กลยุทธ์ A-Z ปรับจากข้างใน ก้าวไปข้างหน้า พลิกเกม ตั้งแกน ผิดพลาด เรียนรู้ เติบโต ทำซ้ำอีกครั้ง

กลยุทธ์ A-Z จากหนังสือ Change From Within ปรับจากข้างใน ก้าวไปข้างหน้า เป็นกลยุทธ์การปรับตัวรับวิกฤตที่ใช้ได้ตั้งแต่ระดับธุรกิจจนถึงชีวิตในทุกวัน โดยกลยุทธ์นี้ได้สกัดมาจากผู้ประกอบการรุ่นดิสรัปชั่นที่ได้ผ่านจุดวิกฤตสูงสุดในสถานการณ์ Covid-19 ที่ต้องใช้ความพยายามในการปรับจากข้างในด้วยการพลิกเกม ตั้งแกน ผิดพลาด เรียนรู้ เติบโต ทำซ้ำอีกครั้งเพื่อก้าวไปข้างหน้า บทความนี้เป็นภาค 1 ซึ่งจะเสนอเฉพาะกลยุทธ์ A-P

กลยุทธ์ A-D

Assessment น้อยแต่บ่อย

หากเปลี่ยนการประเมินปีละครั้งมาเป็นพูดคุยกันสม่ำเสมอ มีการฟีดแบ็กกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อช่วยให้ปรับตัวได้ทัน แก้ได้ถูกจุดจะดีกว่า เพราะการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หรือ Continuous Assessment เป็นคำตอบต่อคำถามว่า การประเมินผลจำเป็นจริงหรือไม่ ทำไปเพื่ออะไรและควรทำอย่างไร เพื่อช่วยให้องค์กรหันหางเสือปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ได้

ในขณะเดียวกันก็ตอบรับกับความต้องการของคนทำงานที่ต้องการคำแนะนำเพื่อความก้าวหน้าของพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่เพียงวัดผลเพื่อผลประกอบการ เพื่อรายงานประจำปีขององค์กร

การประเมินตัวเองด้วยการถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ สม่ำเสมอว่า เราทำอะไรได้ดี มีอะไรน่าขอบคุณบ้างในแต่ละวัน มีอะไรที่ไม่จำเป็นแล้วสลัดทิ้งไปได้บ้าง การประเมินตัวเองเช่นนี้ไม่ต้องรอเกิดวิกฤตแล้วค่อยถาม แต่เป็นสิ่งที่ถามได้น้อยๆ แต่บ่อยๆ ในทุกวัน

Beginner’s Mind นึกถึงวันแรกที่เริ่มงาน

ในวันที่เราเริ่มรู้สึกตัน ใจไม่สั่นไหวกับการทำงาน ให้ลองกลับไปนึกถึงวันแรกทีเริ่มทำงาน ทำไมเราถึงทำงานนี้ วันนั้นรู้สึกอย่างไร วันนี้เรายังรู้สึกแบบนั้นไหม

ถ้าใจยังปรับไม่ได้ ลองปรับกายให้เหมือนวันแรกได้หรือไม่ ให้แต่งตัวเหมือนกับไปทำงานวันแรกในทุกวัน เตรียมพร้อมราวกับงานนี้เป็นงานแรก หรือลองสลัดสิ่งที่เคยรู้มา ประสบการณ์ที่มี จนคิดไปว่ามันต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ลองโยนกรอบใดๆ ทิ้งไป สวมหมวกเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้ามา กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่นอย่างไม่เขินอาย มองฟีดแบ็กเป็นคำแนะนำ เปลี่ยนจากความกลัวผิดพลาดเป็นความตืนเต้นที่ได้ลอง

