80 ปี “เดอะฮอบบิท” กับ 8 ข้อที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

คุณค่าของหนังสือหนึ่งเล่ม ไม่ได้วัดที่ “เงิน” จากการขายดี ขายได้  แต่หนังสือหนึ่งเล่มที่อยู่บนโลกมาถึง 80 ปี คนทุกชาติ ทุกภาษาได้อ่านและพูดถึงในทางที่ดีมาตลอด ก็สะท้อน “คุณค่า” ในงานวรรณกรรมเล่มนั้นได้เป็นอย่างดีดั่งเช่นวรรณกรรมขึ้นหึ้งเรื่อง เดอะฮอบบิท (The Hobbit) 

 

ปี 2017 นี้ ฮอบบิทจะมีอายุครบ 80 ปี และนี่คือ 8 ข้อที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

ฮอบบิทอายุ 80 ขวบ

สำนักพิมพ์แพรวเยาวชนจัดพิมพ์ ฮอบบิท มาแล้ว 22 ครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นฉบับเปลี่ยนปกในวาระภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในบ้านเรา และครั้งนี้หลังจากตีพิมพ์ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เล่มใหญ่ ฉบับภาพประกอบสี่สี โดยอลัน ลี ผู้ได้รับยกย่องว่าถ่ายทอดฉากต่างๆ ออกมาได้อย่างงดงามและสมจินตนาการที่สุด สำนักพิมพ์จึงจัดฉบับฮอบบิท ปกแข็ง ครบรอบ 80ปีนี้ออกมาคู่กัน สำหรับนักอ่านที่ชื่นชอบมหากาพย์เรื่องนี้และอลัน ลีโดยเฉพาะ

 

[su_note note_color=”c77e46″]อลัน ลี เป็นศิลปินชาวอังกฤษ วาดภาพประกอบนิยายแนวแฟนตาซ๊ไว้เป็นจำนวนมาก แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก็คืองานวาดภาพประกอบหนังสือชุด ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ นี่เอง และเมื่อปีเตอร์ แจ๊กสัน สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ อลัน ลี ก็ได้รับคำเชิญให้เป็นศิลปินหลักในการดูแลกำกับฉากเบื้องหลัง รวมทั้งเรื่องฮอบบิทด้วย[/su_note]

 

 

 

“มีฮอบบิทคนหนึ่งอาศัยอยู่ในรู”

เรื่องราวมหากาพย์ต่างๆ นานาของโทลคีน เริ่มต้นเพราะประโยคนี้นี่ละ

ช่วงต้นทศวรรษ 1930 ขณะตรวจข้อสอบนักศึกษาอยู่ โทลคีนเขียนใส่กระดาษไว้ว่า “มีฮอบบิทคนหนึ่งอาศัยอยู่ในรู” เป็นประโยคที่จู่ๆ ก็ผุดขึ้นมา ไม่มีที่มาที่ไปใดๆ หลังจากนั้นประโยคนี้ก็ค้างเติ่งอยู่นานหลายปี กว่าโทลคีนจะเขียนเรื่องต่อ

 

ช่วงที่เขียน “ฮอบบิท” เขาก็เล่าให้ลูกชายฟังไปด้วย ซึ่งตอนนั้นคริสโตเฟอร์ โทลคีน (ลูกชายคนที่ 3) อายุเพียง 4-5 ขวบ แต่กลับช่วยจับผิดรายละเอียดในเรื่องฮอบบิทได้เยอะมาก เช่นตอนที่โทลคีนเล่าถึงประตูบ้านฮอบบิทกับพู่บนหมวกธอริน คริสโตเฟอร์ก็ขัดขึ้นมาทันที

 

“คราวก่อนพ่อบอกว่าประตูหน้าบ้านบิลโบเป็นสีน้ำเงิน และก็บอกว่าพู่บนหมวกธอรินน่ะสีทอง แต่เมื่อกี้พ่อเล่าว่าประตูบ้านบิลโบสีเขียว พู่ของธอรินสีเงินนะฮะ”

 

จากนั้นโทลคีนก็จะเดินกลับไปยังโต๊ะเขียนหนังสือ พลางบ่นพึมพำไปด้วยว่า “เด็กบ้าเอ๊ย!” แล้วเขาก็จดรายละเอียดเหล่านี้เก็บไว้เพื่อแก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้อง

 

 

โทลคีนใช้เวลาเล่าไปเขียนไปแบบนี้อยู่ 2 ปี ต้นฉบับก็เสร็จ แต่ใช้เวลาหลังจากนั้นอีกถึง 5 ปี กว่าฮอบบิทจะได้ตีพิมพ์

 

 

 

