หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ เป็นหนังสือที่สอดแทรกหนังสืออีกหลายสิบเล่มผ่านเรื่องราวของตัวละครที่ล้วนมีสายสัมพันธ์ผ่านหนังสือด้วยกันทั้งนั้น สมฉายา “หนังสือที่คนรักหนังสือทุกคนควรได้อ่าน”
เรื่องราวของ เอ. เจ. ฟิกรี้ ชายวัย 39 ปี เจ้าของร้านหนังสือไอซ์แลนด์บุ๊กส์บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง ภรรยาของเขาตายจากไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แถมยอดขายในร้านก็ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี จากชายหนุ่มผู้มุ่งมั่น กลับกลายเป็นคนปากร้าย อารมณ์ร้อน เข้ากับใครไม่ได้ แต่แล้วเขาก็พบกับมายา เด็กสาวคนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของชายผู้นี้เปลี่ยนไป
คุณเคยเข้าไปในร้านหนังสือแล้วมีพนักงานมาแนะนำหนังสือที่คุณสนใจบ้างหรือเปล่า ฟิกรี้ก็เป็นอีกคนที่รอบรู้เกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มในร้านเป็นอย่างดี เขาเป็นผู้คัดเลือกวรรณกรรมชั้นเยี่ยมเข้าร้านด้วยตัวเอง เล่มไหนไม่เข้าตาจะถูกปัดตกและไม่ได้รับอนุญาตให้วางขายในร้านของเขาอย่างเด็ดขาด!
นอกจากนั้นเขายังเขียนบันทึกเกี่ยวกับหนังสือที่เขาประทับใจแฝงไปด้วยแง่คิด เพื่อหวังให้มายาได้อ่าน
วันนี้เลยขออนุญาตฟิกรี้ แอบนำหนังสือที่เขาจดไว้ในสมุดบันทึกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง บอกเลยว่าเป็นหนังสือที่ค่อนข้างเก่าและคลาสสิก บางเล่มถูกเขียนตั้งแต่หลายคนยังไม่เกิด และน้อยคนที่จะเคยอ่าน
เอ. เจ. ฟิกรี้ เจ้าของร้านหนังสือไอซ์แลนด์บุ๊กส์ผู้เผยแพร่วรรณคดีอันทรงคุณค่าสู่เกาะอลิซเพียงหนึ่งเดียวตั้งแต่ปี 1999 จะแนะนำหนังสือเล่มใดบ้าง มาดูกันเลย

Lamb to the Slaughter
ฆาตกรรมอำพราง
พิมพ์ครั้งแรกปี 1953
โรอัลด์ ดาห์ล เขียน
เรื่องราวของภรรยาคนหนึ่งที่ฆ่าสามีตัวเองด้วยการใช้ขาลูกแกะแช่แข็งเป็นอาวุธ หลังจากนั้นเธอก็ทำลายหลักฐานด้วยการเอามันมาทำเป็นอาหารเลี้ยงตำรวจเสียเลย! ช่างเป็นไอเดียของการฆาตกรรมที่ล้ำลึกมาก ส่วนภรรยาจะถูกจับหรือไม่ ต้องไปลุ้นๆ เอานะ

The Diamond as Big as the Ritz
เพชรเม็ดใหญ่เท่าโรงแรมริทซ์
พิมพ์ครั้งแรกปี 1922
เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ เขียน
เป็นนวนิยายขนาดสั้น เรื่องราวอันแปลกประหลาดและมีเอกลักษณ์นี้ เกี่ยวกับความท้าทายในการเป็นเจ้าของเมืองที่ทำจากเพชรทั้งหมด และคนรวยจะยอมสู้ไปไกลแค่ไหนเพื่อปกป้องวิถีชีวิตของเขา

The Luck of Roaring Camp
เด็กนำโชคแห่งรอริ่งแคมป์
พิมพ์ครั้งแรกปี 1868
เบรต ฮาร์ท เขียน
เรื่องเล่าสะเทือนอารมณ์ล้นเหลือของชาวเหมืองขุดทองที่รับเลี้ยงทารก “อินเดียนแดง” โดยตั้งชื่อให้ว่า ลัค (โชคดี) ฟิกรี้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1992ความประทับใจเดียวที่เขามีจากหนังสือเล่มนี้คือความสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อตัวละคร สตัมปี เคนตัค เฟรนช์พีท เชอโรกี แซล ฯลฯ
และเขามีโอกาสได้หนังสือเล่มนี้อีกครั้งครั้งสองสามปีให้หลัง และพบว่าตัวเองร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล เขาคิดเหมือนกันว่าปฏิกิริยาของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการได้อ่านหนังสือสักเล่มในช่วงเวลาที่เหมาะสมของ ตอนอายุยี่สิบเราอาจจะรู้สึกคนละแบบกับตอนอายุสี่สิบก็ได้ เรื่องนี้จริงทั้งกับการอ่านหนังสือและการใช้ชีวิต

