เคยสงสัยไหมว่า.. ทำไมคุณหรือคนรอบตัวถึงเป็นอย่างที่เป็นและทำอย่างที่ทำ มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวกำหนดการกระทำเหล่านั้น สิ่งนั้นคือ ยีน ดีเอ็นเอ จุลชีพ หรือกระบวนการเหนือพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าใช่ นั่นแสดงว่าสิ่งที่คุณทำ ทุกอย่างที่คุณเป็น ต่างถูกกำหนดมาโดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้… เราไปเจาะลึกพฤติกรรมและการกระทำ 5 เรื่อง ใกล้ตัวจากหนังสือ “ยินดีที่รู้จักฉัน Pleased to meet me” เพื่อให้เข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้นกัน
ทำไมเราถึงกลัว
ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ จะแข็งแรงหรืออ่อนแอขนาดไหน แต่ความกลัวก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน… ถึงแม้ความกลัวจะไม่ใช่ความรู้สึกที่ดี แต่มันเป็นความเลวร้ายที่วิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อปกป้องเรา ยีนที่สร้างระบบประสาทซึ่งตอบสนองต่อภัยคุกคามได้รวดเร็ว ย่อมมีความได้เปรียบอย่างยิ่งในการอยู่รอด ยิ่งเห็นอันตรายเร็วขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อสืบพันธุ์ และส่งต่อความกลัวนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป
ความกลัวเป็นการตอบสนองโดยอัตโนมัติ หมายความว่ามันเกิดขึ้นโดยเราไม่ต้องคิด นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณถึงสะดุ้งโหยงตอนเพื่อนๆตะโกนว่า “เซอร์ไพรส์” ที่งานวันเกิดของคุณ
ทันทีที่เรารู้สึกหวาดกลัว การเปลี่ยนทางเคมีชีวภาพจะเกิดขึ้นในร่างกายอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เครียด เช่น เงาลึกลับที่อยู่ด้านหลัง เสียงแปลกๆ ที่ได้ยิน สมองจะเปิดไฟแดงเตือนภัยและส่งสัญญาณให้ปล่อยฮอร์โมนความเครียดทันที
อะดรีนาลินและนอร์เอพิเนฟรีนจะถูกปล่อยออกมาเพื่อเพิ่มความเร็วของการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการย่อยสลายน้ำตาลสำรองเพื่อเป็นพลังงาน นอกจากนี้ยังทำให้ดวงตาเบิกกว้างเพื่อให้มองได้ชัดขึ้น และปิดระบบย่อยอาหารเพื่อจะได้นำพลังงานไปใช้จัดการกับอันตรายนั้นๆ
นอกจากนี้ยังมีการปล่อยคอร์ติซอลซึ่งเพิ่มระดับความดันโลหิตและระงับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทั้งสองอย่างจะมอบพลังงานเพิ่มให้คุณสำหรับจัดการกับภัยคุกคามนี้ การกระทำที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งหมดนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิกิริยาตอบสนองแบบสู้หรือหนีของคุณ
ร่างกายรู้ได้อย่างไรว่าต้องกลัวสิ่งใด ทุกคนต้องกระโดดทั้งนั้นเวลาตกใจ แต่ใช่ว่าทุกคนจะกลัวบ้านผีสิง สัตว์ถูกตั้งโปรแกรมให้หวาดกลัวโดยไม่ต้องสอน เรียกว่า ความกลัวที่มีมาแต่กำเนิด เช่น หนูกลัวแมวมาแต่เกิด เสียงที่ดังขึ้นโดยไม่คาดคิดกับการตกจากที่สูง คือความกลัวแต่กำเนิดเพียงสองอย่างที่มนุษย์มีอยู่
ส่วนความกลัวอื่นๆ เราต้องเรียนรู้ คนที่ถูกสอนเรื่องเหนือธรรมชาติย่อมกลัวผีมากกว่าคนที่ไม่เชื่อสิ่งเหล่านั้น
ไม่ว่าความกลัวนั้นจะมีมาแต่กำเนิดหรือมาจากการเรียนรู้ แต่การผันแปรของยีนคือคำอธิบายว่า เหตุใดบางคนจึงสบายๆ กับความกลัว แต่บางคนตื่นตระหนก
