากังหันออกมาแล้วถึง ๙ รูปแบบ  

 

ที่ยิ่งกว่าความสำเร็จก็คือ ประชาชนทั่ว ไปสามารถผลิตใช้เองโดยง่ายในราคาไม่แพง

 

อาชชวะ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านความแน่วแน่ต่อ พระราชดำรัสที่เคยตรัสไว้อันเป็นปฐมบรมราชโองการเมื่อทรงครองราชย์ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งพระองค์ทรงกระทำตามพระราชดำรัสเสมอมา

 

 

ในหลวงคือความหวัง คือแสงสว่างในหัวใจของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในยามที่ประชาชนรู้สึกว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง และเหตุผลที่ทำให้ทรงงานเพื่อประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์’ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ว่า “ถึงวัดเบญจมบพิตรรถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นดัง ๆ ว่า ‘อย่าละทิ้งประชาชน’ อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ ‘ทิ้ง’ ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ ‘ละทิ้ง’ อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”

 

อีกยี่สิบปีต่อมา คนผู้นั้นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯในหลวงมีรับสั่งถามว่า “เราน่ะรึที่ร้อง” เขาตอบว่า “ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า”  ในหลวงตรัสตอบว่า “นั่นแหละที่ทำให้เรานึกถึง ‘หน้าที่’ จึงต้องกลับมา”

 

 

มัททวะ

ในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะกับประชาชน ทรงมีสัมมาคารวะต่อพระสงฆ์ ต่อผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ทรงรับฟังปัญหา คำชี้แนะ และแก้ไขด้วยเหตุผลด้วยความเมตตาและอ่อนโยน

 

ในหลวงเคยตรัสว่า ความสุขของพระองค์คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชน ภาพที่ทรงค้อมพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบจรดศีรษะของแม่เฒ่าแย้มพระโอษฐ์อย่างมีความสุข บอกให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนทุกคนสำคัญต่อในหลวงเสมอ

 

 

ตบะ

ทรงมีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความอดทน ปราศจากความเกียจคร้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง ไม่ย่อท้อแม้บางขณะจะทรงพระประชวร แม้ในบางพื้นที่บางเหตุการณ์จะเต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากพระราชนพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่พระราชทานให้ปวงชนชาวไทย

 

 

ในหลวงทรงบอกเล่า ให้เราเห็นถึงผลของความเพียรในหลายวาระ และทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านทางโครงการพระราชดำริและสิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละอย่างนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและความเพียรเพื่อฟันฝ่าอุปสรรค และหลายโครงการต้องใช้เวลานับสิบปีในการศึกษาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องกว่าจะประสบความสำเร็จ ทรงเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร ดังพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ว่า “วันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปี หรือสามปีข้างหน้า”

 

 

อักโกธะ

ความไม่โกรธนี้เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๗ ซึ่งผู้ที่ถวายงานใกล้ชิดในหลวงล้วนไม่เคยเห็นพระองค์ทรงกริ้วเลย แต่จะทรงเตือน ทรงย้ำให้ตระหนักถึงหน้าที่ด้วยพระเมตตา อีกทั้งยังมีพระอารมณ์ขัน

 

 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าว่า คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนไปขออนุญาตจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ทางราชการถามว่า เจ้าของมูลนิธิ ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน และมีอาชีพอะไร จึงนำความกราบบังคมทูลพระองค์ ตรัสว่า “ถ้าต่อไปมีใครถามว่ามีอาชีพอะไร ให้ตอบว่ามีอาชีพทำราชการ”

 

 

อวิหิงสา

ด้วยพระราชอัธยาศัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์จึงทรงตั้งอยู่ด้วยการไม่เบียดเบียนทั้งราชวงศ์และข้าพระบาท รวมถึงประชาชน ให้ต้องเดือดร้อนด้วยเหตุอันไม่ควร

 

 

การกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างคือการสอนอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในหลวงทรงเป็นมากกว่านั้น เพราะสิ่งที่ทรงกระทำอันมีนัยของการสอนนั้นมิใช่เป็นการกระทำชั่วครู่ชั่วยาม แต่ทรงปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความมัธยัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นฉลองพระบาท หรอื ฉลองพระองค์ที่เราจะเห็นว่าเป็นของเดิมเสมอ เพราะทรงเน้นความเรียบง่าย และสะดวกต่อการใช้งาน

 

ฉลองพระบาทเมื่อชำรุดจะทรงส่งไปซ่อมที่ร้านเล็ก ๆ ใกล้พระราชวัง ซึ่งเมื่อซ่อมเสร็จก็ทรงใช้งานต่อไปอีกเป็นสิบปี หรือแม้แต่ฉลองพระองค์สูทก็ทรงใช้งานอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๕ – ๖ ปี ที่ยาวนานสุดคือ ๑๒ ปี และทรงตัดจากร้านตัดเสื้อในประเทศเพื่อให้เป็นชุดที่สะดวกต่อการทรงงานที่แท้จริง

 

สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นสิ่งที่ทรงกระทำให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ และความพอเพียงของพระองค์ก็ยิ่งเพิ่มพูนความจงรักภักดีของพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน

 

 

ขันติ

ขันติ คือความอดทนต่อสิ่งที่ไม่พอใจ แต่ขันติอันเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรมที่ในหลวงทรงปฏิบัติให้เราเห็นก็คือความอดทนอดกลั้นต่อความลำบากและอุปสรรคทั้งปวงในการปฏิบัติภารกิจเพื่อประชาชน

 

 

เรื่องหนึ่งที่เล่าขานกันก็คือ เมื่อกรุงเทพฯเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ คืนนั้นพระทนต์ของในหลวงหัก ขณะที่แพทย์เข้าถวายการรักษานั้น ทรงถามว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ เมื่อแพทย์กราบบังคมทูลว่าจะต้องใช้เวลา ๑ – ๒ ชั่วโมง ในหลวงจึงมีรับสั่งว่า “ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและแก้ไขเรื่องปัญหาน้ำท่วมก่อน”   

 

 

อวิโรธะ

ทรงรักษาความเที่ยงธรรมและความยุติธรรมไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากความถกู ตอ้ ง ทั้งในพระราชจริยวัตรและพระราชวินิจฉัย ไม่เอียนเองหวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายต่ออคติทั้งปวง ไม่ประพฤติผิดไปจากพระราชประเพณี

 

 

น้อยคนนักที่จะรู้ว่าความรักความผูกพันที่ในหลวงมีต่อประชาชนนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งพระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งในครั้งนั้นได้ทรงติดตามสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชออกเยี่ยมราษฎรทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ที่จำกันได้ดีก็คือการเสด็จเยี่ยมสำเพ็งเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙  ครั้งนั้นชาวจีนในสำเพ็งร่วมกันบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมากถึง ๑๓,๐๐๐ บาท และในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงตั้งเป็น “ทุนพ่อค้าหลวง” พระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อนำดอกผลมาใช้เป็นทุนรักษาผู้ยากไร้

 

การเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรกของในหลวงเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ที่บ้านปากทวาร ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทรงกระทำมาจนถึงวันนี้วันที่อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีที่ไหนในแผ่นดินที่ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมประชาชนของพระองค์ ทรงรู้จักทุกตารางนิ้วของประเทศไทยมากกว่าคนไทยทุกคน

 

 

 

ข้อมูลจากหนังสือ มงคลชีวิตจากทศพิธราชธรรม

1 thoughts on “มงคลชีวิตจากทศพิธราชธรรม

  1. Pingback: หนังสือของพ่อ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า