โรคไบโพลาร์

ทำอย่างไร เมื่อตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคไบโพลาร์

หากรู้ตัวว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเช่น ครอบครัว หรือเพื่อนเป็น โรคไบโพลาร์ ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะอาการจะดีขึ้นอย่างแน่นอน หากทำตามเงื่อนไข 2-3 ข้อดังต่อไปนี้ ต้องพบจิตแพทย์ ได้รับยาที่ถูกต้องในขนาดที่สูงพอ และกินยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ภายใน 14 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น แต่ต้องรักษาและนัดหมายกับแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย อาการจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกือบจะเป็นปกติภายใน 90 วัน

มาดูกันว่าหากตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็น โรคไบโพลาร์ ควรทำอย่างไร

พบจิตแพทย์ – ได้รับยาที่เหมาะสม – กินยาตามแพทย์สั่ง

หลังจากที่กินยาตามที่ได้กล่าวตามข้างต้นไปได้ 90 วัน และหากยังไม่ชะล่าใจหยุดยา หรือใจร้อนเปลี่ยนหมอเสียก่อน ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นปกติในเวลา 6 เดือน แน่นอนว่าทุกโรคย่อมมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักและรุนแรงมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะตอบสนองยาอย่างดีตามระยะเวลา

หลังจากดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังต้องกินยาไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ถึงมีโอกาสหยุดยาตามแพทย์เห็นสมควร หากหยุดยาแล้วเป็นซ้ำรอบสอง การรักษารอบที่สอง จิตแพทย์ส่วนใหญ่จะขอให้ผู้ป่วยกินยาให้ครบ 5 ปี เป็นอย่างน้อย หากยังไม่ครบ 5 ปีแล้วอยากจะหยุดยาก็เสี่ยงได้ แต่ถ้ากลับมาเป็นซ้ำรอบสามจะเป็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า “ต้องกินยาไปตลอดชีวิต หยุดยาไม่ได้”

ถึงแม้จะต้องกินยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ ทำงานได้ แต่งงานได้ มีลูกได้ และเดินเหินในสังคมได้ โดยไม่รู้ว่าท่านเป็นอะไร หรือกำลังกินยาอะไร หากไม่ได้บอกคนอื่นเสียเอง

นี่คือภาพในอนาคตของผู้ป่วยที่ญาติควรรับรู้ด้วยกัน โดยเฉพาะคนใกล้ชิด จะได้เบาใจลงบ้างและขอให้เชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี

 

อนาคตที่ดีมากับเงื่อนไขบางประการ

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จำเป็นต้องพบจิตแพทย์เท่านั้น ถ้าเลือกได้ไม่ควรพบแพทย์สาขาอื่น การวางตัวของจิตแทพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้

การให้ยาผู้ป่วย แพทย์มี 2 วิธี คือ วิธีที่หนึ่ง ให้ยาในขนาดน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มยา เพราะถ้าให้ยาในขนาดสูงผู้ป่วยจะทนยาไม่ไหว หรือวิธีที่สอง ให้ยาในขนาดสูงที่ถูกต้องทันทีเพื่อให้ผู้ป่วยดีขึ้นและหายให้เร็วที่สุด

ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ของยาจิตเวช คือ “ความง่วง” และหากได้รับยาในขนาดที่สูง ผู้ป่วยมักจะง่วงมากจนหลับต่อเนื่องยาวนาน การหลับนานๆ มีข้อดีคือ เมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้นมามักหายดี หรืออาการดีขึ้นอย่างมาก แต่ข้อเสียก็คือ จะทำให้คนใกล้ชิดเป็นกังวลว่าจะหลับไม่ตื่นอีกเลย หรือกลัวว่าจะหลับยาวโดยไม่ได้กินข้าวกินปลา

ในความเป็นจริงผู้ป่วยตื่นขึ้นมากินนมหรือน้ำส้ม กินข้าวเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตนเองเสมอ แต่ภาพรวมคือเขาอาจจะหลับไป 3 วัน 3 คืน ตื่นมาก็หาอะไรรองท้อง กินยาตามคำสั่ง แล้วหลับต่ออีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งร่างกายชินกับยาและปรับตัวเข้าหายาได้สำเร็จ เขาก็จะตื่นเองและไม่ง่วงมากมายเหมือนสามวันแรก แต่ที่มหัศจรรย์คือ อาการทุกอย่างจะดีขึ้น

 

อารมณ์สวิง

ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สวิง (Swing)  กลับไปมาระหว่างอารมณ์เศร้ากับอารมณ์ครึกครื้น ในรายที่เป็นรุนแรงก็อาจจะถึงกับสวิงกลับไปมาระหว่างความพยายามที่จะฆ่าตัวตายกับความบ้าคลั่ง

สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังสวิงไปมานั้น เขาเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือ ต้องท่องไว้ว่าเขาไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ ที่เขาเป็นเพราะกำลังป่วยอยู่ต่างหาก

สิ่งที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ป่วยคือ ญาติ แพทย์ และยา ทั้งสามส่วนนี้ต้องทำงานเป็นทีมจึงจะเอาผู้ป่วยอยู่ การทำงานเป็นทีมคือไม่อ่อนข้อต่อการต่อรองหรือเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยที่เกิดขึ้น ญาติเป็นฝ่ายชอบต่อรองได้แก่ ต่อรองให้ผู้ป่วยกินยาน้อยๆ หยุดยาเร็วๆ โดยเฉพาะถ้าแพทย์รักษาดีมาก เก่งมาก ผู้ป่วยจะหายดีในเวลาประมาณ 1 เดือน ญาติมักเป็นฝ่ายชะล่าใจก่อนเสมอ และต่อรองให้ลดขนาดของยาลง ผู้ป่วยจะได้ไม่ง่วง และไปทำงานได้

แต่หากอาการรุนแรงจริงๆ เราก็อาจต้องเลือก “พักงาน” เพื่อรักษาอย่างจริงจังให้หายเร็วที่สุด หรือจะทำงานไปด้วยรักษาไปด้วย แต่ถ้าเป็นอย่างหลัง แพทย์จะไม่สามารถปรับขนาดยาไปให้ถึงขนาดที่ดีที่สุดได้

 

พัฒนาการที่สูญหาย

ชีวิตของผู้ป่วยไบโพลาร์เหมือนรถไฟที่วิ่งไปบนทางที่ไม่แข็งแรง เดี๋ยวสวิงไปทางขวา เดี๋ยวก็สวิงไปทางซ้าย กลับไปกลับมาไม่ตรงทางเสียที ผู้ป่วยไม่ได้อยากเป็นโรคนี้ แต่ช่วยไม่ได้ที่ต้องเป็น ไม่ใช่เกิดจากจิตใจไม่เข้มแข็งหรืออ่อนแอแต่อย่างใด เราต่างหากที่มีหน้าที่ทำรางรถไฟให้แข็งแรง

วิธีรับมือผู้ป่วยไม่ใช่การตำหนิ ด่าทอ หรือเถียงกันกับผู้ป่วย แต่ให้รับฟัง ให้ผู้ป่วยระบายความคับข้องใจได้มากพอ เพียงแค่พยักหน้าแล้ว อืออา ในลำคอ ให้รู้ว่ากำลังฟังเขาอยู่เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยไม่ยอมรับการรักษา ควรหยุดพูดคุย ใจเย็น และหยุดบทสนทนาเอาไว้ อย่าคาดหวังว่าจะแตกหักให้ได้ บางทีเขาอาจจะเปลี่ยนใจเองในวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้าก็ยังดี

มีความจริงข้อหนึ่งที่ญาติต้องยอมรับ เมื่อรถไฟสวิงไปมาบ่อยๆ พัฒนาการตามวัยจะขาดหายไปเป็นช่งวๆ รวมทั้งทักษะทางสังคม การคบเพื่อน ทักษะการพูดจากับเพศตรงข้าม รวมทั้งทักษะการพยศกับพ่อแม่ช่วงวัยรุ่นเหล่านี้จะขาดหายไป เขาไม่มีโอกาสพัฒนามากเพียงพอ เพราะมัวแต่ป่วยด้วยอารมณ์เศร้า หรืออารมณ์ครึกครื้นเกินปกติ

ถึงแม้รถไฟจะกลับมาแข็งแรงมั่นคงแล้วก็จริง แต่ผู้ป่วยต้องเสียเวลาส่วนหนึ่งไปพัฒนาบุคลิกภาพตรเองอีก มนุษย์ทุกคนต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการพัฒนาตนเองเสมอ และเวลาส่วนนั้นเร่งไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป

 

ข้อมูลจากหนังสือ โรคไบโพลาร์

เขียนโดย คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ

วิธีสังเกตอาการ สาเหตุของ โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว

10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

9 บุคคลดังระดับโลกที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าพวกเขาก็เป็นโรคซึมเศร้า

คำพูดที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

6 วิธี เยียวยาโรคซึมเศร้า คำแนะนำจากอดีตผู้ป่วยที่รับมือโรคซึมเศร้านานกว่า 7 ปี

รับมือโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

รู้จักโรคซึมเศร้า สาเหตุ อาการและการรักษา โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

1 thoughts on “ทำอย่างไร เมื่อตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคไบโพลาร์

  1. Pingback: สาเหตุและวิธีรักษา กรดไหลย้อน ภัยเงียบรบกวนคุณภาพชีวิต

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า