หากเราทำได้ จิตใหม่อาจไม่ได้ช่วยแค่ให้เราเป็นคนใหม่ แต่ทำให้ทุกวันเป็นวันใหม่

Choice เลือกทางยาก ชีวิตง่าย เลือกทางง่าย ชีวิตยาก

เรารู้ว่าอะไรคือปัจจัยส่งเสริมการมีชีวิตที่ดีแล้วทำไมบางครั้งเราถึงทำไม่ได้สักที ก็กลับมาที่การเลือกทำหรือไม่ทำในแต่ละวัน หลายครั้งเราคิดว่าไม่มีทางเลือก หรืออาจจะมีทางเลือกมากมายจนเลือกไม่ถูก หลายครั้งที่เรามีทางเลือก A B C… จนเลือกไม่ได้สักที หรือพอจะเลือกทางเลือกนั้นก็จากเราไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกง่ายๆ ในแต่ละวัน เลือกโทรศัพท์หาใครสักคน เลือกตื่นเช้ามาทำสิ่งที่อยากทำให้เสร็จก่อนไปทำงานหลักในแต่ละวันหรือนอนต่อ เลือกที่จะหาแพลน B เมื่อใครบางคนบอกว่าแพลน A นั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น #เราจะเสียดายหรือยินดีก็ขึ้นอยู่กับทางเลือกในแต่ละวันแต่ละนาที

Deconstruct รื้อถอนสภาพเดิม และปะติดปะต่อให้เกิดสิ่งใหม่

กรณีศึกษาจากการรื้อถอนสภาพเดิมของห้องเรียนปกติสู่ห้องเรียนออนไลน์ คือตัวอย่างที่มองภาพได้ชัดเจน นี่ไม่ใช่แค่การรื้อรูปแบบเท่านั้น แต่เป็นการรื้อถอนภาพเดิม เพื่อประกอบภาพใหม่ในแง่ของทักษะคนทำงาน รวมถึงพันธกิจขององค์กรได้อีกด้วย

แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเป็นไป แต่นี่เป็นทางเลือกเพิ่มเติม ที่แตกต่างไปในการไปถึงเป้าหมายเดิม ภาพเดิม แต่เป็นการไปถึงด้วยมุมอื่นที่เราประกอบขึ้นมา ดังนั้น “ถ้าจะปีนขึ้นภูเขาลูกใหม่ เราต้องลงจากภูเขาลูกเดิมก่อน”

กลยุทธ์ E-H

Environment เราเลือกสภาพแวดล้อมได้

หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าเราเลือกคนรอบตัวไม่ได้ เลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ควรทำอย่างไร แนวทางก็คือ ถ้าสภาพแวดล้อมบางอย่างส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของเรา เอาออกได้ก็ดี เช่น คนรอบข้างที่ยิ่งคุยยิ่งทำให้เสียสุขภาพจิต ถอยห่างออกมาก็ได้

แต่หากเราเลือกใครหรือบางอย่างออกจากชีวิตไม่ได้ เราสามารถเติมสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เข้าไปได้ เช่น หากเพื่อนร่วมงานไม่ถูกใจ นอกเวลางานจะลองไปเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม หรืองานอาสาสมัครที่ทำให้ได้เจอคนที่มีความสนใจคล้ายกัน มีความมุ่งมั่น มีความฝันคล้ายกัน ก็จะทำให้เราใช้พลังงานที่มีไปในทางสร้างสรรค์ แม้สภาพแวดล้อมจะกำหนดเรา แต่เราเลือกสภาพแวดล้อมของเราได้

Fake It Till You Make It แกล้งทำจนได้ทำ

แกล้งทำจนได้ทำ หมายถึงการปลอมพฤติกรรม ไม่ใช่ปลอมตัวตน และการปลอมที่แท้จริงก็คือ การฝึกฝน การลองทำ การปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่างๆ ไม่ใช่เฟคในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น แต่คือการฝึกฝนพฤติกรรมไปสู่บทบาทที่เรากำลังรับผิดชอบ หรือคนใหม่ที่เราต้องการจะเป็น

เช่น การ Work from home ควรทำให้เหมือนกับว่าคุณกำลังออกไปทำงานจริงๆ อย่างการเปลี่ยนชุดนอนเป็นชุดทำงาน สั่งสมองให้รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่โหมดทำงานแล้ว แต่ถ้าเรายังทำงานอยู่บนเตียง แบบนี้งานคงไม่คืบหน้า

Get It Done ทำสิ่งที่เริ่มต้นแล้วให้สำเร็จ

ลองเปิดลิ้นชักโต๊ะดูว่า มีงานอะไรที่ค้างยังทำไม่เสร็จ มีแผนธุรกิจอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ลอง ให้หยิบมันขึ้นมา พร้อมปลอบตัวเองเล็กน้อยว่า “ไม่เป็นไรนะ”

