การตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะมีประโยชน์อย่างไร และวิธีเตรียมตัวก่อนตรวจ

การตรวจปัสสาวะ ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรืออดน้ำก่อนตรวจ โดยจะวิเคราะห์น้ำปัสสาวะโดยดูลักษณะทางกายภาพ สารเคมี และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงในบางโรคเบื้องต้น และเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ทันทีในทุกเพศทุกวัย ไม่มีผลข้างเคียงหรือทำให้เจ็บตัว ค่าใช้จ่ายไม่แพงและรู้ผลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง

มาดูกันว่า การตรวจปัสสาวะ มีประโยชน์อย่างไรและต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

 

ประโยชน์ของการตรวจปัสสาวะ

ตรวจสภาพของไตและท่อปัสสาวะจากไตลงมา ช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังทั่วไปที่พบบ่อย เช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ใช้วินิจฉัยโรคหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และติดตามผลการรักษาโรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง

โรงพยาบาลบางแห่งจะมีการตรวจปัสสาวะแบบพิเศษด้วย ประโยชน์ที่ได้คือ สามารถใช้ประเมินระบบการเผาผลาญสารอาหาร ประเมินความสมดุลของวิตามิน แร่ธาตุ และฮอร์โมนในร่างกาย ตรวจหาสารพิษ สารเสพติด สารโลหะหนัก ติดตามผลการรักษาหลังจากให้ยา และยังใช้ตรวจการตั้งครรภ์ของผู้หญิงจากฮอร์โมนที่พบในน้ำปัสสาวะ

 

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหารหรือน้ำหากเป็นการตรวจแบบปกติ แต่มีข้อควรระวังบางอย่างที่อาจทำให้ผลการตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อน ดังนี้

• แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตรวจปัสสาวะ หากกินยาหรือวิตามินเสริมบางชนิด เช่น วิตามินบีกลุ่มยาขับปัสสาวะที่ใช้ลดความดันโลหิต กลุ่มยาปฏิชีวนะ ยาไรแฟมพิซิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาวัณโรค กลุ่มยารักษาช่องทางเดินปัสสาวะ ยาฟีนาโซไพริดีน ที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะ ยาเฟนิโทอิน ที่ใช้ป้องกันและควบคุมอาการชัก และยาแก้หวัดแก้ไข้

• ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนหรือใกล้มีประจำเดือนควรเลื่อนการตรวจปัสสาวะออกไปก่อนจนกว่าประจำเดือนจะหมด เพราะมีโอกาสสูงที่เลือดประจำเดือนจะปนเปื้อนลงไปในตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บ ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจเม็ดเลือดแดงสูงกว่าความเป็นจริง

• ผู้ที่ได้รับการตรวจเอกซเรย์ และได้รับการสะท้อนรังสีหรือสารทึบรังสีเพื่อการตรวจอวัยวะภายในบางจุดในช่วงระยะเวลา 3 วันควรหลีกเลี่ยงการตรวจปัสสาวะ

• ในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะควรถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปส่วนหนึ่ง แล้วจึงนำกระปุกเก็บตัวอย่างไปรองช่วงกลาง จากนั้นค่อยถ่ายปัสสาวะช่วงสุดท้ายทิ้งไป แต่หากเป็นการตรวจปัสสาวะเพื่อหาการตั้งครรภ์ควรใช้ปัสสาวะแรกในช่วงเช้าหลังตื่นนอน

• การเก็บปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมง เป็นการเก็บปัสสาวะเพื่อการตรวจวินิจฉัยบางโรค เช่น การตรวจในผู้ป่วยโรคไต ซึ่งทางโรงพยาบาลจะให้ภาชนะเก็บปัสสาวะมา 1 แกลลอน ขนาดประมาณ 4 ลิตร เพื่อใช้เก็บน้ำปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มเก็บครั้งแรกหลังจากการถ่ายปัสสาวะทิ้งไป จากนั้นจะเริ่มบันทึกเวลาการเก็บเริ่มต้น และครั้งต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลาจึงนำไปส่งให้แพทย์เมื่อมีการนัดครั้งต่อไป และควรเก็บขวดปัสสาวะไว้ในตู้เย็นเสมอ

 

สีปัสสาวะบอกอะไร

หากอยากตรวจดูลักษณะทางกายภาพเบื้องต้นหรือดูด้วยสายตา จะใช้การสังเกตสีและความใสของปัสสาวะเป็นหลัก

ปัสสาวะปกติ คือ สีเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน

ถ้าดื่มน้ำน้อยสีปัสสาวะจะออกไปทางเข้ม แต่ในผู้ที่ดื่มน้ำมากปัสสาวะอาจจะใสไม่มีสีก็ได้

ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ไปจนถึงสีเหลืองอำพัน

อาจเกิดจากการกินวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวมที่มีส่วนผสมของวิตามินบี 2 หรือกินไข่ นม ถั่ว และชีสมากเกินไป

ปัสสาวะสีสม

อาจเกิดจากการขาดน้ำ หรือกินแครอต วิตามินซีหรือวิตามินบี 2 เป็นจำนวนมาก หรือเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรค ยาลดการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ

ปัสสาวะสีแดง

อาจเกิดจากการกินหัวบีตรูต แก้วมังกรแดง หรือแบล็กเบอร์รี่ในปริมาณมาก ยาแก้โรคจิตเวช ยาต้านวัณโรค ยารักษารูมาตอยด์ ยาดลดการปวดอักเสบ ยาขับธาตุเหล็ก ส่วนอาการอื่นๆ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต ไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มะเร็งไต ภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก

ปัสสาวะสีน้ำตาล

อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาระบายมะขามแขก ยาคลายกล้ามเนื้อเมโทคาร์บามอล ยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล ฯลฯ หรือเกิดจากการมีเลือดปกในปัสสาวะหรือมีเม็ดเลือดแตกในร่างกายแล้วถูกขับออกมาในปัสสาวะจากสาเหตุต่างๆ เช่น ในคนที่เป็นโรคขาดเอนไซม์ G6PD ที่มักจะมีอาการเม็ดเลือดแตกง่าย

ปัสสาวะสีขาว

อาจเกิดจากการมีหนองปน เซลล์เม็ดเลือดขายปน มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือจากอุบัติเหตุของไต รวมถึงการได้รับยาสลบ

ปัสสาวะสีเขียว

อาจเกิดจากการกินอาหารบ้างอย่าง เช่น หน่อไม้ฝรั่งจำนวนมาก หรือเกิดจากากรได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสลบ เมทิลีนบลู อะมิทริปไทลีน หรืออินโดเมธาซิน

นี่เป็นเพียงการสังเกตด้วยตัวเองเบื้องต้นเท่านั้น หากอยากตรวจสุขภาพอย่างเจาะลึกควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจปัสสาวะและร่างกายอย่างถูกต้อง

 

ข้อมูลจากหนังสือ เจาะลึกตรวจสุขภาพ 4.0

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ

น้ำตาลอันตรายกว่าที่คิด! ผลเสียของการกินรสหวาน มากเกินไป

“โยคะนิ้ว” ออกกำลังกายง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ไม่เหนื่อยแถมสุขภาพดี

หลักการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ กินอย่างไรให้สุขภาพดี

5 ท่ายืดเหยียด คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อย เพื่อสุขภาพที่ดี

ดีท็อกซ์ล้างพิษ เพิ่มวิตามิน ด้วยสมูทตี้เพื่อสุขภาพจากผักและผลไม้

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า