ปัญหา ความขัดแย้งในที่ทำงาน มักมีอยู่ทุกบริษัท ทั้งปัญหาลูกน้องทะเลาะกัน ชิงดีชิงเด่น หัวหน้าไม่ให้คำปรึกษา ไปจนถึงปัญหาในขั้นตอนการทำงาน ซึ่งแต่ละปัญหาก็มีวิธีแก้ไขที่แตกต่างกัน
มาดูกันว่าหากเกิด ความขัดแย้งในที่ทำงาน เราควรป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร
การดุด่าในที่ทำงาน
คนเราเมื่อถูกผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ว่าตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือเรียกได้ว่า “บาดแผลในใจ” มนุษย์มีกลไกการป้องกันตัวเองอยู่ เมื่อได้รับความกระทบกระเทือน จิตใจจะตอบสนองว่า “ไม่อยากได้รับแรงกระทบกระเทือนแบบนี้อีกเป็นครั้งที่สอง” จากนั้นกลไกจะทำงาน แทนที่อีกฝ่ายจะพิจารณาถึงเนื้อหาที่ถูกดุด่าว่ากล่าว แต่กลับตอบสนองด้วยความรุนแรง เช่น เถียงกลับ ชักสีหน้า ไม่ยอมทำงาน ฯลฯ
การดุด่าในที่ทำงานต้องทำด้วยความพอดี ไม่มากจนเกินไป และอย่าใช้อารมณ์เยอะ เช่น “ทำไมไม่รู้จักคิดเองบ้าง!” “ไม่คิดจะทำงานด้วยตัวเองเลยหรือไง” เป็นต้น คำพูดแบบนี้จะทำให้การทำงานไม่ก้าวหน้า หัวหน้าก็สุขภาพจิตเสีย ลูกน้องก็เกิดความคับแค้นใจ จึงไม่สามารถทำงานด้วยความจริงใจได้อีก
ชอบนินทาลับหลัง
ปัญหาเรื่องนินทาถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก แน่นอนว่าไม่มีคนไหนไม่ถูกนินทา แต่เนื้อหาที่นินทาจะแรงแค่ไหนต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป สมมติว่ามีคนมานินทาอะไรให้ฟัง ถ้าเราคิดว่า “หากไม่พูดออกมาเขาคงอึดอัดน่าดูสินะ” ก็แค่ฟังเสียหน่อยแล้วตอบรับว่า “อย่างนั้นเองหรือ” หากเราทำท่าทีเดือดเนื้อร้อนใจ อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่า “คุณอยู่ข้างอีกฝ่ายเป็นพิเศษ” ก็เป็นได้
หากพูดไปว่า “การนินทาคนอื่นลับหลังแบบนี้ไม่ดีนะ” แน่นอนว่ากระแสการต่อต้านเริ่มมาลงที่เราอย่างแน่นอน ทางแก้ไขที่ดีและสมานฉันท์ที่สุดคือรับฟัง แล้วเปลี่ยนเรื่องคุย ไม่นำเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้ฝุ่นตลบอีกครั้ง เรื่องราวเหล่านั้นก็จะหายไปเอง
ไม่เปิดรับพนักงานใหม่
เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน จะมีบางคนที่ไม่เปิดรับเลย พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย เพิกเฉยเวลาพนักงานใหม่ต้องการสอบถามข้อมูลงาน หรือเรื่องระบบของบริษัท ไม่แม้แต่จะเอ่ยปากชวนไปกินข้าวกลางวัน กรณีแบบนี้ถ้าปล่อยไว้นานเข้า ไม่ช้าพนักงานใหม่ต้องลาออกอย่างแน่นอน
วิธีแก้ไขคือพยายามช่วยเหลือพนักงานใหม่เท่าที่จะช่วยได้ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องพนักงานใหม่ต้องขอข้อมูลจากคนที่ไม่เปิดรับ ให้ไปช่วยพูดให้โดยใช้คำพูดประมาณว่า “พี่ A ช่วยสอนงานน้องใหม่หน่อยได้ไหมคะ เนื้องานตรงส่วนนี้มีแต่พี่ A ที่เข้าใจดีที่สุด รบกวนเวลาด้วยนะคะ” เขาจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นบุคคลสำคัญและเชี่ยวชาญงานส่วนนี้ที่สุดจนยอมสอนงาน และเปิดใจรับพนักงานใหม่ได้บ้าง ถึงอาจจะไม่ได้เปิดใจเต็มร้อยก็เถอะ