What Feels Like the World
นี่หรือคือโลก
พิมพ์ครั้งแรกปี 1985
ริชาร์ด บอช เขียน
การฝึกฝนของสาวน้อยร่างอวบกับคุณปู่ของเธอเพื่อการแข่งขันยิมนาสติกระดับโรงเรียนประถม บอชมีฝีมือในการใส่ความกดดันรุนแรงเข้าไปในฉากที่ดูเหมือนเป็นแค่ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งในนิยาย (แต่จริงๆ แล้วเป็นฉากสำคัญ) และนี่คือเรื่องสำคัญที่บอชต้องการสื่อ การแข่งขันยิมนาสติกประเภทอุปกรณ์ม้ากระโดดเป็นเรื่องเป็นราวได้พอๆ กับเครื่องบินตกเลยทีเดียว

A Good Man Is Hard to Find
ชายดีนี้หายาก
พิมพ์ครั้งแรกปี 1953
แฟลนเนอรี โอ’คอนเนอร์ เขียน
ตัวละครที่มักปรากฏในงานเขียนของคอนเนอร์ ไม่ได้น่าชื่นชมยกย่องเท่าไรนัก บางทีก็ตัวละครที่ร้ายกาจ ขี้ขโมย เจ้าเล่ห์ ทะนงตัว รวมถึงปัญญาชนที่ ไร้ศรัทธาและยโส คอนเนอร์ฉายภาพกว้างของมนุษย์ในสังคมที่ใช้ชีวิตว่างเปล่า ไม่พอใจและไม่มีความสุขในชีวิตผ่านตัวละครเหล่านี้
ตอนที่เอมี่ บอกฟิกรี้ว่านี่เป็นเรื่องโปรดของเธอ เหมือนเขาได้รู้จักกับอีกด้านหนึ่งของตัวตนเธอ ด้านที่แปลกและน่ามหัศจรรย์ไม่เคยคาดมาก่อน ที่ที่มืดมิดที่เขาอยากสัมผัสดูสักหน่อย ผู้คนมักจะโกหกแต่เรื่องน่าเบื่อ ๆ อย่างการเมือง พระเจ้า หรือความรัก แต่คุณจะรู้ทุกอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับคนคนหนึ่งได้ในทันทีเพียงให้เขาตอบคำถามนี้ หนังสือเล่มโปรดของคุณคือเล่มไหน

The Celebrated Jumping Frog of Calaveras County
กบกระโดดผู้โด่งดังแห่งคาลาเวอรัสเคาน์ตี
พิมพ์ครั้งแรกปี 1965
มาร์ค ทเวน เขียน
ผลงานเรื่องแรกๆ ของยุคโพสต์โมเดิร์นนิสต์ เรื่องราวเกี่ยวกับนักพนันและกบตัวเก่งของเขา พล็อตเรื่องไม่มีอะไรมาก แต่ควรได้อ่านสักครั้งเพราะทเวนใช้ ‘ความน่าเชื่อถือของผู้เล่าเรื่อง’ เป็นลูกเล่นของเรื่องได้อย่างสนุกสนาน

Girls in Their Summer Dress
สาวๆ ในชุดเดรสฤดูร้อน
พิมพ์ครั้งแรกปี 1939
เออร์วิน ชอว์ เขียน
ผู้ชายมองผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตัวเอง ภรรยาของผู้ชายคนนั้นไม่โอเค ตอนจบหักมุมได้สวย เหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า หากคุณอ่านนิยายหักมุมมามาก คุณก็จะพอเดาตอนจบของมันได้
แต่ถ้าเรารู้ว่ามันจะหักมุม การหักมุมจะดูน่าประหลาดใจน้อยลงหรือเปล่านะ การจบแบบหักมุมที่เราคาดไม่ถึงจะเรียกว่าเป็นเพราะลำดับเรื่องราวไม่ดีหรือเปล่านะ เราน่าจะนึกถึงเรื่องพวกนี้เอาไว้ เวลาเขียนหนังสือสักเล่ม

A Conversation with My Father
บทสนทนากับคุณพ่อ
พิมพ์ครั้งแรกปี 1972
เกรซ พาเลย์ เขียน
พ่อที่ใกล้เสียชีวิตเถียงกับลูกสาวเรื่องวิธีที่ “ดีที่สุด” ในการเล่าเรื่องสักเรื่อง หนังสือที่คนเป็นพ่อ อยากให้ลูกๆ ได้ลองอ่าน