มีสุภาษิตจีนกล่าวถึงการปลูกต้นไม้ไว้ว่า เวลาที่จะปลูกต้นไม้คือ 20 ปีที่แล้ว เวลาที่เหมาะสมที่สุดรองลงมาคือ “ตอนนี้” ปล่อยให้ความสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องของอนาคต สิ่งเดียวที่ต้องทำในตอนนี้คือ ทำสิ่งที่เริ่มต้นแล้วให้เสร็จเสียที

Humble Confidence มั่นใจแต่ต้องอ่อนน้อม

ส่วนผสมระหว่างความมั่นใจกับการถ่อมตนสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนตัวเอง มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไปก็ไม่ดี สิ่งหนึ่งพร่องไปก็ไม่ได้ ความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง และการวางใจต่อเหตุและผล เป็นรากฐานต่อความอดทนอดกลั้น ไม่ล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ เมื่อเจอปัญหา อุปสรรค หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ในขณะเดียวกันความถ่อมตนก็ช่วยทำให้เราพร้อมเปิดกว้างรับความเห็นต่างๆ ไม่เก็บคำวิจารณ์มาเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง คำวิจารณ์ต่างๆ ก็ไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นของขวัญที่ช่วยทำให้เราปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

กลยุทธ์ I-L

Infinite Game มองชีวิตและสิ่งที่ทำให้เป็นเกมที่ไม่สิ้นสุด

Infinite Game หรือเกมไม่สิ้นสุด ถ้าเรานำแนวคิดนี้มาปรับเกี่ยวกับการทำงาน ทำธุรกิจ หรือใช้ชีวิตด้วย “Infinite Mindset” โจทย์ของเราจะเปลี่ยนไป ชีวิตจะไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นหนึ่ง แต่คือ การทำได้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้เหตุผลของการกระทำปัจจุบันที่มีเป้าหมายไปยังอนาคต ด้วยรากฐานที่สร้างขึ้นมาจากอดีต

Infinite Game จึงไม่ใช่แค่การมองโลกในแง่ดีอย่างไร้เดียงสา แต่ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อจะรู้ได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในกราฟขาขึ้นหรือขาลงของชีวิต ทุกอย่างจะเคลื่อนไปเสมอ วันนี้เราอาจสูญเสียบางอย่าง แต่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่หากเรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็หาใช่เวลาที่เราจะประมาท

Joy ทำในสิ่งที่หลงใหล

ปัจจัยพื้นฐานแรกในการเชี่ยวชาญเรื่องใดๆ จะมาจากการทำในสิ่งที่ตนเองหลงใหล เรามักจะจดจ่อ ให้ความสนใจได้นาน ไม่มีความคิดพะวักพะวนถึงอนาคตว่า เมื่อไรมันจะเสร็จ เพราะความเสร็จสมบูรณ์ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย สิ่งสำคัญคือ การได้ทำสิ่งนั้นในขณะนั้นมากกว่า และหากใครได้เข้าสูภาวะลื่นไหลนี้ได้ ความเบิกบานจากการแค่ได้ทำ ก็ดูจะเป็นการเฉลิมฉลองด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

Kiss: Keep It Simple and Stupid กลับมาหาความธรรมดาสามัญในการปรับตัวมากขึ้น

ความธรรมดาสามัญหรือความเรียบง่าย เป็นขั้นแรกของการตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป #เก็บไว้เพียงสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ ตัดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น อุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ตัดสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็นแต่คิดว่ามีไว้ในห้องก็สวยดี ให้เหลือเพียงเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ตัดงานที่ไม่สำคัญออกไป เหลือเพียงงานที่ให้คุณค่า

ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา แต่ทุกงานที่ทำออกมาต้องได้ดี ตัดความสัมพันธ์ที่คาราคาซัง ให้เหลือเพียงความสัมพันธ์ที่ดี ให้ต่อแต่นี้หันไปมองรอบตัว และบอกได้ว่านี่คือชีวิตที่ได้เลือกแล้ว