คนชอบโกหก
การโกหกว่ามาสายเพราะท้องเสีย รถติด พาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ ยังไม่แย่เท่าการโกหกแล้วทำให้การงานของคนอื่นเสียไปด้วย เช่น นาย B ทวงงานนาย A ที่ส่งงานทางอีเมลให้เมื่ออาทิตย์ก่อนแต่ยังไม่ได้รับฟีดแบ็คกลับ นาย A ได้รับงานชิ้นนั้นแล้วแต่โกหกนาย B ว่ายังไม่ได้รับ หรือบ่ายเบี่ยงว่า นาย B ลืมส่งงานให้ จนทำให้หัวหน้าตำหนินาย B ว่าทำงานล่าช้า ทั้งๆ ที่ต้นเหตุมาจากนาย A ทั้งสิ้น
พฤติกรรมแบบนี้แก้ไขได้ด้วยการกำชับหลายๆ ครั้ง เช่น ส่งอีเมลงานไปให้ จากนั้นโทร. ไปที่โต๊ะ ให้เปิดดูอีเมลนั้น รอให้อีกฝ่ายรับรู้ จากนั้นค่อยรันงานของตัวเองต่อ หรือเดินไปพูดต่อหน้าเลยว่าอย่าลืมเปิดดูอีเมลนะ เพื่อให้คนบริเวณรอบช่วยเป็นพยานให้ แล้วพฤติกรรมแบบนาย A ก็จะลดน้อยลงในที่สุด
หากเป็นคนที่ชอบโกหกขั้นวิกฤตแล้วให้ลงชื่อ เขียนใส่กระดาษเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนทำสัญญาการค้าแล้วเก็บไว้ คราวนี้คนแบบนาย A ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้โกหกแล้วทำให้งานของคนอื่นเสียหายอีกต่อไป
ชอบเถียงกัน
การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือคุยตัวต่อตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันก็มีสูง จากการโต้ตอบด้วยเหตุผลจนแปรเปลี่ยนเป็นการใช้อารมณ์ เสียงดังโหวกเหวกจนทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเสียไปด้วย
เมื่อมีคนหนึ่งเริ่มขึ้นเสียง อีกคนก็จะเริ่มขึ้นเสียงไปด้วย ทางที่ดีคือควรจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งควบคุมสติได้ ใช้โทนเสียงกลางๆ พูดนิ่งๆ และไม่แย่งอีกฝ่ายพูด ให้คนที่กำลังโมโหพูดออกมาให้หมด หรือเรียกว่าการใช้น้ำเย็นเข้าลูบนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยอมคนที่โมโหไปเสียทุกอย่าง ไม่เช่นนั้นเขาจะเกิดความเคยตัว ว่าหากโมโหเมื่อไหร่แล้วจะได้ตามที่ตัวเองต้องการ เหมือนเวลาที่เด็กลงไปกลิ้งกับพื้นแล้วจะได้ของเล่นจากพ่อแม่
ข้อมูลจากหนังสือ Super Boss อยากทำงานกับหัวหน้าแบบนี้จัง
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
5 วิธีรับมือกับปัญหาจากลูกน้อง ที่หัวหน้าทุกคนต้องพบเจอ
วิธีจุดไฟให้ลุกโชนอีกครั้ง เมื่อเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
เทคนิคบริหารเวลา แบบคนรวยที่ทำงานสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
Pingback: พัฒนาการทำงาน ของคุณให้ดีขึ้น ด้วยการพยายามให้ถูกวิธี