12 เรื่องราวอบอุ่นหัวใจใน โกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ

โกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ นิยายอบอุ่นหัวใจที่ เสิร์ฟไปแล้ว 118,000 เล่ม ในประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่องราว ที่ใช้ 12 เฉดสีในการเล่าเรื่อง และที่สำคัญคือผู้คนในแต่ละเรื่องมีบางส่วนที่เชื่อมโยงถึงกันด้วย

เคยสงสัยไหมว่าโทนสีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีอิทธิพลต่อตัวเรามากแค่ไหน

ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลที่ดูอบอุ่นจากโกโก้ในยามเช้า หรือสีเขียวสดใสจากต้นไม้ริมทาง ทุกสีมีคุณสมบัติทางจิตวิทยาในการส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา เช่นเดียวกับโกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ หนังสือที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวอันแสนอบอุ่น เล่าผ่านโทนสีทั้งหมด 12 สี!

ในแต่ละตอนจะมีโทนสีกำกับเอาไว้ และเชื่อมโยงสีกับบางสิ่งที่เป็นคีย์หลักของเรื่อง นอกจากนั้นยังมีสถานที่กำกับไว้ด้วย เมื่อเราจินตนาการโทนสีควบคู่ไปกับสถานที่ ก็จะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น และแน่นอนว่า ทำให้คุณเข้าถึงอารมณ์ในหนังสือได้ไม่ยากเลย

วันนี้เราจึงขอนำทฤษฎีสีที่ผูกกับเรื่องย่อในแต่ละตอนมาฝากนักอ่านกันสักหน่อย

เตรียมพบกับ 12 เรื่องราว ที่บอกเล่าผ่าน 12 โทนสีในโกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ ได้ ณ บัดนี้

 

วันพฤหัสฯต้องดื่มโกโก้ [Brown / Tokyo]

“เธอคนนั้นที่ผมหลงรัก คือคุณโกโก้”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีน้ำตาลจะให้ความรู้สึกอบอุ่น จริงใจ เป็นมิตร และพิถีพิถัน ในขณะที่สีน้ำตาลอ่อนเป็นตัวแทนแห่งความซื่อสัตย์และความมั่นคง สีน้ำตาลเข้มก็ประกอบไปด้วยความเป็นผู้ใหญ่และความพึ่งพาได้

ความหมายของสีน้ำตาลทั้งหมดล้วนแสดงออกถึงความรู้สึกลึกซึ้งของ บาริสต้าหนุ่ม ที่มีต่อคุณโกโก้ เรื่องราวความรักอันแสนอบอุ่นของบาริสต้าหนุ่มประจำมาร์เบิ้ลคาเฟ่ถูกเล่าผ่านการใช้สีน้ำตาลจากโกโก้แก้วโปรดของคุณลูกค้าคนสำคัญที่เติมเต็มหัวใจของเขาในแต่ละวัน

 

ไข่ม้วนชวนเครียด [Yellow / Tokyo]

“สีเหลือง”
“ใช่ ปัญหาคือสีเหลือง ของกินสีเหลือง แถมอยู่ในข้าวกล่อง มีแค่เจ้านั่นอย่างเดียว”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีเหลืองเป็นสีที่อุดมไปด้วยความสดใสร่าเริง พลังงานบวก และแสงสว่าง และเป็นสีที่ปลุกสมองให้ตื่นตัวได้เป็นอย่างดี สีเหลืองจึงถูกนำมาใช้เป็นสีของเครื่องหมายและสัญลักษณ์ความปลอดภัยอย่างแพร่หลาย เช่น ป้ายบ่งชี้ถึงเขตอันตราย

ทว่าความเบิกบานของสีเหลืองกลับทำให้ อาซามิ เกิดความกังวลใจอย่างไม่คาดคิด คุณแม่ที่กำลังหัดทำข้าวกล่องให้ลูกชายอย่างอาซามิ กลับมีปัญหากับเจ้าไข่ม้วน ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ออกมาไม่น่ากินเอาเสียเลย ไข่แบนราบไม่พองฟูบ้าง หรือติดกระทะจนม้วนไม่ได้บ้าง แถมสูตรในแต่ละที่ก็แตกต่างกันจนเธอสับสนไปหมด

สุดท้ายแล้ว อาซามิจะเอาชนะความทุกข์ใจที่มีต่อสีเหลืองของไข่ม้วนเจ้าปัญหานี้ได้โดยวิธีใด ต้องติดตาม

 

ไม่ใช่แค่เล็บที่เติบโต [Pink / Tokyo]

“ไม่ทาสีชมพูแล้วหรือ”
“อื้อ ไม่ทาแล้ว”
“ทำไมล่ะ”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีชมพูสื่อถึงความอ่อนโยน ความนุ่มนวล และความน่าทะนุถนอม สีชมพูเข้มแสดงถึงความมั่นใจและความเป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่สีชมพูอ่อนมีภาพลักษณ์ของความเยาว์วัยและความไร้เดียงสา

เล็บสีชมพูที่ตัดสั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยของ คุณครูเอนะ กลายเป็นจุดสนใจของเด็กๆ และเกิดเป็นปัญหาในภายหลัง เสน่ห์อันอ่อนหวานของเล็บสีชมพูของคุณครูเอนะได้รับคำชมจากเด็กๆ มากมายแต่กลับยิ่งทำให้เธอไม่สบายใจ และสัมผัสได้ถึงความวุ่นวายที่กำลังจะตามมา

 

นักบุญผู้มุ่งหน้า [Blue / Tokyo]

“ไม่เอาหรอก ความจริงฉันไม่ชอบสีน้ำเงินอยู่แล้วด้วย ดูเย็นชายังไงไม่รู้”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีน้ำเงินสร้างบรรยากาศความสงบ สุขุม อิสระ และความผ่อนคลาย แต่ในทางลบ สีน้ำเงินเป็นตัวแทนความหม่นหมองและเย็นชา ดังสำนวนภาษาอังกฤษ “feeling blue” ที่ใช้สื่อถึงความรู้สึกเศร้าใจ

ซัมธิงโฟร์ที่ ริสะ ตั้งใจจะพกติดตัวในพิธีแต่งงานเพื่อความสุขชั่วนิรันดร์ ที่ประกอบไปด้วยของเก่า ของใหม่ ของยืม และของสีน้ำเงิน

แต่มันยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากของสีน้ำเงินที่ขาดหาย ริสะที่ไม่ชอบความเย็นชาของสีน้ำเงินเป็นทุนเดิมจะตัดสินใจใช้ของสีน้ำเงินชิ้นไหนในงานวิวาห์ของตัวเอง ที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงและความยินดีกันนะ

 

ชะตานำพา [Red / Sydney]

“อยู่ด้วยกันอย่างรักใครกลมเกลียวได้ถึงห้าสิบปี ทั้งสองคนต้องถูกผูกโยงด้วยด้ายแดงแห่งพรหมลิขิตแน่ๆ เลยค่ะ”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีแดงมีความหมายในด้านความรัก ความปรารถนาและความร้อนแรง รวมถึงความโกรธ ความอันตราย และความก้าวร้าว และเป็นสีที่สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี สีแดงจึงถูกนำมาใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยในระดับสากล

สีแดงในตอนนี้ แสดงสัญญะที่เกี่ยวกับความรัก

ด้ายแดงแห่งพรหมลิขิตเป็นดั่งสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคู่รักให้อยู่คู่เคียงข้างกันตราบนานเท่านาน ริสะ ที่พลัดหลงกับ คุณฮิโระยุกิ ระหว่างการฮันนีมูนที่สวนสัตว์ทารอนก้า ประเทศออสเตรเลีย จะใช้ด้ายแดงแห่งความรักช่วยนำทางได้สำเร็จหรือไม่ ติดตามได้ในเล่ม

 

เรื่องรักครึ่งศตวรรษ [Grey / Sydney]