ความแตกต่างของตระกูลแบ๊กกิ้นส์

เดอะ ฮอบบิท วางแผงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1937  หลังจากนั้นอีก 17 ปีต่อมา ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ตอนแรกจึงตามออกมา จึงกล่าวได้ว่า นี่คือบทโหมโรงของมหากาพย์ที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก แต่การผจญภัยของบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ แตกต่างจากการเผชิญภัยของโฟรโด้อย่างเห็นได้ชัด

 

โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ใน ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ไม่ได้สมัครใจจะไปเผชิญภัยทั้งหลายทั้งปวง เขาถูกผลักดันเข้าไปทำ และถูกกระตุ้นโดยจิตสำนึกว่าต้องทำ โฟรโดออกเดินทางโดยไม่รู้สาเหตุว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะนำไปสู่เรื่องใด จะได้กลับบ้านอีกครั้งหรือไม่

แต่บิลโบออกผจญภัยด้วยความสมัครใจ แม้จะตกกระไดพลอยโจนอยู่บ้างในช่วงแรก  แต่เป็นการผจญภัยเพราะอยากหนีจากความซ้ำซากจำเจเดิมๆ (แม้จะคิดถึงที่นอนอุ่นบายอยู่บ้าง) เป็นการผจญภัยที่จริงๆ แล้วจะหนีกลับก่อนก็ได้ ไม่มีภารกิจใดๆ ให้รับผิดชอบ และที่สำคัญคือ เขารู้ว่าเมื่อเสร็จสิ้นการผจญภัยแล้ว เขาจะได้กลับบ้าน

 

นี่อาจเป็นเหตุผลที่เรื่องนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า There and Back Again

 

 

 

โทลคีนยืมชื่อมา

ชื่อเท่ๆ เก๋ๆ ของเหล่าพ่อมด คนแคระ ในนิยายนั้น โทลคีนไม่ได้เป็นผู้คิดค้นคำใหม่ๆ มาแต่อย่างใด เขา ยืม มาจาก the Völuspá เป็นตำนานเทพปกรณัมนอร์สที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดโลก ซึ่งแม้กระทั่งคำว่า ฮอบบิท  โทลคีนก็ยืมมาจาก The Oxford English Dictionary  ซึ่งคำว่า ฮอบบิทนั้นถูกพบครั้งแรกในปีทศวรรษที่ 19 ในหนังสือคติชน โดยผู้เขียนคือ Tooks ได้ให้ความหมายของคำว่า ฮอบบิทไว้ว่า เป็นคำเรียกพวกคนตัวเล็กๆ หรือกลุ่มนางฟ้า

 

 

 

 

 

ฮอบบิทเริ่มต้นที่ 1,500 เล่ม

ฮอบบิท (The Hobbit or There and Back Again) ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษด้วยยอดพิมพ์เพียง 1,500 เล่ม แต่…ในยุคที่ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กให้กระพือข่าวหนังสือแบบทุกวันนี้ ฮอบบิทล็อตแรกกลับขายหมดเกลี้ยงภายในเวลา 3 เดือน คุณพระ!  เรียกได้ว่ากระแสของฮอบบิทดีมากจนสำนักพิมพ์ขอให้โทลคีนรีบเขียนเรื่องอื่นๆ ออกมาอีก ปลายปีนั้นเขาจึงส่งต้นฉบับตำนานแห่งซิลมาริลให้ แต่สำนักพิมพ์กลับปฏิเสธ (อ้าว!)

 

ปีต่อมา “ฮอบบิท” เดินทางออกนอกประเทษอังกฤษ ข้ามทวีปไปพิมพ์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้คนรู้จักฮอบบิทเพิ่มขึ้นอีก

 

9 ปีหลังจากขายในอเมริกา ฮอบบิทก็ทยอยแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นจากสวีดิช เยอรมัน ดัตช์ โปลิช โปรตุกีส สแปนิช ยาวไป ยาวไป จนได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อปีค.ศ.2002 แล้วก็ติดอันดับ 3 หนังสือขายดีตลอดกาลของสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน (ตบมือ!!!)

 

ปัจจุบันฮอบบิทแปลไปแล้ว 60 ภาษาถ้วน แถมยังมีการขายลิขสิทธิ์เพิ่มเรื่อยๆ อีกต่างหาก ส่วนจำนวนเล่มที่ขายได้ทั่วโลกนั้น…เกิน 100 ล้านเล่มไปเรียบร้อย

 

 

 

“ฮอบบิท” แปลเป็นภาษาสวีดิชเป็นภาษาแรก

“ฮอบบิท” แปลเป็นภาษาสวีดิชเป็นภาษาแรก ตีพิมพ์หลังจากต้นฉบับภาษาอังกฤษถึง 10 ปี โดยใช้ชื่อว่า “Hompen, eller En resa dit och tillbaksigen” แต่โทลคีนไม่ชอบใจฉบับแปลนี้เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะการเรียกฮอบบิทว่า Hompe และภาพประกอบข้างในก็มีบางจุดที่ผิดๆ เพี้ยนๆ ไปจากความจริง เช่น กอลลัมตัวใหญ่เกินไป