ทำไมฤดูหนาวจึงทำเราเศร้า
ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือเรียกย่อๆ ว่า SAD คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตั้งแต่วิตกกังวลเล็กน้อย ไปจนถึงเศร้ารุนแรงมากตลอดช่วงฤดูหนาว ทำไมถึงเป็นแบบนั้น…
เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ร่างกายของมนุษย์มีนาฬิกาชีวภาพที่ปรับระบบการเผาผลาญอาหารให้เหมาะกับความจำเป็นตอนกลางวัน และเพื่อให้หลับสนิทในตอนกลางคืน
แสงสว่างตอนกลางวันสลัวลงเป็นสัญญาณหลักที่บอกกับร่างกายของเราว่า ได้เวลานอนแล้ว เมื่อเซลล์ในจอประสาทตาหยุดสัมผัสแสงสว่าง มันจะส่งสัญญาณบอกสมองให้สร้างเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เหมือนเพลงกล่อมเด็กทางชีวเคมี
เมื่อแสงสว่างตอนเช้ากระทบเปลือกตา แม้เพียงบางเบา แต่ก็พอที่จะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของระดับแสง สมองก็หยุดผลิตเมลาโทนินเพื่อให้เราตื่นในวันนั้น
เมื่อเราจ้องมองจอสว่างจ้าก่อนนอน สมองจะสับสน คิดว่าเป็นตอนกลางวัน สมองจึงไม่สวมหมวกเมลาโทนินให้เรา ทำให้เมื่อปิดไฟในห้องแล้วก็ยังยากจะหลับ
เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นกับคนที่เป็น SAD การผลิตเมลาโทนินในร่างกายของพวกเขาไม่สอดคล้องกับดวงอาทิตย์ ซึ่งอาการจะหนักกว่าเดิม เวลาที่แสงอาทิตย์ในตอนกลางวันน้อยลง
มียีนตัวแปรหลายตัวเชื่อมโยงกับอาการ SAD รวมถึงยีนควบคุมนาฬิกาชีวภาพ ยีนตัวแปร SAD อีกยีนหนึ่งเข้ารหัสตัวรับเซโรโทนิน ซึ่งน่าสนใจ เพราะมันเป็นสารตั้งต้นของโมเลกุลที่สร้างเมลาโทนิน
บางคนที่เป็น SAD จะมีการผันแปรของยีน OPN4 ซึ่งทำหน้าที่ตรวจหาแสงอยู่ในดวงตาเรา และส่งสัญญาณให้สมองผลิตเมลาโทนิน
หยิง ฮุ่ย ฟู และหลุยส์ ทาเซค นักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ได้ทำการวิจัยในปี 2016 โดยค้นพบยีนอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เห็นความสำคัญของแสงสว่าง และการนอนที่มีต่อการปรับสภาวะอารมณ์ของเรา ซึ่งการผันแปรของยีนที่ชื่อว่า PERIOD3 พบในผู้คนที่เป็น SAD และโรคนอนผิดเวลา
คนที่เป็น FASP มีนาฬิกาชีวภาพเดินเร็วกว่าปกติ พวกเขาจะรู้สึกง่วงตั้งแต่ราวๆ 1 ทุ่ม จากนั้นก็ตื่นตั้งแต่ตี 4 เมื่อนักวิจัยเอายีน PERIOD3 ที่มีการผันแปรไปใส่ในหนู มันจะมีพฤติกรรมปกติถ้าตอนกลางวันกับกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน
แต่เมื่อแสงสว่างตอนกลางวันสั้นลง แบบเดียวกับที่ผู้ป่วย SAD เป็นตอนฤดูหนาว หนูกลายพันธุ์เหล่านี้จะยกธงยอมแพ้ง่ายดาย เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เครียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นอารที่สอดคล้องกับโรคซึมเศร้า
เราจะมีเนื้อคู่ไหมนะ
ความคิดเรื่องเนื้อคู่คือบทสรุปของความโรแมนติกที่ถูกฝังลงในความคิด จิตใจ ใครบ้างที่ไม่อยากตกหลุมรักคู่ครองที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง มันเกิดขึ้นกับผู้คนในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และหนังสืออยู่ตลอด แล้วทำไมจะเกิดกับเราไม่ได้!
