หมดไฟในการทำงาน ไม่อยากตื่นไปทำงานในแต่ละวัน เบื่องานประจำที่ทำอยู่ อยากเติบโตมากขึ้นกว่านี้ ฯลฯ และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้การใช้ชีวิตของเราดำเนินไปด้วยความเฉื่อยชา
จริงๆ แล้วภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุอาจมาจากตัวงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เรารู้สึกไม่อยากไปทำงานในแต่ละวัน หนทางแก้ไขภาวะนี้ คือการเปลี่ยนทิศทางอาชีพ ที่ไม่ได้หมายความว่าให้ลาออกทันทีโดยไม่วางแผนใดๆ แต่เป็นการค้นหาความชอบ ความถนัด และเริ่มสร้างโอกาสจากสิ่งเหล่านั้น
มาดูกันว่าเราจะสามารถจุดไฟให้ลุกโชนอีกครั้งได้หรือไม่ เมื่อเกิดภาวะ หมดไฟในการทำงาน
ตั้งหลักก่อน
หลังจากที่เป๋ไปจากการหมดไฟแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการตั้งหลัก นี่เป็นขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางชีวิตของคุณ เป้าหมายของการตั้งหลัก คือการหาความรู้เบื้องต้นจากสิ่งที่เราสนใจและถนัดจริงๆ ต้องรู้จักจุดแข็งและความสนใจของตัวเอง รวมถึงเป้าหมายในอนาคตด้วย หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ คุณจะเหมือนกับรถติดหล่มที่ล้อหมุนติ้วอยู่กับที่ การมองข้ามสิ่งที่ตัวเองมีอยู่และมองไกลเกินความจำเป็นจะทำให้คุณต้องทำงานอย่างหนักหน่วง แต่กลับอยู่ที่เดิม
ด้วยความที่การทำมาหากินนั้นผูกติดอยู่กับความต้องการขั้นพื้นฐานของเรา เช่น อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย ดังนั้นข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนทิศทางคงหนีไม่พ้นเรื่องเงิน ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างต้องคำนึงถึงเรื่องเงินไว้ด้วย
ค้นหาจุดแข็ง
ค้นหาจุดแข็งของคุณเพื่อดูว่าจุดแข็งข้อไหนที่มอบพลังให้กับคุณในการทำงานแต่ละวันมากที่สุด และควรสนใจจุดแข็งข้อไหนมากขึ้น งานที่น่าสนใจที่สุดคืองานที่เปิดโอกาสให้คุณได้ใช้ทักษะที่ดีที่สุด ความสนใจ และจุดแข็งเฉพาะตัว
ลองย้อนกลับไปดูวัยเด็กว่า คุณชอบทำกิจกรรมอะไร จุดแข็งทางอาชีพของคุณย่อมแสดงออกมาในทางใดทางหนึ่งเมื่อนานมาแล้วก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจจะชอบทำอาหารตั้งแต่เด็ก แต่เรียนด้านบริหารธุรกิจมา หลังจากทำงานด้านการเงินมาแปดปีก็รู้สึกหมดไฟ จึงลาออกมาสมัครเรียนทำอาหาร และเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง นี่เป็นการเติมเต็มความฝันวัยเด็กที่สร้างอาชีพที่มั่นคงและความสุขไปพร้อมๆ กัน
นึกถึงกิจกรรมที่ชอบในวัยเด็กขึ้นมาสัก 5-6 อย่าง ตอนเป็นเด็กชอบทำอะไร อะไรสำคัญสำหรับฉันที่สุด ถ้าไม่ได้ทำตอนนั้นจะรู้สึกเสียใจมาก หรือสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า อยากย้อนเวลากลับไปทำสิ่งเหล่านั้นอีกจัง จากนั้นถามตัวเองว่า เรื่องอะไรที่ฉันเก่งสุดๆ นี่คือพรสวรรค์ของฉันเลย
สิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีพคุณในอนาคตก็ได้
สร้างเข็มทิศที่ใช่
ลองถามตัวเองดูว่า ค่านิยมและเป้าหมายของคุณคืออะไร เช่น ความมั่นคงทางการเงิน แต่งงานมีลูกที่น่ารัก มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ไปเที่ยวรอบโลก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเกณฑ์สำหรับสำรวจกิจวัตรประจำวันและก้าวต่อไปที่เติมเต็มชีวิตที่หมดไฟของคุณได้มากยิ่งขึ้น
เมื่อได้ค่านิยมและเป้าหมายแล้ว ทีนี้คุณก็ลองพิจารณาดูว่า คุณจะลงไปลุยทางที่เลือกทันที หรือจะไปเรียนต่อ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อวางแผนและมั่นใจว่าได้อาชีพที่เหมาะกับจุดแข็งของตัวเองแล้ว ก็ลงมือทำเลย แล้วคุณจะกลับมารู้สึกเข้มแข็ง มั่นใจ มีเหตุผล ภูมิใจในเส้นทางอาชีพของตัวเอง และพร้อมรับมือกับปัญหาทุกอย่างด้วยความกระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง
ค้นหาสูตรความสุขของตัวเอง
หนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตอย่างคล่องตัวคือการรู้จักเรียกความสมดุลของร่างกายกลับคืนมา เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนทิศทางโดยเริ่มจากความเครียดหรือความทุกข์ ประสิทธิภาพในการเดินหน้าจะถูกลดทอนลงอย่างมากเมื่อคุณไม่มีความสุข
สูตรความสุขของคุณคือส่วนผสมของสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่จะสร้างพลังให้กับคุณมากที่สุดและทำให้แบตเตอรี่ของคุณเต็มอีกครั้งในวันที่มันใกล้หมดลง ลองคิดสูตรความสุขระดับเล็กๆ นั่นคือการนึกถึงกิจวัตรประจำวันและสิ่งที่ทำจนเป็นนิสัยได้ แล้วค่อยนึกถึงระดับใหญ่ ซึ่งก็คือการตัดสินใจที่ใหญ่ขึ้น เช่น จะอยู่อาศัยหรือทำงานที่ไหน
สูตรความสุขระดับเล็กๆ เช่น การสร้างกิจวัตรยามเช้า ไปเดินเล่นรอบๆ บ้าน การหนังสือให้ได้ 1 บท ไปฟิตเนสออกกำลังกาย ไปกินข้าวกับเพื่อน ฯลฯ
สูตรความสุขระดับใหญ่ เช่น สร้างสภาพแวดล้อมให้สะดวกสบาย ไปเที่ยวสุดสัปดาห์ นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงทุกคืน กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ฯลฯ
แค่ทำสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองมีความสุขก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ดีเยี่ยมแล้ว
ข้อมูลจากหนังสือ ศาสตร์แห่งการเปลี่ยนทิศเมื่อชีวิตหมดไฟ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
ไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานหาได้จากการทำสิ่งเหล่านี้
เหตุผลที่เราชอบทำผิดซ้ำๆ และวิธีหลีกเลี่ยงการผิดซ้ำซาก
เคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานแบบประธานบริษัท
4 คำถามเช็กว่าคุณอยากทำงานนี้จริงหรือเปล่า ก่อนที่จะคิดเปลี่ยนงาน
5 เหตุผลที่คุณไม่ควรลาออกจากงานประจำ มาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว
กฎ 3 ข้อสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากนักอ่านใจไดโกะ
Pingback: ทำงานยังไงให้ได้ เงินเดือนสูง ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในองค์กรไหน
Pingback: วิธีการ ทำงานแบบ Netflix ที่ทำให้องค์กรยิ่งใหญ่และแตกต่างจากที่อื่น!
Pingback: หมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โรคยอดฮิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือน