การสัมผัสรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เสียงแค่เพียงแผ่วเบา หรือกระทั่งแสงเลือนราง คือสาเหตุที่ทำให้คนอ่อนไหวง่ายเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป คนที่อ่อนไหวง่ายยังคาดเดาสภาพร่างกายของตัวเองได้ดีเยี่ยม จึงยิ่งเหนื่อยง่ายมากขึ้น ขอแนะนำ “4 กลเม็ดช่วยคนเครียดง่าย เพราะความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าง่ายเวอร์” วิธีพลิกแพลงเพื่อลดแรงบั่นทอนที่คนอ่อนไหวง่ายได้รับจากสิ่งกระตุ้นเร้าจนทำให้เครียด
1. พลิกแพลงเพื่อปกป้องตัวเองจาก “สิ่งกระตุ้นเร้า”
วิธีนี้เป็นเคล็ดลับป้องกันในเชิงกายภาพแทนการปิดกั้นหัวใจ การข่มประสาทรับรู้ไว้ระยะหนึ่งเวลาอยู่ในสถานที่ที่ไม่ชอบหรือเวลาเจอกับคนไม่ถูกชะตาเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ไม่จะเป็นการอิ่มเอมกับเรื่องน่ายินดี การสัมผัสสิ่งไม่น่าพิสมัยหรือสิ่งชวนให้เจ็บปวด ล้วนต้องใช้ “ประสาทรับรู้” หากทำให้ประสาทรับรู้ด้านชาก็จะเท่ากับว่า “รับรู้เรื่องไม่น่าพิสมัยหรือเรื่องชวนให้เจ็บปวดน้อยลง แต่ก็ได้สัมผัสการใช้ชีวิตอย่างปลื้มปริ่มยากขึ้นเช่นกัน”
ยิ่งถ้าปิดกั้นประสาทรับรู้เป็นเวลานาน คราวนี้อาจกลายเป็นไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขสำหรับตน และเกิดคำถามเช่น “ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไร” หรือ “คำว่าสนุกสนานเป็นความรู้สึกแบบไหน” เพราะฉะนั้น กรณีจำเป็นต้องหาทางรับมือในระยะสั้น ขอให้ใช้วิธี “เริ่มจากป้องกันด้วยวัตถุ” เพื่อลดสิ่งกระตุ้นเร้าอันเป็นบ่อเกิดของความเครียด แทนการปิดกั้นประสาทรับรู้ แล้วค่อย ๆ ถอยห่างออกจากสถานที่หรือบุคคลที่ก่อให้เกิดความเครียด เพียงแค่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นประสาทรับรู้แล้ว
2. แยกประสาทสัมผัสทั้งห้า วิธีป้องกันสิ่งกระตุ้นเร้า
การมองเห็น : การจำกัดสิ่งที่มองเห็นให้เหลือแค่เท่าที่จำเป็น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการป้องกันสมองไม่ได้พัก
การได้ยิน : แค่เตรียมที่อุดหูไว้ในกระเป๋าเวลาออกนอกบ้าน แล้วหมั่นนำมาใช้เพื่อป้องกันเสียงระคายหู ก็ลดความเครียดได้มากแล้ว เวลาอยู่บนรถไฟ ในที่ที่ผู้คนจอแจ หรืออยู่ในคาเฟ่แล้วโต๊ะข้าง ๆ พูดคุยกันออกรสจนเสียงดังลั่น อย่าลืมหยิบหูฟังขึ้นมาใช้
การสัมผัส : ผู้ไวต่อการสัมผัสส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรับรู้ความรู้สึกไม่น่าพิสมัยจากคนหรือสถานที่ซึ่งไม่ปลาบปลื้มผ่านทางผิวกาย และเพราะประสาทรับรู้ด้านการสัมผัสค่อนข้างไว จึงไม่ชอบให้มีอะไรห่อคลุมผิว อีกทั้งชอบสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบาง ทว่าการเผยผิวกายกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เพราะจะเปิดทางให้ผิวสัมผัสสิ่งไม่ชวนปลื้มได้ง่ายขึ้น ทางที่ดีควรปกป้องผิวด้วยการสวมเสื้อคลุมหรือใช้ผ้าคลุมไหล่เนื้อสัมผัสนุ่ม มากกว่าปล่อยให้ผิวเปลือย
การได้กลิ่น : สำหรับคนอ่อนไหวง่ายที่รู้สึกว่า “ทนกลิ่นคนแน่น ๆ บนรถไฟไม่ได้” หรือ “รู้สึกอึดอัดไม่สบายเวลาได้กลิ่นอากาศในเมืองใหญ่” เพราะประสาทรับกลิ่นดี ลองห่อหุ้มตัวเองด้วยกลิ่นน่ารื่นรมย์ ซึ่งการห้อยจี้สร้อยคอแบบมีช่องให้ใส่น้ำมันหอมระเหยเพื่อการผ่อนคลายที่ขายตามท้องตลาด ถือเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว
การรับรส : หลีกเลี่ยงอาหารที่สร้างแรงกระตุ้นเร้ารุนแรง หากคิดในแง่ที่ว่ารสชาติคือสิ่งกระตุ้นเร้าประเภทหนึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ร่างกายจะได้รับอิทธิพลจากอาหารซึ่งมีสารปรุงแต่งอาหารต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบ จึงควรฝึกอ่านฉลากสินค้าและเลือกอาหารที่เหมาะกับร่างกายตัวเอง
3. แยกประสาทสัมผัสทั้งห้า วิธีดูแลเพื่อเร่งการฟื้นตัว
วิธีฟื้นฟูเพื่อจะได้กลับมาเบิกบานแจ่มใสโดยเร็วยามรู้สึกเหนื่อยล้า ต้อง “จำกัดแรงกระตุ้นเร้าจากภายนอกให้ได้มากสุดแล้วหยุดพัก” คือ พื้นฐานสำคัญเมื่อการสัมผัสรับรู้มากเกินทำให้เหนื่อยล้า ยิ่งป้องกันสิ่งกระตุ้นเร้าแบบทุ่มสุดตัวจนถึงขั้นที่ว่า “ต้องขนาดนี้เลยหรือ!” อย่างเช่น “นอนโดยปิดเครื่องระบายอากาศในห้องอาบน้ำ ปิดม่านกันแสง ใส่ผ้าคาดตา ใส่ที่อุดหู” ได้ ก็จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น
4. คิด “อยากพัก” เมื่อไร ขอพักได้เลย ร่างกายต้องการอะไรก็ทำแบบนั้น
หากได้ยินเสียงบ่นตัวเอง เช่น “ทำไมเหนื่อยขนาดนี้นะ” หรือ “ต้องพยายามให้มากกว่านี้ไม่ใช่หรือ!” เมื่อไร ให้รู้เถอะว่านั่นคือ สัญญาณพักใจ สิ่งสำคัญคือต้องหันหน้าเข้าหา “สภาวะปัจจุบันของตัวเองซึ่งกำลังเหนื่อยล้า” ไม่ใช่ดุตัวเอง เพราะความรู้สึกเหนื่อยล้าเป็นเครื่องยืนยันให้รู้ว่า เราแบกรับภาระหนักแค่ไหนและพยายามมากเพียงใด ดังนั้นอย่าลืมเอ่ยชมตัวเองว่า “พยายามได้ดีมาก เก่งมาก!” พร้อมทั้งให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนอย่างเต็มที่