 

ความผิดหวังครั้งนี้ทำให้กว่าฮอบบิทจะได้พิมพ์เป็นภาษาอื่นอีกครั้งก็ต้องรออีก 10 ปี ซึ่งครั้งนี้โทลคีนระมัดระวังและกำชับสำนักพิมพ์เยอรมันที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปว่าให้ตรวจเช็กข้อมูลและชื่อเฉพาะให้ดี ส่วนฮอบบิทภาษาสวีดิช ก็ได้พิมพ์แก้ตัวอีกครั้งในปีค.ศ.1962 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “Bilbo – En hobbits äventyr” กลับมาเรียกฮอบบิทว่า ฮอบบิท และเปลี่ยนคนวาดภาพประกอบเป็นตูเว ยานซอน ผู้เขียนและวาดมูมินนั่นเอง

 

 

 

เดอะฮอบบิท

ต้องขอบคุณเด็ก 10 ขวบที่ทำให้ฮอบบิทตีพิมพ์

“ฮอบบิท” จะอายุครบ 80 ปีเต็มในปี 2017 แต่กว่าวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกเล่มนี้จะได้ตีพิมพ์ก็ใช้เวลาพอสมควร แถมจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ได้พิมพ์ กลับเป็นเด็กอายุ 10 ขวบซะนี่!

 

เจ.อาร์.อาร์.โทลคีน เขียนต้นฉบับฮอบบิทเสร็จตั้งแต่ปลายปีค.ศ.1932 เขาส่งต้นฉบับนั้นให้เพื่อนๆ อ่าน (หนึ่งในนั้นคือซี.เอส.ลูอิส ผู้เขียนเรื่องตำนานแห่งนาร์เนีย) นอกจากนี้ก็ส่งให้ลูกศิษย์บางคนอ่านด้วย จนกระทั่งปีค.ศ.1936 ต้นฉบับไปถึงมือ สแตนลีย์ อันวิน (Stanley Unwin) เจ้าของสำนักพิมพ์ George Allen & Unwin ผู้เอาต้นฉบับ “ฮอบบิท” กลับบ้านไปให้เรเนอร์ (Rayner) ผู้เป็นลูกชายอ่าน และให้เขียนรีวิวแลกเงิน 1 ชิลลิ่ง…ซึ่งรีวิวนี้แหละที่ทำให้สแตนลีย์ตัดสินใจพิมพ์เรื่องฮอบบิท!

 

และนี่คือรีวิวของเด็กชายวัย 10 ขวบ…

[su_quote]“บิลโล แบ๊กกิ้นส์ เป็นฮอบบิท อาศัยอยู่แต่ในโพรงฮอบบิทและไม่เคยออกไปผจญภัยที่ไหนเลย จนกระทั่งพ่อมดชื่อแกนดัล์ฟและคนแคระยุให้บิลโบออกเดินทางนั่นแหละ บิลโบจึงได้เจอช่วงเวลาอันแสนตื่นเต้น ทั้งการสู้กับก็อบลินและวอร์กป่า จนในที่สุดบิลโบก็เดินทางไปถึงภูเขาโลนลี่ และได้เจอสม็อก มังกรเฝ้าภูเขา ซึ่งมันโดนฆ่าทิ้ง หลังการต่อสู้ครั้งใหญ่ บิลโบก็ได้เดินทางกลับบ้าน—เยี่ยมเลย!

 

หนังสือเล่มนี้มีแผนที่หลายภาพ ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบก็ได้ เนื้อเรื่องดีและควรให้เด็กอายุ 5 – 9 ขวบทุกคนอ่าน”[/su_quote]

 

 

ต้องขอบคุณเรเนอร์ที่ทำให้เราได้รู้จักฮอบบิทนะ

 

มีเพื่อนรักก็ดีแบบนี้แหละ

ตอน เดอะฮอบบิท ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1937 มีบุคคลนิรนามเขียนรีวิวชมเรื่องนี้หนักมากลง Times Literary Supplement ถึงกับยกย่องให้ฮอบบิทเป็นวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้ง ซึ่งคนที่เขียนรีวิวนี้จริงๆ แล้วเป็นนักเขียนนิยายแฟนตาซีชื่อดัง ซี. เอส. ลูอิส (C. S. Lewis)  ซึ่งเป็นเพื่อนรักตลอดกาลของโทลคีนนั่นเอง

 

 

 

ข้อมูลจาก ฮอบบิท ฉบับครบรอบ 80 ปี โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน

www.ign.com


บทความที่เกี่ยวข้อง

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า