โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

วิธีป้องกันและควบคุม NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ เกิดจากพฤติกรรมการกิน  หรือเรียกได้ว่าตัวเราเป็นคนสร้างโรคนั้นขึ้นมาเอง

 

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs คืออะไร

หลายคนคงอาจไม่คุ้นหูกับโรค NCDs แต่ถ้าบอกว่าย่อมาจาก Non-communicable Diseases ซึ่งแปลเป็นไทยว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ก็คงรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้แก่ วิถีชีวิตเสี่ยงๆ เช่น การสูบบุหรี่ การกินอาหารไม่ถูกสัดส่วน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และการอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดี เช่น ควันเยอะ ฝุ่นเยอะ เป็นต้น

 

ความน่ากลัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

จากสถิติพบว่า มีผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทุกๆ 10 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1990 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 27 ล้านคน หลังจากนั้น 10 ปี พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านคน

นอกจากนี้ยังพบว่า การเสียชีวิตของประชากรในโลกมีสาเหตุมาจากโรคนี้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 30-70 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่ไม่ควรเสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งจะประสบภาวะทุพพลภาพ เช่น เป็นอัมพาต ร่างกายบางส่วนใช้การไม่ได้

 

สาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

แน่นอนว่า สาเหตุด้านกายภาพต่างๆ เช่น ปัจจัยด้านพันธุกรรม เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขได้ เนื่องจากพบว่าพันธุกรรมมีผลทำให้คนคนหนึ่งเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกันกับปัจจัยด้านอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ย่อมเสื่อมลง

นอกจากนี้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่อาจมีสารพิษเจือปน หรือสิ่งตกค้างต่างๆ แม้ว่าเราจะสามารถป้องกันตัวเองได้ระดับหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด

จากประสบการณ์การรักษาคนไข้กลุ่มโรคนี้ พบว่า

“สาเหตุด้านพฤติกรรมมีผลต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาก จนเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักเลยก็ว่าได้ และอาจนับเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่เราแก้ไขได้จริงๆ เพราะอาหารและการออกกำลังกายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราเลือกได้ หากเราปรับเปลี่ยนได้ ก็ย่อมทำให้ห่างจากโรค NCDs ได้แน่นอน”

 

สัญญาณเตือนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ความน่ากลัวของกลุ่มโรคนี้ คือแทบไม่มีอาการใดๆ เป็นสัญญาณเตือนก่อนเลยว่า โรคเรื้อรังต่างๆ กำลังคืบคลานเข้ามานอกจาก “ความอ้วน” ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของกลุ่มโรคนี้ได้ดีที่สุด

ความอ้วนเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สุมอยู่ในตัว เพราะเมื่อถึงเวลาที่ปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างพอเหมาะ ระเบิดจะเริ่มทำงาน ในที่นี้หมายถึงเกิดโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั่นเอง

เหตุผลที่ความอ้วนเป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็คือ ไขมันที่อยู่ในร่างกายจะผลิตสาร “ไซโตไคน์” ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายอักเสบ โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อมีไขมันสะสมปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจึงเกิดอาการอักเสบเรื้อรังในอวัยวะส่วนต่างๆ ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแข็ง ภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน

 

วิธีป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ห้ามอดมื้อเช้า

หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ห้ามอดมื้อเช้าเด็ดขาด ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์มากมายแสดงให้เห็นความสำคัญของอาหารเช้า โดยพบว่าการกินมื้อเช้าจะช่วยควบคุมเบาหวาน และยังช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคอ้วนด้วย

 

ลดกินเค็ม

การกินเค็มก็เช่นกัน หากกินอาหารเค็มมากจนเกินไปจะทำให้ปริมาณโซเดียวในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องปรับสมดุลโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ ทำให้ปริมาณน้ำในเลือดมากขึ้น เมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้น ร่างกายก็ต้องใช้แรงดันในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายมากกว่าเดิม ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงในที่สุด

 

ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ

เพราะน้ำมันที่เคยผ่านความร้อนไปแล้วหนึ่งครั้งจะเกิดการแปรสภาพไปแล้วระดับหนึ่ง แม้ว่าจะผ่านความร้อนในระดับที่ยังไม่ถึงจุดเกิดควันก็ตาม นอกจากนี้น้ำมันจะมีจุดเกิดควันต่ำลงทุกครั้งที่ถูกนำมาทอดซ้ำจนกระทั่งถึงจุดที่เกิดควันขึ้นจริงๆ ส่งผลให้น้ำมันแปรสภาพ ไม่เหมาะกับการบริโภคอีกต่อไป

 

กินอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน

การกินแบบเมดิเตอร์เรเนียนไดเอตจะเน้นการกินไขมันดี จำกัดไขมันอิ่มตัว โดยกินให้ได้รับพลังงานจากไขมันอยู่ที่เกิน 30% และต้องจำกัดไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% เน้นไขมันกลุ่ม MUFA ซึ่งได้จากน้ำมันมะกอก ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ และกินอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้ได้โอเมก้า-3 ที่พอเพียง เลี่ยงเนื้อแดง หรือกินแค่เดือนละ 1-2 ครั้ง กินไฟเบอร์มากถึงวันละ 30 กรัมต่อวัน โดยได้จากธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ไม่กินอาหารที่มีการเติมน้ำตาลและเกลือ

อาหารประเภทนี้จัดว่าเป็นสุดยอดอาหารบำรุงหัวใจก็ว่าได้ จากหลายการศึกษาพบว่าการกินอาหารแบบนี้ช่วยควบคุมน้ำหนัก มีผลดีต่อโรคเบาหวาน ลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ราว 29 – 69 เปอร์เซ็นต์ ลดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 13-53 เปอร์เซ็นต์

 

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายไม่จำเป็นตั้งเข้าฟิตเนสเสมอไป อาจเริ่มที่กิจกรรมที่ทำได้ที่บ้าน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ อย่างคาดิโอ้ เล่นโยคะ ฮุลลาฮูป กระโดนเชือก วิ่งเหยาะๆ ในสวนสาธารณะ เป็นต้น หากไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ให้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที หรือออกกำลังกายทุกวันวันละ 15 นาที ก็ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว

 

ข้อมูลจากหนังสือ กินให้ถูกวิธี 4 โรคเรื้อรังไม่มาเยือน

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ 

อาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

วิธีปกป้องตับด้วยการกิน ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นโรคตับได้

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน “ดูแลตัวเองอย่างไร กินอะไรได้บ้าง”

6 สัญญาณอันตราย ที่บอกว่าคุณอาจจะเป็นโรคไต

โรคและความผิดปกติที่มาพร้อมกับการนอนดึก นอนไม่พอ อดนอน

รู้จักกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ สาเหตุ ความแตกต่าง และอาการ

อาหารลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจ ควรกินอะไรและกินอย่างไร

1 thoughts on “วิธีป้องกันและควบคุม NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน

  1. Pingback: ไขมันในเลือดสูง เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า