แต่ละคนมี ทักษะการอ่าน ไม่เท่ากัน บางคนเริ่มอ่านที่สารบัญก่อน บางคนมุ่งไปที่เนื้อหาเลย ซึ่งแต่ละเทคนิคที่ใช้จะส่งผลกับความจำแตกต่างกันด้วย
การอ่านหนังสือของแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน บางคนอ่านเพื่อเรียนหนังสือ อ่านเพื่อสอบ อ่านเพื่อพัฒนาตนเอง หรืออ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งหากเป็นการอ่านเพื่อต้องการจดจำเนื้อหาได้เยอะๆ การจัดระเบียบความคิดในการอ่านนั้นสำคัญมาก บางครั้งเรื่องเล็กๆ ที่เรามองข้ามไปอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราจำแม่นขึ้นเลยก็ได้
มาดูกันว่าเราสามารถพัฒนา ทักษะการอ่าน ด้วยวิธีไหนได้บ้าง
การอ่านก่อนการอ่าน
“การอ่านก่อนการอ่าน” เป็นการเตรียมตัวก่อนอ่านเนื้อหา จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้คือการทำความเข้าใจเนื้อหาและค้นหาประเด็นสำคัญ โดยต้องอ่านทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
1.สารบัญ เพื่อจดจำส่วนประกอบสำคัญทั้งหมด
2.เนื้อหา เพื่อจับประเด็นหลักๆ ในเนื้อหานั้น
3.ที่ว่าง จัดระเบียบความคิดของตัวเองตรงหน้ากระดาษที่ว่างอยู่
จดจำส่วนประกอบของสารบัญ
สารบัญเป็นกรอบขนาดใหญ่ของเนื้อหา และยังเป็นเค้าโครงของหนังสือทั้งหมดด้วย ถ้าอยากจำเนื้อหาได้ ก็ต้องจำตั้งแต่สารบัญ ยิ่งถ้าเข้าใจหลักการสร้างสารบัญก็จะทำให้เราจำได้แม่นยิ่งขึ้น
วิธีจำสารบัญคือ ลองสร้างเนื้อหาในสารบัญเป็นเรื่องราวดู เมื่อสารบัญเป็นเหมือนกรอบของหนังสือ ถ้าเชื่อมโยงหัวข้อใหญ่ๆ ตั้งแต่บทที่หนึ่งถึงบทสุดท้ายเข้าหากันได้ ก็สร้างเรื่องราวของหนังสือได้ไม่ยาก ถ้าเชื่อมโยงหัวข้อต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็นเรื่องราว สมองก็จะจำได้ดีและนานกว่าการจำหัวข้อต่างๆ แยกกันด้วย
จับประเด็นหลักของเนื้อหา
สิ่งสำคัญที่สุดคือการจับประเด็นหลักของเนื้อหา ซึ่งสามารถทำได้ 2 ขั้นตอนดังนี้
1.วิธีจับประเด็นหลัก
เมื่อเรารู้แล้วว่าสารบัญเกิดจากการนำคำถามมาตั้งเป็นหัวข้อ ทีนี้ก็จะหาประเด็นหลักได้ง่าย แค่คิดกลับไปว่าหัวข้อในสารบัญสร้างขึ้นจากคำถามอะไร เพราะประเด็นหลักของเนื้อหาก็คือคำถาม และคำตอบของแต่ละคำถามก็คือเนื้อหาหลักที่ผู้เขียนต้องการส่งต่อนั่นเอง
เวลาดูสารบัญจะต้องหาคำถามหลักที่ซ่อนอยู่ในหัวข้อ ถ้าเจอคำถามหลักในสารบัญแล้ว ก็ถึงเวลาต้องอ่านเนื้อหาเพื่อหาคำตอบ โดยอ่านเหมือนกับว่าเรากำลังหาข้อมูลอยู่
2.อ่านเนื้อหาเหมือนกำลังค้นหาข้อมูล
ลองเปิดโปรแกรมค้นหาดูว่าสิ่งที่คุณค้นหาล่าสุดคืออะไร บางคนอาจจะชอบเสื้อผ้า เทรนด์แฟชั่นเกาหลี หนังสือแนวสืบสวนสอบสวนน่าอ่าน ฯลฯ สิ่งที่ค้นหาจะสะท้อนให้เห็นความปรารถนาของคุณ เราค้นหาก็เพราะเราอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เมื่อค้นหาก็จะเจอข้อมูลต่างๆ ซึ่งคลายความสงสัยได้ และเราก็จะจดจำสิ่งที่สงสัยนั้นได้อีกนาน
หนังสือก็เช่นกัน ถ้าอ่านด้วยความสงสัยก็จะจดจำได้นาน กลับกัน ถ้าอ่านหนังสือโดยไม่สงสัยอะไรเลย ไม่ว่าเนื้อหาจะดีแค่ไหนก็จำได้ไม่นาน ดังนั้นแทนที่จะเริ่มอ่านเนื้อหาเลย ควรดูสารบัญแล้วหาสิ่งที่สงสัยก่อน ระหว่างนั้นก็ตั้งคำถามไปด้วย แล้วคุณจะได้อรรถรสในการอ่านหนังสือเหมือนกับกำลังคุยกับนักเขียนเลย
จัดระเบียบความคิดตรงหน้ากระดาษว่าง
บางคนบอกว่าต้องรักษาให้หน้าหนังสือสะอาดอยู่เสมอ เวลาหยิบมาอ่านอีกครั้งจะได้นึกไอเดียใหม่ๆ ออก วิธีนี้ไม่ผิดนัก แต่อยากให้ลองทำวิธีตรงกันข้ามนั่นคือ เขียนบันทึกลงบนหน้ากระดาษว่าง
คนเราจะมีรูปแบบการจดบันทึกเป็นของตัวเอง เช่น การขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญ แล้วบันทึกว่าทำไมถึงขีดเส้นใต้ไว้ ถ้าเป็นข้อความตลกก็เขียน “5555” กำกับไว้ก็ได้ ถ้าเห็นด้วยกับข้อความไหนให้เขียนว่า “เห็นด้วย” ถ้าข้อความไหนไม่เข้าใจก็เขียนว่า “ไม่เข้าใจ / งง” จะเขียนบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือหรือจะวาดรูปด้วยก็ได้
เวลาจดบันทึกอะไรสักอย่างไว้ ให้เขียนวันที่กำกับเอาไว้ด้วย เมื่อเรากลับมาอ่านหลังจากเวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี หรือนานกว่านั้น ก็จะรู้ว่าตอนนั้นเราคิดอะไรอยู่ และปัจจุบันเราเติบโตหรือพัฒนาขึ้นมากแค่ไหน ไม่แน่นี่ยังอาจกลายเป็นไอเดียสุดสร้างสรรค์ภายหลังก็ได้
ข้อมูลจากหนังสือ ทุกอย่างในชีวิตเริ่มจากความคิดที่เป็นระเบียบ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
เทคนิคการอ่านหนังสือให้จำแม่น เรียนเก่ง สอบผ่าน
วิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนจาก โคโนะ เก็นโตะ ราชาสมองเพชร
3 เทคนิคการจัดระเบียบความคิด เพื่อชีวิตที่เป็นระบบ
Pingback: เทคนิคการจำ ที่ใครๆ ก็ทำได้จาก โคโนะ เก็นโตะ ราชาสมองเพชร
Pingback: 3 เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการอ่านหนังสือแบบผิด ๆ ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ถูกต้อง