A Perfect Day for Bananafish
วันที่ดีของปลากล้วย
พิมพ์ครั้งแรกปี 1948
เจ. ดี. ซาลินเจอร์ เขียน
หนึ่งในเรื่องสั้นจากหนังสือ Nine stories คู่สามีภรรยาไปพักผ่อนตากอากาศที่โรงแรมติดชายทะเล สามีเป็นทหารผ่านศึกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สองและมีอาการผิดปกติทางจิต ขณะที่ภรรยากำลังแต่งหน้าอยู่ในห้อง สามีก็ออกไปว่ายน้ำ และได้ลงไปจับปลากล้วยกับเด็กผู้หญิงแปลกหน้าคนหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นหลังจากนั้น…

The Tell-Tale Heart
หัวใจเผยความลับ
พิมพ์ครั้งแรกปี 1843
อี. เอ. โพ เขียน
1 ในเรื่องสั้นจากหนังสือ The Black Cat เขียนโดยเอ็ดการ์ อัลลัน โป บิดาแห่งงานเขียนรหัสคดี สุดยอดเรื่องสั้นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นตำนานเขย่าขวัญโลก อ่านสนุก เล่าเรื่องเฉียบคม เจาะลึกถึงแก่นแท้ของจิตใจมนุษย์

Ironhead
มนุษย์หัวเตารีด
พิมพ์ครั้งแรกปี 2005
เอมี เบนเดอร์ เขียน
ชื่อหนังสือที่แท้จริงแล้วคือ Willful Creatures แต่ฟิกรี้จดจำในชื่อ Ironhead เรื่องราวสามีภรรยาที่มีหัวเป็นฟักทองแต่กลับมีลูกที่มีหัวเป็นเตารีด นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวแปลกประหลาดของครอบครัวอื่นๆ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูกๆ เป็นมันฝรั่ง เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจถูกรังสรรค์ด้วยฝีมือการเขียนของเอมี

What We Talk about When We Talk about Love
เราพูดถึงอะไรเมื่อพูดถึงความรัก
พิมพ์ครั้งแรกปี 1980
เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เขียน
สองคู่รักเริ่มเมาหนักขึ้น และถกเถียงกันว่าอะไรคือความรัก อะไรไม่ใช่ความรัก มีคำถามหนึ่งที่ฟิกรี้นึกขึ้นได้บ่อยๆ ว่าทำไมการเขียนถึงสิ่งที่ไม่ชอบ เกลียด หรือรู้ว่ามันไม่ดี จึงง่ายกว่าการเขียนถึงสิ่งที่เรารัก

The Bookseller
คนขายหนังสือ
พิมพ์ครั้งแรกปี 1986
โรอัลด์ ดาห์ล เขียน
เรื่องของคนขายหนังสือที่สรรหาวิธีแปลก ๆ มาดูดเงินลูกค้า ถ้าให้พูดถึงตัวละครในเรื่อง ก็ต้องบอกว่ายังเป็นตัวละครประหลาดจอมฉวยโอกาสสไตล์เดิมของดาห์ล

Tamerlane & Other Poems
เทเมอร์เลน
พิมพ์ครั้งแรกปี 1827
เอลการ์ แอลลัน โพ เขียน
ในเรื่องนี้จะขาดเล่มนี้ไม่ได้เลยทีเดียว มันคือหนังสือสะสมสุดที่รักและมีราคาแพงมากของฟิกรี้ที่ถูกขโมยไป มันคืองานเขียนชิ้นแรกที่เอ็ดการ์ อัลลัน โพ เขียนขึ้นตอนเขาอายุสิบแปด หนังสือบทกวีพูดถึงความรู้สึกเสียใจของตีมูร์ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ที่เลือกทำตามความทะเยอทะยานผ่านการเล่าเรื่องในอดีตกับนักบวชรูปหนึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิต
และพิมพ์แค่ห้าสิบเล่มเลยหายากมาก ๆ และมีราคาสูงถึงสี่แสนดอลลาร์ขึ้นอยู่กับสภาพหนังสือและอารมณ์ตลาดหนังสือหายากในตอนนั้น
ติดตามเรื่องราวของเอ. เจ. ฟิกรี้ เจ้าของร้านหนังสืออันแสนโดดเดี่ยวและผู้คนมากมายที่เข้ามาทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปได้ในหนังสือ…
หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ
แกเบรียล เซวิน (Gabrielle Zevin) เขียน
อภิญญา ธโนปจัย แปล
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
สองหนังสือสะท้อนถึงช่วงเวลาเมื่อคนมีความรัก ที่ เซียวจ้านอ่าน