เพราะคณิตศาสตร์เป็นเหตุ โลกนี้มีผู้คนมากกว่า 7,500 พันล้านคน และได้มีการแยกแยะตัวเลขเหล่านี้โดยคำนวณออกมาว่าเราคงต้องมีชีวิต 10,000 ชาติกว่าจะเจอเนื้อคู่…
หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า หากมีคนที่ใช่ 1 คน บนโลกนี้สำหรับคุณจริงๆ โอกาสที่คุณจะได้พบเขา มันก็เหมือนกับการหาเครื่องจ่ายผ้าเช็ดมือที่ทำงานได้ในห้องน้ำสนามบิน
ถ้าเราผ่อนองค์ประกอบความเฉพาะเจาะจงนั้นสักหน่อย มาใช้สมการเดียวกับที่ใช้คำนวณความเป็นไปได้ของจำนวนดาวเคราะห์ ที่อาจมีอารยธรรมอยู่ในกาแล็กซีนี้
มีผู้ที่คำนวณไว้ว่า แค่ในนิวยอร์กซิตี้อย่างเดียวก็มีเนื้อคู่รอคุณอยู่ 871 คน แต่โอกาสที่คุณจะเดินไปชนกับคน 871 คนนี้ก็ยังน้อยมากจนแทบไม่เห็นวี่แวว
แต่อย่าท้อแท้! ความเชื่อเรื่องเนื้อคู่ดูจะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสัมพันธ์ของเรา ผู้คนที่เชื่อมั่นเรื่องเนื้อคู่มักเสียเวลามากเกินไปในการเดาแล้วเดาอีกว่า คนที่เลือกมานั้นใช่หรือเปล่า แทนที่จะพยายามทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่เชื่อในเนื้อคู่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งมากกว่าคนที่มองว่า เวลาที่ตนใช้ร่วมกับอีกคนหนึ่ง คือการเดินทางที่มอบโอกาสแห่งการเติบโต
คนหัวรั้นที่ยังเชื่อในเนื้อคู่จะประสบความวิตกกังวลในความสัมพันธ์มากกว่า และมีแนวโน้มจะไม่ให้อภัยคนรักหลังจากที่ทะเลาะกัน
ความเชื่อเรื่องเนื้อคู่ปลูกฝังให้เราคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากคู่ครอง และถ้ามันไม่บรรลุความสำเร็จนั้น พวกเขาก็จะรีบยอมแพ้โดยคิดว่าตนเองยังไม่พบคนที่ใช่แน่ๆ
แนวคิดเรื่องเนื้อคู่เป็นเหมือนอาหารสัตว์ที่เราไม่ควรยอมให้มันอยู่ในจานอาหารของลูกๆ รวมถึงอาหารขยะด้านความคิดอื่นๆ การเชื่อเรื่องเนื้อคู่คือความขี้เกียจ
ถ้าคุณอยากปลูกสร้างความสัมพันธ์ที่น่าพึงพอใจ คุณต้องทำสวนให้สม่ำเสมอ ข่าวดีคือ ข้างนอกนั้นมีคนจำนวนมากที่คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เข้าท่ากับพวกเขาได้ ไม่ใช่แค่คนเดียวด้วย
ทำไมของหวานจึงเป็นสิ่งเกินห้ามใจ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ได้ชอบของหวาน คุณเคยลองบิช็อกโกแลตคิทแคทยื่นให้เจ้าเหมียวไหม แล้วสงสัยไหมว่า ทำไมมันตอบสนองด้วยความเชยฉา นั่นเพราะสัตว์ที่กินแต่เนื้ออย่างแมวไม่มีเซลล์รับรสหวานเลย
ในโลกสมัยใหม่ของเรา ปุ่มรับรสหวานมักนำเราไปสู่ปัญหาเรื่องอาหาร สมัยก่อน บรรพบุรุษรุ่นวานรของเราพึ่งพาผลไม้สุกเพื่อให้พลังงานกับร่างกาย เนื่องจากผลไม้มีน้ำตาลมากที่สุดตอนสุก เราจึงวิวัฒนาการมาพร้อมกับความชอบรสหวาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะได้พลังงานจากอาหารอย่างคุ้มค่าที่สุด
ดังนั้นนิสัยชอบรสหวานจึงฝังรากลึกจากการสืบทอดทางวิวัฒนาการ และเป็นนิสัยที่เลิกยาก แต่เคยสังเกตเห็นบางคนเลิกกินโดนัทได้ง่ายๆ แต่บางคนกลับยากเหลือเกิน และจริงดังนั้น มีการค้นพบยีนตัวแปรหนึ่งเกี่ยวกับการชอบของหวานซึ่งใช่ว่าทุกคนจะมีเหมือนัน พวกที่ผ่าเหล่าเดินอยู่ท่ามกลางพวกเรา และสามารถปฏิเสธการกินของหวานได้ง่ายๆ และทำให้เรารู้สึกผิด
ค.ศ.2008 อาห์เหม็ด เอล-โซฮีมี นักวิทยาศาสตร์โภชนาการ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ได้ทำการวิจัยและระบุยีนตัวแปรหนึ่งที่เรียกว่า SLCa2 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของการเลือกใส่น้ำตาลสองก้อนแทนที่จะเป็นก้อนเดียว
