เทคนิคการจำ ที่โคโนะ เก็นโตะ ใช้เวลาต้องจำข้อมูลยากๆ เพื่อไปสอบ มีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งสามารถเลือกใช้และทำตามได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีสมองเทพๆ แบบเก็นโตะก็ทำได้
เทคนิคการจำ โดยโคโนะ เก็นโตะ มีอะไรบ้างมาดูกัน
ทบทวนซ้ำหลายๆ ครั้ง
ทุกวิชาต้องอาศัยการท่องจำ สิ่งสำคัญที่สุดในการท่องจำเพื่อทำคะแนนสอบได้มากๆ คือการทบทวนซ้ำๆ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ลืมได้ ความทรงจำระยะสั้นของมนุษย์จะถูกลืมไปด้วยความรวดเร็ว ดังนั้นเราต้องรู้จัก เปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว โดยการทำให้สมองคิดว่า “ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกับเรา” และการทบทวนซ้ำๆ เป็นวิธีที่ดีผลดีที่สุด เมื่อสมองถูกเชื่อมต่อกับข้อมูลซ้ำๆ ก็จะคิดว่า “สิ่งนี้สำคัญสินะ” ยิ่งเราทบทวนซ้ำมากเท่าไร ข้อมูลนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นความทรงจำระยะยาวได้นานขึ้นเท่านั้น
เมื่อเราเริ่มจดจำได้ครั้งหนึ่งแล้ว ควรรีบทบทวนให้เร็วที่สุด แล้วเราจะใช้เวลาทบทวนสิ่งเหล่านั้นน้อยลง วิธีที่เชื่อกันว่าได้ผลดีที่สุดคือ “การทบทวนและท่องจำหลังจากได้รับข้อมูลนั้นเป็นเวลา 30 นาที 1 ชั่วโมง 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน”
Output ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการท่องจำ
การจะทำให้ความทรงจำระยะสั้นกลายเป็นความทรงจำระยะยาวจะต้องทำให้ฮิปโปแคมปัสคิดว่า “มีการดึงข้อมูลนี้ออกจากลิ้นชักในสมอง แสดงว่าต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญแน่” ในทางกลับกัน การอ่านคำศัพท์แบบผ่านตา แต่ไม่มีการเรียบเรียบข้อมูลในหัว แล้วทำ Output ออกมาจึงจำไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้ฮิปโปแคมปัสคิดว่าข้อมูลนี้สำคัญ
การสร้าง Output เวลาท่องจำหรือทบทวนยังทำให้เรายืนยันว่าตัวเองจำได้แล้วด้วย การสร้าง Output บ่อยๆ ทำให้เราได้ตรวจสอบสิ่งที่ลืมและทบทวนสิ่งที่จำไม่ได้ ซึ่งจะทำให้สมองคิดว่านี่เป็นข้อมูลสำคัญและเก็บข้อมูลนั้นไว้
วิธีทำคือ เวลาท่องศัพท์หรือต้องการจำข้อมูลนั้นๆ แทนที่จะท่องซ้ำๆ ภายในหนึ่งนาทีแล้วเช็กหนึ่งครั้ง ควรท่องแล้วรีบเช็กซ้ำหกครั้งจะจำได้ดีกว่า เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียว เพราะคนที่ทำวิธีแรกจะได้ทำ Output แค่ครั้งเดียว แต่คนที่ทำแบบหลังจะได้ทำ Output ถึงหกครั้งนั่นเอง
ทำเครื่องหมายไว้ทบทวนซ้ำ
การขีดเส้นใต้ส่วนที่สำคัญเฉยๆ โดยไม่คิดตามไม่ช่วยให้เราจำได้เลย เป้าหมายหลักของการทำเครื่องหมายลงในหนังสือคือ “เพื่อให้รู้ว่าตรงไหนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องอ่านซ้ำหลายๆ รอบ” ถ้าเราเข้าใจเนื้อหาตรงไหนดีแล้ว ต่อให้เป็นเนื้อหาสำคัญ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ หากขีดเส้นใต้ทั้งหมดก็จะไม่รู้ว่าตัวเองไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง จึงต้องอ่านซ้ำอีกรอบทำให้ประสิทธิภาพในการทบทวนลดน้อยลง
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ให้ทำเครื่องหมายไว้ตรงเนื้อหาที่เรายังไม่เข้าใจก็พอ
เวลาอ่านหนังสือเรียน ลองใช้ปากกาไฮไลต์ส่วนที่ยังไม่เข้าใจไว้ แล้วอ่านทบทวนแค่ตรงนั้น เมื่ออ่านซ้ำแล้วยังไม่เข้าใจอีกให้เอาปากกาแดงขีดเส้นใต้ซ้ำลงไปแล้วอ่านเฉพาะส่วนที่ขีดเส้นใต้สีแดง
ประเด็นสำคัญคือ การเปลี่ยนเครื่องหมายใหม่ให้ตอบรับกับความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เมื่ออ่านทบทวนครั้งต่อไปก็จะใช้เวลาน้อยลงด้วย
ใช้การเล่นคำให้เป็นประโยชน์
การเล่นคำเป็นเทคนิคการท่องจำที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว และสามารถใช้กับการท่องจำสองประเภท คือ ประเภทจำคำจำนวนมาก เช่น ชื่อนายกรัฐมนตรีทั้งหมดของไทย หรือประเภทคำยาวๆ ที่จำได้ยาก เช่น ชื่อบุคคลสำคัญที่ยาวๆ
วิธีคือ การคิดเรื่องราวให้แต่ละคำเมื่อต้องจำคำจำนวนมาก ถ้าเราต้องจำชื่อนายกรัฐมนตรีทั้งหมดของไทยอาจจะเป็นเรื่องนาก จะใช้วิธีอ่านออกเสียงก็ยังคงจำไม่ได้อยู่ดี กรณีนี้ให้เราลองคิดเรื่องราวเพื่อมาเชื่อมคำเหล่านั้นด้วยกัน หรืออาจจะเป็นเนื้อเพลงก็ได้ แค่เราจำเอาไปเข้าห้องสอบได้ก็พอแล้ว
ข้อดีของการใช้เทคนิคเล่นคำ สร้างเรื่องราวขึ้นมาคือ แค่มองปุ๊บเราจะจำคำยาวๆ ยากๆ ที่เรียงเป็นแถบได้ หรือจำตัวอักษรของแร่ธาตุต่างๆ ได้ทันที ยิ่งถ้าเราเล่นคำแล้วนึกภาพในหัวไปด้วย ก็จะช่วยให้จดจำเรื่องราวได้ดีขึ้น โดยปกติแล้วฮิปโปแคมปัสจะไม่คิดว่าสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือที่เรียงกันเฉยๆ เป็นสิ่งสำคัญ แต่ข้อมูลที่มีเนื้อหาหรือมีความหมายจะถูกตีความว่าเป็นของสำคัญได้ง่ายกว่า
ข้อมูลจากหนังสือ โคโนะ เก็นโตะ ราชาสมองเพชร
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
วิธีพัฒนาทักษะการอ่านที่ควรรู้ไว้ ถ้าอยากจดจำได้แม่นยำ
เทคนิคการอ่านหนังสือให้จำแม่น เรียนเก่ง สอบผ่าน
เทคนิคการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสูงสุด
เทคนิคเรียนให้สนุกจาก โคโนะ เก็นโตะ ราชาสมองเพชร
Pingback: โคโนะ เก็นโตะ หนุ่มญี่ปุ่นยอดอัจฉริยะ ฉายาราชาสมองเพชร