เทคนิคบริหารสมอง เพื่อป้องกันอาการขี้ลืม

เทคนิค บริหารสมอง ให้ตื่นตัวอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน จะสามารถช่วยให้เราห่างไกลจากภาวะขี้หลงขี้ลืมได้ เพราะสมองจะยังคงพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้คือ เทคนิค บริหารสมอง ที่ทุกคนสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะอายุ 70 หรือ 80 ปี ก็ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มลงมือ

 

บริหารสมอง ด้วยการฝึกประสิทธิภาพความจำ

เพื่อป้องกันโรคหลงลืม

บริหารสมอง

 

เคยไหมที่อยู่ๆ ก็นึกชื่อคนไม่ออกเวลาสนทนา มักไม่สามารถระบุชื่อสิ่งที่ต้องการพูดถึงได้ นึกไม่ออกว่าเมื่อวานกินอะไรเป็นมื้อเย็น ลืมนัด ไปซื้อของแต่กลับลืมซื้อสิ่งของสำคัญที่ต้องการจะซื้อ เป็นต้น การลืมสิ่งต่างๆ หลังจากเวลาผ่านไปสักพัก คืออาการ ที่บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพความจำเริ่มลดลง

ดังนั้น การบริหารสมองเพื่อป้องกันอาการขี้ลืมคือ ให้หมั่นสังเกตและดูนาฬิกา ตลอดจนพยายามใช้ชีวิตประจำวันโดยใส่ใจเรื่องเวลาให้มากขึ้น และพยายามฝึกใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยป้องกันภาวะหลงลืมได้

 

ฝึกจดจำตำแหน่งสิ่งของ

 

เคยไหมที่หากุญแจประตูบ้านไม่เจอ หรือลืมว่าวางโทรศัพท์มือถือไว้ที่ไหน หากรู้สึกว่าเริ่มมีพฤติกรรมหาของบ่อยขึ้น นั่นแสดงว่า ประสิทธิภาพการจำเรื่องสถานที่เริ่มเสื่อมถอยลง และหากมีพฤติกรรมหลงลืมตำแหน่งที่วางสิ่งของบ่อยตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีแนวโน้มที่จะลืมได้ง่ายขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

อาการหลงลืมบางอย่างก็ไม่น่ากังวล เช่น ขณะที่กำลังจัดตู้เสื้อผ้า ก็มีบุรุษไปรษณีย์นำของมาส่งให้ พอได้รับของแล้วก็รีบโทร.ไปขอบคุณเพื่อน แล้วก็เผลอคุยกับเพื่อนเพลินจนลืมไปว่า ก่อนหน้านี้กำลังทำอะไร

โดยทั่วไปแล้วขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ หากมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นเข้ามาแทรก ก็จะทำให้ลืมเรื่องที่กำลังทำอยู่ไปชั่วขณะ แล้วหลังจากนั้นก็จะนึกขึ้นได้ อาการเช่นนี้เรียกว่า “อาการหลงลืมตามธรรมชาติ” ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก หรือลืมทั้งที่เวลาผ่านไปยัง ไม่ถึงสามนาที หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็น “อาการหลงลืมเนื่องจากโรค”

ถ้าอยากป้องกันโรคหลงลืมก่อนที่จะสายเกินไป จะต้องจัดระเบียบการจัดวางสิ่งของในห้อง รวมทั้งจัดระเบียบภายในสมอง ด้วยเพียงเท่านี้ก็จะสามารถหาของได้รวดเร็วขึ้น

 

เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน

เพื่อฝึกประสิทธิภาพทางความคิด

 

การที่ร่างกายจะเคลื่อนไหวได้นั้นจำเป็นต้องใช้สมอง ขณะที่เราขยับร่างกาย ประสิทธิภาพทางความคิดก็จะได้รับการฝึกฝนไปด้วย สำหรับคนที่ยังทำงาน เพียงแค่การเดินทางไปที่ทำงานก็ช่วยให้มีโอกาสได้เคลื่อนไหวร่างกายแล้ว แต่เมื่ออายุเลยวัย 60 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะได้เคลื่อนไหวร่างกายก็ลดน้อยลง จึงต้องหมั่นขยับร่างกายเบาๆ เสมอๆ เพื่อบริหารสมอง