SLCa2 เข้ารหัสโปรตีนที่เรียกว่า “GLUT2” ซึ่งนำน้ำตาลกลูโคสจากเลือดของเราไปสู่เซลล์สมอง ซึ่งมันจะถูกทำให้สลายกลายเป็นพลังงาน
เหล่านักวิจัยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในตัวรับ GLUT2 แทรกแซงการสัมผัสรับรู้น้ำตาลกลูโคส ผลคือ ร่างกายไม่มีเครื่องวัดที่เชื่อถือได้ว่ามีน้ำตาลอยู่ในเลือดเท่าใด บางทีมันอาจจะเต็มพิกัดแล้ว แต่เครื่องวัดกลูโคสในตัวคุณบอกว่ามีอยู่ครึ่งเดียว
คุณเลยกินเค้กชิ้นที่ 2 เข้าไป พร้อมเคลิบเคลิ้มมีความสุขโดยไม่รู้เลยว่าได้รับความหวานมากพอแล้ว
การทดลองในหนูก็สนับสนุนแนวคิดนี้ หนูที่ถูกทำให้ขาด GLUT2 จะกินของหวานต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าสมองของมันจะเต็มไปด้วยน้ำตาล ส่วนในมนุษย์ยีนแปนผัน SLCa2 สอดคล้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 2
ทำไมแม่ที่ชอบกินอาหารขยะจึงทำให้ลูกในท้องชอบอาหารขยะไปด้วย
เคยคิดว่าการเลิกกินอาหารขยะเป็นเรื่องของความตั้งใจล้วนๆ หรือไม่ ถ้าจะบอกว่า การชอบอาหารขยะอาจถูกตั้งโปรแกรมไว้ในดีเอ็นเอล่ะ
เราพบว่า แม่ที่กินอาหารขยะซึ่งเต็มไปด้วยน้ำตาล เกลือ และไขมัน จะให้กำเนิดลูกที่มีความต้องการกินอาหารขยะมาแต่กำเนิด สำหรับคนทั่วไป อาจคิดว่าเด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่กินอาหารไม่มีคุณภาพ…
การทดลองกับหนูในห้องทดลองเมื่อปี 2007 พบว่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่หนูที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารขยะระหว่างที่ท้อง จะมีความชอบอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือในปริมาณมาก ส่วนลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงด้วยอาหารขยะ ก็ไม่มีความต้องการจะกินอาหารขยะ
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ตัวอ่อนในมดลูกจะเกิดยีนกลายพันธุ์เพราะแม่กินอาหารขยะ นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่าอาจมีการตั้งโปรแกรมตัวอ่อน คืออาหารที่แม่กิน ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของเด็กในท้องในระดับเหนือพันธุกรรม หรือกล่าวอีกอย่างว่า อาหารขยะไม่ได้เปลี่ยนลำดับของยีน แต่เปลี่ยนระดับการแสดงออกของยีนบางประเภท
วิธีการหนึ่งที่ดีเอ็นเอถูกตั้งโปรแกรมในเชิงเอพีเจเนติกส์ได้ก็คือ การผ่านกระบวนการเมทิเลชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดีเอ็นเอที่ส่งผลต่อการแสดงออกของยีน ยิ่งยีนถูกเมทิเลชั่นมากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงออกน้อยเท่านั้น
ปี 2014 มีงานวิจัยในลูกหนูที่แม่หนูกินอาหารขยะขณะตั้งท้อง ยีน POMC ก่อให้เกิดฮอร์โมนหลักที่ทำหน้าที่ลดความอยากอาหาร แม่หนูที่บริโภคอาหารไขมันสูง ให้กำเนิดลูกหนูที่มีระดับเมทิเลชั่นที่ยีนที่เรียกว่า POMC สูง หมายความว่า ฮอร์โมนที่ช่วยลดความอยากอาหารมีจำนวนน้อยลงในลูกหนูเหล่านี้ ดังนั้นแม่ที่กินอาหารขยะจึงให้กำเนิดลูกที่ตั้งโปรแกรมมาตั้งแต่อยู่ในมดลูกให้มีความหิว มากกว่าลูกของแม่ที่กินอาหารดีๆ
หากปรับไปกินอาหารดีๆ จะแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่สามารปรับระดับการเมทิเลชั่นของดีเอ็นเอในPOMC ให้คืนสู่ภาวะปกติได้ ดังนั้นอาหารขยะของผู้เป็นแม่จึงส่งผลถาวรต่อดีเอ็นเอของลูกได้
ทำไมคุณเป็นอย่างที่เป็น และทำอย่างที่ทำ
หนังสือ “ยินดีที่รู้จักฉัน Pleased to meet me“
เขียนโดย บิล ซัลลิแวน
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก