นี่คือวิธีการ ฝึกจิต ป้องกันไม่ให้กิเลสปรากฏตัวออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำที่จะช่วยให้เราสามารถจับจิตเอาไว้ได้ง่ายขึ้น เมื่อความโลภ ความโกรธ และความหลงปรากฏตัวออกมายากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้เราทำสิ่งที่ดีจนเป็นนิสัย มาดูวิธี ฝึกจิต ทั้ง 9 ข้อกัน
ฝึกจิต ควบคุมความอยาก
หากเราให้แรงดึงดูดที่เป็นความโลภทำงาน จิตจะปั่นป่วน และแรงใจในการทำงานก็จะหยุดชะงักลง
สิ่งสำคัญในการฝึกจิต คือ การเข้าใจถึงเหตุและผลนั้นแล้วตั้งใจตรวจดูจิตให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ความโลภบุกรุกเข้ามาได้
ควบคุมความโกรธ
หากเราให้ความโกรธซึ่งพลังการผลักไสทำงาน เราก็จะรู้สึกกระวนกระวายใจ แล้วภายในร่างกายก็จะเต็มไปด้วยสารพิษ กลายเป็นแหล่งที่จะดึงเอาความทุกข์ทั้งหมดที่มีเข้ามา กล่าวได้ว่าความโกรธนี้แหละที่เป็นกิเลสตัวแรกเลยที่ควรระวังและควรขจัดออกไปจากเรา
มองให้เห็นความเป็นจริง
เมื่อพลังที่จะทำให้ความหลงทำงานเกิดขึ้น จิตจะออกห่างจาก “ขณะปัจจุบัน” แล้วกระจัดกระจายไปที่โน่นที่นี่ และกลายเป็นแหล่งเพาะความโลภและความโกรธ การจะจับเอาชั่วขณะที่พลังงานนี้เกิดขึ้นเอาไว้ได้นั้นจำเป็นจะต้องมีความใส่ใจที่ละเอียดมาก หากเรารู้ตัวแล้วป้องกันเอาไว้ได้ จิตที่มีความสงบเป็นปกติ ไม่สั่นไหว และแจ่มชัดก็จะเติบโตขึ้น
ไม่โกหก
การโกหกนั้น เกือบทั้งหมดเป็นไปเพื่อการทำให้ความต้องการของตนเองบรรลุผล ดังนั้นเมื่อโกหกแล้วพลังงานที่เป็นความต้องการก็จะถูกกระตุ้นและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น หากเราโกหกแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะต้องโกหกซ้ำอีกในครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้ความจริงถูกเปิดเผย และในแต่ละครั้งที่โกหก สิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริงก็จะถูกใส่ลงไปในจิตใต้สำนึกทุกครั้ง เมื่อทำซ้ำๆ จิตจะยิ่งสับสนวุ่นวายยิ่งขึ้น ทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดน้อยลง สูญเสียสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจไปทีละนิด
ไม่วิพากษ์วิจารณ์
เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ “ทิฏฐิ” ซึ่งเป็นการยึดติดกับความคิดของตนก็จะถูกกระตุ้น และพลังงานความโลภที่บอกว่า “ฉัน! ฉัน!” ก็จะเพิ่มขึ้น และเนื่องจากมีความรู้สึกที่เป็นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามเข้ามาร่วมด้วย พลังงานความโกรธก็จึงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
การพูดเรื่องที่ไม่ดีหรือเขียนสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกไม่พอใจ ภาพยนตร์ที่คิดว่าน่าเบื่อ เพลงหรือหนังสือที่ไม่ชอบ เป็นต้น เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยบนโลกใบนี้ แต่นั่นเป็นเพียงการกระทำที่ทำให้ตัวเราแปดเปื้อนและดูน่ารังเกียจด้วยความโลภและความโกรธ
ไม่นินทา
หากเรานินทาใครสักคนที่ไม่อยู่ในสถานที่นั้น จิตก็จะปั่นป่วนด้วยพลังงานความโกรธ แทนที่จะเป็นการระบายความเครียด แต่กลับกลายเป็นการทำให้ความเครียดที่ซ่อนตัวอยู่เพิ่มปริมาณมากขึ้น อีกทั้ง เมื่อมองจากแง่ของการประมวลผลข้อมูลของจิตแล้ว การที่เราจำเป็นต้องพูดเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเมื่อมีอีกฝ่ายอยู่ด้วยนั้น มีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของพลังงานความหลงซึ่งเกิดจากความสับสนวุ่นวายของห่วงโซ่ข้อมูล
ไม่พูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์
การพูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการพูดโอ้อวดตนนั้น แม้ว่าฝ่ายที่พูดจะรู้สึกสนุก แต่ฝ่ายที่ฟังมักจะรู้สึกทรมาน
เมื่อเราเล่าเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เรามักพูดไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงว่า ในบทสนทนานี้เราจำเป็นต้องถ่ายทอดอะไรออกไป หรืออีกฝ่ายได้ฟังเรื่องแบบใดจึงจะรู้สึกสนุก
นี่เป็นการแพร่ข้อมูลออกไปโดยปราศจากการตรวจสอบหรือควบคุมให้ดี ผลคือความสามารถในการควบคุมตนเองจะลดลง และทำให้พลังงานความหลงเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ในขณะที่เรากำลังพูดกับอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ นั้น ภายในจิตก็กำลังกระตุ้นพลังงานความต้องการที่ว่า “เข้าใจฉันสิ! ยอมรับฉันสิ!” อยู่
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องจำไว้ว่า การโวยวายเรียกร้องให้คน “ยอมรับสิ!” นั้นกลับจะยิ่งทำให้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไกลห่างออกไปอีก
ไม่นอกใจ
การนอกใจ มีที่มาจากพลังงานความโลภที่มีมากเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถรู้สึกพอใจกับคนรักเพียงคนเดียวได้ นอกจากนี้พลังงานความหลงที่ไม่สามารถจดจ่ออยู่ที่คนคนหนึ่งได้ ทำให้หลงไปทางนั้นทีทางนี้ทีก็ยังถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงอีกด้วย
การกำลังคบกับคนคนหนึ่งเท่ากับเป็นการหักหลังอีกคนหนึ่ง และการกำลังคบกับคนอีกคนหนึ่งก็เป็นการหักหลังคนอื่นไปอีก ความรู้สึกผิดที่เกิดในเวลานั้นจะกลายเป็นความไม่พอใจ ทำให้พลังงานความโกรธเพิ่มขึ้น
คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังถูกนอกใจ และนำไปพัฒนาเรื่องราวที่เป็นความโกรธต่อว่า “เราไม่ได้รับการให้ความสำคัญ” ทำให้เราต้องหาข้อแก้ตัวให้ได้เพื่อหลบเลี่ยงความคิดนั้น จิตจึงไม่มีความสงบ
ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิต
สาเหตุที่การไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นกฎสำหรับควบคุมตนเองที่สำคัญ เพราะการฆ่าสิ่งมีชีวิตนั้นใช้พลังงานความโกรธที่รุนแรงเป็นอย่างมาก
ในกรณีที่เราจะฆ่าเป็นมนุษย์ พลังงานความโกรธที่รุนแรงมากเป็นพิเศษจะถูกเรียกตัวมารวมกัน แต่ความจริงแล้วไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นยุงหรือแมลงสาบก็ไม่แตกต่างกัน ในกรณีนี้พลังงานความโกรธก็ถูกกระตุ้นเช่นกันว่า “สิ่งมีชีวิตที่ฉันเกลียดนี่นา เกะกะขวางทางฉันเสียจริง สิ่งมีชีวิตแบบนี้น่าจะตายๆ ไปซะ ไม่สิ มันสมควรตาย”
อย่างน้อยเพื่อไม่ให้ฆ่า ขอแนะนำให้กางมุ้ง หรือใช้ยากันยุง
การเปลี่ยนความคิดจาก “เดี๋ยวฆ่าซะเลย” เป็น “ช่วยไปที่อื่นหน่อยได้ไหม” จะทำให้พลังงานความโกรธลดลง ทำให้จิตผ่อนคลายขึ้น และการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดนิสัยที่ดีงามขึ้นมา
พบวิธีฝึกจิต ไม่ให้โกรธอีกต่อไป รวมทั้งป้องกันความโลภและความหลงมากระตุ้นให้โกรธ
เพิ่มเติมได้จากหนังสือ ไม่โกรธอีกต่อไป
สนพ. อมรินทร์ธรรมะ
บทความอื่นๆ
Pingback: ความเข้าใจผิดเรื่องความรัก : คิดแบบนี้ความรักถึงไปไม่รอด
Pingback: 4 วิธีฝึกสติในที่ทำงาน : แค่รับโทรศัพท์ที่ออฟฟิศก็สามารถฝึกสติได้
Pingback: ความเครียดและ วิธีผ่อนคลายความเครียด ทางร่างกาย ร้านหนังสือออนไลน์ในเครืออมรินทร์
Pingback: วิธีใช้ชีวิตให้มีความสุข : เทคนิคดีๆ เริ่มต้นตั้งแต่ตื่นนอน ร้านหนังสือออนไลน์ในเครืออมร
Pingback: ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงไหม เราจะอธิบายได้อย่างไร - ร้านหนังสือออนไลน์ในเครืออมรินทร์