คนที่ใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน กินเสร็จก็งีบบนโซฟา ตื่นขึ้นมาก็ใช้รีโมตคอนโทรลกดเปิดโทรทัศน์ จะขยับตัวเฉพาะเวลา ลุกไปเข้าห้องน้ำหรือหยิบรีโมตคอนโทรลเท่านั้น การใช้ชีวิตแบบนี้ เท่ากับเป็นการทำร้ายกล้ามเนื้อและสมองโดยตรง ดังนั้นจึงควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ให้เป็นนิสัย

 

พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความสนุกสนาน

เพื่อกระตุ้นฮิปโปแคมปัส

 

การพูดคุยโดยให้ความสนใจในสิ่งที่คู่สนทนาพูด แล้วตอบกลับด้วยเนื้อหาที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันและเหมาะสม แสดงว่าสมองของเรายังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมองที่เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพจะไม่สามารถสนทนาโต้ตอบได้อย่างราบรื่น จากการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการจดจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบว่า เมื่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเริ่มฝ่อ ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถพูดคุยตอบโต้ตามปกติได้

ระหว่างที่พูดคุย บริเวณสมองใหญ่จะทำงานร่วมกับฮิปโปแคมปัสเพื่อทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ หากฮิปโปแคมปัสทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่สามารถจดจำเนื้อหาในการสนทนาได้

เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น ควรหมั่นพูดคุยกับคน รอบข้างอย่างสนุกสนาน และตั้งเป้าว่าจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่หลากหลายไปจนถึงอายุร้อยปีให้ได้!

 

ฝึกประสิทธิภาพการรับรู้

เพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้เต็มที่

 

มีใครบ้างที่รู้สึกว่าเรื่องที่แต่ก่อนเคยชอบทำมาตลอด แต่มาตอนนี้กลับรู้สึกเบื่อและไม่อยากทำแล้ว เช่น เคยใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าอย่างละเอียดยิบทุกหน้า แต่แล้วจู่ ๆ ก็กลับไม่อยากอ่านไปเฉย ๆ หรือดูรายการโทรทัศน์ที่แนะนำร้านอาหารหรือคาเฟ่น่าสนใจ แต่กลับไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะชวนเพื่อนไปลอง

ความรู้สึกเบื่อหน่ายในสิ่งที่เคยชอบทำมาก่อนแสดงให้เห็นว่าความสนใจที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันลดลง ส่งผลให้โอกาสที่จะได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายลดน้อยลง รวมทั้งมีเรื่องราวที่จะใช้เป็นหัวข้อสนทนาน้อยลงด้วย

การออกไปนอกบ้านทำให้ได้เดิน ได้ขึ้นลงบันได หรือเวลาไปสั่งอาหารที่ร้านอาหารก็ได้เลือกเมนูที่ต้องการ เวลาซื้อของก็ต้องตัดสินใจเลือกสินค้าที่จะซื้อ ตอนชำระเงินก็ต้องคิดคำนวณราคา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง

นอกจากนี้การริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ถือเป็นการกระตุ้นสมองวิธีหนึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้นเวลานั่งรถไฟฟ้า ลองลงที่สถานีที่ไม่เคยแวะมาก่อน แล้วลองสำรวจแผนที่บริเวณ รอบสถานี สังเกตป้ายแนะนำสถานที่ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานและมีชีวิตชีวา

 

อยากให้ทุกคนได้ลองฝึกสมองให้ตื่นตัวกันเสียตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้อายุมากจึงค่อยฝึก เพราะบางทีอาจสายเกินแก้

พบกับสาเหตุ วิธี เทคนิคบริหารสมองป้องกันอัลไซเมอร์ ที่รับประกันว่าได้ผลจริง ได้จาก

เทรนสมองให้ไกลอัลไซเมอร์

สนพ. อมรินทร์สุขภาพ

ราคา 225 บาท


บทความอื่นๆ

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า