ไวรัสตับอักเสบบี อาการ การติดต่อ การรักษา คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นปัญหาสำคัญของโลก เพราะเป็นต้นเหตุของโรคเกี่ยวกับตับหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ สำหรับในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมาก แต่คนรู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก ซึ่ รศ.นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตับ จะอธิบายเรื่องโรคไวรัสตับอักเสบบีให้เราได้เข้าใจกัน

 

ไวรัสตับอักเสบบี

การติดต่อ ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมาก ช่องทางการติดต่อสำคัญมีดังนี้

  • จากแม่สู่ลูก เกิดจากการที่เลือดของแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและลูกสัมผัสกับเลือดของแม่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง การติดเชื้อไวรัสระหว่างคลอดนับเป็นช่องทางการติดต่อที่สำคัญที่สุด ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเกือบทั้งหมดมักได้รับเชื้อจากช่องทางนี้ ทั้งนี้หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก็ไม่ได้หมายความว่าลูกทุกคนจะต้องติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสตับอักเสบบีของแม่ขณะคลอดว่ามีมากหรือน้อยเพียงไหน  

 

วิธีป้องกัน หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณ 3 เดือน แพทย์จะเช็กผลเลือดว่ามีปริมาณไวรัสมากน้อยเพียงใด หากมีปริมาณมากแพทย์จะจ่ายยาคุมเชื้อไวรัสให้รับประทานติดต่อกันนาน 3 เดือน ถ้ามีเชื้อไวรัสไม่มากก็คอยเฝ้าติดตามอาการต่อไป เมื่อเด็กคลอดแพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และภูมิต้านทานที่หน้าขาทั้งสองข้างของเด็กทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

 

  • ทางเพศสัมพันธ์ เป็นช่องทางสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในวัยผู้ใหญ่ โอกาสในการติดเชื้อสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมากถึง 100-200 เท่า เพราะปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ น้ำหล่อลื่น สูงกว่าไวรัสเอชไอวีมาก

 

วิธีป้องกัน หากคู่ของคุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อีกฝ่ายควรรีบฉีดวัคซีนป้องกันเพราะโอกาสติดเชื้อมีค่อนข้างสูง

 

  •  จากการใช้เข็มร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสัก เจาะ ฝังเข็ม หรือใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หากทำไม่ถูกวิธีก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อทั้งสิ้น เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถทำลายได้โดยการนำเข็มจุ่มแอลกอฮอล์เพียงระยะเวลาสั้นๆ
  • ติดต่อทางการรับเลือด ในอดีตมีการให้เลือดแก่ผู้ป่วยโดยไม่ได้มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี แต่ปัจจุบันเลือดทุกถุงต้องผ่านการตรวจคัดกรองก่อนนำไปใช้งานทั้งสิ้น การติดต่อไวรัสตับอักเสบบีทางช่องทางนี้จึงหมดไป
  • การติดเชื้อในผู้ป่วยฟอกไต ในอดีตช่องทางนี้มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันลดลงไปมาก เพราะใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วยที่จะฟอกไต รวมทั้งยังมีการฉีดกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
  • จากการคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ หากมีบาดแผลอยู่ หากต้องสัมผัสโอบกอด หอมแก้ม หรือจูบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้บาดแผลนั้นสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง จึงมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ

สามารถรับประทานอาหารร่วมกันหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกันได้ตามปกติ เพราะแม้ว่าในน้ำลายของผู้ติดเชื้อจะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีปะปนอยู่บ้าง แต่มีปริมาณน้อยมากๆ ไม่เพียงพอต่อการติดเชื้อ

ข้อควรระวัง การใช้สิ่งของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน เป็นต้น และระมัดระวังสารคัดหลั่งตามสถานที่ต่างๆ เข้าสู่บาดแผลอีกด้วย ฉะนั้นทางที่ดีควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีไว้ดีกว่า

 

ไวรัสตับอักเสบบี

 

อาการของไวรัสตับอีกเสบบี

 

แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

ไวรัสตับอักเสบบีชนิดเฉียบพลัน มักเป็นผู้ที่ติดเชื้อในตอนโตหรือวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยมักปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก เหนื่อยง่าย มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการจุกแน่นบริเวณซี่โครงด้านขวา และจะเริ่มสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติ ตัวเหลือง และตาเหลือง ควรรีบพบแพทย์

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีชนิดเฉียบพลัน

แนวทางการรักษาจะเป็นการประคับประคองตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพราะตับอักเสบเกิดจากการที่ภูมิต้านทานของผู้ป่วยกำลังทำงานตามปกติโดยพยายามกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย แพทย์จึงเพียงเฝ้าดูอาการ หากคลื่นไส้ อาเจียนมาก อาจจะต้องให้น้ำเกลือ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่น มัน หรือรสจัด เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นมาได้ และไม่ควรดื่มน้ำหวานปริมาณมากๆ เพราะจะเกิดไขมันพอกตับแทน