Light and Lean ปรับ Mindset เรื่องขนาดให้เหมาะสม

การวัดผล ขอฟีดแบ็ก หรือการเรียนรู้เพื่อปรับต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของหลักการ Lean ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ทำดีแล้วยังดีขึ้นได้อีก สิ่งที่คิดว่าสลัดทิ้งได้แว แท้จริงย่อมมีสิ่งที่ลดทอนให้น้อยลงได้อีกเสมอ เพื่อความคล่องตัวในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

กลยุทธ์ M-P

Momentum ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ต่างจากเดิม

ความจริงอันเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการออกวิ่ง การเขียน หรือการเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ ในการออกตัวใดๆ ก็ตามย่อมมีแรงต้าน แต่หากเราทนทำไปสักพัก ก็จะมีแรงอีกประเภทมาช่วยส่งเราต่อไปเอง บางทีการได้เห็นแพตเทิร์นของสิ่งนี้ และใช้ความจริงนี้เตือนตัวเองก็จะช่วยให้เรามีแรงใจไปต่อ

Network ออกไปหากลุ่มคนที่พอรู้จักบ้าง พบกันตามโอกาส

ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติมักเป็นสิ่งที่จำกัดเราอยู่ในวงผู้คนที่เราสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนวัยเด็ก ที่เรารู้จักเพราะพรหมลิขิตกำหนดไว้ ไม่ใช่เราเลือกเอง และสิ่งที่มักตามมากับความสบายใจก็คือ การหยุดเรียนรู้และปรับตัว เราต่างรู้ว่าความหลายหลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์นวัตกรรม ลำพังการรอฟ้าดินให้พาใครมารู้จักเราอาจไม่พอ แต่ต้องอาศัยความพยายามของเราเองในการลองทำความรู้จักคนนอกไปจากวงกลมเครือข่ายของตัวเองด้วย

Ownership หาสิ่งที่ให้ความสำคัญร่วมกันทันทีที่เริ่มงาน

ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะช่วยกระตุ้นความอยากริเริ่ม กล้าคิด กล้าทำให้ดีขึ้น อยากทดลอง เมื่อมองเห็นแล้วว่าเป้าหมายขององค์กรนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของตนเอง

ดังนั้น ความสำเร็จขององค์กรก็คือความสำเร็จของตนเองเช่นกัน ความเป็นเจ้าของทำให้องค์กรพัฒนารุดหน้าด้วยความสมัครใจ และหากไม่มีก็จะทำให้องค์กรเดินถอยหลัง คนทำงานไร้พลัง ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพียงแค่ทำงานไปวันๆ แต่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับพันธกิจ ไม่มีความรู้สึกผูกพัน

Prototype มองชีวิตเป็นการทดลอง ทุกประสบการณ์คือกำไร

ความกังวลทำให้เราย่ำอยู่กับที่ พอคิดว่าทำแบบนั้นแล้วมันจะแย่ มันจะกลายเป็นพลังงานลบ ทำให้เราคิดอะไรไม่ออก ลองเปลี่ยนเป้นตั้งคำถามว่า ตัวเองจะเริ่มทำอะไรกับความกังวลนี้ได้ ทำอย่างไรให้เปลี่ยนความกังวลนี้เป็นบางอย่างที่จะทำให้ตัวเองหลุดออกมาได้

เมื่อยิ่งเห็นว่าชีวิตออกแบบได้ ไม่ได้หมายความว่าการปักหมุดเป้าหมายไว้แล้ว ไม่ขยับเขยื้อน ไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม มันคือการสร้างเข็มทิศ ใช้ความชอบเป็นสนามแม่เหล็ก ดึงดูดเราเข้ากับสิ่งต่างๆ เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้า แล้วค่อยๆ ดูเส้นประของชีวิตปะติดปะต่อกันไป

กลยุทธ์ A-Z ปรับจากข้างใน ก้าวไปข้างหน้า พลิกเกม ตั้งแกน ผิดพลาด เรียนรู้ เติบโต ทำซ้ำอีกครั้ง

หนังสือ Change From Within ปรับจากข้างใน ก้าวไปข้างหน้า

เขียนโดย พชร สูงเด่น

วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์
คลิก

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า