พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินอยู่ นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น ลองมาสำรวจตัวเองกันดูสักนิดว่า เรามี พฤติกรรมทำร้ายไต จนมีความเสี่ยงโรคไตบ้างแล้วหรือยัง
พฤติกรรมทำร้ายไต
ชอบกินอาหารรสจัด
พฤติกรรมทำร้ายไต ที่เราทำกันบ่อยมากคือ กินอาหารรสจัด “รสจัด” นี้ รวมความถึง เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด และมันจัด อาหารรสจัดทำให้ไตทำงานหนัก จึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไตได้ จากข้อมูลของเครือข่ายลดบริโภคเค็มพบว่า ปัจจุบันคนไทยกินเค็มมากกว่ามาตรฐาน 2 – 3 เท่า หรือประมาณ 7,000 มิลลิกรัม (คนปกติไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นเกลือป่นประมาณ 6 กรัม (1 ช้อนชา) โดยเฉพาะการกินอาหารนอกบ้าน เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อย่างพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ อาหารปิ้งย่าง ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากที่สุด
ถ้าในชีวิตประจำวันถ้าเราสามารถลดการกินอาหารประเภทนี้ลงได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ร่างกายก็จะได้รับเกลือน้อยลงมาก
ชอบกินอาหารสำเร็จรูปและของหมักดอง
หากเราใช้ชีวิตวนเวียนซ้ำ ๆ อยู่กับการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก แฮม แหนม หมูยอ ข้าวกล่อง อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋องในร้านสะดวกซื้อ ผักกาดดอง ปลาร้า ปลาส้ม เต้าเจี้ยว ผลไม้ดอง หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม โซดา เราก็จะได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงโดยไม่รู้ตัว ถือเป็นความเสี่ยงทำห้เกิดโรคไต
ดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือดื่มน้ำมากเกินไป
การดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุของหลาย ๆ โรค รวมถึงโรคไตด้วย เพราะไตทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองจนกระทั่งกลายเป็นปัสสาวะ แต่หากดื่มน้ำมาก ไตก็จะทำงานหนักเกินไป
องค์กรอนามัยโลกจึงแนะนำให้ดื่มน้ำให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว นอกจากน้ำหนักตัวที่เป็นตัวแปรหลักแล้วยังอาจมีปัจจัยด้านพฤติกรรมอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การออกกำลังกาย สภาพอากาศรวมไปถึงอาหารการกินในแต่ละมื้อ (ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ)
ไม่ออกกำลังกาย
นี่คือสาเหตุของหลาย ๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไขมันพอกตับ โรคหัวใจ และอื่น ๆ รวมไปถึงโรคไตด้วยเช่นกัน
ทำงานหนักเกินไป
เชื่อหรือไม่ว่า การทำงานหนักก็เป็นสาเหตุของโรคไตด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างเต็มที่รวมถึงไตด้วย เมื่อไตซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกายไม่ได้หยุดทำงานก็อาจเสื่อมสภาพลงได้ง่าย
เครียดติดต่อกันนานๆ
หากเครียดมาก ๆ จะทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เมื่อเราเครียด เราจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกายไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่ ไตจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดด้วยเช่นกัน
กินไม่ยั้งจนน้ำหนักเกิน
โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังสองอันดับแรก
โรคอ้วนยังมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เนื่องจากในผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีอัตราการกรองของเสียในไตสูงกว่าคนปกติ และมีปริมาณไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น เมื่อไตทำงานหนักเป็นเวลานานก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นของเซลล์ไขมันทั่วร่างกายจะทำให้มีการหลั่งสารต่าง ๆ ในกระบวนการอักเสบ ออกมาสู่กระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนทำให้เซลล์ของไตทำงานผิดปกติตามมาในที่สุด
เป็นโรคเบาหวาน
การมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดในไต เมื่อหลอดเลือดถูกทำลายแล้วไตจะไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากจึงมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไตมากยิ่งขึ้น
เป็นโรคความดันโลหิตสูง
หากใครที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคไตตามมาด้วย เพราะหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่รีบรักษา ความดันโลหิตที่สูงนี้จะไปทำลายเส้นเลือดที่ไตทำให้ไตเสื่อมลงอีกด้วย
พบกับคู่มือป้องกันโรคไต และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตฉบับสมบูรณ์จาก
โรคไต คู่มือป้องกันและดูแลผู้ช่วยโรคไต (ฉบับสมบูรณ์)
ราคา 275 บาท สนใจ คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ : กฎเหล็กเพื่อป้องกันโรคที่ทุกคนต้องรู้
- โรคตับ ใครคิดว่าไม่สำคัญ คุณมีพฤติกรรมทำร้ายตับหรือไม่
- ห้ามกินยากับอะไร กินยากับนมไม่ได้จริงหรือ?
- โรคและความผิดปกติที่มาพร้อมกับการนอนดึก นอนไม่พอ อดนอน
- 7 วิธีกระตุ้นสมองให้มีชีวิตชีวา ป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- รู้จักกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ: สาเหตุ ความแตกต่าง และอาการ
- อาหารลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจ ควรกินอะไรและกินอย่างไร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน “ดูแลตัวเองอย่างไร กินอะไรได้บ้าง”
- รู้จักโรคสมาธิสั้นในวัยเด็กและวิธีการรักษา
- 10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า