ที่สำคัญ ต้องให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารบ่อยครั้งจะได้มีสารอาหารนำไปต่อสู้กับไวรัสได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้นอนช่วงพักกลางวันประมาณ 15-30 นาทีเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว มิฉะนั้นช่วงเย็นจะอ่อนเพลียมากกว่าปกติ

หากอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุกๆ 1-2 สัปดาห์ติดต่อกันประมาณ 1 เดือน ร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นตับวาย เซลล์ตับเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง จะต้องใช้การรักษามาตรการสุดท้าย คือการปลูกถ่ายตับหรือการเปลี่ยนตับใหม่

 

อาการของไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง มักเกิดจากการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หรือติดเชื้อขณะคลอด อีกสาเหตุหนึ่งคือติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ แต่ร่างกายไม่สามารถเอาชนะเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ภายใน 6 เดือน

แบ่งโรคได้เป็น 3 ระยะสำคัญ คือ

ระยะที่มีเชื้อมากแต่ไม่มีอาการ พบว่าในระยะแรก โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอด ขณะที่ยังมีอายุน้อย เช่น 10-15 ปี แม้จะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดและตับจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีการอักเสบของตับเลย เนื่องจากภูมิต้านทานยังตรวจไม่พบว่ามีสิ่งแปลกปลอมแฝงตัวอยู่ในร่างกาย

ระยะการอักเสบ ระยะนี้ภูมิต้านทานจะเริ่มตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในตับ จึงพยายามเข้าทำลาย เนื่องจากไวรัสอาศัยอยู่ในเซลล์ตับ ภูมิต้านทานจึงต้องทำลายเซลล์ตับไปด้วย ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ

หากภูมิต้านทานของผู้ป่วยแข็งแรงก็อาจเข้าควบคุมไวรัสได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน  ร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ  แต่ถ้าภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอาชนะไวรัสไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดการอักเสบนานนับปี  เมื่อมีการอักเสบของตับมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ตับก็จะถูกแทนที่ด้วยพังผืด แม้ในที่สุดภูมิต้านทานจะเข้าต่อต้านควบคุมไวรัสได้ แต่ตับอาจกลายเป็นตับแข็งไปแล้วเพราะผ่านการอักเสบมานาน

ระยะสงบเชื้อน้อย ระยะนี้จะพบว่าการทำงานของตับเป็นปกติ แม้มีเชื้อไวรัสก็ไม่มากนัก อาจมีเพียงหลักร้อยหรือพันตัวเท่านั้น (กรณีที่มีมากหรืออยู่ในระยะอักเสบเชื้อไวรัสอาจมีมากนับล้านตัว) ผู้ป่วยที่ผ่านระยะที่ 2 มาได้ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ตับอักเสบไม่มาก เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ตับจะมีลักษณะเกือบปกติทุกประการ แต่หากผ่านการอักเสบมานาน แม้ว่าผลการทำงานของตับยังเป็นปกติ แต่ตับก็เสียหายไปมากแล้ว

 

ทั้งนี้ในอดีตคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด คิดว่าระยะที่ 3 เรียกว่า “พาหะไวรัสตับอักเสบบี” ทำให้หลายคนชะล่าใจ แต่จริงๆ แล้วระยะนี้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการตับแข็งแล้ว และอาจเกิดภาวะตับวายหรือมะเร็งตับได้ในอนาคต ดังนั้นหากผู้ป่วยทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนเพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือไม่

 

อ่านเรื่องตับเพิ่มเติมได้จากหนังสือ เมื่อตับประท้วง ร่างกายก็พ่ายแพ้

โดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ทวีศักดิ์ แทนวันดี 

สำนักพิมพ์ อมรินทร์ Health

สั่งซื้อ คลิก

8 thoughts on “ไวรัสตับอักเสบบี อาการ การติดต่อ การรักษา คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ

  1. Pingback: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ อาหารเพื่อสุขภาพ :กินแล้วผอมจริงหรือ

  2. Pingback: 5 สูตร วิตามินบำรุงสายตา จากน้ำผักผลไม้ เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี

  3. Pingback: ทำไม ออกกำลังกายลดน้ำหนัก แล้วยังไม่ผอม :ความเข้าใจผิดเรื่องการลดน้ำหนัก

  4. Pingback: ดีท็อกซ์ล้างพิษ เพิ่มวิตามิน ด้วย สมูทตี้เพื่อสุขภาพ จากผักและผลไม้

  5. Pingback: วิธีบริหารดวงตา ด้วยปากกา 14 วันฟื้นฟูสายตาได้จริง : สายตาดีด้วยวิธีมหัศจรรย์

  6. Pingback: ท่าบริหารร่างกายสำหรับคนที่มีอาการ ข้อเข่าเสื่อม : แนะนำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  7. Pingback: โรคตับ ใครคิดว่าไม่สำคัญ คุณมีพฤติกรรมทำร้ายตับหรือไม่ % %

  8. Pingback: คุณมีความเสี่ยง มะเร็งเต้านม หรือไม่ มาสำรวจตัวเองกันเถอะ %

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า