“ฉันว่าเรือนผมสีเทาของคุณชินอิจิโร่ดูงดงามกว่าหลายเท่าเลย”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีเทาเป็นสีที่มีความเป็นกลาง ความสมดุล ความเสถียรและความเป็นผู้ใหญ่ แม้จะเป็นสีที่ดูอึมครึมและไร้ชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความเป็นทางการและความมีระเบียบ

แม้ผมสีเทาของ คุณชินอิจิโร่ จะดูไร้ชีวิตชีวาหรือดูมีอายุอย่างที่ใครหลายคนคิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ มิซาโกะ ผู้เป็นภรรยารู้สึกไร้ชีวิตชีวาเลยแม้แต่น้อย

กลับกันมันยังเป็นสีเทาที่เข้ามาแต่งแต้มและเติมเต็มให้ชีวิตเธอมีสีสันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

เคาต์ดาวน์ [Green / Sydney]

“ยากนักที่จะมีใครเข้าใจ แต่สีที่ฉันหลงรักคือสีเขียวสีเดียว”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีเขียวเป็นสัญลักษณ์แห่งธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกแจ่มใส มีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็สามารถเยียวยาจิตใจที่ฟุ้งซ่านให้สงบลงได้เช่นกัน

สีเขียวช่วยคลายความกังวล ความตื่นตระหนก และฟื้นฟูความอ่อนล้าภายในได้ด้วย

ในตอนนี้ เป็นเรื่องราวของ ยู หญิงสาวผู้มีใจรักในการวาดรูปที่เดินทางไปไกลถึงออสเตรเลียเพื่อรังสรรค์ผลงานใหม่ด้วยสีเขียวที่เธอโปรดปราน แม้จะชอบสีเขียวมากขนาดไหน แต่ศิลปินอินดี้อย่างเธอกลับไม่ใช้สีเขียวสำเร็จที่มีคนผสมมาให้ แต่เธอจะผสมสีเขียวด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้เฉดสีเขียวตามที่เธอต้องการ

นอกจากสีเขียวบนหน้ากระดาษสเก็ตช์ภาพที่คุ้นเคยแล้ว สีเขียวเฉดใหม่ที่ทำให้หัวใจเธอปั่นป่วนก็มาปรากฎตัวตรงหน้าอย่างไม่คาดฝัน

 

วันงดงามที่สุดของคุณราล์ฟ [Orange / Sydney]

“สำหรับคุณราล์ฟและร้านแห่งนี้ สีส้มคือ “สีประจำตัว” เขามีความทรงจำกับมันเล็กน้อย”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีส้มเป็นส่วนประกอบของความกระตือรือร้นและความกระปรี้กระเปร่า การผสมผสานระหว่างสีแดงที่กระตุ้นพลัง และสีเหลืองที่เต็มไปด้วยความสดใส ทำให้สีส้มเป็นดั่งความเจิดจ้าที่ช่วยจุดกำลังใจในวันที่เหนื่อยล้า

ร้านแซนด์วิชเล็กๆ ที่โดดเด่นไปด้วยสีส้มสดใสของ คุณราล์ฟ ผู้รอคอยการกลับมาของใครบางคน ใครบางคนที่มอบความหมายให้สีส้ม ใครบางคนที่เป็นต้นตอของกลิ่นหอมหวานละมุน ใครบางคนที่เป็นเจ้าของรอยยิ้มที่ทำให้หัวใจเขาเต้นแรง

 

แม่มดถึงกำหนดกลับ [Turquoise / Sydney]

“เทอร์คอยส์คือสีของฉัน อธิบายไม่ถูกว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้นมากเหลือเกิน”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีเทอร์คอยส์เป็นส่วนผสมของความสงบจากสีฟ้า และความเติบโตจากสีเขียว นอกจากนั้นมันยังส่งพลังงานความเบิกบานที่มีในสีเหลืองได้อีกด้วย ความสมดุลใน 3 สีที่ผสมกันนี้ช่วยมอบดุลยภาพทางจิตใจและอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

ซินดี้ ฝันอยากเป็นแม่มดเพราะหลงใหลในศาสตร์เวทมนตร์อันลึกลับและสีเทอร์คอยส์ ซึ่งมีที่มาจากหินมหัศจรรย์ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เธอหลงรักกลับเป็นคนห้องข้างๆ ผู้เป็นความธรรมดาที่แสนจะพิเศษในสายตาของเธอเสมอมา

 

หากวันนั้นฉันไม่ได้พบเธอ [Black / Sydney]

“ตาสีดำ งดงามจริงๆ”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีดำมีความหมายหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นความเรียบหรูสง่างาม ความมืดมิดอันลึกลับ ความทุกข์โศก หรือแม้กระทั่งความชั่วร้าย โดยรวมนั้นสีดำเป็นสีคลาสสิกที่มอบพลังงานทั้งด้านบวกและด้านลบ

นัยน์ตาสีดำของ อัคโกะ ที่ตัวเธอเองไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจของ เกรซ เพื่อนรักต่างแดนที่รู้จักกันผ่านการแลกเปลี่ยนจดหมายมานานนับหลายปี

ทั้งสองเป็นดั่งจิ๊กซอว์ที่ต่อเติมกันและกันไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปสักเพียงไหนก็ตาม

 

สัญญาสามสี [Purple / Sydney]

“ฉันชอบดูจาคารันดาที่นี่น่ะ พอเห็นทิวทัศน์สีม่วงแล้วจะรู้สึกว่า ฮ้า ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนแล้วสินะ”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีม่วงเชื่อมโยงถึงพลังอำนาจ ความมั่งคั่ง ความลึกลับ รวมไปถึงความเศร้าโศก ความหมายของสีม่วงมักแปรผันไปตามโทนต่างๆ เช่น สีม่วงอ่อนจะให้ความรู้สึกอ่อนหวานและโรแมนติก ในขณะเดียวกันสีม่วงเข้มมักแสดงออกถึงความหรูหรา

นอกจากต้นจาคารันดาสีม่วงอ่อนและต้นซากุระสีชมพูจะเปรียบเสมือนตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิของออสเตรเลียและญี่ปุ่นแล้ว ต้นไม้ต่างถิ่นทั้ง 2 ต้นนี้ ยังเป็นดั่งคำมั่นสัญญาที่ผูกความสัมพันธ์ระหว่าง แมรี่ และ มาโกะ ผู้เป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่สมัยเด็กไว้อย่างแน่นแฟ้น

 

จดหมายรัก [White / Tokyo]

“ไม่ว่ากลีบดอกไม้สีชมพูที่ร่วงโรย สีเขียวของใบอ่อน ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสีแดงฉาน หรือหิมะขาวโพลนบริสุทธิ์ จากนี้ไปฉันอยากดูสิ่งเหล่านั้นกับคุณ”

ในทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา สีขาวคือความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสาและความสะอาด เป็นสีที่ทำให้นึกถึงการเริ่มต้นใหม่ ความสมบูรณ์แบบ ความสง่างาม และความสงบเงียบ แต่ในบางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวได้เช่นกัน

ในวันแห่งฤดูหนาวที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน โลกทั้งใบของหญิงสาวได้แปรเปลี่ยนเป็นสีชมพูแห่งความรักตั้งแต่แรกได้ยินน้ำเสียงแสนจริงใจของใครคนหนึ่ง ความเยือกเย็นของหิมะไม่อาจทำลายความรู้สึกอบอุ่นที่ก่อขึ้นในใจของเธอได้แม้แต่น้อย

 

เป็นอย่างไรบ้าง กับเรื่องราวทั้ง 12 เรื่องที่เล่าผ่านโทนสีทั้ง 12 โทนที่ให้ความรู้สึกกับผู้อ่านแตกต่างกันไปแน่นอน สำหรับคนที่ชอบอ่านนิยายอบอุ่นหัวใจ ห้ามพลาดเล่มนี้เด็ดขาดเลยนะ

 

โกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ

วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ

ระยะห่าง ระหว่างเรา (So Close yet So Far) หนังสือที่ทำให้คุณเข้าใจความสัมพันธ์มากขึ้น

Q&A กับทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ The Clound เจ้าของหนังสือ โปรดอ่านใต้แสงเทียน เพราะผมเขียนใต้แสงดาว

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า